Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเสนอใช้ 'ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยแบบคู่ขนาน' (Dual Track) ในระบบพหุขั้วอำนาจ ไทยเผชิญขีดจำกัดจากโครงสร้างประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นตามลำดับ รายจ่ายสวัสดิการพุ่ง ต้องปฏิรูประบบสวัสดิการใหม่และสร้างฐานรายได้ใหม่ก่อนเจอวิกฤติการคลังในอนาคต                      

12 พ.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ระบบพหุขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองของโลกปรากฎชัดขึ้นหลังสงครามรัสเซียยูเครน และ สงครามยืดเยื้อในตะวันออกกลาง การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจระหว่างประเทศครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น การประกาศความแข็งแกร่งของจีนและการเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีภูมิภาคและโลกเป็นสิ่งที่ต้องจับตาใกล้ชิด ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปลายปีนี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญกำหนดความเป็นไปของโลก ระบบพหุขั้วอำนาจอันเหมายถึงระบบโลกที่มีหลายขั้วอำนาจจะชัดเจนขึ้นหากอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและลดบทบาทสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลก ถอนตัวออกจาก “นาโต้” ประกอบกับประทศไทยของเราต้องเผชิญกับปัญหาภายในรุมเร้ามากมาย ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศของไทยจึงต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เป็นยุทธศาสตร์แบบคู่ขนาน (Dual Track) ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศไปพร้อมกัน หาก “ไทย” สามารถประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง กำหนดแนวทาง ทิศทางและกำหนดสถานะทางยุทธศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม การมีบทบาทเชิงรุกย่อมทำให้ “ไทย” ได้ประโยชน์จากระบบพหุขั้วอำนาจที่กำลังเกิดขึ้นนี้

สถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 กำลังมาถึงขีดจำกัดและจำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่กันอีกรอบเพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า ขณะที่ความพยายาม “ปฏิรูป” ทางด้านต่างๆในสมัยรัฐบาล คสช ไม่มีอะไรคืบหน้าชัดเจนนักยกเว้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบขนส่งคมนาคม นโยบายประชานิยมและนโยบายเพิ่มสวัสดิการสังคมเป็นจุดเน้นของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ แทบไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนพูดถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจในรายละเอียด นโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัยพร้อมกับอัตราการเกิดต่ำมาก จะเกิดภาวะประชากรหดตัวในไม่ช้าและจะเกิด “กับดักประชานิยมสวัสดิการ” ได้หากไม่ปรับปรุงให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินของระบบสวัสดิการเหล่านี้ การปฏิรูปภาษีและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดฐานรายได้ใหม่ๆเกิดขึ้นได้ยาก ยกเว้นมีเจตจำนงทางการเมืองอันเข้มแข็ง  

มีการจัดสรรทรัพยากรทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้มีเงินฝากล้นระบบธนาคารจำนวนมาก อัตราสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายเดือน ย่อมทำให้ครัวเรือนที่มีความสามารถอาจไม่ได้สินเชื่ออย่างเหมาะสม  และทำให้กิจการขนาดย่อมขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเต็มที่ ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำและการขยายตัวของประสิทธิภาพของการผลิตรวมลดลงตามไปด้วย นโยบายการเงินที่ดีควรจะต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจหรือสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการส่งออกล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่เราซื้อมาทั้งสิ้น การสร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางโดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม อุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง รัฐควรมีนโยบายเชิงรับ เช่น สนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้ไม่ดีนัก ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในและใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเน้นการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง การปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพที่สูงขึ้น  
การถดถอยลงของภาคส่งออกจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องหันมาเอาใจใส่อย่างจริงจังในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของสินค้าไทยและการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมของไทย (Total Factor Productivity of Thailand) นั้นยังมีอัตราการเติบโตต่ำ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพสูงส่วนใหญ่เป็นโรงงานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติที่มีการใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น งานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพการผลิตรวมของไทยขยายตัวต่ำกว่า 1.2-1.3% ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับประสิทธิภาพในการผลิต (Productive Efficiency) อยู่กึ่งกลางระหว่างประเทศที่ใช้แรงงานเป็นหลักและประเทศที่ใช้ทุนเป็นหลักจึงสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนี้จะยาวนานมากจนกว่าไทยสามารถพัฒนากิจการที่มูลค่าเพิ่มสูง การผลิตใช้ปัจจัยทุนหรือเทคโนโลยีเข้มข้น พร้อมกับ สามารถพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเอง ปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยค่าแรง นโยบายสาธารณะ และ อำนาจตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและใช้เวลาสั้นกว่ามาก ภาวะการตกต่ำของภาคส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางตัวจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานหากไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพการผลิตได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่สามารถก้าวข้ามพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ นั้น ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาระดับความสามารถทางการผลิตของประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

การกดค่าแรงไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง เพื่อนร่วมชาติผู้ใช้แรงงานต้องได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนแรกเข้าสูงขึ้นเป็นนโยบายที่จะช่วยบรรเทาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต้องมีมาตรการเชิงรุกอื่นๆเพิ่มเติมจึงสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื้อรังที่ต้นตอได้  การเติบโตด้วยการขับเคลื่อนจากฐานทรัพยากร และ ฐานแรงงานราคาถูกนั้นได้มาถึงขีดจำกัดอย่างชัดเจนและพ้นยุคสมัยไปแล้ว ความทรุดโทรมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ แม้นแต่อากาศและน้ำสะอาดก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ในหลายพื้นที่ของประเทศ ภาคการผลิตของเศรษฐกิจไทยไม่สามารถอาศัยแรงงานทักษะต่ำราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆโดยไม่คิดยกระดับทักษะแรงงานเหล่านี้ เราควรปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวอย่างมีมาตรฐานและสิ่งนี้เป็นการแสดงความมีศิวิไลซ์ของสังคมไทย  การปฏิรูปเศรษฐกิจให้เกิดความเท่าเทียมจึงต้องเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องทุนโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ที่มีลักษณะผูกขาด ให้กลาย เป็นทุนที่แข่งขันกันอย่างเสรี เราต้องมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ไม่ใช่มีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยสัมปทานผูกขาดจากภาครัฐ ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการทางภาษีในการแบ่งปันกำไรส่วนเกินมากระจายให้กับสังคมผ่านระบบสวัสดิการหรือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจไปยังพื้นที่ยากจน  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยจะไม่สามารถทำให้แรงงานส่วนใหญ่หลุดพ้นจากความยากจนในวงกว้างได้ เนื่องจากแรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมไม่ได้อยู่ในระบบคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ การก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้วจำเป็นต้องมุ่งยกระดับรายได้ของแรงงานทั้งหมดทั้งในระบบและนอกระบบการคุ้มครองแรงงาน

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าหากรัฐบาลใหม่วางเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยมีระบบรัฐสวัสดิการแบบยุโรปเหนือย่อมทำได้แต่เป็นเรื่องที่อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้และไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน  ประเทศรัฐสวัสดิการมักเป็นประเทศที่มีระบบราชการหรือระบบรัฐการที่ใหญ่ Bigger Government ไม่ใช่ Smaller Government ประเทศรัฐสวัสดิการต้องมีระบบราชการและระบบการเมืองที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นรัฐสวัสดิการที่ล้มเหลวหรือประสบปัญหาความยั่งยืนทางการเงินการคลัง เกิดวิกฤติทางการคลัง นำไปสู่การลดขนาดของระบบราชการและลดสวัสดิการของรัฐในที่สุด ปรากฎการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบางประเทศในยุโรปใต้และฝรั่งเศส  

การเดินหน้าระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบในไทย เรื่องแรกที่ต้องตอบให้ได้ คือ ระบบราชการไทยเป็นอย่างไร กรณีไทย ต้องปรับเปลี่ยนระบบราชการให้โปร่งใสมีประสิทธิภาพก่อน คือ ต้องปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่พร้อมกับการกระจายอำนาจการจัดระบบสวัสดิการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องที่สอง คือ ต้องปฏิรูปรายได้ภาครัฐและเพิ่มภาษี ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นประเทศรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบจะมีสัดส่วนรายได้ภาษีอยู่ที่ระดับ 42-48.9% ของจีดีพี อย่างเดนมาร์ก มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีอยู่ที่ 48.9% สวีเดนอยู่ที่ 48.2% โดยประเทศพัฒนาใน OECD มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 35% สหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดปัจเจกนิยมเสรี (Liberal Individualism) กับ แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ผสมกันในจัดระบบสวัสดิการโดยรัฐ ขึ้นอยู่กับว่าพรรคแดโมแครต หรือ พรรครีพับรีกัน พรรคไหนเป็นรัฐบาล มีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเฉลี่ยอยู่ที่ 28-30% ส่วนไทยมีสัดส่วนรายได้ภาษีต่อจีดีพีเพียงแค่ 14% เท่านั้น จึงยังห่างไกลต่อการมีฐานะทางการคลังที่สามารถสนับสนุนรัฐสวัสดิการแบบเต็มรูปแบบอย่างสแกนดิเนเวียได้ ประเทศไทยเคยมีสัดส่วนการจัดเก็บรายได้อยู่ที่ระดับ 18% ในปี พ.ศ. 2539 ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 40  การขยายฐานภาษีนั้นควรเดินหน้าจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น  ส่วนการจะก่อหนี้มาเพื่อจ่ายสวัสดิการสังคมเพิ่มควรต้องทำอย่างระมัดระวัง หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่บริหารงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพและรั่วไหล เรามีความจำเป็นต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเหล่านี้อย่างจริงจัง สินค้าและบริการของรัฐวิสาหกิจแห่งใดที่เอกชนทำได้ดี รัฐไม่จำเป็นต้องไปทำแข่ง ก็ควรจะแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นออกไปเพื่อลดภาระทางการคลัง

เรื่องที่สาม ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมเมื่อเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณ โดยไทยมีรายจ่ายด้านสวัสดิการเทียบกับจีดีพีและเทียบกับงบประมาณค่อนข้างต่ำ แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมในปัจจุบันของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสแกนดิเนเวียต้นแบบรัฐสวัสดิการมากกว่า 14-15 เท่า และ อย่างสวีเดนหรือเดนมาร์กมีรายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมต่อหัวมากกว่าไทย ประมาณ 600 เท่า การดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ระบบรัฐสวัสดิการจึงต้องใช้เวลา ประเมินจากฐานะการเงินการคลังของประเทศ รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม โครงสร้างประชากรล่าสุด สภาวะเศรษฐกิจและสังคมของไทย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะบรรลุเป้าหมายการมีระบบรัฐสวัสดิการที่มีมาตรฐานแบบยุโรปเหนือ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีนโยบายสร้างระบบรัฐสวัสดิการทำงานต่อเนื่องอย่างน้อยสองวาระจึงจะบรรลุเป้าหมายได้ แต่ควรเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่มีความยืดหยุ่นเพื่อเลี่ยงวิกฤติการคลังเช่นประเทศยุโรปบางประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง หากไม่เร่งดำเนินการ ผู้สูงอายุที่ยากจนจะประสบความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอย่างมาก โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและไม่อยู่ในระดับบำนาญใดๆจะเป็นปัญหาวิกฤติในอนาคตอันใกล้ ประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก ต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษานโยบายการเพิ่มประชากรผ่านการตั้งถิ่นฐานใหม่ของแรงงานทักษะสูงการศึกษาสูงเป็นเรื่องที่ควรมีการเตรียมการเอาไว้

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม มุ่งไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้ง วางแผนให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน การปฏิรูประบบการศึกษาต้องเน้นไปที่คุณภาพการศึกษามากกว่า การใช้ระดับปีการศึกษา (School attainment) หรือ จำนวนปีการศึกษา (Year of schooling) เป็นเป้าหมายไม่เพียงพอ ประเทศไทยประสบกับปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างความต้องการและอุปทานในตลาดแรงงาน การผลิตคนสู่ภาคการผลิตของเรายังไม่ได้อิงกับอุปสงค์ของระบบเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก สถาบันการศึกษาเลือกผลิตคนตามความพร้อมของตน นอกจากนี้ระบบการศึกษายังผลิตคนตามความนิยมและค่านิยมในการเรียนมากกว่าความต้องการจริงๆในระบบเศรษฐกิจ ภาคการผลิตยังคงขาดแคลนแรงงานวิชาชีพจากระบบอาชีวะศึกษาจำนวนมาก ระบบการศึกษาไทย จึงเป็น Supply Driven Education System ความด้อยลงของคุณภาพการศึกษาสะท้อนมาที่แรงงานที่ไม่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยอันดับต้นๆของไทยก็อยู่ในอันดับไม่ดีนักในภูมิภาคหรือในโลก ทั้งที่บางมหาวิทยาลัยมีงบประมาณ มีทรัพย์สินเพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่องานการศึกษา การวิจัยขั้นสูงและการสร้างนวัตกรรมได้ ระบบอุดมศึกษาของไทยโดยภาพรวมก็มีคุณภาพต่ำซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เช่นเดียวกัน  
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net