Skip to main content
sharethis

ประชาไท -12 พ.ย.2548 ชาวบ้านตรังเสนอรื้อโครงการขยายถนน 4 เลนตรัง - ห้วยยอด ปรับเป็นถนนท่องเที่ยว แฉ 4 เลนในตรังพ่นพิษ ถมถนนสูงปิดทางเข้าออกบ้านชาวบ้าน ถึงฤดูฝนน้ำท่วมขังทุกปี คน 2 ข้างถนนทนทุกข์นานนับทศวรรษ เตือน 4 เลนใหม่อย่าซ้ำรอยเดิม นัดถกปรับแบบก่อสร้างอีกรอบ 16 พฤศจิกาฯ


           


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ที่โรงเรียนบ้านน้ำพราย อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง คณะทำงานพิจารณารายละเอียดของโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 4 ช่วง ลำภูรา - ห้วยยอด เป็น 4 เลน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านที่มีส่วนได้เสีย บริเวณบ้านน้ำพราย มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน


 


น.พ. จำรัส สรพิพัฒน์ หนึ่งในคณะทำงานฯ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมรับฟังคำชี้แจงว่า รู้สึกมีความยินดีที่ผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ให้ความสำคัญกับประชาชน โครงการนี้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้เสียเวลา แต่ยังดีที่ตอนนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มคิดโครงการ


 


โดย น.พ. จำรัส อธิบายว่า ถนนเส้นนี้มีประวัติความเป็นยาวนาน เป็นเส้นทางประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นถนนที่สวยที่สุดสายหนึ่งของประเทศ มีต้นไม้ขนาดใหญ่ อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จนถึงอายุ 10 กว่าปี เมื่อครั้งมีการปลูกป่า 2 ข้างทาง เป็นป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี


 


"ถนนสายนี้มีทัศนียภาพสวยงามมาก เราควรอนุรักษ์กำหนดเป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับคนที่ต้องการความสะดวกในการเดินทาง ปัจจุบันไปใช้ถนน 4 เลน สาย 403 ได้อยู่แล้ว ขณะนี้คนที่เลือกใช้เส้นทางสายนี้ คือ คนที่ต้องการชมธรรมชาติ ถ้าต้องการความรวดเร็ว" น.พ. จำรัส กล่าว


 


ด้านนายชัยพร จันทร์หอม ข้าราชการเกษียณซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของตนพบว่า การออกแบบเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าออกแบบไม่เหมาะสม จะสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน 2 ข้างทางอย่างมาก เช่นถนน 4 เลน สายตรัง - นาโยง ที่สร้างเมื่อปี 2538 ถมถนนสูงเกินความจำเป็น ขณะเดียวกันผิวการจราจร และคูระบายน้ำยังขยายไปติดกับบ้านชาวบ้าน ทำให้มีปัญหาในการเข้า - ออกจากตัวบ้าน และน้ำท่วมบ้านในฤดูฝน เพราะฉะนั้น การขยายถนนสายตรัง - ห้วยยอด จึงควรเทียบเคียงกับถนน 4 เลน ที่ทำเสร็จแล้ว เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา โดยเลือกแนวทางให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ให้มากที่สุด และควรตอบสนองยุทธศาสตร์ของจังหวัดตรัง ที่กำหนดให้เป็นจังหวัดนี้ เป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


 


นายทวี เอื้อศิริพรฤทธิ์ ผู้ช่วยช่างแขวงการทางจังหวัดตรัง กล่าวชี้แจงว่า โครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนที่แขวงการทางได้ลงนามในสัญญา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โดยกำหนดโครงการแล้วเสร็จวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 วงเงินงบประมาณ 149 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้าง จะให้ชาวบ้านช่วยกันเสนอว่า ควรจะเป็นอย่างไร เพื่อจะปรับเปลี่ยนแบบแปลนให้เหมาะสม ตนยืนยันว่าจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน จะไม่มีการเวนคืนที่ดิน ไม่มีการรื้อบ้านชาวบ้านเพื่อขยายถนน รวมทั้งจะดูแลท่อประปาข้างถนนตรงบริเวณบ้านน้ำพราย ไม่ให้เสียหายในระหว่างการก่อสร้าง ส่วนต้นไม้ 2 ข้างทาง จะย้ายไปไว้ในที่เหมาะสม


 


"การก่อสร้างขยายถนนสายนี้ จะพยายามให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะทำให้ดี สวย สะดวกรวดเร็ว และมีความปลอดภัย" นายทวี กล่าว


 


นายรักชาติ เที่ยงธรรม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลลำภูรา กล่าวว่า ถ้าหากถนนสายนี้ไม่มีการขยาย ก็ควรจะปรับปรุงผิวถนน ถ้างบประมาณเหลืออยากให้นำมาใช้สร้างคูระบายน้ำในเขตเทศบาลลำภูรา เพราะงบประมาณของเทศบาลไม่เพียงพอ


 


นายนิตย์ ศรีวรางกูร นายอำเภอห้วยยอด ระบุว่า โครงการนี้ ยังสามารถปรับแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องกับความต้องการได้ โดยคณะทำงานฯ จะประชุมพิจารณาแบบแปลนการก่อสร้าง เวลา 9.30 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 นี้ ที่แขวงการทางจังหวัดตรัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net