Skip to main content
sharethis

"สนธิ" ยันเลือก "คนดี" ขึ้นผู้บังคับหน่วย


วานนี้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้บรรยายพิเศษ เรื่อง "แนวทางการรับราชการ" ให้แก่นักเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่น 85 โดยมี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และผู้ช่วยเลขาธิการ คมช. เข้าร่วมรับฟังด้วย


 


พล.อ.สนธิ กล่าวตอนหนึ่งว่า การเป็นผู้บังคับบัญชามีหลายเรื่องที่จะต้องทำ และการเลือกคนให้เหมาะกับงานเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งหลายคนอยากจะเป็นผู้บังคับบัญชา และบางคนเห็นเป็นเด็กตัวเองก็ให้ แต่เสร็จแล้วหน่วยก็แย่ สิ่งเหล่านี้ถือว่าผิดมารยาทการบริหารราชการ แต่ตนสบายใจและไม่รู้สึกกังวลกับเรื่องพวกนี้ เพียงแต่ว่า เราเลือกคนดีขึ้นมาบริหารหน่วย เพราะฉะนั้น การปกครองคนต้องรู้ว่าใครดีที่สุด และใครทั้งดีและทั้งเก่ง โดยตัวผู้บัญชาการทหารบกเองมักนิยมใช้คำว่า "ดีมาก่อนเก่ง" ซึ่งคนดีทำให้เก่งได้ หากว่าคนเก่งและดีก็ถือว่าสุดยอด แต่ถ้าเก่งแล้วไม่ดีถือว่าอันตรายที่สุด เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาดูในสิ่งพวกนี้เอามาใช้งาน


 


แย้มปริศนา "ใช้งานคนต้องใช้ด้านดี เลือก "คนไม่ดี" จะเกิดปัญหา"


"คนดีเปรียบเสมือนเหรียญบาท หน้าดีคือหน้าหัว หน้าไม่ดีคือหน้าก้อย คือ ขีดความสามารถจำกัดอยู่ที่หน้าก้อย ซึ่งการบริหารจัดการเราจะต้องเลือกหน้าหัวใช้งาน อย่าไปใช้หน้าก้อย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเลือกใช้หน้าหัวในการเลือกคนทำงาน คนทุกคนมีทั้งเก่งและไม่เก่งอยู่ในตัว อย่าไปคิดว่าคนไม่เก่งไม่มีคุณค่า ผลักไสไล่ส่งเลือกใช้แต่คนเก่ง ก็เกิดปัญหา ผู้ใต้บังคับบัญชา 10 คน ไม่ได้เก่งเหมือนกันหมด ไม่ได้สอบได้ที่หนึ่งเหมือนกันหมด มีที่หนึ่งถึงสิบ จำเป็นต้องใช้ถึงคนที่สิบด้วยเป็นการรวมพลังการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งที่เราต้องตระหนักอย่าลำเอียงในการพิจารณาตัดสินใจถ้าหากเรามีความรักชาติบ้านเมือง รักหน่วย เราจะต้องเลือกคนดีมาเป็นผู้บังคับหน่วย ไม่ใช่เลือกใครที่ไม่ดีมาเป็นมันก็จะเกิดปัญหา" พล.อ.สนธิ กล่าว


 


พล.อ.สนธิ กล่าวว่า โชคดีที่กองทัพบก การเลื่อนยศ ปลด ย้ายทุกครั้ง เราไม่มีอย่างอื่นทดแทน เราไม่มีอย่างอื่นเป็นตัวเลือก นอกจากความดีและความเก่ง เราไม่มีทุนทรัพย์มาเป็นตัวแลกเปลี่ยนว่าฉันอยากเป็นผู้บังคับบัญชากองพล เสนอตัวเลขหกหลัก เจ็ดหลัก กองทัพไม่มี กองทัพเลือกมาด้วยความดีและความเก่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถือเป็นความโชคดีของกองทัพที่มาถึงจุดนี้ เดินมาด้วยความรักสมัครสมานสามัคคี


 


ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2550 นั้น ผบ.ทบ. กล่าวว่า เพิ่งจะทำวันที่ 3 กันยายน เป็นวันแรก ส่วนจะส่งโผทหารให้ รมว.กลาโหม พิจารณานั้นคงจะเป็นไปตามเวลา โดยจะส่งให้ประมาณกลางเดือนนี้ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ ยืนยันว่า คมช.ได้ทำหน้าที่ของตัวเองเป็นที่พอใจและดีที่สุดแล้ว ซึ่ง คมช.ทำงานแค่ 12 วัน


 


ส่วนแคนดิเดตที่จะขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.นั้น ล่าสุด ยังคงเป็นนายทหารใน 5 เสือ ทบ. ซึ่งจะเหลือเพียง 3 นาย คือ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อ.มนตรี สังขทรัพย์ เสนาธิการ ทบ. ที่ผ่านมา พล.อ.มนตรี ได้ชื่อเป็นคนเรียนเก่ง สอบได้ที่ 1 ของเตรียมทหารรุ่น 9 แต่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่คุมกำลังมาก่อน ส่วนอีก 2 นายเติบโตในสายคุมกำลังจนถึงตำแหน่งปัจจุบัน และการกล่าวของ พล.อ.สนธิ ก็ทำให้มีการจับตาไปที่ พล.อ.มนตรี ว่าอาจจะได้รับการพิจารณาขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนต่อไป


 


 


ย้ำคงกฎอัยการศึกไม่ทำให้คนดีเดือดร้อน


นอกจากนี้หลังการบรรยายพิเศษ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังกล่าวถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ที่ยังประกาศใช้อยู่ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งว่า จากการเดินทางไปในหลายจังหวัด ประชาชนและข้าราชการจำนวนมากพูดตรงกันว่าการประกาศกฎอัยการศึกไม่มีผลกระทบต่อคนดี คนดีไม่ได้รับความเดือดร้อน และที่สำคัญคือ คนดีได้รับความคุ้มครองให้มีความปลอดภัย


 


ส่วนจำเป็นต้องชี้แจงหรือไม่ว่ากฎอัยการศึกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการหาเสียง หรือการทำกิจกรรมทางการเมือง ประธาน คมช.กล่าวว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว พรรคการเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการออกหาเสียงได้ตามปกติ ไม่มีอะไรเป็นข้อขัดข้อง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า หากพรรคการเมืองเรียกร้องในเรื่องนี้มากๆ อาจทำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขวได้ จึงเป็นเรื่องที่กองทัพจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และคิดว่าคงชี้แจงได้ไม่ยาก เพราะคนที่ต่อต้านเรื่องนี้มีจำนวนไม่มาก เมื่อถามว่าจะมีการพิจารณายกเลิกในบางพื้นที่และคงไว้ในบางพื้นที่หรือไม่ พล.อ.สนธิ กล่าวว่า ต้องศึกษาก่อนว่ามีความไม่ปลอดภัยอยู่ในจังหวัดใดบ้าง


 


นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปการปกครองของ คมช.ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ว่าต้องฟังให้ดีว่านายชวนกล่าวถึงประเด็นใดที่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา คมช.ได้ทำงานในกรอบของตัวเองอย่างดีที่สุดแล้ว และพอใจผลงานในระดับหนึ่ง "ท่านเป็นผู้ใหญ่และมีประสบการณ์สูง เรื่องต่างๆ ที่ท่านพูดเหมือนเป็นคำสั่งสอนที่เราต้องนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ผมเชื่อว่าท่านพูดกับเราด้วยความปรารถนาดีให้เรามาช่วยกันแก้ไข"


 


พล.อ.สนธิ ยังกล่าวถึงการพิจารณาปรับย้ายนายทหารประจำปี 2550 ในส่วนของกองทัพบก ว่าจะเริ่มจัดทำบัญชีในวันนี้ (3 ก.ย.) เป็นวันแรก และจะส่งบัญชีรายชื่อให้ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในกลางเดือน ก.ย. นี้.


 


 


"สพรั่ง"ชี้ปฏิวัติซ้ำฆ่าตัวตาย


ด้าน พล.อ.สพรั่ง กล่าวถึงกระแสข่าวการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.คนใหม่ ที่อาจพลิกผันนำไปสู่การปฏิวัติซ้ำ ว่า เป็นไปไม่ได้ แค่คิดก็ผิด บุคลิก บุคคล ความพร้อม บารมี ก็เหลือกันไม่กี่คน และเอาเหตุผลส่วนตัวไปทำไม่ได้อยู่แล้ว ต้องมีเหตุว่า ทำเพื่อชาติ บ้านเมืองให้ดีขึ้น ซึ่งแม้ต่างชาติจะประณาม ก็ต้องทำ แต่หากไม่มีเหตุอะไร ไปทำเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย


 


"ผมต้องถูกลากไปอยู่ในวังวนของการจุดประเด็นทางการเมือง ผมกำลังพิจารณาว่าจะเลือกหนทางปฏิบัติกับสภาพแวดล้อมนี้อย่างไร อาจสงวนสิ่งที่เป็นความจริงใจของเราออกไป เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อคนที่ห่วงใยเรา และกำลังคิดว่า บ้านเมืองนี้อยู่ด้วยเทคนิคการพูด หรือความจริงใจ หากจำเป็นต้องเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เขาบอกให้นิ่งก็ต้องนิ่ง" พล.อ.สพรั่ง กล่าวและปฏิเสธตอบคำถามการแต่งตั้งตำแหน่ง ผบ.ทบ.คราวนี้ ที่เหมือนมีอะไรที่ผิดปกติ เพราะชื่อยังไม่ออกมานั้น ขอให้ไปถามผู้บังคับบัญชาจะดีกว่า


 


 


"ประสงค์" ชี้ "ขิงแก่" สะดุดรับไม้ต่อคมช.


ขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ กล่าวว่า ครบรอบ 1 ปี ของการรัฐประหารของ คมช. ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการมอบอำนาจให้รัฐบาลทำต่อ กลับไม่มีผลงานที่ปรากฏชัดเจน จึงอยากให้รัฐบาลใช้เวลาที่เหลือในการทบทวนการทำงาน โดยเฉพาะเหตุผลในการปฏิวัติรัฐประหาร 4 ข้อ ที่ต้องทำให้เป็นรูปธรรม และจะขอประเมินผลงานหลังจากที่รัฐบาลได้มีการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีแล้ว


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 กันยายน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปตรวจเช็คสุขภาพหูที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติภารกิจในทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีเคยตรวจอาการหูอื้อและปวดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ แพทย์สรุปว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีอาการอะไรที่รุนแรงมาก ทั้งนี้ เมื่อครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เคยมีอาการดังกล่าวในช่วงเดินทางต่างไปประเทศบ่อย และอาการรุนแรงถึงขั้นหูดับ


 


ย้อน 2 เมษา พปช.ไม่เชิญอียู


น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ยังกล่าวถึงกรณีที่ กกต.แสดงความเป็นห่วงการเปิดโอกาสให้สหภาพยุโรปเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งอาจนำไปสู่เงื่อนไขการเมือง หากผลการเลือกตั้งไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งว่า ไม่ควรมองในแง่ร้าย เพราะอาจมาสังเกตการณ์เพื่อดูบางสิ่งบางอย่างในการจัดการเลือกตั้ง เชื่อว่าตัวแทนของอียูเป็นผู้ใหญ่พอจะรู้ว่า การแทรกแซงกิจการภายในไม่ใช่มารยาทที่พึงกระทำ


 


ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชาชนออกมายอมรับการติดต่ออียูในช่วงที่มีคดียุบพรรค อาจทำให้กรณีที่เกิดขึ้นมีเบื้องหน้าเบื้องหลังเชื่อมโยงกับการเมืองหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าพรรคพลังประชาชนมีที่มาอย่างไรและเป็นตัวแทนของใคร ตนอยากตั้งคำถามว่า ทำไมในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยจึงไม่ไปขอให้อียูเข้ามาสังเกตการณ์บ้าง แต่จะเข้ามาช่วงนี้จึงน่าคิด


 


"พรรคพลังประชาชนจะเรียกร้องให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ถ้าต้องไปเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามาแล้ว ไม่มีมารยาททางการเมือง เพราะเป็นกิจการภายในของเรา ก็ต้องเข้าใจอันนี้ด้วย" น.ต.ประสงค์ กล่าว


 


 


"ยุทธ" แย้มเลิกใช้กฎอัยการศึกหลังเลือกตั้ง


ขณะที่ ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกกฎอัยการศึกก่อนการเลือกตั้งทั่วไป พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า  พิจารณาแล้ว  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอน  เอาไว้ถึงเวลาเราคงจะสามารถที่จะชี้แจงได้  ซึ่งคงเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งนี้อยู่ในขั้นตอนที่ได้มอบให้ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ  (สมช.)  ในฐานะเจ้าของเรื่องไปพิจารณา  รายละเอียดยังไม่ขึ้นมา


 


เมื่อมีผู้ถามว่า หมายถึงหลังมีการเลือกตั้งแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า"โดยประมาณน่าจะเป็นอย่างนั้น"


 


เมื่อถามว่า  กำหนดวันเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่  นายกรัฐมนตรีตอบว่า ยังไม่มีอะไรที่มาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และคิดว่าสิ่งที่ได้พูดไว้แล้วน่าจะเป็นกรอบเวลาที่เหมาะสม



 


สดศรีกร้าวใส่อียูไม่รับรองปลอดภัยประสงค์เชื่อรู้มารยาท


ขณะที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ขอมาสังเกตการณ์และตรวจสอบการเลือกตั้งของประเทศไทย โดยขอให้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)  โดยนางสดศรีได้กล่าวว่าหากเกิดเหตุการณ์อะไรในช่วงที่เข้ามา โดยอียูจะขอเข้าไปในหมู่บ้านโดยไม่ให้ทหารเข้ามาดูแลนั้น ซึ่งตัวแทนอียูที่จะเข้ามามีจำนวนมาก จึงเกรงว่า กกต.ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันที่ 6 กันยายนนี้ กกต.จะหารือกับตัวแทนอียู เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นจะเป็นผลเสียต่อประเทศไทย


 


ส่วนการลงนามสัตยาบันของพรรคการเมือง นางสดศรี กล่าวว่า อาจมีการหารือกับพรรคการเมืองในวันที่ 10-11 กันยายนนี้ กกต.ซึ่งเชื่อว่าพรรคการเมืองมีเกียรติและศักดิ์ศรีอยู่แล้ว คงไม่ยอมให้ใครมาดูถูกตัวเองง่ายๆ


 


ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร องค์กรกลางเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) กล่าวว่า การที่อียูจะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นเรื่องดี เพราะต่างประเทศจะได้เข้าใจประเทศไทยในทางที่ถูกต้อง แม้จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การยื่นเงื่อนไขต่างๆ ค่อนข้างเกินเลยที่ให้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซึ่งหลายประเด็นบอกว่า สามารถเข้าไปในหน่วยเลือกตั้งได้ ขอตรวจสอบได้ ขอร่วมประชุม กกต.ได้ ขอเอกสารได้ ตรงนี้เกินเลยเงื่อนไขปกติ


 


 


กกต.ปัดเลื่อนหวั่นติดฉลองปีใหม่


กรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระบุเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา ว่าอาจพิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ หากมีปัจจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  กล่าวว่า ยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์อะไรที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหากจะเลื่อนวันเลือกตั้งจากวันที่ 23 ธันวาคม เป็นวันที่ 30 ธันวาคมนั้น จะเกิดปัญหาไม่สะดวกในเรื่องการจัดเลี้ยงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อาจทำให้ไม่ถูกใจประชาชนได้ เพราะวันขึ้นปีใหม่ต้องมีการฉลอง ซึ่งอาจมีสุรามีงานเลี้ยง อาจจะไม่ถูกใจประชาชนได้


 


ส่วนกรณีที่เกรงว่าจะมีการปฏิวัติหลังการเลือกตั้งนั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า หาก กกต.จัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลางคิดว่าการปฏิวัติไม่น่าจะมีขึ้นอีกแล้ว และขณะนี้เป็นเรื่องไกลเกินไปที่จะคิด


 


ต่อข้อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของ กกต.ในบางจังหวัดว่าไม่เป็นกลางนั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่ กกต.ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการติดตามหัวคะแนนในพื้นที่ว่ามีพฤติการณ์อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องรู้เท่าทันนักการเมืองซึ่งการดำเนินการเป็นไปในทางลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้


 


 






ส.ส.สัดส่วน 8 เขตทั่วประเทศแบ่งออกมาแล้ว


นอกจากนี้รายงานข่าวจาก กกต.แจ้งว่า  ขณะนี้  กกต.ได้แบ่งพื้นที่  ส.ส.แบบสัดส่วนออกเป็น  8  เขตเรียบร้อยแล้ว  โดยคำนวณจากประชากรทั้งประเทศ  62,828,706  คน  ดังนั้นแต่ละกลุ่มจึงมีประชากรเฉลี่ยกลุ่มละ  7,853,589  คน  ทำให้  ส.ส.  1  คน  ดูแลประชากร  785,359  คน


 


โดยกลุ่มที่ 1 มีประชากรทั้งสิ้น  7,615,610  คน  ครอบคลุมพื้นที่  11  จังหวัด  ประกอบด้วย  แม่ฮ่องสอน  เชียงราย  เชียงใหม่  พะเยา  น่าน  แพร่  ลำปาง  ลำพูน  สุโขทัย  ตาก  และกำแพงเพชร


 


กลุ่มที่ 2 มีประชากรทั้งสิ้น 7,897,563  คน  ครอบคลุมพื้นที่  9  จังหวัด  ประกอบด้วย  อุตรดิตถ์  พิษณุโลก  พิจิตร  นครสวรรค์  อุทัยธานี  ลพบุรี  เพชรบูรณ์  ชัยภูมิ  และขอนแก่น


 


กลุ่มที่ 3 นั้นมีประชากร 7,959,163 คน  ครอบคลุมพื้นที่  10  จังหวัด  ประกอบด้วย  อำนาจเจริญ  มุกดาหาร  นครพนม  สกลนคร  กาฬสินธุ์  มหาสารคาม  หนองคาย  อุดรธานี  หนองบัวลำภู  และเลย


 


กลุ่มที่ 4  มีประชากร  7,992,434  คน  ครอบคลุมพื้นที่  6  จังหวัด  ประกอบด้วย  บุรีรัมย์  สุรินทร์  ศรีสะเกษ  อุบลราชธานี  ยโสธร  และร้อยเอ็ด


 


กลุ่มที่ 5 มีประชากร 7,818,710 คน ครอบคลุมพื้นที่  10  จังหวัด  ประกอบด้วย  สระแก้ว  นครราชสีมา  ปทุมธานี  นครนายก  ปราจีนบุรี  ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี  ระยอง  จันทบุรี  และตราด


 


กลุ่มที่ 6 มีประชากร  7,802,639  คน  ครอบคลุมพื้นที่  3  จังหวัด  ประกอบด้วย  กทม.  นนทบุรี  และสมุทรปราการ


 


กลุ่มที่ 7  มีประชากร  7,800,965  คน  ครอบคลุมพื้นที่  15  จังหวัด  ประกอบด้วย  ระนอง  ชุมพร  ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี  สมุทรสงคราม  สมุทรสาคร  นครปฐม  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  ชัยนาท  สิงห์บุรี  อ่างทอง  พระนครศรีอยุธยา  และสระบุรี


 


และกลุ่มที่ 8 นั้นมีประชากร  7,941,622  คน  ครอบคลุมพื้นที่  12  จังหวัด  ประกอบด้วย  นราธิวาส  ยะลา  ปัตตานี  สตูล  สงขลา  พัทลุง  ตรัง  กระบี่  นครศรีธรรมราช  ภูเก็ต  สุราษฎร์ธานี  และพังงา


 


มีรายงานอีกว่า การแบ่งพื้นที่  ส.ส.แบบสัดส่วนนี้ยังไม่ถือเป็นมติของ  กกต. เนื่องจากการแบ่งพื้นที่นั้นใช้หลักเกณฑ์การแบ่ง คือแบ่งพื้นที่ใกล้เคียงกันและพื้นที่กลุ่มประชากรใกล้เคียงกันให้เป็นกลุ่มเดียวกัน ทำให้ติดปัญหาในบางเขตพื้นที่ เช่น  กลุ่มที่  2  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดทางภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง  แต่มีจังหวัดชัยภูมิและขอนแก่นที่เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมอยู่ด้วย


 


ทั้งนี้  ในกลุ่มที่ 5 ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคตะวันออก แต่มีจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระแก้ว  เป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมอยู่ด้วย  ส่วนกลุ่มที่  7  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคกลาง  แต่มีจังหวัดระนองและชุมพร  ที่เป็นพื้นที่ภาคใต้รวมอยู่ด้วย


 


 


เร่งตั้งคณะกรรมรณรงค์เลือกตั้ง


ด้านนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นเลื่อนวันเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคมนี้ว่า ยังมองไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดจะเลื่อนวันเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนไว้แล้ว ดังนั้น เรื่องนี้ยุติได้แล้ว


 


นายธีรภัทร์ กล่าวภายหลังการเข้าพบนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีแนวนโยบายในการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ได้แก่ ผู้แทน กกต. สมาชิกสภานิติบัญญัติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)


 


อย่างไรก็ตาม นายกฯ ให้ปรึกษา กกต.เพื่อให้เป็นตัวหลักในการดำเนินการ ซึ่งจะพยายามทำให้ลงตัวเรียบร้อยภายในสัปดาห์นี้


 


นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย กล่าวในตอนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพแก่เจ้าหน้าที่ กกต.ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะรุนแรง เพราะบางแห่งยอมกันไม่ได้ ซึ่งฝ่ายสีเขียวไม่ยอมให้อำนาจเก่ากลับเข้ามาได้ เพราะหากกลับมาอาจจะถูกเช็คบิล ด้านกลุ่มสีแดงหากพลาดทรัพย์สินก็จะถูกยึดหมด โอกาสที่จะเกิดทางการเมืองก็ไม่มี ซึ่งขนาดอียูก็ยังจะเข้ามา



 


พปช. เตือนคนในบ้านเมืองระวังคำพูด กรณีโบ้ยอียูมาสังเกตการณ์เพราะอำนาจเก่า


ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคพลังประชาชน  แถลงข่าวถึงกรณีที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป  (อียู) จะขอเพียงเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า  กรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.)  ต้องแสดงท่าทีและตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร  แต่การที่นางสดศรีออกมาบอกว่า  หากอียูไม่รับรองผลการเลือกตั้ง  เกรงว่าอาจจะทำให้เกิดการปฏิวัติซ้ำนั้น  ตนว่าไม่เกี่ยวกับการปฏิวัติซ้ำ  แต่คงมีสาเหตุอื่นที่ลึกซึ้งกว่านี้


 


"ขอเรียกร้องนายกรัฐมนตรีว่า  อย่าพยายามเลื่อนวันเลือกตั้งโดยยกการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบก  (ผบ.ทบ.)  ขึ้นมาอ้าง"


 


นพ.สุรพงษ์กล่าวต่อว่า  หากมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้ตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมสังเกตการณ์ด้วย  เรามั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ  ต่อการเลือกตั้ง  ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเข้ามาของอียูนั้น ตรงนี้ขอเรียนว่าผู้ที่มีตำแหน่งฐานะในบ้านเมือง ที่ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในทางส่วนตัว ควรจะระวังคำพูด เพราะการตั้งข้อสังเกตเช่นนี้  จะทำให้เกิดความสับสนว่าอาจมีขั้วอำนาจเก่ากลับเข้าสู่การเลือกตั้ง


 


ที่มา : เรียบเรียงจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ไทยโพสต์ และคมชัดลึก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net