สัมภาษณ์: ประพาส โรจนภิทักษ์ "มันมีขบวนการหาผลประโยชน์จากป่า"

ทำไม ชาวบ้านรอบเทือกเขาบรรทัด อันประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ต้องออกมาชุมนุมรอบแล้วรอบเล่า คำอธิบายจากที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด นาม "ประพาส โรจนภิทักษ์" คือคำตอบ

เช้าวันที่ 28 มกราคม 2550 เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ที่เคลื่อนพลออกมาชุมนุมเรียกร้องให้แก้ปัญหาเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์ป่าเขาบรรทัด ทับที่ดินทำกิน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง ได้ประกาศสลายตัวชั่วคราว โดยนัดหมายมาฟังผลการเจรจากับทางราชการอีกครั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550

 

ทำไม ชาวบ้านรอบเทือกเขาบรรทัด อันประกอบด้วย จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ต้องออกมาชุมนุมรอบแล้วรอบเล่า

 

คำอธิบายจากที่ปรึกษาเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด นาม "ประพาส โรจนภิทักษ์" คือคำตอบ

 

000

 

 

ปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด

เรื่องนี้ต้องย้อนหลังดูการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ไปทับที่ดินทำกินของชาวบ้านรอบเทือกเขาบรรทัด โดยไม่ได้เดินแนวเขตสำรวจพื้นที่จริง นี่คือ ต้นเหตุของปัญหา

 

การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตอุทยานแห่งชาติ ใช้แผนที่ทางอากาศเป็นตัวกำหนด สมัยก่อนชาวบ้านในภาคใต้อยู่ในป่ายางพารา ป่าผลไม้ ไม่ได้ทำสวนยางพารา หรือทำสวนผลไม้เหมือนปัจจุบัน คนสมัยก่อนปลูกยางพารา หรือปลูกผลไม้โดยไม่ตัดฟันต้นไม้ ที่ดินทำกินและอยู่อาศัยของชาวบ้าน จึงมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์ พอใช้แผนที่ทางอากาศเข้าไปจับ ผลที่ออกมา คือ พื้นที่ป่าสมบูรณ์ในภาพถ่ายทางอากาศ กลับมีชุมชนอาศัยทำกินอยู่ในป่ามาก่อนแล้ว หลายชุมชนเป็นชุมชนดั้งเดิมเก่าแก่มีอายุเป็นร้อยปี

 

นี่คือ ต้นตอของปัญหา!

 

ความรุนแรงของปัญหา

เมื่อก่อนสภาพป่าไม่เสื่อมโทรมจนถึงขั้นวิกฤต เจ้าหน้าที่ก็อะลุ้มอล่วยไม่เคร่งครัดนัก ชาวบ้านก็พออยู่กันไปได้

 

สถานการณ์เริ่มวิกฤตจริงๆ ตอนที่คณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ให้ควบคุมจำกัดพื้นที่ หรืออพยพผู้ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ส่วนกรณีที่อยู่อาศัยทำกินหลังประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ให้อพยพออกจากพื้นที่สถานเดียว คือ รัฐต้องการกันเขตป่าออกมาให้ชัด ถ้าใครอยู่ในเขตป่าต้องออกจากพื้นที่ อยู่ไม่ได้

 

เมื่อเจ้าหน้าที่รับมติคณะรัฐมนตรีนี้มาปฏิบัติ ทุกผืนป่าก็วิกฤต ทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ชาวบ้านต่างยืนยันว่าอยู่มาก่อนประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ทั้งนั้น ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหว มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาต่อสู้ ปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าไม้ก็เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่นั้น

 

เนื้อหาสาระหลักๆ ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 คืออะไร

มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นมติที่ออกมารองรับนโยบายรักษาป่าและพื้นที่ป่าให้ดำรงอยู่ เนื้อหาสาระหลักๆ คือ จัดการดูแลรักษาป่า นำพื้นที่ป่าไม้คืนมาจากชาวบ้าน ทั้งที่ทำกินมาก่อนและหลังจากประกาศพื้นที่ป่าไม้ ชุมชนที่พิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อนประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ก็กำหนดความลาดชันว่า ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกิน 35 องศา ข้อเท็จจริง ก็คือ พื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปบุกเบิกทำกินในป่า เป็นเนินเป็นควนสูงๆ ต่ำๆ ทั้งนั้น องศาความลาดชันมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป

 

สรุป ก็คือ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ไม่มีทางออกให้ชาวบ้านเลย มีอย่างเดียว คือ คุณต้องออกจากพื้นที่ป่าไม้ ถ้าคุณอยู่ในเขตป่าคุณผิด เมื่อผิดแล้วก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย พอมตินี้ออกมาเจ้าหน้าที่ก็ออกไปกันแนวเขต เอาหลักปูนซิเมนต์มาปัก ถ้าหมู่บ้านไหนชุมชนหนาแน่น ก็ใช้ลวดหนามกั้นแนวเขตไว้เลย ไม่สนใจว่าไปทับที่ดินทำกิน หรือที่อยู่อาศัยของใคร ชาวบ้านที่เข้าไปทำกินอยู่ก่อน เขาก็ไม่ยอม

 

หลังจากเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านมีปัญหากัน ก็เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้อง จนมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมาแก้ไขปัญหาหลายครั้ง จนถึงปี 2544 ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับชุมชน ให้ทั้ง 2 ฝ่าย ร่วมกันกันแนวเขตระหว่างป่ากับชุมชนตามสภาพที่เป็นจริง เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนประกาศเขตป่าอยู่ต่อไปได้

 

ตอนนั้นชาวบ้านทุกพื้นที่ขานรับ มีการออกกฎกติกาของหมู่บ้านล่วงหน้า หลังจากกันเขตแล้วเสร็จ จะไม่มีการขยายพื้นที่ทำกิน จะไม่ทำลายป่ากันอีกแล้ว แต่จะร่วมกันอนุรักษ์รักษาป่า มาถึงขั้นนี้ ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องเอกสารสิทธิ์ ขอแค่เพียงมีหลักประกันให้เขาได้อยู่ได้ทำมาหากิน

 

หลายพื้นที่มีการรณรงค์ให้อนุรักษ์ป่าไม้ มีการกันแนวแม่น้ำ ลำคลอง ลำห้วย ไม่ตัดต้นไม้ในระยะ 15 เมตร เพื่อรักษาแหล่งน้ำ รวมทั้งกระบวนการผลิตยางพาราที่มีน้ำเสีย มติชุมชนออกมาว่าให้ขุดบ่อพักบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นโรงยางขนาดเล็กๆ หรือขนาดไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นขี้หมู ขี้วัว ต้องมีบ่อพัก

 

มีปัญหาอะไร คณะกรรมการร่วมจึงไม่เป็นจริง

พอตั้งคณะกรรมการทุกระดับเสร็จทั่วประเทศ ก็เป็นเหมือนกันทุกที่ จังหวัดตรังนี่เห็นเป็นรูปธรรมเลย พอนัดประชุมกันครั้งแรก กรรมการจากสัดส่วนของภาครัฐ คือ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เขาบอกว่าไม่มีงบประมาณ ต้องรองบประมาณก่อน เราก็ต้องรอโดยไม่มีกำหนดว่าจะได้งบประมาณเมื่อไหร่ ขณะที่ชาวบ้านเร่งรัดด้วยซ้ำว่า จะไปเดินแนวเขตกันเมื่อไหร่ ทางส่วนราชการก็บ่ายเบี่ยงไปเรื่อย

 

จนกระทั่ง คณะกรรมการหมดสภาพไป ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตามที่กำหนด เพราะติดขัดเรื่องงบประมาณ ติดขัดข้อกฎหมาย พอติดขัดข้อกฎหมาย ทางองค์กรชุมชน องค์กรชาวบ้าน ก็หันมาสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เพราะสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าแนวทางป่าชุมชน แก้ปัญหาป่าได้จริง รักษาป่าได้จริง

 

เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ก็ร่วมกับเครือข่ายป่าภาคใต้ หันมาเคลื่อนไหวผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็ออกจับกุม ยึดที่ดินทำกิน ตัดฟันต้นยางพารา รื้อเผาบ้าน จับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้าน เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

 

สภาพข้อเท็จจริงของชุมชนรอบเทือกเขาบรรทัดเป็นอย่างไร

ถ้าจะแก้ปัญหาต้องมอง 2 ส่วน ส่วนแรก ชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่จริงๆ ซึ่งมีอยู่จริง ถ้านำหลักฐานตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายป่าอย่างเดียว มันค่อนข้างจะแข็งตัว ตรงนี้น่าจะใช้หลักฐานการก่อตั้งชุมชน หลักฐานทางโบราณคดีมาประกอบ เอาแค่พระราชบัญญัติการปกครองท้องที่สมัยรัชกาลที่ 5 มาใช้ก็สามารถเห็นข้อเท็จจริงได้ เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้ในการประกาศตั้งหมู่บ้าน ตำบล ขณะนี้มีหลายพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า ประกาศตั้งหมู่บ้าน  ตำบล ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้

 

ถามว่า ถ้าไม่มีชุมชนอยู่ในขณะนั้น เขาจะประกาศตั้งหมู่บ้านได้อย่างไร มีหมู่บ้านก็ต้องมีคนอยู่ใช่ไหม แต่หลักฐานเหล่านี้ กลับไม่ยอมรับให้นำมาใช้แก้ปัญหา นำมาประกอบกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน นี่คือ สภาพที่เกิดขึ้น

 

ส่วนที่สอง คนที่บุกรุกป่าใหม่ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีอยู่จริง บุกรุกป่าเพราะไม่มีที่ทำกิน บุกรุกป่าเพราะอะไรก็แล้วแต่ เพราะถูกว่าจ้างให้เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า การแก้ปัญหาตรงนี้ต้องแยกออกมา วิธีการแก้ปัญหาต้องใช้อีกวิธี

 

สำหรับคนส่วนที่สอง ถ้าพูดอย่างให้ความเป็นธรรม ป่าสงวนแห่งชาติที่หมดไปส่วนหนึ่ง เขานำไปปฎิรูป ถามว่าปฏิรูปกี่ครั้งแล้ว คนที่ไม่มีที่ดินทำกินก็ยังไม่มีอยู่เหมือนเดิม คนพวกนี้ก็ต้องดิ้นรนบุกเบิกที่ทำกินในเขตป่า โดยเฉพาะช่วงที่ยังให้สัมปทานทำไม้ หลังจากหมดสัมปทาน คนงานหรือชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน ก็เดินตามหลังกันเข้าไปบุกรุก ตรงนี้ต้องแยกให้ออกว่า บุกรุกจากปีไหนถึงปีไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร  บุกรุกสดๆ ร้อนๆ ตั้งแต่ปีไหนถึงปีไหน จะแก้ปัญหาอย่างไร

 

รูปธรรมการแก้ปัญหาควรเป็นอย่างไร

ถ้าเขาไม่มีที่อยู่ที่ทำกินจริงๆ ก็จำเป็นต้องให้เขาอยู่ แต่จะอยู่ในลักษณะไหน จะตั้งกติกากันอย่างไร ที่ไล่คนออกเพราะต้องการรักษาป่าให้ป่าดำรงอยู่ใช่ไหม ถ้าถามว่าให้เขาอยู่แล้วป่าไม่ถูกทำลาย เราจะเอาหรือเปล่า ถ้าเขาอยู่โดยมีกติการ่วมกันว่า ถ้าคุณจะอยู่ตรงนี้ ทำมาหากินตรงนี้ จะตั้งบ้านอยู่ตรงนี้ คุณต้องดูแลผืนป่าตรงนี้ด้วย ให้ชุมชนดูแล ให้องค์การบริหารส่วนตำบลดูแล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้

ตอนนี้ หลายหมู่บ้านเขามีกติกา จะไม่รุกล้ำเพิ่มเติมอีกแล้ว วันนี้เราจะเห็นว่า ชาวบ้านเขายอมแล้ว ขอแค่กติกาที่เขาอยู่ได้ ถ้าให้เขาออกจากพื้นที่ที่เขาอยู่มาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ รัฐก็ตอบไม่ได้ว่าให้เขาไปอยู่ที่ไหน

 

ตรงนี้ ต้องมีกติกาการอยู่กับป่าที่ชัดเจน คุณจะอยู่ตรงนี้คุณอยู่อย่างไร คุณมีสวนยาง ขนาดร่องยางกว้าง 5 คูณ 3 ขยายเป็น 7 คูณ 3 ได้มั้ย จะได้มีพื้นที่ปลูกป่าในร่องยางเพิ่มขึ้น มันจะได้ฟื้นสภาพป่าขึ้นมา ป่าจะได้ไม่สูญเสีย สวนยางส่วนใหญ่ 10 ไร่ 15 ไร่ อาจจะโค่นทีละแถวก็ได้ แทนที่จะโค่นทีเดียวทั้ง 15 ไร่ แทนที่จะโค่นแล้วเผา ไม่ต้องเผาก็ได้ เพราะการเผาป่าเป็นการทำลายระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเผา คิดหาทางทำอย่างไรให้คนอยู่แล้วป่ายังเป็นป่า

 

ขอตัวอย่างชุมชนที่มีกฎกติกาในการอยู่กับป่าแล้ว

มีอยู่หลายชุมชน เอาเฉพาะที่ชัดเจนก็ที่บ้านเขาล้อม ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง หมู่บ้านนี้มีการกำหนดแนวเขต ตรงนี้คือเขตป่า ส่วนนี้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ของใครกี่ไร่ ออกเป็นหลักฐานของชุมชนเอาไว้ตรวจสอบว่า ที่ดินของคุณงอกขึ้นมาทีหลังหรือไม่ พื้นที่ป่าใกล้เคียงหดลงไปหรือเปล่า

 

สำรวจเสร็จก็ให้ปลูกป่าตามแนวเขต แล้วกำหนดกติกาชุมชนว่า ในเขตป่าทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาไม่ให้ถูกทำลาย ชาวบ้านต้องช่วยป้องกันดูแลรักษากันเอง ในส่วนที่ดินทำกินเขาก็จะให้ปลูกต้นไม้ทดแทนในพื้นที่ว่าง เช่น ตรงร่องยางพารา ส่วนต้นน้ำลำธารที่มีอยู่ ก็เว้นต้นไม้ห่างจากชายฝั่ง 15 เมตร ถ้าใครโค่นป่าไปแล้วก็ให้ปลูกป่าทดแทน

 

ถ้าใครทำผิดกติกา ให้เตือน 1 ครั้ง โค่นต้นไม้ 1 ต้น ก็เตือน 1 ครั้ง ถ้าไม่เลิกชุมชนจะใช้มาตรการทางสังคมลงโทษ ถ้ายังไม่ยอมหยุดก็ต้องบีบให้ออกไปจากชุมชน

 

นอกจากเขาล้อมแล้ว ก็มีที่หนองปรือ อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง ที่หนองปรือกำนันออกมาประกาศเลยว่า จะออกเอกสารที่ทำกินให้ชาวบ้านเอง เพื่อป้องกันไม่ให้รุกป่าออกไปอีก บางหมู่บ้านในเขตอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ที่ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ก็มีการควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการรุกป่าเพิ่ม

 

ที่บ้านทุ่งส้มป่อย ตำบลละมอ ชาวบ้านรวมตัวกันรักษาป่าต้นน้ำ เป็นป่าข้างคลอง จนมีน้ำไหลได้ใช้ตลอดปี กระทั่งได้รับธงพระราชทานจากสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นชุมชนอนุรักษ์ป่าดีเด่นมาแล้ว 3 ครั้ง

 

ผมไม่ได้หมายความว่า ทุกคนในชุมชนจะให้ความร่วมมือ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ในชุมชน ยินยอม คนส่วนน้อยก็อยู่เฉยไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยาน  ให้ความร่วมกับชาวบ้านอนุรักษ์ป่า ความสำเร็จก็มีสูง

 

ชาวบ้านจะรักษากติกาที่ออกมาเองได้จริงไหม

ปัญหาอยู่ตรงที่ ขาดความร่วมมือจากภาครัฐ ชาวบ้านเขาไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ปล่อยให้เขาพูดกันเอง ทำได้ก็แค่ว่ากล่าวตักเตือน ถ้าเป็นคนในหมู่บ้านเขาเตือนกันได้ เขาพูดกันได้ เพราะมีมาตรการทางสังคมบังคับ ไม่มีใครพูดด้วย เพื่อนบ้านไม่ร่วมสังฆกรรม คนทำผิดกติกาก็อยู่ไม่ได้

 

ที่หนักหนาสาหัส ก็คือ คนที่เข้าไปจากข้างนอก พอคนนอกเข้าไปรุกป่า ชาวบ้านเข้าไปเตือน เขาก็ว่าเกี่ยวอะไรกับชาวบ้าน พอไปขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ ไปอาศัยอำนาจของเขาในการจับกุมผู้กระทำผิด เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้ความร่วมมือ มองว่าองค์กรชาวบ้านเป็นองค์กรเถื่อน กติกาของชาวบ้านเป็นกติกาเถื่อน แล้วมาอ้างว่าหูตาไม่พอ กำลังไม่มี พอชาวบ้านจะเป็นหูเป็นตาให้ ทำไมถึงไม่เอา ลักษณะแบบนี้มีอยู่ทั่วไป นอกจากเทือกเขาบรรทัดแล้ว ที่อื่นๆ ก็เป็นแบบนี้ ถ้ายอมรับให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลป่า เขาก็จะระแวดระวังป้องกันไม่ให้คนจากข้างนอกเข้าไปทำลายป่า ตรงนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากคนของรัฐ จึงจะรักษาป่าเอาไว้ได้

 

เท่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ ความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มี แถมบางทีเปิดช่องปล่อยให้เส้นสายญาติพี่น้องเพื่อนฝูงคนจากข้างนอกเข้าไปบุกรุกป่าอีกต่างหาก ชาวบ้านก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีอำนาจอะไรอยู่ในมือ

 

จะทำอย่างไรกับชุมชนที่ไม่รักษาป่า หรือผู้บุกรุกรายใหม่

ชุมชนที่อยู่กับป่า ต้องรวมตัวกันเป็นองค์กร เพื่อให้องค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็ง เข้าไปให้ความรู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับป่า ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการรักษาป่า ถ้าปล่อยให้เขาอยู่เดี่ยวๆ เขาก็ไม่รับรู้เรื่องราว ก็ต้องเข้าไปบอกให้เขารู้ รู้แล้วเขาจะเห็นคุณค่า ต้องทำให้เขารู้ว่าถ้าไม่มีป่าเขาจะเดือดร้อน ทำให้เขารู้เพื่อจะได้เกิดองค์กรการจัดการป่าอย่างยั่งยืน มีกติกาของชุมชนของหมู่บ้าน

 

จะจัดการกับคนข้างนอก นายทุนพ่อค้าไม้ กลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากป่าได้อย่างไร

ในส่วนนี้ชาวบ้านเขามีข้อมูล แต่เก็บไว้เฉยๆ ไม่รู้ว่าจะเอาไปให้ใคร ขบวนการทำลายป่าตรงนี้เป็นขบวนการพาณิชย์ ต้องยอมรับว่าเขามีอิทธิพล เขามีเส้นสาย  ชาวบ้านจะไปแจ้งก็ไม่รู้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว นายทุนคนไหนร่วมมือกับเจ้าหน้าคนใด ไม่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็เป็นคนของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือไม่ก็เกี่ยวข้องโยงใยกับนักการเมืองท้องถิ่น อย่างนี้ชาวบ้านจะมีอะไรป้องกันตัว ถ้าให้เขารักษาป่าจริงๆ แก้ปัญหาได้ แต่ต้องให้ความมั่นใจกับเขา ให้เขามีความปลอดภัย จะได้ดูแลรักษาป่ากันจริงจังเสียที

 

รูปธรรมที่ยืนยันได้ คือ ที่เขาพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำนันคนหนึ่ง ต้องใช้อำนาจที่พอมีอยู่ จัดตั้งอาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านขึ้นมา ลงมือจับคนทำลายป่าด้วยตัวเอง เพราะแจ้งเจ้าหน้าที่แล้วเฉย

 

ฟังดูแล้วปัญหาการบุกรุกทำลายป่าจริงๆ มาจากกลุ่มอิทธิพลและเจ้าหน้าที่เป็นหลัก

เรื่องชาวบ้านเอาไม้มาทำบ้าน เอาไม้มาซ่อมแซมบ้าน เฉพาะไม้ล้มขอนนอนไพรก็เหลือเฟือแล้ว ชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อเอาไม้มีน้อยมาก แต่ที่ทำลายมากๆ คือ ขบวนการค้าไม้ ที่มีนายทุนและข้าราชการอยู่เบื้องหลัง นายทุนพวกนี้มาจ้างชาวบ้านตัดไม้ ชาวบ้านที่อยู่แถวนั้นก็รับจ้าง ไปตัดมาแล้วมีคนรับซื้อ ถ้าไม่มีคนจ้าง ไม่มีคนรับซื้อ ชาวบ้านจะตัดไม้ไปทำอะไรมากมาย

 

ชุมชนเก่าแก่รอบเทือกเขาบรรทัดมีชุมชนอะไรบ้าง

ก็มีตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ติดเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ทั้งตำบลเลย ประวัติชุมชนในเตามีอายุกว่า 200 ปี เป็นที่ชุมนุมพลของทหารที่เดินทัพระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองตรังในอดีต ชี้ให้เห็นว่าชุมชนมีมานานแล้ว เฉพาะวัดมีประวัติบันทึกไว้ชัดเจนมีอายุ 200 กว่าปีแล้ว ถ้าไม่มีชุมชนไม่มีบ้าน พระจะบิณฑบาตที่ไหน อันนี้ไม่ต้องใช้หลักวิชาการอะไรมากมาย หลักฐานเหล่านี้ ควรจะนำมาประกอบในการแก้ปัญหา

 

ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองปะเหลียนกับเมืองพัทลุง มีการเอ่ยถึงชุมชนบ้านในตระ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เกือบทุกหน้าปก ในฐานะเป็นชุมชนที่พักของคนเดินทางระหว่าง 2 เมืองนี้

 

นี่เป็นแค่ตัวอย่าง ยังมีอีกหลายชุมชนที่เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม

 

คิดว่าปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

 เมื่อถึงที่สุด สิ่งที่คนคำนึงถึง ก็คือ เขาต้องดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ การทำเกษตรของชาวบ้านเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป จะต้องมีที่ดินทำกิน ถ้าใครไปยื้อแย่งทำลายถิ่นฐานการทำมาหากินของเขา แย่งชิงทรัพยากรพื้นฐานไปจากเขา เขายอมไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าคุณทำให้เขาอยู่ไม่ได้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

 

วันนี้ทั่วประเทศมีคน 16 ล้านคนอยู่ในเขตป่า กำลังเผชิญกับปัญหานี้ ถ้าวันไหนเขาอยู่ไม่ได้ ที่ทำกินไม่มี ผมไม่กล้าพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในความรู้สึกลึกๆ ของชาวบ้าน วันนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ถ้ารุกไล่กันมากๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ มีชาวบ้านถูกยิงตาย 1 คน แถวบ้านวังอด อำเภอห้วยยอด ตอนนี้ญาติผู้ตายประกาศแล้วว่า เขาจะไม่เผาศพ ถ้าเจ้าหน้าที่ป่าไม้คนนั้นยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือ สัญญาณอะไร เขามีหลักฐานจากการเห็นและบอกเล่าว่าใครยิง เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมเข้าไปไล่ชาวบ้านออกจากป่า แล้วมีคนตายเกิดขึ้น เขาระบุชื่อชัดเจนว่าใครเป็นคนยิง ถ้าคนนั้นยังไม่ตายเขาจะไม่เผาศพ ตอนนี้เจ้าหน้าที่คนนั้น ขอย้ายออกนอกพื้นที่ไปแล้ว เพราะไม่รู้จะทำงานอย่างไร

 

ขณะที่ชาวบ้านพยายามหาวิธีการที่จะอยู่กับป่า เพื่อจะได้มีที่ดินทำกินมีที่อยู่อาศัย ถูกขับไล่ไสส่ง คนข้างนอกผู้มีอิทธิพลกลับร่วมมือกับคนของรัฐ เข้ามาตัดไม้ทำลายป่า

 

ขณะที่ไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน ออกจากที่อยู่อาศัย มีคนถูกจับกุมดำเนินคดี ในหมู่บ้านเดียวกัน อาณาบริเวณเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน ผู้มีอิทธิพล นักการเมืองท้องถิ่น ญาติๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับนำที่ดินไปออกเอกสารสิทธิ์ได้ หมายความว่าอะไร

           

มีตัวอย่างที่เขาพระทอง อำเภอชะอวด  จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชาวบ้านในเขตป่าเหมือนกัน วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ก็มาจับอีกคน ส่วนอีกคนไม่จับ คนที่ถูกจับไม่ยอมให้จับ บอกว่าต้องจับอีกคนด้วย เพราะถ้าผิดก็ผิดเหมือนกัน ปรากฏว่าพอตรวจสอบเข้าจริง อีกฝ่ายมีเอกสารสิทธิ์ ที่ได้เอกสารสิทธิ์มา เพราะชาวบ้านรายนั้นมีเงิน เป็นคนมีฐานะมาจากข้างนอก ไม่ใช่คนในหมู่บ้าน สามารถเข้าถึงอำนาจ สามารถจ่ายเงินจ่ายทองได้ เขารู้ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ จ่ายที่ไหน จ่ายกับใคร

 

ที่ดินบางแปลงอยู่ติดกัน พอต้นยางพาราหมดอายุใช้งาน แปลงหนึ่งโค่นไม่ได้ แต่อีกแปลงโค่นได้ ถามไปถามมาปรากฏว่าจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ หมายความว่า ถ้าคุณจ่ายเงินคุณโค่นได้

 

มันมีขบวนการหาผลประโยชน์จากป่า หาผลประโยชน์จากไม้ ไม่ใช่หาผลประโยชน์เพื่อการยังชีพ แต่หาผลประโยชน์เพื่อความร่ำรวย

 

กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์จากอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ ตั้งแต่การออกเอกสารสิทธิ์ การเรียกรับเงิน เรียกค่าคุ้มครอง เกิดขึ้นทั่วไปทุกพื้นที่ นี่คือปัญหาที่แก้ไม่ได้ ถึงแม้ชาวบ้านจะตั้งใจดี มีข้อเสนอที่ดี มีมาตรการดีอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ให้ความร่วมมือ ถูกนายทุน ผู้มีอิทธิพลขัดขวาง เพราะเขาได้ประโยชน์จากตรงนี้

 

เรื่องราวเหล่านี้ พฤติกรรมแบบนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขของความรุนแรงทั้งสิ้น

 

ผมคิดว่าถ้าคนรักป่าหวงแหนป่าจริงมาร่วมมือกัน สามารถแก้ปัญหานี้ได้ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า คนที่มีหน้าที่รักษาป่า บางทีเห็นป่าเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว แล้วป่าจะเหลือได้อย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท