Skip to main content
sharethis



วันที่ 24 มิถุนายน 2549 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ขึ้นพร้อมมีการอภิปรายหัวข้อ "ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ พุทธทาสภิกขุ บุคคลสำคัญของโลก"ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชมัยภร แสงกระจ่าง สันติสุข โสภณศิริ พระดุษฎี เมธังกุโร ดำเนินรายการโดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ


 


ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นพูด นอกจากการยกย่องในความยิ่งใหญ่แห่งความเป็นสามัญชนและการอภิปรายถึงลักษณะร่วมกันของบุคคลซึ่งเกิดร่วมยุคสมัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การหล่นหายไปของแนวคิด และตัวตนของคนสามัญ 3 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์


 


0 0 0


 


"จะว่าไปแล้วสังคมไทยก็ถูกตัดต่อความทรงจำเป็นระยะๆ เริ่มตั้งแต่ 2476 เพราะกรณีเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของอาจารย์ปรีดี สังคมไทยก็ได้คอมมิวนิสต์คนแรกชื่อนายปรีดี พนมยงค์ นั่นคือการตัดต่อความทรงจำครั้งที่ 1 และมาถูกตัดต่ออีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ซึ่งเป็นวันที่เกิดกรณีสวรรคต"


 


"การตัดต่อตัดตอนนั้นเป็นไปเพื่อลบคนที่ชื่อนายปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ หรือฝ่ายทหารเรือที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีกบฏวังหลวง และกรณีกบฏสันติภาพ"


 


สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวและร่ายเรียงประวัติศาสตร์แห่งการตัดต่อความทรงจำเป็นลำดับ คือลำดับแรก ปี 2476 หลังปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ และประเทศไทยก็ได้คอมมิวนิสต์คนแรกชื่อปรีดี พนมยงค์


 


ลำดับที่ 2 กรณีวันสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2489 ลำดับที่ 3 เมื่อจอมพลผิน ชุณหะวัน ทำการรัฐประหารเมื่อ 2490 ตัดต่ออีกครั้งหนึ่งในกรณีของกบฏวังหลวง ลำดับที่ 4 กรณีกบฏแมนฮัตตัน ในปี2494 และ ลำดับที่ 5 กรณีกบฏสันติภาพ


 


โดยสุชาติ สรุปว่า การตัดต่อตัดตอนนั้นเป็นไปเพื่อลบคนที่ชื่อนายปรีดี พนมยงค์ หรือคณะราษฎรที่เกี่ยวข้องกับนายปรีดี พนมยงค์ หรือฝ่ายทหารเรือที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีกบฏวังหลวงและกรณีกบฏสันติภาพ และท้ายที่สุดก็ถูกตัดตอนอีกครั้งในช่วงปี 2500-2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


 


"ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า "ความคิดที่ถูกต้อง" นั้นถูกตัดต่อตัดตอนไปในหลายช่วงของสังคมไทย ตั้งแต่เกิดการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา ซึ่งหากเราพิจารณาจากงานของบุคคลทั้ง 3 คน (ปรีดี กุหลาบ และพุทธทาสภิกขุ) ที่ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้ว สิ่งที่ท่านทำ สิ่งที่ท่านคิดมันเกิดขึ้นเป็นรากเหง้าอยู่ในสังคมไทย เกิดขึ้นมาพร้อมกับการอภิวัฒน์สังคมไทยเมื่อ พ.ศ. 2475 แต่ว่ามันไม่ราบเรียบ ไม่ราบรื่น มีอุปสรรคต่างๆ นานา และอุปสรรคที่ชัดเจนที่ส่งผลกระทบครั้งใหญ่ก็คือกรณีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489"


 


"ดิฉันเป็นคนที่ถูกตัดต่อความทรงจำมากที่สุด เพราะเติบโตมาในช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงที่ความรู้ความทรงจำ ถูกตัดต่อไปมาก แล้วกว่าจะมารู้ก็เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ดิฉันเองโตมากับหนังสือกลุ่มค่ายสยามรัฐ เพราฉะนั้น ดิฉันเรียนรู้ช้ากว่าทุกคน และที่มีโอกาสเรียนรู้ช้ามากที่สุด คือการเรียนรู้จากศรีบูรพา เพราะห้องสมุดทั่วไปมี "ข้างหลังภาพ" มี "สงครามแห่งชีวิต" แต่ไม่มี "แลไปข้างหน้า" " ชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าวรับผลของการตัดต่อความทรงจำโดยใช้ตัวเองเป็นพยาน พร้อมกล่าวว่า หากลองใช้คำว่า "ถ้า" เช่น ถ้ากุหลาบ สายประดิษฐ์ มีโอกาสทำหนังสือต่อเนื่องมา เราจะมีโอกาสได้อ่านหนังสือแบบไหน คำตอบย่อมน่าตกใจ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่า เราพลาดที่จะได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง


 


สำหรับแนวคิดและผลงานของอาจารย์ปรีดีนั้น ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า เธอจะไม่เคยเรียนรู้และสัมผัสมาก่อนจนกระทั่งในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เอง นั่นเป็นเพราะเธอถูกทำให้เชื่อว่า อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น เป็นเรื่อง "อันตราย"


 


สำหรับผลงานของพุทธทาสภิกขุ เธอกล่าวว่า แม้ท่านพุทธทาสจะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่หลักธรรมของพุทธทาสภิกขุนั้น ก็หาได้รับการยอมรับจาก "กระแสหลัก" แต่อย่างใด เช่นกัน


 


จุดร่วมของ 6 ประการแห่งความเป็นสามัญชน


สุชาติ สวัสดิ์ศรี กล่าวว่า ปรีดี พนมยงค์ พุทธทาสภิกขุ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลร่วมสมัยกัน และสิ่งที่ทั้ง 3 มีร่วมกัน คือการเป็นผู้สร้างสังคมทั้งทางโลกและทางธรรม ถือเป็นคนที่อยู่ใน "สำนึกคิด" เดียวกัน และเป็นคนที่อยู่ร่วมในศตวรรษแห่งสามัญชน


 


โดยที่สามัญชนทั้งสาม มีลักษณะร่วมกัน 6 ประการ


 


ประการแรก เป็นสามัญชนที่เกิดมาดี คือเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ต้องการพิสูจน์ตัวเองไม่ใช่เป็นสมมติเทพหรือเป็นสมมติเทพ หรือเป็นเทวราช เป็นมนุษย์ธรรมดาที่เกิดมามีเหตุมีผล


 


ประการที่ 2 เป็นสามัญชนที่เกิดมาเพื่อประโยชน์ของคนอื่น "ในเรื่องสั้นซึ่งคุณกุหลาบเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ. 2487 เขียนว่า "ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น" ซึ่งผมคิดว่า นี่คือความหมายที่พิสูจน์ชีวิตการงานของคุณกุหลาบ และพิสูจน์ชีวิตการงานของท่านพุทธทาสและอาจารย์ปรีดีด้วย" สุชาติขยายความว่า การเกิดมาเพื่อผู้อื่น คือการเกิดมาเพื่ออยู่ข้างผู้คนส่วนใหญ่ที่เสียเปรียบ พูดง่ายๆ ก็คือยืนอยู่ข้างคนจนและยืนอยู่ข้างธรรมะนั่นเอง


 


ประการที่ 3 เป็นสามัญชนที่แสวงหา และเป็นสามัญชนที่เทศนาในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ขณะที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สร้างฐานความคิดเรื่องการปกครองและทำการอภิวัฒน์เมื่อปี 2475 กุหลาบ สายประดิษฐ์ก็มีความเสมอต้นเสมอปลาย ในหลักคิดเรื่องมนุษยชน ซึ่งเป็นงานเขียนของคนอายุ 24 ที่เขียนขึ้นก่อน พ.ศ.2475 เล็กน้อย และบทความเรื่อง "มนุษยภาพ" ของกุหลาบ ได้ให้ภาพที่เป็นการพิสูจน์ว่าขณะนั้น สังคมไทยพร้อมแล้วที่จะยอมรับความคิดแบบใหม่ กุหลาบเขียนว่า "มนุษย์นั้นเป็นอิสรชน" และ "มนุษย์นั้นไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เขาต้องมีความซื่อตรง เพราะว่าความจริงคือความซื่อตรง"


 


สำหรับผลงานของพุทธทาสภิกขุ เป็นหลักคิดที่ไปด้วยกันกับคุณกุหลาบ และปรีดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธรรมาธิปไตย หรือ ธรรมิกสังคมนิยม


 


ประการที่ 4 คือเป็นสามัญชนที่เชื่อว่าความคิดที่ถูกต้องสำคัญกว่าเสรีภาพ สุชาติอ้างอิงถึงคติที่เขียนไว้ในหน้าสารบัญของนิตยสารอักษรสาสน์ว่า "ความคิดที่เสรีนั้นก็ดีอยู่ แต่ความคิดที่ถูกต้องย่อมดีกว่า" โดยที่ขณะนั้นกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการบทความของนิตยสารดังกล่าว และมีสุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการนิตยสาร


 


"เป็นการทำหนังสือที่ก้าวหน้ากล้าหาญมาก เพราะเป็นนิตยสารที่เกิดขึ้นมาในช่วง พ.ศ.2492 ช่วงที่กระบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492 ถูกมองในฐานะว่าเป็นกบฏวังหลวง


 


ประการที่5 เป็นสามัญชนที่เห็นเกียรติสำคัญกว่าทุกสิ่ง และด้วยเหตุนี้ที่ทำให้ 2 ท่าน คืออาจารย์ปรีดี และคุณกุหลาบ ต้องระหกระเหินถูกอำนาจมืดเล่นงาน เกียรติคือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่ามนุษยภาพ เกียรติคือรากฐานของสิ่งที่เรียกว่าการรับใช้ผู้อื่น เกียรติคือรากฐานของความคิดที่ถูกต้อง สำหรับท่านพุทธทาสนั้น เกียรติก็หมายถึงการได้รับใช้พระพุทธเจ้าในแง่ของการเผยแพร่ความคิดที่ถูกต้องนั่นเอง


 


ประการที่ 6 ในฐานะที่เป็นสามัญชนธรรมดา บุคคลทั้ง 3 ใช้ชีวิตสมถะและเรียบง่าย "ความเป็นสามัญชนของบุคคลทั้งสาม เป็นผู้รู้แจ้ง คือมิใช่เป็นเพียงผู้รู้อย่างเดียว แต่เป็นผู้รู้สำนึกมีจิตสำนึกต่อสังคม รู้พันธะ คือรู้ความถูกต้องชั่วดี ละอายต่อความชั่วเกรงกลัวต่อบาป รู้หน้าที่ว่าจะยืนอยู่ข้างผู้ใด กลุ่มใด ซึ่งสิ่งนี้เองที่สะท้อนให้เห็นจิตใจของคนทั้งสาม


 


ถ้อยคำที่สูญหาย หรือสังคมไทยเรียนรู้ช้าจนล้าหลัง


" ความเป็นสามัญชนที่เรียบง่ายนั้น ประกอบด้วยการนึกรู้พันธะรู้หน้าที่ หมายความว่า ความรู้ต้องคู่กับศีลธรรม หรือจะเรียกว่าความรู้คู่คุณธรรมก็แล้วแต่ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนกับบุคคลทั้ง 3 ที่ท่านได้สร้างภาพรวมให้เราเห็นถึงสังคมไทย ว่าควรจะเป็นสังคมที่มีสันติภาพ มีประชาธิปไตยสมบูรณ์ และเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม" สุชาติกล่าวสรุปความเป็นสามัญชนของปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และพุทธทาสภิกขุ และตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า นับแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา "ประชาธิปไตยสมบูรณ์" ซึ่งเป็นคำที่ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวไว้นั้น จนทุกวันนี้คำนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย 


 


พระดุษฎี เมธังกุโร ผู้เคยศึกษาธรรมใกล้ชิดกับพุทธทาสภิกขุ กล่าวสรุปในประเด็นนี้ว่า ทั้งสามสามัญชนนั้น ล้วน 'ตาย" ในลักษณะเดียวกัน เป็นการตายที่แสดงว่า คนรุ่นหลังไม่เข้าใจสิ่งที่บุคคลทั้งสามเสนอมาตลอดชีวิต นั่นคือ ปรีดี พนมยงค์ และกุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องไปเสียชีวิตในต่างแดน ขณะที่พุทธทาสภิกขุ ซึ่งปรารถนาจะตายในวัด เพื่อให้การตายเป็นไปโดยธรรมชาติ แต่ก็ไม่สมปรารถนา


 


"เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีมานี้ประเทศไทยมีสามัญชนได้รับการยกย่องถึง 3 คน และในรอบ 50 ปีมานี้ มีคนไทยได้รับการยกย่องถึง 16 ท่าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอภิชน คือเป็นเจ้านาย เป็นกษัตริย์ แต่น่าสลดใจว่า ปัจจุบันนี้เราแทบไม่ได้เอาคุณูปการของท่านทั้ง 3 มาใช้เท่าไหร่"


 


สันติสุข โสภณสิริ กล่าวและว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของสามัญชนทั้งสามก็คือการเป็น "ผู้เกิดก่อนกาล" มีความคิดความอ่านที่ไปพ้นจากยุคสมัยของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่เรามีคนธรรมดาสามัญและคิดอย่างเชื่อมโยงอนาคต แต่เมื่อนับเวลาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ผ่านมาถึงปีที่ 74 แล้ว คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อ 74 ปีที่แล้ว บุคคลทั้ง 3 อาจจะเป็นผู้เกิดก่อนกาล แต่หลังจากเวลาผ่านไป 74 ปี ความคิดที่ทั้งสามสามัญชนพยายามเผยแพร่สู่สังคมไทยยังไม่ได้ลงหลักปักฐานใดๆ


 


คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ "สังคมไทยล้าหลังกว่ากาล" หรือมิใช่


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net