Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"การศึกษาหาวิชาความรู้เป็นบทบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน" (ดูเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3913) ดังนั้น การศึกษาในอิสลามเป็นสิ่งที่จำเป็น เมื่อมหาลัยออกนอกระบบมีการเพิ่มค่าเล่าเรียนทำให้การศึกษาจะต้องมีข้อจำกัด ดังนั้นอะไรจะไปตอบโจทย์หลักการของอิสลามในสามจังหวัดได้ ?

โดย  นายอับดุรเราะฮหมาน  มูเก็ม 

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี

 

 

 

 

 

ตั้งแต่เล็กปะ(บิดาของข้าพเจ้า)บอกว่า "ให้เราเรียนหนังสือเพราะการเรียนเป็นที่จำเป็นสำหรับคนมุสลิมทุกคนเพื่อที่จะได้มีความรู้อย่างน้อยก็ได้ดำรงวิถีของตัวเองตามแบบอิสลามไว้ในสังคมปัจจุบัน"

          

สำหรับการศึกษาวันนี้ทางออกการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือแค่เฉพาะคนกระแสหลักในสังคมเท่านั้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นคำถามที่ต้องเอื้อให้กับทุกคนมีส่วนร่วมในการหาคำตอบ

 

จะว่าไปแล้วระบบการศึกษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังไม่เอื้อกับชุมชนเลยแม้แต่น้อยอีกทั้ง มหาวิทยาลัยไทยในขณะนี้ติดไวรัสกันเต็มไปหมดเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เห็นได้ชัดจากมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น   ม.เชียงใหม่    ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงชุมชนเลย 

 

เช่น ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อมีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2548 ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี น่าจะมีการเข้าถึงชุมชนและเอื้อกับชุมชน  แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยยังดำเนินการเรียนการสอนไปตามปกติ  แต่ก็มีนักศึกษาบางกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าเรียน  โดดเรียนเพื่อที่จะแจกของน้ำท่วมช่วยเหลือชาวบ้าน  แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นนักศึกษาเหล่านี้บางคนก็โดนตัดคะแนนเพราะไม่ได้เข้าเรียน    ที่สุดไปกว่านั้นคือหมดสิทธิ์สอบเพราะขาดเรียนไปช่วยน้ำท่วม

  

เหล่านี้ล้วนไม่เอื้อกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยเลยแม้แต่น้อย  สิ่งที่เกิดขึ้นแม้เป็นการบริหารการจัดการภายใน แต่ก็ได้สื่อถึงอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่ชัดเจนของระบบการศึกษาที่ไม่เคยเอื้อกับชุมชน  สำหรับทางออกดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าทางแก้ระบบการศึกษามีทางตันหรือทางออกแค่เพียงทางเดียวโดยการเอามหาวิทยาลัยแปรรูปเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบเพื่อเอื้อกับระบบทุน  ทางออกอื่นมีอีกไหมสำหรับการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องตัดโอกาสคนในสังคมเหมือนระบบที่กำลังดำเนินอยู่และกำลังจะแปรการศึกษาสำหรับอภิสิทธิ์ชนในอนาคต เพื่อเป็นการการันตีความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาของทุกคน

 

สำหรับประเด็นที่คิดว่าเกี่ยวข้องมีดังนี้  คือ

1.ข้อกังขาที่ว่าอยากให้มหาวิทยาลัยเป็นอิสระ  ปราศจากการแทรกแซงและมีการบริหารการจัดการที่ดี มีแง่สังเกตว่า

 

-  การปราศจากการแทรกแซงหรือให้มีอิสระในการบริหารการจัดการที่คล่องตัว สำหรับคำพูดดังกล่าวได้เคยกล่าวไว้เมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้วโดยอาจารย์ป๋วย   อึ้งภากรณ์ ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเพื่อให้ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองหรือกลุ่มทหาร แต่สำหรับสถานการณ์ยุคปัจจุบันบริบทมันเปลี่ยนไปเป็นสังคมระบบทุน  ตามความจริงในเวลานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านวิจิตร  ศรีสะอ้าน  น่าจะมีการปกป้องมหาวิทยาลัยให้พ้นมือกลุ่มทุน     แต่ที่ไหนได้กลับพยายามดิ้นทุกวิถีทางเพื่อให้เอื้อกับกลุ่มทุนเข้ามาครอบงำและเสวยสุขในระบบการศึกษา

 

- การที่ท่านรัฐมนตรีศึกษา ฯ ออกมาพูดว่าอยากให้มหาวิทยาลัยมี การบริหารงานที่อิสระเพราะออกนอกระบบราชการ    ที่ผ่านมาและในเวลานี้ก็แปลว่าระบบราชการที่ใช้อยู่มีการบริหารงานไม่ดีพอ ถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมถึงไม่เปลี่ยนให้ทุกหน่วยงาน กระทรวง  ทบวง  กรม  หรือแม้แต่กองทัพ  ให้อยู่นอกระบบราชการให้หมด

 

 -  การที่มหาวิทยาลัยมีอิสระจะเป็นจริงหรือ ในเมื่อบางมหาวิทยาลัยบอกว่า ค่าเทอมจะไม่เพิ่มขึ้นเพราะแหล่งทุนที่สนับสนุนมาจากภาคธุรกิจ สังเกตง่าย ๆ สมมุติว่า  บริษัทน้ำอัดลมเป็นผู้สนับสนุนแหล่งทุน  จะมีสักกี่งานวิจัยที่กล้าจะบอกว่า น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ทำลายสุขภาพ ทานเยอะไม่ดีเพราะถ้าบอกจะหมายถึงอะไรล่ะถ้าไม่ใช่การตัดงบประมาณสนับสนุน แล้วอย่างนี้มหาวิทยาลัยยังจะมีหน้ามาบอกอีกว่าเพื่อความเป็นอิสระ

         

           

2.  มีข้อโต้แย้งเวลาสัมภาษณ์อธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มักจะได้คำตอบว่า "ค่าเทอมกับม.นอกระบบไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเรื่องกัน" ข้อสังเกต

 

 -  หากมันไม่เกี่ยวกันแล้วทำไมไม่กำหนดในมาตราล่ะว่า "ไม่ต้องมีการจ่ายค่าเทอมเพิ่ม นักศึกษาจ่ายเท่าเดิม แต่ผู้บริหารต้องการเพียงให้มหาลัยนอกระบบราชการ แค่มีการทำงานที่อิสระขึ้นไม่ต้องการค่าใช้จ่ายโดยการขูดรีดนักศึกษา อนุมัติให้จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ค่าหอพัก หน่วยกิต ค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงกิจกรรม ค่าบำรุงมหาวิทยาลัยเท่าเดิม ฯลฯ"

 

-  หากมีการขึ้นค่าเล่าเรียนจริง ๆ ให้มหาวิทยาลัยแจ้งใน พรบ.ได้ไหมว่าขึ้นตามความเป็นจริงของค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนแต่ละคณะ หรือมีการกำหนดว่าขึ้นได้เท่าไหร่ 5 % หรือไม่เกิน 10% กำหนดใน พรบ. ได้ไหม เพื่อเป็นสิ่งที่การันตีให้นักศึกษา  ผู้ปกครอง  ตลอดจนคนในสังคมเข้าใจให้เหมือนกัน

 

3.  สิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญกว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาเข้าถึงชุมชนมากขึ้น หรือให้คนในชุมชนมาเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยก็ว่าได้ โดยการเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน  เช่น

 

-  เปิดโอกาสให้เกษตรกรที่เพาะเห็ดมาสอนนักศึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญในรายวิชาเกี่ยวกับการเกษตร เช่น การเพาะเห็ด  หรือเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่ปลูกผักมาสอนวิชาเกี่ยวกับการปลูกผัก อาจมาในฐานะผู้เชี่ยวชาญเป็นรายวิชาและคาบเรียนไป  ที่สำคัญชาวบ้านอาจสอนได้ดีกว่าอาจารย์ที่จบปริญญาเอก เพราะชาวบ้านเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการฝึกปฏิบัติไม่ใช่การเรียนรู้จากทฤษฏีเพียงอย่างเดียว บางครั้งการเรียนรู้จำเป็นต้องเปิดกว้าง

 

4.  ประเด็นนี้สำคัญที่สุดของการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบสำหรับชายแดนภาคใต้ เพราะเป็น

การเพิ่มเงื่อนไขของความรุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงและปฏิเสธไม่ได้ เพราะในสามจังหวัดส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  ด้วยเหตุนี้การศึกษาในอิสลาม (Islamic education) ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครอยากเรียนก็ได้ แต่การศึกษาในศาสนาอิสลามเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคน ดังมีปรากฏในพระวจนะของท่านศาสดามูฮัมหมัดว่า 

 

"การศึกษาหาวิชาความรู้เป็นบทบังคับสำหรับมุสลิมทุกคน" (ดูเศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ : 3913) และอีกคำตรัสหนึ่งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านในซูเราะฮ์อัซ-ซุมุร  อายะฮ์ที่ 9 มีใจความว่า "จงกล่าวเถิด จะเทียมเท่ากันหรือ  ระหว่างบรรดาผู้ที่รู้กับบรรดาผู้ที่ไม่รู้" 

 

- การศึกษาในอิสลามเป็นสิ่งที่จำเป็น  เมื่อมหาลัยออกนอกระบบมีการเพิ่มค่าเล่าเรียนทำให้การศึกษาจะต้องมีข้อจำกัดดังนั้นอะไรจะไปตอบโจทย์หลักการของอิสลามที่สามารถเอื้อให้กับพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม  คิดว่าแรกเริ่มเดิมทีรัฐบาลคงรู้ดี

 

ยังจำได้ไหม และ ณ วันนี้เงื่อนไขทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรง คิดว่าแค่นี้ยังไม่พออีกหรือที่รัฐเคยสร้างไว้แล้วกลับพยายามอธิบายให้สังคมรับรู้และเข้าใจเหมือนว่าพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ก่อการร้าย  หรือจะเพิ่มเงื่อนไขความรุนแรงขึ้นมาอีกตัวด้วยม.นอกระบบโดยการตัดโอกาสให้เยาวชนในสามจังหวัดเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเหมือนที่ได้ตัดโอกาสโดยการเปลี่ยนปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชน 

         

ด้วยเหตุนี้แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องไม่ทำให้เกิดสองสิ่งนี้พร้อมกัน คือ

 

-   ต้องไม่สร้างความบอบช้ำให้กับพี่น้องในสามจังหวัดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตในเมื่อท่านเชื่อและมั่นใจว่า การศึกษาคือการแก้ไขปัญหาทุกมิติ แต่ทางที่ดำเนินอยู่มันขัดกันโดยสิ้นเชิงเพราะกำลังตัดโอกาสเยาวชนเพื่อให้ได้รับการศึกษาแล้วการแก้ปัญหากับการพัฒนาจะเกิดขึ้นอย่างไร

 

-  การแก้ปัญหาต้องไม่ขัดกับหลักศรัทธา  หลักปฏิบัติและหลักศาสนาของพี่น้องในสามจังหวัดนั่นคือศาสนาอิสลาม

        

ท้ายที่สุดนี้ เราเข้าใจว่าการศึกษาต้องลงทุน  ไม่มีใครหรอกที่จะศึกษาแต่ไม่ต้องการลงทุนในเมื่ออุปกรณ์การเรียนและคู่มือตลอดจนสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นในการศึกษา  แต่สำหรับการศึกษาที่ลงทุนจนกระทั่งตัดโอกาสของคนบางกลุ่มและไม่ได้สร้างความเท่าเทียมกัน หรือขัดกับหลักศาสนาด้วยแล้ว  การศึกษานั้นก็ใช่ว่าจะมีเกียรติและน่ายกย่องเท่าไรนัก  และที่สำคัญเงื่อนไขความรุนแรงคงไม่สามารถหลีกหนีและปฏิเสธได้พ้น  หากทางออกสุดท้ายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาคือ มหาวิทยาลัยนอกระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net