Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 27 มิ.ย. 48 "1 ปีที่ผ่านมา ทุกส่วนมองว่าเกิดปัญหาในหมู่เด็กและเยาวชนถี่ขึ้น ทั้งเรื่องปัญหายาเสพติด เด็กอาชีวะตีกัน ฯลฯ คือปรากฏการณ์ของสังคมไทยที่เด็กและเยาวชนถูกมองว่าเลว สิ่งที่ตามมาคือมีกระบวนการทางสังคมเข้ามาจัดการจัดระเบียบ เช่นกรณีการรับน้องที่เกิดขึ้น ได้กลายเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์เด็กเลวไปเรียบร้อยแล้ว" นายภาสกร อินทุมาร นักศึกษาปริญญาเอกด้านประชากรศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดประเด็นในเวที "มองสังคมผ่านการรับน้อง" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันนี้

นายภาสกร อธิบายว่า การรับน้องคืออีกแนวทางหนึ่งที่มีกระบวนการสร้างเยาวชน และกระบวนการด่าเยาวชนไปด้วยพร้อมๆ กัน เมื่อมีการสร้างเด็กเลวขึ้นเราก็จะเอาตนเองออกจากเด็กเหล่านั้น กลายเป็นการกีดกันคนดีออกจากพวกที่ถูกตราหน้าว่าเลว เท่ากับแบ่งแยกให้เด็กและเยาวชนเกิดเป็นก๊กเป็นเหล่า เพื่อให้กลุ่มสังคมจัดการกับพวกเด็กและเยาวชนได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้นักศึกษาปริญญาเอก ม.มหิดล มองว่า "การรับน้องถูกผนวกให้เป็นภาพเลวและกำลังติดกับดักให้เขาเข้ามาควบคุม ซึ่งกระบวนการสังคมกำลังจัดการเยาวชนเหล่านี้อยู่ โดยให้มีการแบ่งแยก ขาว เทา ดำ แต่แท้จริงแล้วจะพบว่า พวกเราไม่ได้ต่างกัน แค่ไม่เหมือนกันในบางมิติเท่านั้น ยก
ตัวอย่างที่ลานสะพานพุทธ เด็กเตะบอลสังคมบอกว่าดีเพราะต้านยาเสพติด ส่วนเด็กเล่นสเกตบอร์ด กลับถูกมองว่าเลวและไม่มีพื้นที่ให้กับพวกเขา

"เราถูกสร้างมาจากกระบวนการเหล่านี้ สำหรับการรับน้องก็มีกระบวนการที่ทำให้สังคมมองว่ารุ่นพี่เลว ซึ่งเราต้องระวังว่ากำลังถูกกำกับวิธีคิดอะไรอยู่หรือไม่และอย่าพาตัวเองเป็นเหยื่อของระบบดังกล่าว เราต้องพูดคุยกันและวิพากษ์กันได้แต่อย่าแบ่งแยกกัน อย่าไปยึดติดว่าเราเป็นคนละพวกกัน" นายภาสกร นำเสนอแนวคิด

ขณะที่ ปรากฏการณ์เด็กเลวที่เกิดขึ้น ในกรณีการรับน้องนั้น ทั้ง สกอ. และมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ออกกฎมาจัดระเบียบเรื่องรับน้องแล้ว ซึ่งหากใครยังทำก็เท่ากับฝ่าฝืนกฎและจะกลายเป็นเด็กเลวไปในที่สุด

สำหรับสังคมไทย นายภาสกรมองว่า คนอยู่ระดับมีอำนาจจัดการไม่เคยลงมาจัดการปัญหาใดๆ แต่กลับกำลังถีบเด็กไปชายขอบของสังคม และแปะตราบอกว่าเลว เพื่อไม่ให้อยู่ในพื้นที่หลักของสังคม นั่นคือสิ่งที่อยู่ในวิธีคิดจัดการความรุนแรงโดยวิธีรุนแรงอันแยบยลนั่นเอง

ธิติกมล สุขเย็น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net