Skip to main content
sharethis

สส.เซีย พรรคก้าวไกล มั่นใจการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ

นายเซีย  จำปาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.67 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทต่อวัน เท่ากันทั่วประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ในช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.67 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่แรงงานอยากให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานก็ยังมีความกังวลว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ส่วนข้อกังวลว่าการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น จนอาจนำไปสู่การเลิกจ้างหรือลดจำนวนแรงงานลงได้นั้น นายเซีย กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วค่าจ้างขั้นต่ำเดิมวันละ 300 บาทนั้น แรงงานแทบจะไม่สามารถอยู่ได้ ส่วนตัวเห็นว่า ค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้น หากส่งผลกระทบภาครัฐก็จะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ต้องเข้าไปช่วยลดต้นทุนด้านอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2554 ที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาท เป็น 300 บาททั่วประเทศ ก็ไม่มีสถานประกอบการใดย้ายฐานการผลิตหรือยกเลิกกิจการ แต่ครั้งนี้เป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำบางจังหวัด 350-375 บาทต่อวัน เป็น 400 บาทต่อวัน ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อนายจ้างจนถึงขั้นปิดกิจการ

นายเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของแรงงาน เพราะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งผลสำรวจวิจัยที่ผ่านมาพบว่า รายได้ที่พอกับการใช้จ่ายควรอยู่ที่ 18,000 บาทต่อเดือน ขณะที่ ผลสำรวจข้อมูลของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2565 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และสามารถเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้ 2 คน อยู่ที่ 723-789 บาทต่อวัน ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงมีนโยบายเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 450 บาทต่อวัน ร่วมกันมาตรการช่วยเหลือแรงงาน อาทิ เงินอุดหนุนเด็ก การจัดรถรับส่ง และเงินบำนาญถ้วนหน้า เป็นต้น เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของแรงงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงให้สูง แต่ต้องมีมาตรการช่วยเหลือสวัสดิการแรงงานด้วย ถ้าประชาชนมีสวัสดิการ มีเงินอุดหนุนช่วยเหลือ ก็ไม่ต้องปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้สูง นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่รัฐควรให้ความสำคัญ คือ การให้ความช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจากสถานประกอบการปิดกิจการ ซึ่งขณะนี้มีหลายแห่งลอยแพลูกจ้าง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการในการกำกับดูแล และกระทรวงแรงงานต้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือแรงงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ กลุ่มไรเดอร์ ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนเข้าไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแบบผิดกฎหมาย ที่ผ่านมามีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ขึงเปิดช่องให้แรงงานบางส่วนใช้วิธีลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย ดังนั้น ตนขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปติดตามเรื่องดังกล่าวด้วย

ที่มา: สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา, 18/5/2567

กระทรวงแรงงานเร่งเยียวยามอบเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ให้ครอบครัวของ 2 แรงงานเสียชีวิตในอิสราเอล และส่ง 5 หน่วยแรงงานจังหวัดเยี่ยมครอบครัว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันในรัฐอิสราเอลเสียชีวิต จำนวน 2 รายว่า นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ

ได้รายงานว่าทางการอิสราเอลได้พิจารณาหลักฐานแวดล้อมที่เชื่อถือได้และลงมติว่า มีแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันเสียชีวิต 2 ราย ทราบชื่อคือ นายสนธยา อัครศรี และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งอยู่ในรายชื่อตัวประกันที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว 8 ราย เสียชีวิตแล้วเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

นายพิพัฒน์กล่าวเพิ่มเติมว่า นายสนธยา อัครศรี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.หนองบัวลำภู ทำงานอยู่ที่ Bee’ri กับนายจ้าง BITAN REUVEN ส่วนนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.หนองคาย ทำงานอยู่ที่ Bee’ri กับนายจ้าง LAVI ASHER

ในส่วนของสิทธิประโยชน์ที่ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายจะได้รับนั้น ประกอบด้วย

1. สิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีเสียชีวิต โดยทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ 40,000 บาท และเงินค่าจัดการศพในต่างประเทศ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท

ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลจากระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ของกรมการจัดหางานในเบื้องต้น พบว่า ยังคงอยู่ในความคุ้มครองของกองทุน

2. โครงการเยียวยา 50,000 บาท

3. เงินชดเชยสถาบันประกันภัยอิสราเอล กรณีเสียชีวิต โดยครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือ เป็นค่าทำศพ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 79,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการฝังศพ เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินประมาณ 47,000 บาท (1,300 USD)

4. เงินช่วยเหลือการเป็นม่าย ประมาณ 57,000 บาท เงินชดเชยรายเดือน และเงินชดเชยรายปี (จำนวนเงินตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันประกันภัยแห่งชาติกำหนด)

5. ติดตามเงินชดเชยเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง (ปิซูอิม) โดยฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ อยู่ระหว่างการติดตาม

6. เงินประกันสังคม (สปส.) ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทั้ง 2 ราย สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว แต่ยังมีเงินชราภาพอยู่ที่ประกันสังคม เป็นเงินบำเหน็จชราภาพที่คงเหลืออยู่ โดยนายสนธยา อัครศรี สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เมื่อปี 2558 มีเงินบำเหน็จชราภาพอยู่ที่ 7,301.68 บาท (ยังไม่รวมดอกผล) และนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน เมื่อปี 2559 มีเงินบำเหน็จชราภาพ 31,108.26 บาท (ยังไม่รวมดอกผล)

“ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย และขอส่งกำลังใจให้กับแรงงานท่านที่เหลืออีก 6 ราย ให้ได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ท่านไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ 5 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัด ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวผู้เสียชีวิตเรียบร้อยแล้ว ส่วนเงินช่วยเหลือของนายสนธยา อัครศรี ที่ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับประมาณการเป็นเงิน 320,301.68 บาท และของนายสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ทายาทผู้เสียชีวิตจะได้รับประมาณ 344,108.26 บาท

ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ที่ประเทศไทย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะเร่งติดตามสิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้แก่ทายาท ส่วนการดำเนินการติดตามสิทธิประโยชน์ที่อิสราเอล ฝ่ายแรงงานจะประสานกับสถานทูตและทางการอิสราเอล เพื่อให้ทายาทได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวโดยเร็วต่อไป”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 17/5/2567

เผยตัวประกันไทยในกาซาเสียชีวิต 2 ราย

17 พ.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ X แสดงความเสียใจกรณีการเสียชีวิตของตัวประกันชาวไทยสองรายในกาซาว่า

"ผมรู้สึกเสียใจอย่างยิ่งครับที่ได้รับรายงานการเสียชีวิตของตัวประกันชาวไทยสองรายในกาซา ได้แก่ คุณสนธยา อัครศรี และคุณสุทธิศักดิ์ รินทลักษ์ ซึ่งทางการอิสราเอลเพิ่งพบหลักฐานยืนยัน ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้งสองท่าน และผมได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ครับ"

ที่มา: MCOT News FM 100.5, 17/5/2567

ฟินแลนด์เคาะมาตรการใหม่ แรงงานไทยเก็บเบอร์รี่ปีหน้า ต้องมีสถานะเป็นพนักงานบริษัท

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวสถานการณ์เกี่ยวกับแรงงานเก็บเบอร์รี่ที่ประเทศฟินแลนด์ว่าเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการระดับรัฐมนตรีของฟินแลนด์ว่าด้วยการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการได้สรุปการเปลี่ยนแปลงตามแผนงานในกฎหมายแรงงานตามฤดูกาลที่ควบคุมเรื่องแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าจากต่างประเทศ โดยสรุปเนื้อหาว่าในอนาคตแรงงานเก็บเบอร์ที่มาที่ประเทศฟินแลนด์ควรมาด้วยสัญญาจ้างงานตามฤดูกาล

รัฐบาลฟินแลนด์ระบุว่าจะตั้งเป้าให้มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบให้ทันก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวปี 2568 ซึ่งจะเป็นการเก็บเกี่ยวผลไม้เนื้ออ่อน อาทิ บิลเบอร์รี่ คลาวด์เบอร์รี่ และลิงกอนเบอร์รี่

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทเบอร์รี่พึ่งพาแรงงานเก็บผลไม้ที่ได้รับคัดเลือกจากประเทศไทย จนกระทั่งปีที่แล้วแรงงานเหล่านี้เข้าฟินแลนด์ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวซึ่งอนุญาตให้พวกเขาอยู่ในประเทศฟินแลนด์และเก็บผลเบอร์รี่ได้นานถึงสามเดือน

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับรายได้และสภาพการทำงานของแรงงานเก็บเบอร์รี่จากต่างชาติ ตลอดจนข้อสงสัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์

นาย Arto Satonen รัฐมนตรีกระทรวงการจ้างงานของฟินแลนด์กล่าวในเอกสารแถลงข่าวว่าในอนาคตแรงงานเก็บเบอร์รี่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในฟินแลนด์ด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวอีกต่อไป บริษัทในฟินแลนด์จะต้องจ้างแรงงานเหล่านี้ในฐานะพนักงานแทน หรือไม่แรงงานเหล่านี้ก็จะต้องมีสถานะเป็นผู้ประกอบการ

สำหรับฤดูร้อนที่จะถึงนี้ บริษัทเกี่ยวกับเบอร์รี่ป่าอาจจะสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้เมื่อพวกเขามาถึงยังฟินแลนด์แล้ว โดยแรงงานเหล่านี้จะต้องมีใบอนุญาตผู้พํานักตามการจ้างงานประกอบกันด้วย ซึ่งมาตรการที่ว่านี้มีผลใช้บังคับแล้วสำหรับแรงงานที่มีเก็บผลเบอร์รี่อื่นๆจากฟาร์ม เช่นสตอเบอร์รี่เป็นต้น

รัฐบาลฟินแลนด์ยังวางแผนที่จะปรับปรุงสถานะของแรงงานเก็บเบอร์รี่จากต่างชาติโดยการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานตามฤดูกาล

นาย Satonen กล่าวต่อไปว่าจําเป็นต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนสําหรับการเข้ามาของแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่า ความสัมพันธ์ในการจ้างงานตามสัญญาช่วยให้แรงงานเก็บเบอร์รี่ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวและยังเป็นสิ่งยืนยันว่าจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังทําให้ง่ายต่อการตรวจสอบว่าสิทธิเหล่านี้ที่แรงงานจะได้รับเป็นจริง นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญสําหรับภาคธุรกิจเบอร์รี่และจะสร้างความท้าทายเช่นกัน โดยบริษัทต้องดำเนินการต่ออายุด้วยการทำตามระเบียบที่ว่านี้ให้ได้

โดยการจัดเตรียมเหล่านี้เป็นแผนงานสําหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวปี 2568 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดระเบียบราชการ และลดค่าธรรมเนียมให้น้อยลงกว่าค่าธรรมเนียมซึ่งใช้ในการเดินเรื่องเพื่อจัดเตรียมใบอนุญาตมีถิ่นที่อยู่ในฟินแลนด์

ทางด้านสำนักข่าวในฟินแลนด์รายงานข่าวต่อไปว่าในอนาคตผู้เก็บเกี่ยวเบอร์รี่จากต่างประเทศสามารถมาที่ฟินแลนด์ในฐานะผู้ประกอบการได้หากพวกเขามีคุณสมบัติตรงตามข้อกําหนดสําหรับใบอนุญาตผู้พํานักของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตามสิ่งนี้อาจเป็นเรื่องยากสําหรับแรงงานเก็บเกี่ยวชาวไทยส่วนใหญ่เนื่องจากทักษะทางภาษาและข้อกําหนดอื่น ๆ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 17/5/2567

ส.ส.ตราด ลงพื้นที่ตรวจ รับทราบปัญหาแรงงานต่างด้าวเก็บผลไม้ ชี้ข้ามเขตไม่ได้ จ่อหารือกมธ.เกษตรแก้ปัญหา

ที่สวนเงาะของนายวุฒิพงษ์ รัตนมนต์ ประธานกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์ผลไม้จังหวัดตราด นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราดในฐานะประธาน กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมารับทราบปัญหาจากผู้ใช้แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่เดินทางมาเก็บผลไม้ในจังหวัดตราด

นายศักดินัย นุ่มหนู ได้เดินสำรวจการเก็บผลเงาะในสวนที่มีต้นเงาะกว่าพันต้น และกำลังสุกผลสีแดงเต็มต้น และมีแรงงานทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชากำลังปีนต้นเก็บผลเงาะจำนวนกว่า 30-40 คน พร้อมบรรจุลงในตะกร้าเตรียมไว้เพื่อขนส่งไปจำหน่ายยังประเทศเวียตนามโดยผ่านการขนส่งทางบกเพื่อนไปยังจังหวัดนครพนมที่มีชายแดนติดกับประเทศลาว และจะมีพ่อค้านำไปจำหน่ายยังประเทศเวียดนามต่อไป

นายศักดินัย ได้สอบถามแรงงานกัมพูชาถึงการเดินทางมาจังหวัดตราดได้อย่างไร นายวิดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มแรงงานได้ให้ข้อมมูลว่า ทุกคนเดินทางเข้ามาจากจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยมีการเดินทางมาอย่างถูกต้อง และต้องใช้เงินกว่า 4,000 บาทในการทำเอกสารและชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ จากนั้น นายหน้าได้พาเดินทางมาทำงานในจังหวัดตราด เพื่อเก็บผลไม้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เดินทางมาทุกปี และมีรายได้ดี รวมทั้งงานไม่หนัก อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาทำงานที่จังหวัดตราดจะต้องเสียเงินให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะเดินทางข้ามมาทำที่จังหวัดตราด โดยจะเสียคนละ 500 บาท/เดือน

นายศักดินัย กล่าวว่า การเดินทางเข้ามาทำงานขอลแรงงานกัมพูชาจะเข้ามาได้ตามมาตรา 64 แต่ต้องอยู่ในพื้นที่ จะออกมาข้ามจังหวัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องนี้ จะนำไปเสนอในที่ประชุมคณะกมธ.การเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาข้อสรุปและนำเสนอกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงานและรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เนื่องจากงานประเภทนี้คนไทยไม่ทำแล้ว และหากไม่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรในช่วงออกผลมาก ซึ่งจะเกิดผลกระทบในระยะยาวและผลผลิตที่ได้มาจะเสียหายจนเกษตรกรรับภาระไม่ได้

นายวุฒิพงษ์ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า วันนี้ตลาดเงาะของจังหวัดตราดกำลังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากประเทศเวียดนามมีความต้องการสูง โดยผลผลิตเงาะของจังหวัดตราดมีมากถึง 100,000 ตัน และราคาอยู่ระหว่าง 10-20 บาท/กก. ซึ่งจังหวัดตราดจะมีรายได้ไม่ต่ำว่า 1 พันล้านบาท แต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตจำเป็นต้องเร่งเก็บเกี่ยวเพราะหากเงาะสุกแล้วจะเก็บไว้ได้ไม่นานผลจะเสีย หากจะอยู่บนต้นก็จะสุกและร่วงหล่นมาหากไม่สามารถเก็บได้ทัน ทำให้จำเป็นต้องมีแรงงานที่จะเข้ามาเก็บ แต่ทุกวันนี้ต้องนำแรงงานมาจากจังหวัดอื่นๆและเกิดปัญหาในเรื่องแรงงานต่สงด้าวข้ามจังหวัดจึงอยากให้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่ง ส.ส.ตราดได้รับเรื่องนี้เพื่อดำเนินการเสนอให้รัฐบาลแก้ไขต่อไป

ในส่วนแรงงานกัมพูชา ชื่อนายพง สุ วา อายุ 30 ปี (พูดไทยได้ชัดเจน) ที่เดินทางมาจากจังหวัดบันเตียเมียนเจย กล่าวว่า เดินทางเข้าเมืองอย่างถูกต้องโดยมีนายหน้าทำเอกสารให้ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายให้ 4-5 พันบาท และเข้ามาทำงานใน จ.ตราดวันแรก กำลังหาที่พักและเก็บผลไม้ ซึ่งเป็นงานที่ไม่หนักมีรายได้ดี เดือนละกว่า 1 หมื่นบาท โดย 1 ปี จะเข้ามาทำงาน 2-3 เดือนก็จะกลับบ้าน

แรงงานหญิงอีกคน อายุเพียง 17 ปี ชื่อ เจด ดา บอกว่า มาจากเสียมเรียบ และเข้ามาอย่างถูกต้องที่มาที่จังหวัดตราดเพราะมาเป็นกลุ่มและมาเป็นครอบครัว ที่กัมพูชาไม่มีงานทำ มาทำงานที่ตราดรายได้ดี และงานไม่หนัก และวันนี้เพิ่งมาเป็นวันแรก และลำไยก็ดกด้วย ส่วนเก็บเงาะก็เป็นงานสบาย อยู่ไทยแล้วมีความสุข มีรายได้ มีงานทำ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/5/2567

ผู้ประกอบการโรงแรมชี้ปัญหาแรงงาน วันละ400 ทางออกจะต้องปลดพนักงาน

นายสุรัตน์ เมฆะวรากุล ผู้บริหารเคป ดารา รีสอร์ท พัทยา เจ้าของเครือไมค์ชอปปิ้งมอลล์ พัทยา กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลจะขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 400 บาทนั้น หากกล่าวไปแล้ว สถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่เมืองพัทยาจะมีการจ้างแรงงานเกินกว่า 400 บาทอยู่แล้ว รวมทั้งค่าอาหาร และที่พัก การที่รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงงาน จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า หรือผู้ประกอบการไม่แข็งแรงจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานโดยตรง เนื่องจากนายจ้างไม่สามารถอยู่ได้ก็จะปลดแรงงาน ก็จะเกิดความเดือดร้อนไปทั่วโดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวไม่มีรายได้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นมา

นายสุรัตน์ กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงงานนั้น ควรที่จะทำเป็นขั้นตอน เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ โดยคิดคำนวณรายได้ของผู้ประกอบการด้วย ไม่ใช่นำนโยบายหาเสียงมาใช้ ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมา เมื่อมีการประกาศขึ้นค่าแรงงาน ปรากฏว่าสินค้าขึ้นไปรอแล้ว สร้างความเดือดร้อนกับประชาชนอย่างมากมาย

“ในความเป็นจริงรัฐบาลควรหันมามองในเรื่องการลดค่าพลังงาน เพราะเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ มั่นใจว่าหากมีการลดในเรื่องค่าพลังงาน สิ่งที่ตามมาประชาชนอยู่ได้ เพราะทุกวันนี้ข้าวของแพงไปหมดก็มาจากพลังงานที่แพงขึ้น” นายสุรัตน์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 16/5/2567

3 กระทรวงสหรัฐฯ เสนอถอดกุ้งไทยจากสินค้าเฝ้าระวัง เหตุเชื่อได้ว่ายุติการใช้แรงงานเด็กแล้ว

กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มเดินหน้าผลักดันการแก้ไขข้อกำหนดว่าด้วยกรณีที่มีการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในภาคส่วนอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย

ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา อุตสาหกรรมกุ้งไทยถูกกำหนดให้อยู่ในประเภทสินค้าที่มีการใช้แรงงานเด็กหรือว่าการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งข้อกำหนดนี้ส่งผลทำให้ผู้นำเข้ากุ้งต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเพิ่มเติมอยู่หลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือว่าการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นกับกรณีกุ้งที่ถูกสั่งซื้อมาจากประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 10 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้มีการประกาศขึ้นบนเว็บไซต์ Federal Register เสนอให้นำผลิตภัณฑ์กุ้งจากประเทศไทยออกจากข้อกำหนดดังกล่าวนี้ พร้อมกับทางกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงความมั่นคงมาตุภูมิสหรัฐฯ โดยมีการระบุว่าการบังคับใช้แรงงานเด็กในไทยดูเหมือนว่าจะลดลงอย่างมาก

“จากข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างๆ ทั้งสามหน่วยงานได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่ถูกบังคับหรือผูกมัดในการผลิตกุ้งที่ประเทศไทย" กระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุ

อนึ่งก่อนหน้านี้เคยมีรายงานข่าวสืบสวนบนหน้าข่าวสำนักข่าวเอพี ซึ่งรายงานนี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ระบุว่าพบว่ามีกรณีการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เหมาะสม โดยระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กในการทำหน้าที่แกะเปลือกกุ้งขนาดเล็ก และไม่มีการควบคุมในประเทศไทย

“เด็กข้ามชาติเหล่านี้มีร่วมอยู่ในกระบวนการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งหลังจากที่ทางนานาชาติได้ให้ความสำคัญและดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทย ทางรัฐบาลไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆได้พยายามอย่างมากในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับใช้แรงงานเด็ก ทั่งทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลรวมไปถึงในภาคส่วนเกี่ยวกับการแกะเปลือกกุ้ง” ประกาศกระทรวงแรงงานสหรัฐฯระบุ

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลกลุ่มที่ทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group) ระบุว่าแม้ว่าในปี 2565 รัฐบาลไทยจะให้สิทธิตามกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ และใช้มาตรการต่อต้านการค้ามนุษย์ที่มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างการระบุตัวผู้รอดชีวิตจากการบังคับใช้แรงงาน แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีในการทําให้นโยบายเหล่านั้นมีประสิทธิภาพ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 15/5/2567

กมธ.แรงงาน รับเรื่อง ตัวแทนลูกจ้างได้รับผลกระทบถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย

นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ประธานคณะกมธ. การแรงงาน พร้อมด้วย นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะ กมธ. คนที่สาม รับยื่นหนังสือจาก น.ส.วิไล ประกอบศรี ตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และคณะ เรื่อง ร้องเรียนปัญหาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ไม่ได้ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย จากนั้น เวลา 10.20 น. นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายเซีย จำปาทอง พร้อมด้วย น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือดังกล่าวจาก น.ส.วิไล ประกอบศรี ตัวแทนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน และคณะ

เนื่องด้วยบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี มีนายจ้างเป็นชาวต่างชาติ ได้เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 51 คน โดยลูกจ้างได้ไปร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปทุมธานี และเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 67 ได้มีการออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยตามกฎหมายให้แก่ลูกจ้างทั้งหมด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,817,386 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 บาทต่อปี นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด จนชำระเสร็จสิ้น

ขณะเดียวกัน ลูกจ้างทั้งหมดได้ยื่นขอใช้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ยื่นคำร้องผ่านพนักงานตรวจแรงงาน จ.ปทุมธานีอีกด้วย แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินจากนายจ้าง และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอให้คณะ กมธ. หาแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับเงินตามสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งเงินสงเคราะลูกจ้างด้วย

ด้านนายสฤษฏ์พงษ์ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ยินดีต้อนรับคณะทุกคนกรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งเลิกจ้างไม่ได้จ่ายค่าแรงให้แก่ลูกจ้างนั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ จะกลั่นกรองนายจ้างที่เป็นชาวต่างชาติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม คณะกมธ. จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาสอบถามข้อเท็จจริง ส่วนการชดเชยหรือเยียวยาต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน คณะกมธ.ให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนภาคแรงงาน และจะพยายามหาแนวทางช่วยเหลือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นต่อไป

ขณะ นายเซีย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีลูกจ้างจากหลายโรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างได้เดินทางมายื่นหนังสือกับคณะ กมธ. เพื่อขอให้ช่วยเหลือติดตามให้นายจ้างนำเงินมาจ่ายให้กับลูกจ้าง ตนเข้าใจในความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่มายื่นหนังสือในวันนี้เป็นอย่างดี เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ. 67 จนถึงตอนนี้ลูกจ้างยังไม่ได้รับเงินค่าจ้าง และเงินชดเชยใด ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างนั้นตนเข้าใจเป็นอย่างดีเพราะว่าเคยมีประสบการณ์จากการอยู่ในกระบวนการแรงงานมาหลายสิบปี

วันนี้อยากจะบอกกล่าวกับแรงงานว่า ตนจะพยายามหาช่องทางในการประสานงานช่วยเหลือแรงงาน โดยในเบื้องต้นจะขอให้รัฐบาลอนุมัติจ่ายเงินสงเคราะห์ลูกจ้างให้กับลูกจ้างก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนเรื่องการติดตามเงินค่าชดเชยนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องติดตามและเร่งรัดให้นายจ้างมารับผิดชอบ

ตนในฐานะที่เป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเต็มความสามารถ พร้อมทั้งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่อไป และในฐานะรองประธานคณะ กมธ. แรงงาน จะใช้กลไกการทำงานของคณะกมธ. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องแรงงานต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 15/5/2567

เผยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศคาดประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เดือน ก.ย.-ต.ค. 2567

14 พ.ค. 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาท ทั่วประเทศ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการค่าจ้างได้ดำเนินการ ดังนี้

(1) กำหนดให้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2567

(2) กำหนดให้มีการประชุมหารือผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเดือน พ.ค. 2567

(3) สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณากรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเพื่อให้การประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเดือน พ.ค.-ส.ค. 2567

(4) สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างเสนอคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัดและคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อทบทวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 และเสนอประกาศ คณะกรรมการค่าจ้าง เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ เดือน ก.ย.-ต.ค. 2567

ที่มา: เว็บไซต์รัฐบาลไทย, 14/5/2567

สภาองค์การนายจ้าง ยื่น ก.แรงงาน คัดค้าน ขึ้นค่าแรง 400 ทั่วประเทศ ยันเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน

ที่กระทรวงแรงงาน ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาองค์การนายจ้างทั้ง 16 สภาองค์การนายจ้าง ยื่นหนังสื่อถึง นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 เพื่อคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการยื่นหนังสือก่อนการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 5/2567

ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่า ด้วยสภาพของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังอยู่ในช่วงเปราะบาง เงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อน ขีดความสามารถในเชิงการแข่งขันด้อยลงไปเรื่อยๆ และเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ไม่พร้อมในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศแน่นอน โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นอกจากนั้นยังมีเรื่องต้นทุน ค่าพลังงาน มีการปรับตัวขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องดูแลจุดนี้ด้วย

“เราเห็นด้วยที่จะขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งทุกอุตสาหกรรมมีแรงงานทักษะอยู่แล้ว และสนับสนุนให้เอสเอ็มอีปรับมาจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือแรงงานเหมือนอย่างอุตสาหกรรมใหญ่ๆ แต่อาจจะมีความต่างกันในเรื่องของอัตราการจ้างงานที่จะต้องสอดคล้องกับกำไรและขนาดของธุรกิจนั้น” ดร.เนาวรัตน์กล่าวและว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จึงต้องมองความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก

เมื่อถามถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ค่าจ้าง 400 บาท เป็นค่าแรงแรกเข้า แต่ไม่ใช่ค่าแรงของพนักงานที่อยู่นานที่มีการปรับค่าแรงขึ้นตามศักยภาพ ดังนั้น เมื่อค่าแรงแรกเข้าเพิ่มเป็น 400 บาท คนที่อยู่ก่อนก็ต้องปรับตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

“ปีนี้ปรับขึ้นมา 2 รอบแล้ว แล้วยังจะมาขึ้นอีกครั้งวันที่ 1 ต.ค. เราคิดว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม” ดร.เนาวรัตน์กล่าวและว่า โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ขณะที่เงินฝืดแบบนี้ ถ้าขึ้นค่าจ้างแต่รายรับของธุรกิจไม่เพิ่มเท่ารายจ่าย เมื่อเขาอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไป

ส่วนรัฐบาลควรประกาศปรับขึ้นค่าจ้างล่วงหน้ากี่เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ต้องใช้เวลา แต่จริงๆ การปรับค่าแรงทุกประเทศ ปรับเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่เราขึ้นไปถึง 2 ครั้งในปีเดียว เมื่อถามต่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งที่ 3 ถือว่ากระทรวงแรงงาน กระทำผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า ก็พูดได้เหมือนกัน ในส่วนของมาตรา 87 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ

เมื่อถามว่าจะถึงขั้นคาดโทษรมว.แรงงานหรือไม่ ดร.เนาวรัตน์กล่าวว่า คงเป็นแบบนั้นไม่ได้ เพราะท่านทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่บางอย่างควรทำตามกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่กระทรวงฯ มีอยู่แล้ว

“จริงๆ แล้ว เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ตามมาตรา 87 กำหนดให้มีการตั้งบอร์ดค่าจ้างฯ ที่เป็นองค์กรอิสระ ให้พิจารณาค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงแรงงาน เป็นคนแต่งตั้งขึ้นมา ก็ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลต่างที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ไม่งั้นคุณจะตั้งเขาไว้ทำไม คุณก็ล้มเขาไปเลย” ดร.เนาวรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอตามหนังสือที่มีการยื่นในวันนี้ ประกอบด้วย 1.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้หลักการตามกฎหมายโดยยึดแนวปฏิบัติจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในแต่ละจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ 2.ในการพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ

ดังนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill เพื่อส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน 3.การพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของในแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และ 4.นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ให้แก่ภาคแรงงานในขั้นพื้นฐาน เช่น ในการจัดหา จัดซื้อ สินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกลงอีกด้วย

นอกจากนี้ สภาองค์การนายจ้าง จะมีการนำหนังสือ คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทพร้อมกันทั่วประเทศเสนอต่อรัฐมนตีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย โดยสภาองค์การนายจ้าง 16 สภาองค์การนายจ้าง ประกอบด้วย

1.สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (สภา1)

2.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) (สภา2)

3.สภาองค์การนายจ้างสภาอุตสาหกรรมเอ็สเอ็มอี แห่งประเทศไทย (สภา3)

4.สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค (สภา4)

5.สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ (สภา5)

6.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย (สภา6)

7.สภาองค์การนายจ้างไทยสากล (สภา7)

8.สภาองค์การนายจ้างการเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย (สภา8)

9.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจ การค้าและบริการไทย (สภา9)

10.สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย (สภา10)

11.สภาองค์การนายจ้างไทย (สภา11)

12.สภาองค์การนายจ้าง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สภา12)

13.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหการไทย (สภา13)

14.สภาองค์การนายจ้าง เอส.เอ็ม.อี แห่งประเทศไทย (สภา14)

15.สภาองค์การนายจ้างบริการไทย (สภา 15)

16.สภาองค์การนายจ้างธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว-ภาค 8 (สภา16)

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 14/5/2567

95 สมาคมการค้า-หอการค้าทั่วประเทศ ตบเท้ายื่นค้านขึ้นค่าแรง

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ กรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน พร้อมด้วยผู้แทนหอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นประเด็นผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า หอการค้าไทย และสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นมากกว่า 95 สมาคม ได้ยื่นหนังสือคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศต่อ รมว.แรงงาน และยังสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

นอกจากนี้ได้เสนอนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล คือ การยกระดับรายได้ลูกจ้างให้สูงขึ้น ทำได้โดยกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้แล้วเช่นกัน, ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกทั้ง ปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 67 ไปแล้ว 2 ครั้ง จึงไม่ควรมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีเป็นครั้งที่ 3

ทั้งนี้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ แต่การปรับอัตราค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงาน ให้ความสำคัญกับการอัพสกิล รีสกิล นิว สกิล เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจก่อนปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ดังกล่าว ซึ่งรมว.แรงงาน จะรับข้อคิดเห็นของภาคเอกชนไปพิจารณาหารือกับ ครม.ต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 13/5/2567

แรงงาน เรียกร้องก่อนเปิดประชุมนายจ้าง พร้อมให้กำลังใจ ‘พิพัฒน์’ หนุนค่าแรง 400 บาท

เมื่อเวลา 08.30 น. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ที่กระทรวงแรงงาน สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำโดย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. เข้าส่งหนังสือร้องเรียนถึงนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมแสดงสัญลักษณ์ในการ “สนับสนุนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่เท่ากันทั้งประเทศ”

โดยมีการนำสาธารณูปโภคและป้ายราคามาติดไว้ เช่น ครก สากกะเบือ ราคา 400 บาท น้ำมัน 90 บาท ไข่ไก่ 45 บาท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 7 บาท ผัก 20 บาท และติดป้าย “แพง” ไว้ด้วย พร้อมทั้งเซ็นชื่อกำกับลงบนครก เพื่อการันตีว่าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท

นายสาวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่า สสรท.ได้มีความพยายามขับเคลื่อนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ที่ผ่านมาได้มีการเสนอตัวเลขหลายตัวที่ได้มาจากการสำรวจทั่วประเทศ สูงสุดที่เคยเสนอคือ 712 บาท ดูแล้วเหมือนจะไปลำบากก็เลยปรับมาที่ 492 บาท ซึ่งเป็นการเสนอเชิงประนีประนอมแต่สิ่งที่เราต้องการที่สุดคือ ต้องการให้อัตราค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ

“วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ประกาศบนเวทีเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ประกาศว่า 400 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่ายินดี เพราะราคาสินค้าเท่ากันทั่วประเทศ ชีวิตของประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผูกพันอยู่กับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งทั่วประเทศก็มีอยู่หลายค่าย รวม 3-4 หมื่นร้าน ส่วนร้านโชห่วยเล็กๆ ก็ปิดหมดแล้ว ซึ่งราคาสินค้าทั่วประเทศตามที่เราได้สำรวจไป ในสินค้าชนิดเดียวกัน โดยให้พี่น้องแรงงานทั่วประเทศซื้อมาแล้วส่งใบเสร็จมาที่เรา ปรากฏว่าราคาเท่ากันทั้งประเทศ ฉะนั้น จะไม่มีเหตุผลที่จะทำให้อัตราค่าจ้างต่างกัน เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำ จะทำให้แรงงานที่อยู่ในชนบท อพยพเข้าสู่เขตค่าจ้างที่สูงกว่า ก็จะทำให้ชนบทแทบไม่มีแรงงานหนุ่มสาว ดังนั้น ถ้าค่าจ้างเท่าเทียมกัน และมีการสร้างระบบความปลอดภัยสิ่งแวดล้อมให้ดี เราก็ทำให้ประเทศทั้งหมดเจริญไปด้วยกันได้” นายสาวิทย์กล่าว

นายสาวิทย์กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากเรื่องของการปรับขึ้นค่าจ้างแล้ว เราก็เสนอว่าให้มีการควบคุมราคาสินค้า เพราะถ้าคนงานไม่เรียกร้องขึ้นค่าจ้างแล้วชีวิตคนงานจะอยู่อย่างไร ซึ่งเมื่อปรับขึ้นแล้วกลุ่มทุนก็อาจจะกำไรลดลงแต่ไม่ถึงขั้นล้มละลาย ตนจึงอยากขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่ออกมาคัดค้าน ซึ่งเชื่อว่าการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท จะเกิดประโยชน์ให้กับประเทศ และยังสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างยั่งยืน เพราะคนงานส่วนใหญ่ได้เงินมาก็ซื้อหมด ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานข้ามชาติ ต่างต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งจะสร้างการหมุนเวียนเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างยั่งยืนด้วย

ถามว่ามีความกังวลว่าเมื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทแล้วผู้ได้รับประโยชน์จะเป็นแรงงานข้ามชาติมากกว่าแรงงานไทย นายสาวิทย์กล่าวว่า สถิติตัวเลขแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมีเพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น แต่คนทำงานไทยมีถึง 41 ล้านคน และยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่กินค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้น สสรท.และ สรส. จึงได้มาเรียกร้อง พร้อมขอให้มีการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และมีการปรับขึ้นค่าจ้างตามโครงสร้างสถานประกอบการ

ด้าน นายพิพัฒน์กล่าวว่า ยืนยันถึงเจตนารมณ์ในการปรับค่าจ้าง 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ต้องเข้าใจว่ามันจะปรับค่าแรง 400 ทั่วประเทศไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ตามที่คิดและตั้งใจทั้งหมด แต่ก็จะเดินหน้าไปพร้อมกันตนและปลัดกระทรวง ข้าราชการจะสู้เพื่อชาวแรงงานอย่างเต็มที่ เพราะมีการปรับค่าจ้าง 300 บาทตั้งแต่ปี 2554 ผ่านมากกว่า 10 ปี วันนี้ค่าจ้างยังก้าวไปไม่ถึง 400 บาท นายกรัฐมนตรีไม่ให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณากับค่าจ้างซึ่งได้มีการหารือกันแล้วคิดว่าถึงเวลาที่ต้องปรับ 400 บาท เพื่อเป็นก้าวแรกก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างในอัตรา 600 บาท ในปี 2570 โดยกระทรวงพาณิชย์จะต้องช่วยควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นเมื่อมีการปรับค่าจ้าง ส่วนกระทรวงแรงงานจะหารือสภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ และ sme เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ ด้านภาษี และการอัพสกิล รีสกิล ให้กลุ่มลูกจ้าง โดยยืนยันจะทำให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับมอบหมาย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/5/2567 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net