Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ก.ค. 50 สืบเนื่องจากกรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับบันทึกจาก ผศ.ดร.มณีปิ่น พรหมสุทธิรักษ์ รักษาราชการแทนคณบดีคณะอักษรศาสตร์ เพื่อขอเอกสารกระดาษคำตอบและคะแนนที่ให้แก่นักศึกษาในการตอบข้อสอบ ตามคำขอของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


 


รศ.ดร.สมเกียรติ ตั้งนโม นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เขียนจดหมายเปิดผนึกออนไลน์ที่ http://www.petitiononline.com/4bs2007/petition.html เพื่อระดมชื่อให้กำลังใจแก่ ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่กำลังคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอยู่ขณะนี้ ยุติการดำเนินการดังกล่าวโดยทันที


 


เนื้อหาของจดหมายดังกล่าวระบุว่า "การดำเนินการดังกล่าวของพนักงานสอบสวนและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีปรากฎมาก่อน การดำเนินการนี้ยังได้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการใช้ข้อกล่าวหาเรื่อง "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ" ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมืองในการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสาธารณชนมาโดยตลอดนั้น ขณะนี้ได้คืบขยายเข้ามาสู่แวดวงวิชาการแล้ว"


 


รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อ แสดงความเห็นว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการพื้นฐาน ถ้าสังคมไทยปิดกั้นไม่ให้นิสิตนักศึกษาใช้ปัญญาในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แล้วก็เท่ากับว่ามีการบังคับให้พลเมืองเคารพโดยไร้เหตุผล"


 


ด้าน ร.ศ.สุชาย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นว่า 1.เลิกได้แล้วกฎหมายหมิ่น มันเป็นอาวุธที่ใช้กลั่นแกล้งผู้อื่นของระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งหลาย เช่น ในสมัยนาซี-ฟาสซิสต์ ระบอบสตาลินย้อนไปถึงระบบจักรพรรดิจีนและนครรัฐกรีซโบราณ 2.การเรียนการสอนที่ดีต้องเปิดผู้เรียนไต่ถามตรวจสอบและแสดงความเห็นได้เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นจริงไม่ใช่เฝ้าพูดปฏิรูปแต่คอยปิดกั้นซึ่งจะทำให้เด็กไทยมีปัญหามากเหมือน"ผู้ใหญ่"หลายคนของสังคมไทยในเวลานี้


 


ขณะที่ ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นว่า "ช็อค ข้อสอบคือความคิดที่เปิดเผยของเด็ก คือบทลับสมองแง่มุมต่างๆ ที่จะทำให้เยาวชนของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีวิจารณญาณ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปกป้องหลักการเสรีภาพทางวิชาการ ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มาตรา 42 และรัฐธรรนูญฉบับจะประชามติ ส่วนที่ 7 สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา "มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย และการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ต้องมีสปิริตและยึดกุมประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ และปกป้องคุ้มครองอาณาจักรแห่งเสรีภาพนี้ไว้อย่างเข็มแข็ง" 


 


 


 


…………………………………………….


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


อาจารย์ ม.ศิลปากรออกข้อสอบวิชาอารยธรรมไทย ถูกแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


อ.ศิลปากร ไม่ส่งกระดาษคำตอบให้ตามที่ขอ เพราะสะเทือนสิทธิ นศ.


เปิดข้อสอบ อ.ศิลปากร กรณีหมิ่นฯ หรือคุกคามเสรีภาพวิชาการ : จงหาคำตอบที่ถูกต้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net