Skip to main content
sharethis


วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


โครงการอพยพชาวอีสานลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ของ นายโกสินทร์ เกษมทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ไม่แตกต่างไปกว่าการเสนอโครงการติดยูบีซี เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ของ พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คนในกระทรวงเดียวกัน


 


คิดว่าโครงการนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาของคณะกรรมการที่รัฐมนตรีมหาดไทยตั้งขึ้น และคงจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการฝ่ายต่างๆกันมากมายหลายมุมมองเช่นกัน


 


โครงการอพยพชาวอีสานลง 3 จังหวัดภาคใต้ มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายอย่างไรนั้น คงไม่ต้องมาพูดซ้ำอีก เพราะปรากฏชัดเจนในข่าวแล้ว โดยเฉพาะผู้เสนออ้างว่า สมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ ได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน 


 


อย่างไรก็ตามอยากจะบอกกล่าวเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง ..จะถือว่าเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว ก็แล้วแต่ความคิดของท่านเสนาบดีมหาดไทยทั้งสอง !


 


เมื่อปี พ.ศ.2352  หลังจากดาโต๊ะปังกาลันราชาเมืองปัตตานีสิ้นชีวิต สยามได้แต่งตั้งปลัดจะนะหรือนายขวัญซ้ายบุตรชายเจ้าเมืองจะนะเป็นเจ้าเมืองปัตตานี นายขวัญซ้ายได้อพยพชาวพุทธจากเมืองสงขลาประมาณ 500 ครอบครัวไปอยู่ในเมืองปัตตานี 


 


เมื่อนายขวัญซ้ายสิ้นชีวิต นายพ่าย น้องชายนายขวัญซ้ายเป็นเจ้าเมืองแทน ปรากฏว่าชาวมาลายูปัตตานีกับชาวสยามที่อพยพมีเรื่องทะเลาะวิวาทเข่นฆ่ากันและกัน รวมทั้งมีเหตุการณ์ปล้นสะดมกันไม่หยุดหย่อน ทำนองเดียวกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ทุกวันนี้  เจ้าเมืองต้องรายงานเหตุไปยังกรุงเทพฯ  ทางกรุงเทพฯต้องมาจัดแยกเมืองปัตตานีออกเป็น 7 หัวเมือง มีเจ้าเมืองต่างปกครองกันเป็นเอกเทศ


 


แสดงให้เห็นว่าการอพยพคนต่างชาติพันธ์ ศาสนา และต่างวัฒนธรรมนั้นได้สร้างความยุ่งยากวุ่นวายแก่รัฐบาล มาแล้วในอดีต (อิบราฮิม ซุกรี "ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี" โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐฯมอ.วิทยาเขตปัตตานี 2541)


 


เมื่อระหว่างปี ค.ศ.1990-1995  รัฐบาล อินโดนีเซีย มีโปรแกรมที่เรียกว่า "ทรานส์มิกราซั่น (Transmigration)"  ส่งชาวชวาที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศบนเกาะชวาซึ่งขาดที่ดินทำกิน  ไปยังเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองมาลายู และบาตัค ,  เกาะกาลิมันตันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองดายัค และเกาะซูลาเวสซี  อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองบูกิส  มีวัตถุประสงค์เพื่อผสมผสาน (Assimilation) วัฒนธรรมระหว่างชาวชวากับชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะนั้นๆ  ซึ่งนักวิชาการบางท่าน เรียกโครงการนี้ว่า " จาวาไนซ์เซชั่น" (Jawanisation) 


 


ผลปรากฏว่า  ชาวพื้นเมืองไม่ยอมรับและมีความขัดแย้งกับชาวชวา กระทั่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ หลังจากนั้นสี่ถึงห้าปีตอมา ชาวชวาถูกคนพื้นเมืองฆ่าตายด้วยการ เชือดคอหรือตัดคอ ตายเป็นจำนวนร้อยๆคน จนรัฐบาลอินโดนีเซียต้องส่งทหารไปรักษาความสงบ และอพยพชาวชวาเหล่านั้นกลับถิ่นฐานเดิม 


 


ในสมัยจอมพลสฤษฏ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีการดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับที่ผู้ช่วยรัฐมนตรีมหาดไทยเสนอ ซึ่งนักวิชาการมุสลิมภาคใต้เรียกโครงการนี้ว่า "เซียมไมซ์เซชั่น (Siamisation)" โดยมอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งขณะนั้นเป็นหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย   จัดหาที่ดินในป่าเขาตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส จนถึงอำเภอควนกาหลงจังหวัดสตูล จังหวัดละ 1 แห่ง จัดสรรให้ชาวไทยจากภาคอีสาน และภาคใต้ตอนบนมาอยู่ในนิคมดังกล่าวจำนวนหลายแสนคน เช่นเดียวกันอินโดนีเซียทำมาก่อน


 


กรณีดังกล่าวได้เกิดผลกระทบดังนี้


 


1.รัฐต้องทำลายทรัพยากรป่าไม้จำนวนหลายแสนไร่ ทำเป็นพื้นที่นิคมพัฒนาตนเอง ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินครอบครัวละ 25-30 ไร่ แก่ชาวบ้านที่อพยพ  สุดท้าย เกิดขาดดุลยภาพทางธรรมชาติ  มีทั้งฝนแล้ง แต่พอมีน้ำก็เกิดน้ำท่วม น้ำหลาก ท่วมไร่นาประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมาลายูมุสลิม


 


 2.รัฐได้ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างนิคม ตั้งแต่การถางป่า ตัดถนนเข้าสู่ป่า สร้างบ้าน จัดระบบประปา และอื่นๆ จนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯร่ำรวยกันมหาศาล  กล่าวกันว่านิคมฯอยู่ที่ใด เจ้าหน้าที่รวยที่นั่นเพราะมีโอกาสคอรัปชั่นสูง


 


 3.รัฐได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนในการเตรียมพื้นที่และให้ สัมปทานชักลากไม้จากพื้นที่โครงการนิคมฯ จนมีการตัดไม้นอกพื้นที่นิคมฯ มาสวม ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายมากเกินกว่าความจำเป็น บริษัทเหล่านั้นจะจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ทำไม้ให้ได้กำไรสูงสุด สร้างความร่ำรวยบริษัททำไม้และเจ้าหน้าที่  ในขณะเดียวกับประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ 


 


 4.ชาวไทยพุทธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นิคมฯมักจะเป็นพื้นที่สูง หรืออยู่บนภูเขาอันเป็นต้นน้ำลำธาร ซึ่งชาวไทยพุทธนิยมเลี้ยงสุกร เมื่อฝนตกจะชะเอาสิ่งปฏิกูลจากการเลี้ยงสุกร ไหลลงสู่แม่น้ำ และที่ราบเบื้องล่างอันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไทยมุสลิม จึงเกิดความขัดแย้งและต่อต้านโครงการนิคมฯขึ้น   ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งและรุนแรงติดตามมา


 


 5.จากข้อ 4 กลุ่มขบวนการต่างๆใช้เป็นเงื่อนไขในการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐกำลังรังแกข่มเหงชาวมุสลิมโดยการโยกย้ายชาวพุทธเข้ามาในพื้นที่  จึงได้ทำร้ายชาวไทยพุทธ  เช่น เมื่อปี พ.ศ.2523  กรณีกลุ่มโจรพูโล กลุ่มนายตอเละ นาโต้ จับชาวบ้านไทยพุทธบ้านไอยามู กิ่งอำเภอสุคิริน จำนวน 6 คน ไปยิงทิ้งที่เชิงเขาบ้านลาเลาะมาตอ กิ่งอำเภอสุคิริน เสียชีวิต 5 คน จับเด็กไปเป็นตัวประกัน 1 คน


 


 6. จากเหตุการณ์ดังกล่าวในข้อ 5 รัฐต้องใช้งบประมาณ กำลังทหารและตำรวจจำนวนมหาศาล ให้ปกป้องคุ้มครองชาวบ้านไทยพุทธ ทุกหมู่บ้าน ทุกโครงการของนิคมฯ อย่างเข้มงวดตลอดเวลาหลายปี หากเมื่อใดชาวไทยพุทธไม่มั่นใจในความปลอดภัย ก็จะละทิ้งถิ่นฐานไปที่อื่น เช่นไปรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ  ทำให้เกิดหมู่บ้านร้าง ไม่คุ้มค่างบประมาณที่ได้จัดสรรลงไปแล้ว


 


ดังนั้นโครงการอพยพชาวอีสานไปภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นโครงการที่ล้มเหลวมาแล้วในอดีต  ชาวอิสราเอล เคยได้รับบทเรียน  ที่ต้องปิดนิคมชาวยิว ในดินแดนฉนวนกาซาในเขตของชาวปาเลสไตน์ เพราะทนต่อการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ด้วยระเบิดพลีชีพไม่ไหว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net