Skip to main content
sharethis

ประชาไท—26 พ.ย. 2549 คนประจวบฯ ไม่พ้นเคราะห์ ค้านโรงไฟฟ้าใหม่ ใช้ถ่านหิน 4,000 เมกกะวัตต์ ใหญ่กว่าเดิม 6 เท่า ชี้นโยบายถ่านหิน 40 % ทำไม่ได้ มีผลกระทบร้ายแรง จวก กฟผ. กระทรวงพลังงาน คิดแคบๆ ฉวยโอกาสช่วงกฎอัยการศึก ผุดโครงการ หวังสกัดม็อบ


 


เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2549 ที่วัดนัมทาวราราม ตำบลนาหูกวาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์บ้านกรูด อำเภอบางสะพาน และชาวบ้านจากอำเภอ ทับสะแก กว่า 150 คน ชุมนุมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกาวัตต์ ของการไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอทับสะแก มาดูแลรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณรอบๆ ประมาณ 20 นาย


 


การชุมนุมเป็นด้วยความสงบ โดยแกนนำผู้ชุมนุมได้สลับกันปราศรัยโจมตีเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว เช่นนางจินตนา แก้วขาว นายสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล โดยมีการหยิบยกบทเรียนจากการต่อสู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้า 3 แห่งที่จะก่อสร้างในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ โรงไฟฟ้าบ่อนอก โรงไฟฟ้าหินกรูดและโรงไฟฟ้าทับสะแก จนทำให้มีการย้ายโรงไฟฟ้า 2 แห่งไปที่จังหวัดสระบุรีและราชบุรี ส่วนอีกหนึ่งแห่งระงับการก่อสร้าง คือโรงไฟฟ้าทับสะแก


 


พร้อมกันนี้ นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกจากชาวทับสะแกถึงรัฐบาล เรื่องคัดค้านนโยบายพลังงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน 40 % และคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


 


นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนนโยบายพลังงานชาติ ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเพิ่มขึ้น 40 % และจะอนุมัติให้การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก 4,000 เมกกะวัตต์


 


"นี่คือ การจุดประเด็นความขัดแย้ง ที่จะสร้างปัญหา ทำลายเครดิตของรัฐบาล ซึ่งประกาศสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง แต่กำลังจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ด้วยการให้กระทรวงพลังงานผลักดันการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมีขนาด 4,000 เมกกะวัตต์ ซึงใหญ่ที่สุดในเอเชีย เทียบเท่าโรงไฟฟ้าบ่อนอก 6 โรง สร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน" นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว


 


นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวว่า นโยบายถ่านหิน 40 % เป็นนโยบายที่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ ปัญหามลพิษจากถ่านหินเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีผลกระทบต่อรากฐานชีวิตอย่างพอเพียงของชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่มีจังหวัดไหนอยากให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


 


"เรายังมีทางเลือกใหม่ในการแสวงหาแหล่งพลังงาน ที่ไม่ใช่ถ่านหินอีก ปัญหาหลักคือวิธีคิดและความเชื่อของผู้กุมนโยบายพลังงานชาติมีโลกทัศน์ที่คับแคบ ไม่เคยให้ค่ากับชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน


 


เราคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก เพราะเราต้องการมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการรักษา กำหนดแนวทางการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากการพัฒนาที่เริ่มต้นด้วยการทำลาย จะเรียกว่าเป็นการพัฒนาได้อย่างไร


 


เราเข้าใจดีว่า ในโลกนี้ไม่มีถ่านหินสะอาด ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยถ่านหิน มีราคาสูงสุด เมื่อรวมค่าความเสียหายจากมลพิษที่เกิดขึ้น แก่สิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประชาชนรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง กว่า 60,000 คน ผลกระทบที่มีต่ออาชีพประมง ชาวสวนมะพร้าว การท่องเที่ยว จะทำให้คนที่มีชีวิตพอเพียง หมดทางทำกิน


 


การจ้างงานจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ ในระยะก่อสร้างโครงการเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้ม เมื่อเราต้องแลกกับชาวประมงที่ต้องหมดอาชีพกว่า 2,000 คน ผลผลิตมะพร้าวจะลดลงจากระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรม เราต้องเสี่ยงกับภาวะอากาศที่แปรปรวน พายุที่รุนแรงขึ้น มีโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก"นายสุรีรัตน์ กล่าว


 


นางสาวสุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า การไฟฟ้าผ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกระทรวงพลังงาน กำลังใช้เล่ห์เหลี่ยม ฉกฉวยโอกาส อาศัยสภาวะทางการเมืองที่มีกฎอัยการศึก เร่งอนุมัติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก เพื่อไม่ให้ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านได้ทัน นี่คือการเริ่มต้นความไม่เป็นธรรมที่รัฐกำลังตอกย้ำประชาชนอย่างซ้ำซาก


 


"ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก - หินกรูด ถึง 8 ปี จึงจะสำเร็จ การรื้อฟื้นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกขึ้นมาสร้างใหม่และทำให้ใหญ่กว่าเดิม ถือเป็นการท้าทายชาวประจวบฯ อีกครั้ง ขอให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มั่นใจได้ว่า แผ่นดินทับสะแก จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างแน่นอน"นายสุรีรัตน์ กล่าว


 


การชุมนุมสิ้นสุดเวลาประมาณ 16.30 น. โดยนางจินตนา เปิดเผยว่า เหตุที่ชาวบ้านมาชุมนุมน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากในช่วงเช้าวันเดียวกัน มีการปล่อยข่าวลือว่า จะมีการปิดถนนเพชรเกษมเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่จะถูกเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าจับกุม จึงทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว ทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการเคลื่อนไหวของชาวบ้านต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องมีการหารือกันอีก เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นโดยที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net