Skip to main content
sharethis

สมศรี หาญอนันทสุข      


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า


 


เมื่อวันออกพรรษาได้มาถึงแล้ว หลายคนจดจ่อว่าพระสงฆ์รูปใดในประเทศพม่าจะคว่ำบาตรไม่รับการทอดกฐิน หรือ Ka Htein  ที่ทหาร หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าทอดถวายให้หรือไม่ หากยังมีการคว่ำบาตร (Patta nikkuzana kamma) ไม่รับกฐินหรือไม่รับการใส่บาตรกันอีก คงต้องถามกันว่าจะมีการปะทะกันอีกครั้งหรือเปล่า   จากการพูดคุยของผู้หลบหนีภัยการเมืองที่ชายแดนไทยพม่าของสหพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือ FIDH และสหพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ หรือ ITUC ทำให้ทราบว่า การตื่นตัวของประชาชนและพระสงฆ์เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา  มีที่มาจากหลายเหตุประกอบกัน ทั้งจากความกดดันที่มีความไม่พอใจที่ผู้นำ คือนาย มิงโกนาย (Min Ko Naing) และพวกถูกจับ กดดันจากเจ้าหน้าที่ของพม่าทุบตีพระสงฆ์ที่เมืองพะโค และที่ร่างกุ้ง ความเคียดแค้นระบอบการปกครองของพม่าที่มีมานาน วันปราบผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อวันที่ 26 -27 กันยายน เป็นวันที่คนพม่าทุกคนต้องจำไปอีกนานแสนนาน


 


หลายคนที่หนีมาชายแดนไทยต่างไม่รู้จักกันมาก่อน มีทั้งพระสงฆ์ นักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย  คนขายผัก  พ่อค้า  กวี  ผู้ใช้แรงงาน และข้าราชการที่เป็นปฏิปักษ์กับทหาร  คนเหล่านี้ต่างต้องการให้ รัฐบาลทหารพิจารณาข้อเรียกร้อง 4 ข้อที่ยังฝังใจอยู่จนขณะนี้  ข้อเรียกร้องเหล่านั้นคือ 1. ขอให้ขอโทษพระสงฆ์ซึ่งคนพม่าถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่คนเคารพบูชา มิควรที่ผู้ใดจะมาบังคับขู่เข็ญทุบตีและฆ่า 2. ให้ลดราคาสินค้าและน้ำมันเพื่อให้มีเงินเหลือเพียงพอที่จะทำให้ฆราวาสสามารถจุนเจือให้วัดและพระสงฆ์สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันตามปกติ และสามารถศึกษาธรรมะโดยไม่ต้องกังวลถึงความทุกข์ยากของฆราวาส   3. ปล่อยนางอองซานซูจีและนักโทษการเมืองทั้งหมด  เพื่อเปิดทางไปสู่ข้อ 4. คือเปิดให้มีการเจรจาระหว่างทหาร  พรรคเอ็นแอลดี และผู้นำชนชาติกลุ่มต่างๆ


 


"การควบคุมพระนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีมานานแล้ว การเริ่มต้นชุมนุมเมื่อเดือนสิงหาคม อาตมาไม่ได้ถูกยุยงจากพรรคของนางอองซานซูจี และไม่รู้ว่าต่างประเทศมีการรณรงค์อะไร แต่อาตมาเห็นความยากลำบากในพม่าและเห็นใจญาติโยมอย่างมาก โดยปกติพระสงฆ์พม่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและมีความเคร่งครัดทางธรรมมาก  การคว่ำบาตรตั้งแต่วันที่18 กันยายน ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากของสังคมพม่า วันนั้นอาตมาไม่ได้เรียกร้องทางการเมืองแต่เรียกร้องความเมตตากรุณา การที่พระสงฆ์ถูกยิง ถูกตีและถูกจับกุม โดยไม่ทราบว่าจับพระเหล่านั้นไปไหนทำให้คนพม่าจำนวนมากไม่พอใจ ขณะนี้มีคำสั่งให้วัดต่างๆไม่รับพระที่มาเยือนจากที่อื่นเข้าพักที่วัด"พระรูปหนึ่งกล่าว


 


ตามประเพณีของพม่า ผู้ต้องการเป็นภิกษุ ต้องบวชเป็นสามเณรระยะหนึ่งก่อนที่จะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์  โดยการเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์  ซึ่งต้องสอบเข้าเพราะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และต้องเซ็นสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง    กฎ ระเบียบของนักศึกษาถูกกำหนดไม่ต่างจากข้าราชการมากนัก จากปากคำของอดีตข้าราชการหนุ่มที่หนีมาและไม่อาจกลับไปรับราชการได้อีกต่อไปบอกว่า


 


"ผมเป็นข้าราชการที่ไปร่วมชุมนุมและถูกติดตาม ผมเป็นผู้จัดให้พระสงฆ์ 700 รูปเดินผ่านพรรคเอ็นแอลดีของนางซูจี เราเริ่มขบวนที่หน้าเจดีย์ชเวดากอง ในวันนั้นทหารเอาลวดหนามไปล้อมเจดีย์เพื่อหวังจับพระสงฆ์ประมาณ 1000 รูปที่สวดอยู่ที่นั่นและแยกพระออกจากฆราวาส ปกติทุกคนต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นไปบริเวณเจดีย์ แต่เราเห็นพวกทหารเดินขึ้นไปโดยไม่ยอมถอดรองเท้า สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนมาก  พระส่วนใหญ่ที่ไปร่วมชุมนุมเป็นพระหนุ่ม  ผม เห็นพระประมาณ 50 รูปถูกตีอย่างรุนแรงและถูกยิง จึงตะโกนให้ทหารหยุดและใช้สันติวิธี  พอมีการยิงแก๊สน้ำตา ผมมองไม่เห็นว่าทหารยิงปืนขึ้นฟ้าหรือยิงเข้าฝูงชน" ข้าราชการที่หลบหนีการถูกติดตามกล่าว


 


การสนทนาเริ่มเครียดเมื่อพ่อค้าคนสำคัญที่ร่วมขบวนประท้วงและเป็นผู้เจรจากับทหารโดยตลอดกล่าวทั้งน้ำตาว่า "ผมบอกให้คนที่มาชุมนุมวันแรกๆให้กลับไปบอกคนในหมู่บ้านให้มากันมากๆ เมื่อมีการเผชิญหน้ากับทหาร ผู้ชุมนุมประมาณ 150 คนบอกว่าพวกเขาพร้อมที่จะตาย เมื่อมีการส่งกองพลที่ 66 เข้าไปแทนกองพลที่ 77 ทั้งหมด 10 กองพล ได้มีการยิงปืนไฟที่ทำในจีนเข้าสู่ฝูงชน ในเวลาเดียวกันก็มีกลุ่มที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลหรือ USDA คอยท้าทายผู้ชุมนุม  คนพวกนี้กล้ากว่าปกติเพราะมีการแจกเหล้าและยาบ้าให้กินก่อนแล้ว แต่ผู้ชุมนุมก็รับการท้าทายด้วยการตะโกนด่าคนกลุ่มนี้กลับไปด้วยเช่นกัน พวกเราไม่มีโข่งหรือไมโครโฟน เราตะโกนกันด้วยปาก ขณะที่มีการยิงเข้าฝูงชน ผมเป็นผู้แบกศพในขณะที่กระสุนหนึ่งนัดยิงเฉียดที่ศรีษะผม  ต่อมาก็ถูกด้ามปืนตีที่หลังอย่างแรงหลายครั้ง  อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผมว่ารู้สึกยังไงกับความพยายามของสหประชาชาติ บอกตรงๆว่าไม่อยากจะหวัง และไม่คิดว่ากัมบารีจะช่วยอะไรได้"  ขณะที่คุย พ่อค้าดังกล่าวขยับหลังที่เจ็บปวดจากการถูกตีไปด้วย  โดยกล่าวตบท้ายว่าเขาเคารพนับถือนางอองซาน ซูจี มาก


 


ส่วนอดีตนักศึกษาที่เคยถูกจับเข้าคุกที่เมืองมัณฑะเลย์และคุกอินเซน 2 คน และเข้าร่วมการชุมนุมให้ปากคำว่า "พวกเราอยากให้กาชาดสากลทำงานต่อไปและไปเยี่ยมเรือนจำบ่อยๆ เพราะเราเห็นว่าพอกาชาดสากลเข้าไปตรวจตราครั้งใด  เรือนจำก็ดูจะดีขึ้นหน่อย  แต่พอสามเดือนผ่านไปทุกอย่างก็กลับมาสู่สภาพเดิมอีก สภาพที่คุกแย่มากผมถูกใส่เหล็กง้างขาตลอดหรือ Iron Bar ให้นอนกับพื้นธรรมดา มันทำให้ขาผมเจ็บมาก ห้องน้ำขาดน้ำเป็นประจำ พอผมบ่นเรื่องอาหาร ผู้คุมก็ลงโทษผมให้ยืนในท่าตัวงอเขย่งขานานๆ และให้นักโทษด้วยกันเตะต่อยผมถึง 2 ชั่วโมง ผมออกจากคุกเมื่อปี 2548 และต้องการไปเรียนต่อ แต่มหาวิทยาลัยขอให้ผมเซ็นสัญญาว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ผมเลือกที่จะไม่เซ็น จึงไม่ได้เรียนและเรียนไม่จบ ก่อนหนีมาที่นี่ผมลำบากมากเพราะต้องทำงานเลี้ยงพ่อที่ไม่สบาย แต่ผมก็ไปร่วมประท้วงด้วย  และทราบว่าฝ่ายรัฐ ก็จัดตั้งพระปลอมเข้ามาร่วมชุมนุมหาข่าวด้วย 500 คน  ผมทำหน้าที่เป็นหน่วยฟันเฟือง หรือ human chain คล้องมือกับเพื่อนๆเพื่อปกป้องพระสงฆ์" ปัจจุบันทั้งสองคนยังมีอาการไม่ปกติทางสมองและสายตา


 


กล่าวกันว่าที่ผ่านมามีการบังคับให้คนออกมาแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลเพื่อให้ชาวโลกเห็นว่าคนที่ออกมาเดินขบวนนั้นเป็นคนส่วนน้อย แต่ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยืนยันว่ามีการบังคับให้ทุกครอบครัวในร่างกุ้งส่งคนออกมาอย่างน้อย 1 คนต่อ 1 ครอบครัว รวมทั้งข้าราชการต้องออกไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะถูกออกจากงานหรือถูกข่มขู่ มีข่าวว่ามีการจ่ายเงินให้คนบางกลุ่ม 3000 - 4000 จาร์คต่อหัวระยะนั้นเพื่อเป็นการจ้างให้มาชุมนุมสนับสนุน SPDC ของเผด็จการทหาร


 


นักศึกษาวัย 22 ปีที่อยู่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งยอมให้สัมภาษณ์ในวันต่อมาว่า ตนเข้ามาประชุมที่เมืองไทยก่อนหน้าที่ทหารปราบไม่นาน แต่ได้ร่วมการชุมนุมหลายวัน.. "วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นวันเกิดของ มิงโกนาย .ครับ..เขาเป็นผู้นำที่น่านับถือ เขาและผู้นำคนอื่นถูกจับไปที่คุกอินเซน  ตอนผมมาประชุมที่เมืองไทยได้ข่าวว่าเพื่อนผมโดนจับตัวด้วย  ก่อนหน้านั้นผมชวนเพื่อนนักศึกษาออกแจกใบปลิว แผ่นพับที่ทำกันเองที่ร้านเพื่อน ไม่สามารถทำในมหาวิทยาลัยได้เพราะมีการห้ามทุกอย่าง  ส่วนใหญ่เราแจกใบปลิวโดยการโยนจากหลังคาตึกหรือหลังคารถ  มักจะแจกตอนเช้าช่วง 10 โมง โปรยไปที่ฝูงชนใกล้ City hall ในขณะที่ชุลมุนวันแรกๆ บางคนกล้าหยิบใบปลิวขึ้นอ่านแต่บางคนไม่กล้าเพราะกลัวทหารเข้าใจผิด ผมเกือบถูก USDAจับตัวไปแต่เพื่อนผมฉุดผมออกมาได้ เพื่อนผมคนหนึ่งกระโดดหนีจากรถแต่ขาหัก เลยถูกจับไปอีก ส่วนใหญ่คนถูกจัยจะถูกนำไปรวมกันที่กักขัง Kyat Kha San  ซึ่งเดิมเป็นสนามกีฬา" 


 


นักศึกษาผู้นี้ไม่เคยเห็นพระสงฆ์ออกเดินอย่างสันติมากมายขนาดนี้ และไม่เคยคิดว่าพระจะถูกทำร้าย  เขารู้สึกสงสารพระที่เสียสละให้ประชาชนด้วยการเดินบนพื้นถนนร้อนๆเป็นเวลานานโดยไม่ใส่ร้องเท้า.... "ผมเชื่อว่าจะมีการประท้วงอีก พวกเราต้องการให้รัฐบาลทหารประกาศรายชื่อผู้ถูกจับกุมและเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ตายด้วย ผมอยากจะเห็นรัฐบาลคู่ขนานในประเทศผม ผมไม่ทราบว่ามีรัฐบาลพลัดถิ่นหรือ NCGUB ผมเชื่อว่าคนในประเทศพร้อมตั้งรัฐบาลพลเรือน  ตอนนี้เรามีปัญหาการสื่อสาร เราขาดระบบสื่อสารสำคัญๆ ไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือสัญญาณดาวเทียม" 


 


แทบไม่น่าเชื่อว่าทหารสร้างความกลัวเกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตยและนางซูจี ต่อสาธารณชนได้มากจนขนาดที่หลายคนไม่กล้าอ่านหรือเขียนแม้กระทั่งคำว่า ประชาธิปไตย และคำว่า อองซานซูจี  จึงไม่แปลกใจที่ทั้งทหาร และประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่รู้เรื่องประชาธิปไตยว่าคืออะไร 


 


นักศึกษาหญิงคนหนึ่งวิเคราะห์ว่า อาจจะเป็นไปได้ที่การเพิ่มราคาน้ำมันขนาดนั้นเป็นเพราะรัฐต้องการอยากจะให้เกิดความไม่สงบ


และให้คนที่คัดค้านรัฐปรากฏตัวออกมาที่แจ้งเพื่อเป็นเงื่อนไขกำจัดบรรดาผู้นำซะตอนนี้  ก่อนที่จะให้มีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นขั้นต่อไป ทั้งนี้จะได้ไม่ต้องมีการคัดค้านรัฐธรรมนูญมากนัก


 


สภาพเศรษฐกิจในพม่าที่ผ่านมาประชาชนยากลำบากมาก รายรับกับรายจ่ายต่างกันลิบลับ  บรรดาแรงงานไร้ฝีมือได้ค่าแรง 20 ดอลล่าร์ (ประมาณ 700 บาท)ต่อเดือนในขณะที่ข้าราชการได้ 30 ดอลล่าร์ (ประมาณ 1050 บาท)ต่อเดือน  ดังนั้นผู้ให้สัมภาษณ์คนอื่นๆต่างเห็นพ้องว่า การแซงชั่น หรือการลงโทษทางการค้าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อประชาชนพม่าทั่วไป แต่จะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของคนชั้นสูงแน่นอน  ดังนั้นการบอยคอตหรือแซงชั่นเป็นเรื่องที่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าสนับสนุน


 


ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องการให้สหประชาชาติอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานานๆ เพื่อคอยสอดส่อง (monitor) ความเป็นไปทางการเมืองของทุกฝ่าย   ไม่มีใครเชื่อว่าทหารจะมีความจริงใจกับนางซูจี แต่อาจจะทำอะไรไปเพื่อเป็นการซื้อเวลาเท่านั้น


 


พ่อค้าขายผักซึ่งไปร่วมประท้วงในเล่าให้ฟังว่า "ผมถูกตีด้วยไม้ที่ศรีษะอย่างแรง 3 ครั้งและถูกตีที่หลังทำให้ขณะนี้ความจำไม่ดี เวียนหัว เพราะเส้นประสาทที่หลังมีปัญหา ผมเห็นผู้หญิงถูกด้ามปืนตี และพอผมถูกจับตัวไปรวมกับผู้ที่ถูกจับคนอื่นๆในห้องที่สนามฟุตบอล เจ้าหน้าที่บังคับให้พวกเรานั่งงอเข่า ก้มหัวหนึ่งวันเต็มๆ โดยไม่มีอาหารและไม่อนุญาตให้เข้าห้องน้ำ  ในห้องขังมีพระถูกจับหลายสิบรูป ไม่ทราบว่าได้รับการปล่อยตัวหรือยัง การใช้ความรุนแรงต่อพระสงฆ์ที่ผ่านมันแสดงให้เห็นแล้วว่าทหารพม่าไม่แคร์พระสงฆ์ ผมอยากให้สหประชาชาติมีความกระตือรือร้นมากกว่านี้  ตอนนี้จีนและรัสเซียช่วยทหารพม่าปิดหูปิดตาพวกเรา"


 

อย่างไรก็ตามเลขาธิการของ NCUB บอกว่าความจริงเราไม่ได้ต้องการการเจรจาแต่อยากให้ดำเนินการตามแผน road map เพราะไม่เชื่อว่าทหารสนใจที่จะเจรจาจริงจัง  ความจริงเรามี สส.ที่มาจากการเลือกตั้งในปี  2533 ถึง 485 คน ในจำนวนนี้มี      33 คนอยู่นอกประเทศ การเลือกตั้งเมื่อปี 1990 ประชาชนมาลงคะแนนให้เอ็นแอลดี ถึง 82 % ครั้งนั้นทุกฝ่ายยอมรับไปแล้ว ความจริงไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งใหม่  ถ้าจีนไม่ให้การสนับสนุนทหารหรือทำมาค้าขายกับทหารพม่า (รวมทั้งค้าอาวุธด้วย) การพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า คงจะไปได้ไกลแล้ว  เหตุการณ์สะเทือนใจในครั้งนี้ทำให้ชนกลุ่มน้อยรู้ข่าวสารมากขึ้นและพร้อมที่จะร่วมมือกับพวกเรา
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net