Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และมหาชน ตัดสินใจไม่ร่วมสังฆกรรมในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ทั้งที่พรรคเหล่านี้โดยเนื้อแท้และประวัติ อาจจะเรียกได้ว่า มีอุดมการณ์ชัดเจนเพียงประการเดียวอยู่ที่ ‘การเลือกตั้ง’ เป็นการตัดสินใจที่ทำให้ชวน หลีกภัย ผู้มั่นหมายจะเป็นผู้มีชื่อเป็น ส.ส. ทุกยุคทุกสมัยต้องมีรอยเว้นวรรค

แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า นั่นเป็นสิทธิ ตามกติกา และมีความชอบธรรมในฐานะที่สามพรรคฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า การเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบทักษิณ

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ยังคงต้องยอมรับว่า การตัดสินใจนี้ ทำให้การยุบสภาของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อหวังจะยุติปัญหาการประท้วงขับไล่ไม่เป็นผล มิหนำซ้ำยังทำให้การชุมนุมเรียกร้องทวีความเข้มข้นมากขึ้น

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ การเดินออกจากการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคฝ่ายค้าน นับเป็นความกล้าหาญชนิดหนึ่ง

ตอนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หลังการประกาศอดอาหารและน้ำของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และเข้าร่วมการชุมนุม กับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มวลชนส่วนใหญ่เป็นมวลชนที่ศรัทธาในตัว พล.ต.จำลอง และนั่นทำให้การชุมนุมที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 7 พฤษภาคม องค์กรนำร่วมในการชุมนุมคือ สนนท. (ปริญญา เทวานฤมิตรกุลเป็น เลขาธิการ) และ ครป. (โคทม อารียา เป็นเลขาธิการ) ถูกชิงการนำ เมื่อ พล.ต.จำลอง ตัดสินใจนำผู้ชุมนุมเดินไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในเวทีวันนั้น โคทม อารียา ตัดสินใจประกาศบนเวทีว่า การเดินครั้งนั้นไม่ใช่การตัดสินใจและมิได้มาจากมติร่วมของ ครป.และ สนนท. ความแตกแยกครั้งนั้นกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสุจินดา เพื่อทำลายความชอบธรรมของการชุมนุม และทำให้วันรุ่งขึ้น แกนนำผุ้ชุมนุม พล.ต.จำลอง และองค์กรอื่นๆ ที่เข้าร่วมภายหลัง ตัดสินใจก่อตั้ง ‘สมาพันธ์ประชาธิปไตย’ ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายๆ กับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลานี้

คล้ายตรงที่ มวลชนพื้นฐานส่วนใหญ่ไม่ใช่มวลชนที่มาเพราะ ครป. หรือพันธมิตรฯ แต่มาเพราะสนธิ ลิ้มทองกุล แต่ไม่คล้ายตรงที่ เมื่อ 14 ปีก่อน ครป. และ สนนท. ถูกชิงการนำ แล้วจึงเจรจาจัดตั้งองค์กรนำทีหลัง ขณะที่การชุมนุมคราวนี้สนธิเป็นผู้เริ่ม พันธมิตรฯเข้ามาทีหลัง

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ การแตกหักกลางเวทีชุมนุม กลายเป็น ‘บาดแผลพฤษภา’ ที่ทำให้ผู้นำการชุมนุมวันนั้นได้สรุปบทเรียนแบบแปลกๆ

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสรุปบทเรียนแบบแปลกๆ จาก ‘บาดแผลพฤษภา’ ในวันนั้นได้เข้ามามีอิทธิพลครอบงำความคิดและการตัดสินใจของพันธมิตรฯ บางส่วนในวันนี้

การสรุปบทเรียนที่ว่าก็คือ การแตกหักวันนั้นลดทอนบทบาทการนำ ลดทอนอำนาจต่อรอง กล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ แทนที่การนำจะอยู่กับ ครป.และ สนนท. แม้แต่ในนามก็ยังดีกว่า ปล่อยให้การนำไปอยู่กับสมาพันธ์ฯ ซึ่งมี พล.ต.จำลอง มีบทบาทในการชี้นำ ซึ่งนำไปสู่การนองเลือดที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำ

ขณะที่ไม่เคยมีการพิสูจน์เลยว่า การชุมนุมที่ไม่มีองค์กรกลางนำเพียงองค์กรเดียวจะได้ผลเป็นอย่างไร ไม่เคยมีการพิสูจน์เลยว่า หากวันที่โคทม ประกาศบนเวที และปักหลักการชุมนุมส่วนหนึ่งไว้ที่สนามหลวง ไม่เคลื่อนตามจำลองไป แล้วยอมให้เกิดการไล่สุจินดาสองแนวทาง ผลจะเป็นอย่างไร

เรารู้แต่เพียงว่า เหตุการณ์วันที่ 17-19 พฤษภาคม 2535 มีผู้คนล้มตาย แม้เราจะได้ชัยชนะด้วยการล้มรัฐบาลสุจินดาสำเร็จก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานที่น่าเชื่อว่า จะเป็นมติของพันธมิตรฯ ไม่ว่าจะแถลงเป็นมติด้วยน้ำเสียงแบบไหน จะไม่มีทางที่จะได้ผลเป็นนายกฯพระราชทานตามข้อเรียกร้อง เพราะไม่มีทางที่พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกข้าง เว้นเสียแต่เกิดภาวะกลียุคและผู้คนล้มตาย ดังนั้น การเรียกร้องขอนายกฯพระราชทาน จึงมีขึ้นเพื่อเป็นข้อเรียกร้องกดดันนายกฯทักษิณ มากเสียกว่าจะเชื่อว่า เป็นเหตุผลที่จะนำไปสู่ความรุนแรง

ประเด็นของการเรียกร้องนายกฯพระราชทาน จึงไม่ใช่เรื่องความรุนแรงดังที่หลายๆ ฝ่ายกังวล หากแต่สำคัญก็ตรงที่ มันคือการนำหลักการและมาตรฐานทางการเมือง ซึ่งรวมไว้ซึ่งจริยธรรม (ที่ถามหากันนัก) มาตรวัดในการปฏิบัติ จิตวิญญาณประวัติศาสตร์ไปเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อล้มทักษิณ

และหากสมมติว่า มีการพระราชทานขึ้นมาจริงๆ เราจะทำความเข้าใจประเด็นที่เรียกร้องให้มีการสอบสวน พ.ต.ท.ทักษิณ ในกรณีซุกหุ้นและความฉ้อฉลในกรณีชินคอร์ปได้อย่างไร เมื่อความสัมพันธ์โยงใยในดีลชินคอร์ป ผูกโยงกับธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยสำนักทรัพย์สินฯ ทางหนึ่งการเรียกร้องนายกฯพระราชทาน จึงคือการดึงให้เบื้องสูงต้องระคาย และไม่เป็นเหตุเป็นผลกับข้อเรียกร้องของพันธมิตรในเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินของทักษิณเอาเสียเลย

อย่าลืมทีเดียวเชียวว่าการชุมนุมของ สนธิ เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจนั้นมีมาก่อนที่ดีลชินคอร์ปจะฉาวโฉ่

ถ้าเช่นนั้น ด้วยความเคารพ เราจะบอกได้ไหมว่า ขณะนี้ม็อบพันธมิตรฯ ได้กลายสภาพกลับมาเป็นม็อบสนธิอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และองค์กรต่างๆ ที่ร่วมในพันธมิตร กลายเป็นเพียงเครื่องมือให้กับสนธิ ไม่ว่าการนำพาของสนธิจะเป็นไปด้วยเจตนาดีหรือร้ายแอบแฝงอยู่ก็ตาม

อย่าลืมทีเดียวเชียวว่า สนธิ เคยด่าทอทักษิณด้วยสัจธรรมว่า “เสือไม่มีทางกินมังสวิรัติ”

อย่าลืมทีเดียวเชียวว่า สนธิ เคยด่าทอทักษิณเสมอๆ ว่า “ปากกล้าขาสั่น”

มาถึงตรงนี้ องค์กรพันธมิตรฯ อาจจะต้องใช้ความกล้าหาญและจินตนาการใหม่ๆ ในการต่อสู้ เตือนกับตัวเองว่า ต่อให้ทักษิณอยู่ได้ต่อไป (ซึ่งเราเชื่อว่าอยู่ไม่ได้ และจะกลายเป็นฮีโร่เพื่อรักษาหลักการประชาธิปไตยด้วยการเว้นวรรค) อย่างมากก็อยู่ได้ 5 ปี 10 ปี แต่ ‘หลักการ’ ที่วีรชนเดือนพฤษภาต่อสู้ให้ได้มา จะต้องอยู่กับเราและการเมืองไทยไปตลอด และนี่คือความยั่งยืน...

ถึงที่สุด อาจจะต้องถามตัวเองว่า เรากำลังกลัวระบอบทักษิณมากเกินไปหรือไม่

และถึงเวลาหรือยังที่ต้องเรียกความกล้ากลับมาด้วยการประกาศว่า ‘กูไม่กลัวระบอบทักษิณ’ และถอนตัวออกมาต่อสู้อีกแนวทางหนึ่ง

ดูพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้บ้างก็ดีนะครับ หลังจากที่ด่าเขามาตลอด

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net