Skip to main content
sharethis




 


สถานการณ์การคุกคามกันและกันในสังคมไทยกำลังเกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องปกติจนเห็นเป็นข่าวกันแทบทุกวันในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ ทั้งที่สถานการณ์แบบนี้ไม่ควรจะเกิดจนเป็นเรื่องปกติของสังคมทุกสังคมไม่ว่าสังคมนั้นจะอยู่มุมใดของโลกก็ตาม เนื่องจากการคุกคามกันและกันมันคือการสร้างสภาพความตึงเครียดและกดดันอย่างกินอาณาบริเวณกว้างในพื้นที่จิตใจของมนุษย์ อันจะนำมาซึ่งความอึดอัด ขัดแย้ง และนำไปสู่ความรุนแรงที่มากขึ้นอย่างไม่จำกัด



 


แต่บรรยากาศการคุกคามก็ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างหลายมิติในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามกันในระดับโครงสร้างใหญ่อย่างในทางการเมือง เช่น การที่คนระดับนายกรัฐมนตรีต้องมากังวลว่ากำลังถูกหมายชีวิต หรือในมุมกลับกลุ่มที่ต่อต้านระบอบทักษิณก็ถูกทำร้ายร่างกายเมื่อออกไปแสดงตัวต่อหน้านายกรัฐมนตรีอย่างโจ่งแจ้ง เป็นต้น


 


หรือในระดับที่ย่อยลงมาในภาคส่วนต่างๆ ของภูมิภาค กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรหรือแกนนำชุมชนที่ต่อต้านการช่วงชิงทรัพยากรจากภายนอกก็มักจะถูกคุกคามอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีของรัฐบาลชุดนี้ แกนนำดังกล่าวถูกคุกคามถึงระดับเสียชีวิตไปแล้วถึง 21 คน


 


บรรยากาศการคุกคามที่เกิดทั่วไปนี้ คือสิ่งสะท้อนภาพของคนและสังคมในรัฐเช่นกัน ดังนั้นเราจะอยู่กันได้จริงหรือในสภาพที่มีแต่ความอึดอัดเพราะไม่รู้ว่าใครจ้องจะเล่นงานใครเช่นนี้


 


"ประชาไท" เห็นว่าทุกชีวิตในสังคมไทยควรมีสิทธิในความเป็น "มนุษย์" ที่จะแสดงเจตจำนงเสรีของตนเองภายใต้การเคารพกันและกัน พูดคุยกัน และปกป้องกันและกัน จึงขอนำ "ชีวิตที่ถูกคุกคาม" มาฉายผ่านบทสัมภาษณ์อย่างต่อเนื่องนับจากนี้ ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งจะได้เห็นสังคมที่ไม่คุกคามกันและกัน หรือถ้ามีก็ต้องน้อยที่สุด


 


บทสัมภาษณ์ "จรัล ดิษฐาอภิชัย" คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชิ้นนี้เป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นแรกของชุดที่เสนอภาพปัญหาสิทธิมนุษยชนไทยเกี่ยวกับการคุกคามในเชิงโครงสร้าง อีกทั้งยังทำให้เห็นภาพเปรียบเทียบกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมโลก เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่จะหันมาร่วมกัน "ใส่ใจ" ในชีวิตกำลังถูกกดดันจากสภาพการถูกคุกคาม


 


0 0 0


 


อยากให้พูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะเรื่องการคุกคามชีวิตและร่างกายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย


สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีหลายสถานการณ์ มีทั้งสถานการณ์ที่ดีและไม่ดี ที่ดี เช่น มีการออกกฎหมายสิทธิมนุษยชน หรือการตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับท้องถิ่น รวมทั้งการเคลื่อนไหวของนักสิทธิมนุษยชนในปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีนักเรียนเชื้อชาติเวียดนามที่สอบเข้าเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ แล้วมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เข้าไปเรียนได้สำเร็จ


 


ส่วนด้านที่ไม่ดีคือการจำกัด ลิดรอน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกประเทศและทุกระบบ ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยแค่ไหนก็ตาม แต่ปัญหาคือมีมากน้อยเพียงใดและหนักหน่วงแค่ไหน


 


การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแบ่งเป็นหลายระดับ ระดับทั่วไปหรือพื้นฐานนั้นมีมากมายและมีทุกวันทั้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยเอกชนด้วยกันเอง ทั้งละเมิดสิทธิเด็ก สตรี ชนชาติส่วนน้อย แรงงาน เกษตรกร รวมถึงกรณีการละเมิดสิทธิจากการป้องกันและปราบปรามใน 3 จังหวัดภาคใต้


 


ต่อมาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เป็นกรณีเฉพาะ อาจเป็นการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา หรือองค์กรเอกชนฟ้องศาลปกครอง เป็นต้น เรื่องแบบนี้มีบ่อยๆ


 


การละเมิดสิทธิมนุษยชนระดับที่สาม คือการคุกคามต่อผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน มักเกิดกับแกนนำประชาชนต่อกลุ่มที่เรียกร้องสิทธิ ประท้วง เคลื่อนไหวต่างๆ กรณีนี้มีเรื่อยๆแต่ไม่มากเมื่อเทียบกับบางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ตั้งแต่ต้นปีมาถึงตอนนี้มีนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ สื่อมวลชน แกนนำนักอนุรักษ์ตายไปเกือบร้อยคนแล้ว


 


ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีมามีกรณีดังกล่าวน้อย ครั้งสุดท้ายคือการเอาระเบิดไปซุกไว้ที่รถกระบะ เหตุเกิดที่จังหวัดสระแก้ว สาเหตุคาดว่ามาจากการประท้วงโรงงานกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย ตอนนี้มีการจับกุมคุมขังผู้ที่คิดว่าจ้างวานแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม แม้กรณีดังกล่าวจะมีน้อยแต่ไม่ใช่เรื่องดี ต้องไม่ให้เกิดขึ้นเลย การคุกคามสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือหลายๆประเทศมีสภาพคล้ายๆกัน คือการคุกคามต่อกลุ่มบุคคลที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิความเป็นธรรม ถ้าอยู่เฉยๆแล้วถูกคุกคามไม่ค่อยมี เว้นแต่การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายแบบคดีอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นทุกแห่งและทุกวัน


 


ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสนใจมากๆ คือการคุกคามสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้มีอิทธิพลที่กระทำต่อบุคคลและกลุ่มที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิ ประท้วงหรือต่อต้านโครงการต่างๆของรัฐ ในประเทศไทยมีกรณีแบบนี้เรื่อยๆ เช่น เมื่อ 2 ปีก่อน มีกรณีสังหาร เจริญ วัดอักษร ปีที่แล้วมีกรณีการสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ถ้าพูดรวม 4-5 ปีที่ผ่านมานี้มีประมาณ 18 คน คาดว่าตอนนี้คงเพิ่มขึ้น ในปีนี้ยังไม่มีถึงขั้นเสียชีวิต


 


สถานการณ์การคุกคามสิทธิมนุษยชนแบบนี้ยังดำรงอยู่ในที่ต่างๆ เมื่อวันก่อนไปเชียงรายมีพี่ชายคนหนึ่งพาน้องชายหนีตำรวจมาหาเพราะถูกข้อหาว่าร่วมกันทำร้ายตำรวจถึงตาย เขาถูกข่มขู่คุกคามก็ต้องหนีตำรวจมา


 


ปัญหาคือ กรณีที่สังคมสนใจมากๆ และมองกันว่าเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เช่น การสังหารเจริญ วัดอักษร พระสุพจน์สุวโจ หรือทนายสมชาย นีละไพจิตร มีลักษณะไม่ได้รับการแก้ไขและใส่ใจ มันจะนำไปสู่อะไร


มันเป็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ไม่ดี โดยเฉพาะการข่มขู่คุกคามใน 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมีทุกวัน เดี๋ยวถูกจับ เดี๋ยวถูกเรียกไปรายงานตัว ที่ผ่านมายังไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะเป็นข่าวอยู่หลายเดือน ในบางกรณีพอคนรู้สึกกันมากก็ตาม สาเหตุเป็นเพราะรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังว่าจะต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิความเป็นมนุษย์ของประชาชน


 


ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สนใจ ไม่ตระหนักในการหามาตรการป้องกัน รีบสืบสวนสอบสวน จับกุม จึงไม่มีผลอะไร เมื่อปี 2544 - 2545 มีการพูดว่าจะต้องวาดแผนที่พื้นที่ในประเทศไทยที่ระบุว่ามีกี่พื้นที่ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนถึงขั้นคุกคามชีวิตและร่างกาย แต่ก็ไม่ได้ทำกัน


 


ต้องอาศัยนโยบายรัฐบาล และความร่วมมือของตำรวจ ถ้าตำรวจไม่ร่วมมือก็ทำอะไรไม่ได้ ลำพังประชาชน กลุ่มองค์การต่างๆ ทำเองไม่ได้หรอก อย่างมากทำได้แค่ป้องกันตัว ระวังป้องกันเองเท่านั้น


 


ในประเทศละตินอเมริกา นักสิทธิมนุษยชนพยายามเสนอผลักดันให้รัฐบาลมีนโยบาย ในบางประเทศทำได้แล้ว เช่นให้สำนักงานตำรวจลบชื่อในแบล็คลิสต์ เพราะการระบุชื่อคนที่ถูกจับตาพิเศษนั้นบอกไม่ได้ว่ากระทำจริงหรือไม่ และสิ่งที่เขาทำคือสิทธิพลเรือนในการลุกขึ้นมาเพื่อความเดือดร้อนของเขา ไม่ใช่เรื่องการเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นคอมมิวนิสต์


 


นอกจากนี้ มีการตั้งอาสาสมัครกองกำลังพิทักษ์หรือบอดีการ์ดให้ ในประเทศไทยก็มี แต่ต้องไปร้องขอให้คุ้มครองพยานในกรณีถูกคุกคาม แต่ก็ไม่ไว้ใจอีก เพราะบอดีการ์ดคือตำรวจ ทั้งหมดนี้เป็นการยกตัวอย่างว่าประเทศไทยยังไม่มีนโยบายและยังไม่มีใครทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง


 


ทำไมจึงไม่มี    


เพราะไม่มีใครสนใจ สังคมก็ไม่สนใจ บอกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีแบบนี้ มันช่วยไม่ได้ ป้องกันยาก และรัฐก็ไม่สนใจด้วย


                                                                                  


ในอนาคตจะอันตรายมากขึ้นหรือไม่ หากวันหนึ่งคนข้างบ้านหายไปโดยที่ไม่มีใครสนใจกัน


พูดกันว่าต่อไปแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น จะมีกรณีแบบนี้มากขึ้น เช่น คนอาจจะจี้กัน ลักพาเด็กเรียกฆ่าไถ่กัน แต่การเรียกร้องให้สนใจกันมันไม่ค่อยเกิดในประเทศไทย ในประเทศที่คนสนใจในด้านนี้มากอย่างประเทศโคลัมเบีย หรือฟิลิปปินส์ เป็นเพราะปีหนึ่งๆ คนถูกสังหารเยอะมาก ทำให้สังคมต้องตระหนักและกลัวจนต้องแก้ปัญหา เพราะเขาเห็นแล้วว่ามันจะเกิดกับพี่น้องและลูกหลานของเขา


 


แต่สังคมไทยคนไม่ตระหนักต่อเรื่องนี้ และคนส่วนใหญ่มีท่าทีและทัศนะต่อนักสิทธิมนุษยชน เอ็นจีโอ ไม่ดี เขาก็ยิ่งไม่สนใจ ดังนั้นการจะไปผลักดันให้รัฐบาลกระตุ้นให้มีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในด้านนี้ยังเป็นเรื่องยาก


 


ในภาคใต้สถานการณ์แบบนี้เริ่มชัดขึ้น ทำไมสังคมยังไม่รู้สึกสนใจกันอีก


คนเลือกข้าง สังคมเลือกข้างรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ คนจึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรมาก คนที่จะรู้สึกมากๆ คือคนที่อยู่ในพื้นที่


 


อีกประการเป็นเพราะพื้นที่สู้รบกันนั้นไม่รู้ใครเป็นใคร ประเด็นนี้มันโยงทั้งหมด แม้คนในพื้นที่เขาจะรู้ว่ารายไหนเป็นเรื่องก่อความไม่สงบหรือไม่ แต่คนทั่วไปจะไม่รู้


 


สังคมที่ยอมให้มีการตายหรือหายสาบสูญโดยรัฐเป็นฝ่ายกระทำ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ด้วยบริบทแบบไหน


โดยทั่วไปในทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าประชาชนไทยหรือประเทศต่างๆจะโตมากับความรู้สึกนึกคิด ทัศนะหรือความเชื่อที่เหมือนกันอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่นักสิทธิมนุษยชนพูดว่า การละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย คนก็คิดว่าก็เป็นเรื่องอาชญากรรม ทะเลาะกัน ชิงผลประโยชน์กันทั่วไป อย่างมากคือผิดศีล 5 ข้อแรก


 


ในมุมสิทธิมนุษยชนมันลึกกว่านั้น มันคือทัศนะที่ว่า มองคนอื่นเป็นคนหรือไม่ มองเห็นชีวิตคนอื่นเป็นผักปลาหรือมีคุณค่า อันนี้เป็นรากฐานทางความคิดจิตใจ แต่สังคมมันโตมากับความรู้สึกนึกคิดที่ไปสนับสนุนการใช้ความรุนแรง


 


ต่อมาคือโครงสร้างทางสังคมการเมืองไทยเป็นโครงสร้างที่เอื้ออำนวยให้คนใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมัยก่อนจะเรียกว่าปราบปราม เป็นโครงสร้างของอำนาจที่ควบคุม ปกครองและปราบปรามประชาชน ดังนั้นต้องเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ


 


นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องระบบทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทยเป็นระบบกฎหมายที่มีช่องโหว่มาก ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้ความรุนแรงได้ ทั้งที่ถ้าเขาทำไม่ดี ควรจับฟ้องศาลโดยไม่ต้องไปใช้วิธีทรมานหรือวิสามัญฆาตกรรม


 


เรื่องนี้ต้องแก้ไขกันมาก ต้องปฏิรูประบบยุติธรรมและกฎหมาย สาเหตุสำคัญที่ต้องแก้คือ การที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือหน่วยงานของรัฐคิดว่ามีอำนาจ ถ้าเห็นวิธีดำเนินการปิดช่องโหว่ได้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องกลัวอะไร เวลานี้มันมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงคือ การที่รัฐบาลมีอำนาจมากแล้วข้าราชการก็ไม่กลัว อยากทำอะไรก็ทำ หรือรัฐมีอำนาจมากและปกป้องเจ้าหน้าที่


 


โครงสร้างทางสังคมหรือการเมืองในต่างจังหวัดตอนนี้ยังไม่เปลี่ยน ในต่างจังหวัดการละเมิดสิทธิและร่างกายเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อย สื่อมวลชนท้องถิ่นก็มีเสรีภาพน้อยกว่าสื่อระดับชาติ สื่อระดับชาติเวลารายงานข่าว จะวิพากษ์วิจารณ์ ด่าพ่อ ด่านายกรัฐมนตรี ด่ารัฐมนตรี ด่านักการเมือง ด่าพรรคการเมืองพรรคไหนจนแหลกราญเสียหายก็ไม่มีการข่มขู่คุกคาม หรือมีนิดหน่อย


 


แต่ในต่างจังหวัดหากพาดหัวข่าวแรงๆ แบบสื่อระดับชาติ เพียงวันสองวันก็โดนแล้ว ทั้งขู่ ทำร้าย หรือยิง การที่เสรีภาพสื่อในท้องถิ่นถูกจำกัดทางโครงสร้างสังคมการเมือง เวลาคิดจะทำอะไรกันก็ทำได้ง่ายๆ อยากจะฆ่าใครก็ฆ่า


 


กล่าวเฉพาะการปกป้องนักสิทธิมนุษยชน เวลานี้มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาปกป้องนักสิทธิมนุษยชน เป็นองค์กรเอกชน แต่มาตรการปกป้องยังไม่มี คือไม่รู้จะทำอย่างไร อย่างมากเวลาถูกจับก็หาเงิน หาทนายให้ แต่การปกป้องแบบไม่ให้คนไปคุกคามต่อชีวิตและร่างกายโดยองค์กรเอกชน มันทำยาก


 


มันดูสิ้นหวังจัง


ไม่ถึงกับสิ้นหวัง แต่ต้องค่อยๆ คิดดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการปกป้องกันเอง ต่อมาต้องแนะนำ เสนอและผลักดันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เหมือนกรณีทนายสมชาย ก็มีภรรยาและกลุ่มต่างๆ คอยดำเนินการ เช่น ไปกรมสอบสวนคดีพิเศษบ้าง ไปหารัฐมนตรียุติธรรมบ้าง ไปร้องต่อนายกรัฐมนตรีบ้าง ไปร้องต่อองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศบ้าง เป็นต้น


                                                  


แต่เขาก็จะถูกคุกคามกลับอีกทีไม่ใช่หรือ


ใช่ การทำอะไรมีผลสองด้าน เวลาคนมาร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องตำรวจหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เรารับคำร้อง เมื่อตรวจสอบแล้วก็ต้องบอกว่าจะมีผลอย่างไรกับเขาบ้าง เพราะถ้าเจ้าหน้าที่เลิก หยุด หรือลดการกระทำลงก็เป็นด้านดี แต่ด้านไม่ดีเขาอาจจะเล่นงานคุณมากขึ้นเพราะเขาโกรธ เราก็ไม่รู้จะปกป้องอย่างไร เพราะไม่มีกองกำลัง อย่างมากก็ได้แต่บอกตำรวจหรือนายอำเภอให้คอยดูแล


 


แต่การบอกเจ้าหน้าที่ก็คือดาบสองคมอีก เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเขารู้จักกัน ดังนั้นย้อนกลับมาก็คือแนวคิดเชิงปรัชญา ว่าเวลาเราตัดสินใจเลือกทำอะไรก็ต้องพร้อมยอมรับผลทั้งที่มันไม่ดี แต่แน่นอนว่าองค์กรสิทธิมนุษยชนเองก็ต้องพยายามด้วย


 


เรื่องการคุ้มครองพยาน แม้ประเทศไทยมีกรมคุ้มครองพยานจริง แต่ปรากฏว่าไม่ได้คุ้มครองจริง กรณีคุ้มครองพระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ทำอยู่พักเดียวก็เลิกคุ้มครอง


                       


ถ้าอย่างนั้นผู้ถูกคุกคามก็ไม่มีความมั่นใจว่าจะมีชีวิตอยู่ได้เลย


ผู้นำ หรือแกนนำ มักจะอยู่ในภาวะแบบนี้


 


รู้มาว่าแม้แต่คณะกรรมการสิทธิฯ รวมทั้งคณะทำงานในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังถูกคุกคาม มันบ่งบอกอะไร    


มีกรณีคุกคาม วสันต์ พานิช เรื่องแบบนี้มันชัดเจนอยู่แล้ว ไม่ต้องบอกว่าบ่งบอกอะไร ชัดเจนว่าเขาไม่ชอบ เขาไม่อยากให้ไปทำ


 


เรื่องแบบนี้เป็นอยู่เรื่อยๆ บางกรณีเราลงพื้นที่ไป กลับออกมาเขาก็ถูกยิง คนก็บอกว่ากรรมการสิทธิฯไม่เห็นปกป้องคุ้มครองอะไรเขาได้ แถมยังทำให้ตายอีก


 


สภาพการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายยังดำรงอยู่มากทั่วประเทศ ตราบใดที่คนยังไม่มองคนอื่นเป็นคน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การละเมิดนี้จะยังมีอยู่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจแม้ว่าจะมีวิชาสิทธิมนุษยชนในหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยก็ตาม แต่มันยังไม่พอ ต้องทำอย่างจริงจังเป็นระบบ ตั้งแต่โรงเรียนพลตำรวจ ก็ต้องเรียนอย่างจริงจัง


 


ต่อมาต้องมีมาตรการที่ทำให้ตำรวจต้องยึดถือสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ ตัวอย่างเช่นในประเทศฟิลิปปินส์ ใครจะได้รับการเลื่อนขั้นต้องผ่านการอบรมสิทธิมนุษยชนอีกในแต่ละครั้งไม่ใช่แค่การฟังในห้องเรียน เขาถือเป็นความก้าวหน้าในหน้าที่ด้วย คือถ้ายึดถือสิทธิมนุษยชนมากๆ เขาก็จะก้าวหน้า


 


อีกประการต้องมีการลงโทษ ในประเทศไทยหรือประเทศจำนวนไม่น้อย และแม้แต่ในยุโรปยังมีวัฒนธรรมการไม่ลงโทษผู้ไปละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อไม่มีการลงโทษ เขาก็ไม่ตระหนัก ดังนั้นเมื่อมีการประชุมสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคหรือระดับโลกจะมีเรื่องนี้เป็นหัวข้อทุกครั้ง ทำอย่างไรให้มีการลงโทษโดยรัฐหรือกฎหมายบ้าง


 


ตัวอย่างมีในประเทศชิลี ที่ตัดสินลงโทษนายพลปิโนเช่ ที่แม้จะมีอายุมากแล้วก็ลงโทษ การลงโทษไม่ได้มาจากความแค้น แต่ทำเพื่อสร้างวัฒนธรรม หลักการ และบรรทัดฐานในการลงโทษผู้ต้องหา


 


หรือในประเทศอินโดนีเซียที่มีการสังหารหมู่ในติมอร์ตะวันออก ก็มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีการลงโทษไปบ้าง แต่ประเทศไทยยังไม่เคยมีการดำเนินการลงโทษผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง หากจะมีบ้างก็มาจากการฟ้องศาลแล้วศาลตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหาย เช่น กรณีตำรวจไปสลายการชุมนุมต่อต้านท่าก๊าซไทย - มาเลเซีย ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา


 


หรือกรณีทนายสมชายศาลก็ตัดสินลงโทษไปบ้างแต่นิดหน่อย ดังนั้นต้องให้มีการลงโทษที่สร้างบรรทัดฐานหรือยับยั้งไม่ให้มีการไปทำผิดต่อ แต่ที่ผ่านมาเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตคนไม่ค่อยมีการเรียกร้องกัน คดีตั้งแต่ พ.ศ.2544 การจับผู้จ้างวานได้ก็มีน้อย


 


เมื่อการเรียกร้องสิทธิมันมีความเสี่ยง ทางออกสุดท้ายคือต้องเลือก ระหว่างปลงหรือเสี่ยงใช่หรือไม่


ใช่ ต้องกล้าลุกขึ้นมา อย่างคุณรัตนา สัจเทพ หรือยายไฮ การละเมิดสิทธิมนุษยชนประเภทการกระทำต่อบุคคลและกลุ่มที่ลุกมาสู้ เรียกร้องสิทธิ ประโยชน์และความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้ทำผิดอะไร


 


ความจริงเรื่องแบบนี้เกิดมานานแล้วแต่เราไม่ได้ใช้ทัศนะสิทธิมนุษยชนไปมอง เช่น เรื่องการจับกุมคุมขังผู้รักชาติ ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ นักศึกษา ปัญญาชน เมื่อก่อนเราจะพูดว่าเป็นเป็นการปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ความเชื่อต่าง อุดมการณ์ต่าง และใช้คำว่าคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพ เป็นต้น


 


ภายหลังเมื่อแนวคิดสิทธิมนุษยชนรับรู้แพร่หลายขึ้น จึงใช้คำว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นหลัง 2475 เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาเป็นระยะ ยุคนี้คือจะปราบพวกเอ็นจีโอและกลุ่มชาวบ้าน แนวโน้มก็มีมากขึ้น บ่อยขึ้น เพราะว่าปัญหาของประเทศตั้งแต่การพัฒนาประทศแบบทุนนิยมที่สร้างอะไรต่างๆ ทำให้กระทบกระเทือนด้านสิทธิและชีวิตของคนส่วนหนึ่งมากขึ้น


 


โครงสร้างทางสังคมการเมืองก็ยังไม่เปลี่ยน ระบอบการเมืองการปกครองก็เอื้ออำนวยให้กับการปราบปราม และจำกัดสิทธิ แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้สิทธิประชาชนก็ตาม แต่การเคารพรัฐธรรมนูญยังมีไม่มาก การปฏิรูปการเมือง จะต้องมีเรื่องบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มและให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net