Skip to main content
sharethis

เอกสารข่าวฉบับที่ 7 เมษายน 2551


สมคิด พุทธศรี


 


 


ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา สังคมเศรษฐกิจโลกหันมาใช้ยุทธศาสตร์การทำข้อตกลงการค้าเสรีทั้งระดับภูมิภาคีและทวิภาคีเป็นกลไกหลักในการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากมายทั้งในวงวิชาการและระดับการดำเนินนโยบาย


 


สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่แถวหน้าสุดของการทำข้อตกลงการค้าเสรี ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีทั้งแบบทวิภาคีเสรีและภูมิภาคีไปแล้วทั้งสิ้น 13 ข้อตกลง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 10 ข้อตกลง ด้วยปริมาณข้างต้น ทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีมากที่สุดในเอเชียบูรพา มิพักต้องกล่าวถึงว่า สิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศกระตือรือร้นในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี


 


คำถามพื้นฐานจึงมีอยู่ว่า เหตุใดปรากฏการณ์ 'FTA Mania' จึงเกิดขึ้นกับประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและมีเศรษฐกิจขนาดเล็ก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคกลับมีท่าทีระแวดระวังและตั้งข้อกังขากับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น


 


การออกวิ่งบนเส้นทางการทำข้อตกลงการค้าเสรีไม่สามารถแยกออกจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ผ่านมาของสิงคโปร์ได้ การใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมองออกไปข้างนอก (outward orientation) ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องตั่งแต่ทศวรรษ 2500 ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ การค้าระหว่างประเทศกลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์อย่างยิ่งยวด ในปี 2548 สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดการค้าใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 430 พันล้านดอลลาร์อเมริกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 367.96 ของ GDP นับเป็นอัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness) ที่สูงที่สุดในโลก การเปิดประเทศอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ทำให้การเจริญเติบโตของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ


 


เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงิน 2540 สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในอุษาคเนย์ที่สามารถฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แม้จะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2541 (-1.5%) แต่ก็ฟื้นคืนอีกครั้งในปี 2542 และ 2543 ด้วยอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 7.2 และ 10.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราที่สูงยิ่ง อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กลางปี 2543 สิงคโปร์ต้องเผชิญกับความยุ่งยากทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกาเริ่มแตกสลาย บทสรุปในครั้งนั้น คือ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัวร้อยละ 2.4


 


ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังผลมาสู่เศรษฐกิจสิงคโปร์ เป็นการเผยจุดอ่อนสำคัญของสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน การเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็บั่นทอนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ นักผลิตนโยบายสิงคโปร์ตระหนักถึงปัญหาข้างต้นเป็นอย่างดีและเห็นว่า สิงคโปร์จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrail Ecomony) ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบบริการ (Sevice Economy)


 


การปรับโครงสร้างการผลิตเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้เวลานาน ในขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าที่สิงคโปร์ต้องเผชิญอยู่ คือ การขยายตลาดส่งออก นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา สิงคโปร์มิอาจหวังพึ่งพิงตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนได้อีกต่อไป วิกฤติการณ์การเงินของอาเซียในปี 2540 ส่งผลให้เกิดการแตกตัวของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในกลุ่มอาเซียน ในขณะที่สิงคโปร์ต้องการที่จะเดินหน้าเพื่อเปิดเสรีมากขึ้น ประเทศอื่นๆ กลับใช้นโยบายกึ่งป้องกันตนเอง (Semi-protectionism) ซึ่งส่งผลต่อช่องว่างของปัจจัยเชิงสถาบันและนโยบายการค้าระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้การค้าเสรีภายในภูมิภาคจึงมิอาจไปไกลกว่า AFTA ได้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาอันใกล้นี้


 


ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เห็นว่า การจัดระเบียบการค้าเสรีโดย WTO ใช้เวลายาวนานเกินไป ผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันระหว่างมวลหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลกและการต่อต้านขององค์กรพัฒนาเอกชนทั่วโลกมิอาจแก้ปัญหาได้ในเร็ววัน ความเห็นข้างต้นได้รับการพิสูจน์ว่าถูกจากภาวะชะงักงันของการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีหลังจากความล้มเหลวในการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่เมืองแคนคูน (Cancun) ในปี 2546


 


ด้วยเหตุนี้ การทำข้อตกลงการค้าเสรีในลักษณะทวิภาคีและภูมิภาคีจึงเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่ของสิงคโปร์ในกระบวนการเปิดเสรีทางการค้า ยุทธวิธีเช่นนี้ไม่เพียงทำให้การขยายตลาดของสิงคโปร์สามารถดำเนินต่อไปได้เท่านั้น แต่เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับสิงคโปร์โดยตรงจากที่ไม่สู้มีมากนักในการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี


 


ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น การปรับเปลี่ยนมาใช้การทำข้อตกลงการค้าเสรีเป็นนโยบายหลักในการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่ค้าสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ก็สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสิงคโปร์เป็นอย่างดี


 


นักผลิตนโยบายสิงคโปร์เชื่อว่า ยุทธวิธีการทำข้อตกลงการค้าเสรีหาได้ขัดกับยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบบริการไม่ ตรงกันข้ามกลับช่วยส่งเสริมและเกื้อหนุนกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ


 


 


 


ข้อตกลงการค้าเสรีของสิงคโปร์ที่มีการลงนามแล้ว (ปีที่มีการลงนาม)


ASEAN Free Trade Area - AFTA (2535)


New Zealand and Singapore Closer Economic Partnership (2543)


The Japan-Singapore Economic Partenership Agreement - JSEPA (2544)


ASEAN and The People'sRepublic of China - ACFTA (2544)


The EFTA - Singapore Free Trade Agreement - EFSTA (2546)


Singapore-Australia Free Trade Agreement - SAFTA (2546)


India - Singapore Comprehensive Economic Cooperation Agreement - CECA (2548)


US-Singapore Free Trade Agreement - (2546)


ASEAN - Korea Free Trade Agreement - AKFTA (2548)


Singapore-Jordan Free Trade Agreement - SJFTA (2548)


Korea-Singapore Free Trade Agreement - KSFTA (2548)


Panama-Singapore Free Trade Agreement - (2549)


Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement - TPSEP (2549)


Singapore- Gulf Cooperation Council (GCC) Free Trade Agreement (2551)


 


 


ข้อตกลงการค้าเสรีของสิงคโปร์ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา (ปีที่เริ่มเจรจา)


Mexico-Singapore Free Trade Agreement - MSFTA (2543)


Canada-Singapore Free Trade Agreement (2544)


ASEAN - India Free Trade Agreement - AIFTA (2546)


ASEAN - New Zealand and Australis (2548)


Bahrain-Singapore Free Trade Agreement (2548)


Pakistan-Singapore Free trade Agreement (2548)


ASEAN - Japan Comprehensive Economic Partnership - AJCEP (2548)


Peru-Singapore Free Trade Agreement (2549)


Singapore-China Free Trade Agreement (2549)


ASEAN - EU Free Trade Agreement (2551).


 


 


........................................


 

เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch) ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  

เอกสารประกอบ

WTO Watch : สิงคโปร์กับเส้นทางข้อตกลงการค้าเสรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net