Skip to main content
sharethis

 


 


ชลธิชา ดีแจ่ม


 


ลาก่อนโทรเลขไทย บันทึกไว้ในความทรงจำสีจาง


 


 


คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เทคโนโลยีใหม่ๆจะเข้ามาแทนที่ ของเก่าๆอย่างโทรเลขก็ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา แต่รู้หรือไม่ว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทันสมัยสุดๆ ยังนิยมในการส่งโทรเลขอยู่เลย แต่ประเทศไทยของเราถึงจะยกเลิกใช้ไปแล้วก็ยังเหลือ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆไว้ดูต่างหน้า เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป


 


"ตะแล็บแก๊บ" คงเป็นเสียงสุดท้ายที่ใครหลายๆคนจะได้ยิน ก่อนจะถูกกลบด้วยเสียง Message จากโทรศัพท์มือถือที่เข้ามาแทน คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ จะมีเกิด คงอยู่ และดับไป


 


"ใหม่มาเก่าไป" หลายๆ สิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี้ล้วนเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่ก้าวเข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้นไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ E-mail MMS SMS ที่สะดวกและรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ถึงกระนั้นของเก่าอย่างโทรเลขก็ต้องสูญสลายไปตามกาลเวลา


 


ถึงแม้โทรเลขจะไม่มีความสำคัญกับคนสมัยนี้ แต่สมัยก่อนโทรเลขเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารไม่ต่างจากโทรศัพท์หรือ Email เลย


 


"โทรเลขในไทย" ได้แต่ใดมา


โทรเลขในเมืองไทยได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ..2412 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ได้อนุมัติให้ชาวอังกฤษ 2 นาย จัดตั้งบริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษาทางโทรเลขภายในราชอาณาจักรตามคำเสนอขอ แต่การดำเนินงานของบุคคลทั้งสองล้มเหลว



จากนั้นไม่นาน พ..2418 รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินการเอง โดยมอบหมายให้กรมกลาโหม สร้างทางสายโทรเลขสายแรก จากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ (.สมุทรปราการ) และวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปถึงกระโจมไฟ นอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อใช้ในทางราชการส่งข่าวเกี่ยวกับการผ่านเข้าออกของเรือกลไฟ 


 


ในปี 2426 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นรับช่วงงานโทรเลขจากกรมกลาโหมมาทำต่อไป ได้เริ่มสร้างทางสายใช้ลวดเหล็กอาบสังกะสีเป็นสายแรกจากกรุงเทพฯ ผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ ไปถึงคลองกำปงปลัก ใน จ.พระตะบอง (สมัยนั้นยังเป็นของไทย) และเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีนไปถึงเมืองไซ่ง่อน เป็นสายโทรเลขสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ ได้เปิดให้สาธารณะใช้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน โดยมีเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และกรมโทรเลขคนแรก ซึ่งต่อมาก็ได้สร้างสายโทรเลขครบทั่วประเทศ


 


การให้บริการโทรเลขได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึง พ..2528 เป็นช่วงที่รุ่งเรืองมากที่สุด มีการส่ง-รับถึงกว่า 8.3 ล้านฉบับ คนที่นิยมใช้โทรเลขมี 2กลุ่มด้วยกัน คือประชาชนจะนิยมส่งข่าวให้ครอบครัวได้รับทราบและทางธุรกิจ อาทิ ธนาคาร ส่งโทรเลขเพื่อแจ้งหนี้ ทวงหนี้บัตรเครดิต ทางห้างร้าน มักจะใช้ในการติดต่อสินค้า ค้าขาย มีการแจ้งราคาโดยส่งผ่านโทรเลข แต่ก็มีปัญหาเมื่อข้อมูลได้หลุดออกไป ทำให้เกิดการแข่งขันรู้ราคากัน จนเกิดเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลกัน ดังนั้นทางโทรเลขจึงได้ออกกฎห้ามเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า


 


การส่งโทรเลขมีส่งทั้งในและนอกประเทศ  ในสมัยนั้นจะนิยมใช้คำอย่างประหยัดและย่อคำให้สั้นกระชับที่สุดเพราะการส่งโทรเลขคิดเป็นคำๆ คำละ 1 บาท ส่วนเวลาในการรับ-ส่งโทรเลขไม่เกิน 10 นาที ถ้าช้าคงอยู่ที่ระยะทางถึงผู้รับ ถ้าอยู่ชานเมืองอาจจะเป็นวันหรือหลายวัน


 


เส้นทางโทรเลข


เสียง ก็อกๆ แก๊บๆ... เสียงเคาะรหัสในช่วงสมัยนั้น เชื่อว่าคงจะมีคนเคยได้ยินบ้าง หากไม่เคยได้ยินก็คงจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ อาจจะสงสัยว่านั้นเป็นเสียงอะไร นายสมพล จันทร์ประเสริฐ ที่ปรึกษาอาวุโส CAT Telecomบอกเล่าเรื่องราวของโทรเลขให้ฟังว่า สมัยเริ่มแรกจะใช้เครื่องส่งและเครื่องรับโทรเลขทำงานด้วยคันเคาะของเครื่องส่งให้วงจนไฟฟ้าปิด จากนั้นกระแสไฟจะไหลเข้าไปในขดลวดของเครื่องรับ ทำให้ขดลวดของเครื่องรับเกิดสนามแม่เหล็ก และดูดแผ่นเหล็กมากระทบแกนเหล็ก ทำให้เกิดเสียงที่มีจังหวะเดียวกับคันเคาะ ซึ่งการเปิด-ปิด วงจรนี้ทำให้เกิดเสียงเป็นสัญญาณโทรเลข แล้วจึงแปลงสัญญาณโทรเลขให้เป็นข้อความ โดยมีการกำหนดรหัสในโทรเลขไว้ 2 ลักษณะ คือ เคาะแล้วกดไว้ (กดยาว) กับเคาะแล้วปล่อย (กดสั้น) ซึ่งแทนด้วย - กับ . (ขีดกับจุด) เรียกรหัสที่ใช้ในการส่งโทรเลขว่ารหัส "มอร์ส"


 


จากรหัส มอร์ส ก็ได้พัฒนาเข้าสู่ ยุควิทยุโทรเลขในประเทศไทย พ..2457 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยุโทรเลขเป็นครั้งแรก และกำหนดให้กรมไปรษณีย์โทรเลขมีอำนาจหน้าที่ในการตั้งเครื่องและใช้วิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ในประเทศ โดยมีเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนี่ ต่อมา พ..2493 นายสมาน บุณยรัตพันธ์ นายช่างโทรเลขของไทยคิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยสำเร็จ โดยคิดค้นจากระบบกลไก (Spacing control mechanism) หลังจากนั้นได้ผลิตเครื่องโทรพิมพ์ทำงานได้ทั้งภาษาไทย อังกฤษในเครื่องเดียวชื่อว่า "เครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบ S.P."


 


"การนำเครื่องโทรพิมพ์นี้มาใช้งานทำให้การฟังรหัส มอร์ส เป็นเรื่องยาก เพราะในสมัยนั้นหากฟังรหัสทีเดียวแล้วมาเขียนจะถือว่าเก่งมาก แท้ที่จริงแล้วอาจก่อให้เกิดการผิดพลาดของข้อความ อาทิเช่น แม่หายแล้วให้มารับด่วน แต่พิมพ์ว่า แม่ตายแล้วให้มารับด่วน พ่อถึงแก่งคอยแล้ว กลับเป็นคำว่า พ่อถึงแก่กรรมแล้ว ทำให้เข้าใจผิดไปหมด" นายสมพล กล่าว



ต่อมาวิวัฒนาการการให้บริการโทรเลขในปัจจุบัน ก็ได้พัฒนาระบบการรับ-ส่งโทรเลขโดยการใช้เครื่องโทรพิมพ์สมัยใหม่ที่ควบคุมด้วยระบบไมโครคอมพิวเตอร์และสามารถติดต่อรับส่งได้ด้วยความเร็วสูงถึง 240 คำต่อนาที มาใช้เป็นอุปกรณ์รับส่งโทรเลข นอกจากนี้ยังมีการติดต่อชุมสายโทรเลขอัตโนมัติ ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์มากว่า 20 ปีแล้ว


 


โทรเลขจ๋าลาก่อน


มีหลายประเทศที่ได้ยกเลิกใช้โทรเลขแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ประเทศ สิงคโปร์ ฮ่องกง ลาว อังกฤษและฝั่งยุโรป  เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังใช้อยู่ แต่ก็คงอีกไม่นาน  แตกต่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่ยังนิยมใช้โทรเลข


 


นายสมพล จันทร์ประเสริฐ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า "คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะใช้โทรเลขในการอวยพร อย่างเช่น ถ้ามีงานแต่งงานแต่ติดธุระไม่สามารถไปได้ เขาไม่ต้องเดินไปที่ไปรษณีย์เพื่อส่งโทรเลข แต่เขาสะดวกกว่าตรงที่เขาสามารถใช้โทรศัพท์สั่งให้ส่งโทรเลขอวยพรและส่งเงินช่วยได้เลย เพราะหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่นเป็นหน่วยงานเดียวกัน ถ้าไม่จ่ายค่าบริการก็สามารถตัดโทรศัพท์ได้เลย แต่ประเทศไทยทำไม่ได้เพราะเป็นคนละหน่วยงาน"


 


การยกเลิกโทรเลขในประเทศไทย อันเนื่องมาจากมียอดผู้ใช้บริการลดลงเหลือเดือนละ 100 ฉบับ คิดเป็นรายได้ 5000 บาทต่อเดือน ในขณะที่มีต้นทุนมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี ต้องจ่ายให้กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพราะ การสื่อสารแห่งประเทศไทย แปรสภาพหน่วยงาน โดยแยกเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หรือ CAT TELECOM เป็นเจ้าของบริการโทรเลข และจ้างให้ไปรษณีย์ไทย ดูแลการให้บริการโทรเลข ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจได้ รวมทั้งปัจจุบันมีเทคโนโลยีโทรคมนาคมใหม่ๆมาแทนที่ อาทิเช่น โทรศัพท์มือถือ อีเมล์ โทรสาร ธนาณัติออนไลน์ และอีเอ็มเอส เป็นต้น


 


ถึงแม้ว่าวันนี้โทรเลขจะได้ถูกยกเลิกใช้แล้ว แต่เสียง "ตะแล็บแก๊บ" ก็ยังอยู่ในใจของใครหลายๆคนที่เคยใช้โทรเลขส่งข้อความถึงคนไกล และยังคงเหลือ อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆที่ให้คนรุ่นหลังไว้ดูต่างหน้าและศึกษาต่อไป ถึงมันจะไม่สะดวก ทันใจ ทันสมัย หรืออาจจะเรียกว่าโบราณ แต่ความโบราณยังมีความคลาสสิคและเป็นตัวก่อเกิดการพัฒนาขึ้นจริงไหม


สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net