Skip to main content
sharethis

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์


            บทความนี้ไม่ได้พูดถึงเหตุผลของการรัฐประหาร หรือ ทิศทางในอนาคตของการเมืองไทย แต่สนใจเฉพาะว่า คมช. ในฐานะคณะรัฐประหาร มีสถานะทางการเมืองการปกครองอย่างไรในการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร


            ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ? คำตอบก็คือ หนึ่งในวิธีในการทำความเข้าใจการเมืองนั้นก็คือการทำความเข้าใจว่า "อำนาจ" และ/หรือ "อิทธิพล" มันอยู่กับใคร มันทำงานอย่างไร และมันมีที่มาอย่างไรนั่นแหละครับ


            เมื่อเราพยายามเข้าใจการเมืองผ่านการเข้าใจอำนาจ เราก็ต้องเข้าใจว่า คณะรัฐประหารในฐานะผู้ยึดอำนาจมานั้น เขาอยู่ในโครงสร้างอำนาจใหม่อย่างไร แล้วเขาผลิตอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะอำนาจไม่ใช่สิ่งที่แค่ยึดไปจากกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่มันถูกผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในหลายๆ กรณี


            ว่าไปแล้ว คมช นี่แหละครับที่เป็นทั้งผู้ยึดอำนาจและผู้ที่พยายามจะสร้างอำนาจให้กับตัวเองว่าเขาเป็นองค์อธิปัตย์ของประเทศ หรือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองของประเทศ ดังนั้นการที่ใครสักคนอยากจะปลดรัฐบาล เขาก็คิดถูกแล้วที่ไป "ร้องเรียน" ต่อ คมช. และประธาน คมช. ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องกลบเกลื่อนถึงท่าทีในการรับข้อร้องเรียนดังกล่าว เพราะนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร คมช.เอง (ไม่ว่าจะชื่อเดิม หรือ ชื่อใหม่) ก็เรียกร้องให้ประชาชนทั้งหลายเสนอความเห็นต่างๆ มายังคมช.มาโดยตลอด แม้ในปัจจุบันในเว็บไซด์ของ คมช. (www.cns.go.th) ก็ยังมีบริการดังกล่าว


            และก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมข่าวจริงและข่าวปล่อยว่าหัวหน้าคณะ คมช. จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงออกมาเป็นระยะ และได้รับการขานรับจากคนหลายๆ กลุ่มอยู่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะพวกที่ชูจักกะแร้เชียร์การรัฐประหารมาตั้งแต่แรก


            เพราะ คมช. นั้นยึดอำนาจมาได้ด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญเดิมของประเทศ จากนั้นก็สถาปนาตัวเองเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองโดยการออกคำสั่งคณะรัฐประหาร (คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในฐานะคำสั่งของผู้ปกครองที่ระบุว่ากฏหมายอื่นๆที่มีอยู่นั้นอันไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้ และแต่งตั้งองค์กรทางการเมืองการปกครองใหม่ อาทิ เช่น คตส. สภานิติบัญญัติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่รองรับอำนาจของ คมช เอง


            ในแง่นี้อย่าได้สับสนไปตามสิ่งที่ประกาศในเว็บไซด์ของ คมช. ว่า คมช. มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และคำสั่งคณะรัฐมนตรีดังที่เขียนไว้ในเว็บไซด์ (http://www.cns.go.th/structure_cdrc.asp) เพราะ คมช. นั้นมีอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจเขานั้นก็เป็นรัฐธรรมนูญที่เขาประกาศเอง(หลังจากที่ยกเลิกฉบับเก่าด้วยกำลังทหารที่สมาชิกคมชมีตำแหน่งอยู่) ผ่านพิธีกรรมทางการเมืองที่เสกสรรปั้นแต่งด้วยศัพท์แสงทางกฏหมายมหาชนแบบไทยๆ เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจ สืบสานอำนาจ และผลิตอำนาจได้ในแต่ละวัน ๆ


            ว่าง่ายๆ ก็คือ สถาบันทางการเมืองทุกสถาบันนั้นจะอยู่หรือไปเมื่อไหร่ก็ขึ้นกับ คมช ทั้งสิ้น เพราะ คมช เป็นสถาบันทางการเมืองเดียวที่กำหนดกติกาทางการเมืองในสังคมได้ ไม่ว่าจะในสถานะที่สามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ ควบคุม-กำกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และยังมีอำนาจในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดๆขึ้นมาได้ด้วย (ดังนั้นอย่าไปสับสนว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่างอยู่นี้ จะเจอกับฉบับของ คมช. เพราะฉบับที่ร่างอยู่ก็เป็นฉบับที่อยู่ในกำกับของ คมช. อยู่ดี หรืออยู่ในขอบเขตที่ คมช. ยอมให้ดำรงอยู่ได้นั่นแหละครับ)


            สถาบันทางการเมืองทุกสถาบันในสังคมล้วนแล้วแต่ต้องมีความสามารถในการรับผิดและถูกตรวจสอบได้ (ในกรณีของสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากไม่ต้องรับผิดจึงต้องมีการลงนามโดยผู้สนองพระบรมราชโองการ ซึ่งคือผู้ที่ต้องรับผิดแทน) ก็เห็นแต่จะมี คมช. นี่แหละครับที่ไม่สามารถถูกปลดได้  และไม่ต้องถูกตรวจสอบ (ดังนั้นการที่สมาชิก คมช. เคยให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาเป็นวีรบุรุษ ดังนั้นไม่ต้องถูกตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจถูกแล้ว) เพราะ คมช. เป็นสถาบันทางการเมืองที่ ไม่ต้องรับผิด (เพราะไม่มีใครปลดได้) ทั้งที่มีการกระทำทางการเมืองตลอดเวลา  และไม่ต้องถูกตรวจสอบ ทั้งเป็นสถาบันที่รับได้แต่ความชอบ และผลประโยชน์จากตำแหน่งทางการเมืองที่ได้มาในฐานะที่ตนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ อาทิ ตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ (แต่ไม่ยักเห็นว่าจะมีตำแหน่งที่"รับผิด"ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้กับเขาบ้างเลย ...)


            ย้ำอีกครั้งว่า หากมีใครบอกว่า คมช. นั้นถูกวิจารณ์ได้ แต่ถ้าไม่มีสถาบันทางการเมืองใดที่ปลด คมช.ได้ และในเมื่อคมช.นั้นเป็นผู้ที่ยกเลิกและสร้างกฏหมายได้เองแล้ว จะอธิบายสถานะของ คมช.ไปในทางอื่นๆได้อย่างไรที่แตกต่างไปจากที่ได้กล่าวมาข้างต้น?


 


...........................................................
(ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน  หนังสือพิมพ์คมชัดสึก วันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2550 หน้า 4)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net