Skip to main content
sharethis

นี่คืออีเมลล์จริงของ อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้ลงชื่อคัดค้านการเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสถานิติบัญญัติ (สนช.) ของนายกสมาคมนักข่าวฯ เพื่อตอบนักข่าวคนหนึ่ง ซึ่งเอื้อเฟื้อส่งต่อให้กองบรรณาธิการ "ประชาไท"


 


"ประชาไท"  พิจารณาเห็นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับวงการสื่อในเวลานี้ และได้ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้วจาก อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และเจ้าของจดหมาย เพื่อป้องกันปัญหาความอ่อนไหวทั้งหลายทั้งปวงดังช่วงที่ผ่านมา


 


(หมายเหตุ : อีเมลล์ฉบับนี้ ได้ส่งให้ อ.พิชญ์ ตรวจทาน และแก้ไขคำผิด และเพิ่มเติมความเล็กน้อย)


 


0 0 0


 


 


From: pitch pongsawat ……………..@yahoo.com>


To: ………………. ………………@hotmail.com>


Subject : Re: FW: วิกฤตการณ์วงการสื่อ เบื้องหน้าเบื้องหลังที่สังคมควรรับรู้


 

 


ผมอ่านเอกสารที่คุณฟอร์เวิร์ดมาให้ด้วยอาการมึนๆ


 


ในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านฯ ก่อนที่จะได้รับเอกสารฟอร์เวิร์ดมานี้ ผมขออนุญาตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เวลาพวกนักข่าวเขาทะเลาะกันนี่น่าเศร้า เพราะนักข่าวเป็นคนเขียนข่าว ดังนั้นเราจะหาความจริงได้อย่างไร เมื่อนักข่าวทะเลาะกันแล้วเขียนข่าวออกมา


 


เรื่องที่นักข่าวทะเลาะกัน สำหรับผม ไม่ได้อยู่ที่การหักหลังของนักข่าวต่างสำนักกัน แต่อยู่ที่วิธีคิดที่เชื่อว่าต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจ แนวคิดนี้มันเป็นแนวคิดที่สลับซ้บซ้อนและต้องตั้งคำถาม


 


คำว่า "การมีส่วนร่วม" มันมีได้หลายระดับ แต่กรอบคิดตอนนี้ของคุณภัทระ คำพิทักษ์ และผู้หลักผู้ใหญ่ก็คือ ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะตัวแทน "สื่อ"


 


ซึ่งการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะตัวแทนของสื่อมวลชน ทำให้สื่อมวลชนกลายเป็นเพียง "กลุ่มผลประโยชน์" เพื่อเรียกร้อง "ผลประโยชน์" ให้กับ "องค์กร" เป็นเบื้องแรก แล้วจึงสร้างพันธมิตรและ/หรือต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ


 


สรุปก็คือตัวแทนสื่อเหล่านี้ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะประชาชนและพลเมือง


 


ตรรกะการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบนี้มันตอบสังคมลำบาก ทำไมนายกสมาคมสามล้อไม่ได้เข้า?


ทำไมนายกสมาคมตลกไม่ได้เข้า? ทำไมนายกสมาคมอีกจำนวนมากไม่ได้เข้า? ใครเป็นผู้กำหนดกติกาว่านายกสมาคมไหนควรจะมีส่วนแบ่งในอำนาจที่ไปยึดมาได้?


 


การเมืองของพลเมืองไม่ใช่เรื่องของการเข้าไปสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ตรงนี้ต่างกับการเมืองในยุค "ป๋า" (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) ที่เป็นต้นแบบของการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน ซึ่งวางอยู่บนกรอบเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม กลุ่มไหนมีพลัง รัฐบาลก็จะเรียกเข้ามาอยู่ใกล้ๆ มาขอเป็นพันธมิตรด้วย เพราะรัฐบาลในยุคป๋า ก็คือกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มผลประโยชน์ของอำมาตย์ ของข้าราชการประจำ ที่ต้องการต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่างๆ


 


การรับผิด (accountability) ของรัฐบาลและกลุ่มอำนาจเหล่านี้ใช้วิธีให้หัวหน้าก๊กหัวหน้ามุ้งคุมกันเอง รัฐบาลไม่ต้องตอบคำถามประชาชน แต่ละกลุ่มก็ถือว่าเป็นหัวหน้าก๊ก หัวหน้าสมาคม มาต่อรองกัน การเมืองแบบนี้ไม่ต้องมีฝ่ายค้าน และคนที่ทำงานก็ไม่ต้องถูกตรวจสอบ เพราะถือว่าองค์กรใครก็ตรวจสอบกันเอง แต่ทั้งหมดนี้ประชาชนพลเมืองธรรมดา ไม่มีองค์กรของเขาเอง


 


ไม่จำเป็นที่คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณภัทระและผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมจะต้องเป็นคนที่มีเบื้องหลัง


 


และไม่จำเป็นว่า คนที่จะเข้าไปร่วมต้องมีเบื้องหลัง


 


นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของสมาคมฯ ก็ไม่จำเป็นต้องมีฐานคิดที่การเข้าไปมีส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจ เพราะความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นมีหลายมิติ


 


ข้ออ้างของการไม่ปล่อยให้ผู้มีอำนาจทำอะไรไปโดยอำเภอใจ ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า จะต้องไปขอแบ่งอำนาจที่ได้มาจากการทำลายรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน


 


อำนาจนั้นสร้างได้จากการอยู่ข้างนอกและติดตามตรวจสอบผู้ยึดอำนาจ โดยไม่ปล่อยให้ฝ่ายที่ไปยึดอำนาจมานั้นกระทำอะไรได้อย่างอำเภอใจ หรือไปเป็นส่วนหนึ่งกับอำนาจเหล่านั้น


 


อำนาจนั้นไม่ได้มีอย่างจำกัดและต้องไปขอแบ่งกับเขาเสมอไป 


 


 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net