ข้อสังเกตเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมเเละการเเสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทนำ
เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อระบอบการปกครองเเบบ ประชาธิปไตย เนื่องจากว่าสิทธิการชุมนุมหรือรวมตัวของปัจเจกชนนั้นเป็นวิธีการเเสดงออกซึ่งความคิดเห็นในรูปเเบบหนึ่ง สิทธิการชุมนุมนอกจากจะได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญของนานาประเทศเเเล้วอนุ สัญญาหลายฉบับก็รับรองสิทธิการชุมนุมหรือการรวมตัว เช่น ในอนุสัญญา The European Convention for Human Rights [1] เเละในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) [2] ซึ่งอนุสัญญานี้ประเทศไทยเป็นภาคีด้วยสังคมไทยที่ผ่านมามีประชาชนใช้เสรีภาพการชุมนุมอยู่หลายครั้ง โดยวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเเต่ละครั้งก็เเปรเปลี่ยนไป เช่น ชุมนุมคัดค้านการสร้างเขื่อน การเเปรรูปรัฐวิสาหกิจ การชุมนุมประท้วงราคาพืชผลตกต่ำ การชุมนุมคัดค้านของผู้ประกอบการขนส่ง เป็นต้น เเต่การชุมนุมที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงเเละสร้างความวิตกมากที่สุดคือ "การชุมนุมทางการเมือง" เพื่อขับไล่ผู้นำประเทศไม่ว่าผู้นำนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากการทำรัฐประหารก็ตาม ในประเด็นเรื่องการชุมนุมนี้มีข้อสังเกตบางประการดังนี้


เสรีภาพในการชุมนุมมิใช่เป็นสิทธิหรือเสรีภาพที่ไม่มีข้อจำกัดหรือไม่มีขอบเขต

ในบรรดาสิทธิเเละเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง มีเพียงเสรีภาพในการนับถือศาสนา (Freedom of religion) เท่านั้นที่เป็นเสรีภาพอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด (absolute right) หมายความว่า รัฐจะตรากฎหมายออกมาจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประชาชนไม่ได้ ส่วนเสรีภาพในการชุมนุมเเละเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของบุคคลเเละสื่อมวลชนมิได้เป็นเสรีภาพที่เด็ดขาด (non-absolute right) [3] อย่างเสรีภาพในการนับถือศาสนา ฉะนั้น รัฐจึงตรากฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพของประชาชนได้

ส่วนบรรดาสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้นล้วนเเล้วเเต่เป็นสิทธิที่ ไม่เด็ดขาดหมายความว่า รัฐอาจตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นได้ เพียงเเต่รัฐธรรมนูญได้วางเงื่อนไขการจำกัดสิทธิเเละเสรีภาพว่าต้องเป็นไป ตามกฎหมายเเละเท่าที่จำเป็นเเละจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญเเห่งสิทธิเเละ เสรีภาพนั้นมิได้ (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้แล้ว รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 28 ยังบัญญัติอีกด้วยว่า "บุคคลย่อมใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น" ฉะนั้น การใช้สิทธิและเสรีภาพของตนต้องคำนึงถีงสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมอีกด้วย

สรุปก็คือ รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพอยู่สองประเภท คือ สิทธิหรือเสรีภาพที่สมบูรณ์ซึ่งรัฐไม่สามารถออกกฎหมายมาจำกัดได้เลย ตัวอย่างของเสรีภาพที่ว่านี้มีประเภทเดียวคือ เสรีภาพในการนับถือศาสนา ส่วนเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพเเบบไม่เด็ดขาด รัฐออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้


เงื่อนไขการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนุญมาตรา 63 วรรคเเรกกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมอยู่สองประการคือ ประการเเรก การชุมนุมนั้นต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบ (peacefully) เเละประการที่สอง การชุมนุมนั้นต้องปราศจากอาวุธ คำว่า "อาวุธ" นี้ต้องตีความว่า มิได้จำกัดเฉพาะอาวุธในความหมายปกติทั่วไปเช่น ปืน ระเบิด มีด เเต่รวมถึงสิ่งของที่สามารถใช้เยี่ยงอาวุธได้ด้วย


การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมทำได้หรือไม่

อย่างที่กล่าวมาในตอนต้น เฉพาะ "เสรีภาพในการนับถือศาสนา" เท่านั้นที่รัฐธรรมนูญรับรองอย่างสมบูรณ์ว่า รัฐไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาได้ นอกนั้นรัฐสามารถจำกัดเสรีภาพหรือสิทธิได้ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรคสองยังได้บัญญัติอีกว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง (เสรีภาพในการชุมนุม) จะกระทำมิได้ เว้นเเต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติเเห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะเเละเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนใช้ที่สาธารณะ…" กล่าวโดยสรุปก็คือ รัฐสามารถจำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนได้หากการจำกัดเสรีภาพนั้นมีวัตถุประสงค์ "เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนใช้ที่สาธารณะ" "ที่สาธารณะ" หมายถึงที่ที่ประชาชนสามารถใช้ร่วมกันได้

นอกเหนือไปจาก "การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนใช้ที่สาธารณะ" เเล้ว ในวรรคสองยังได้กำหนดอีกว่า ในช่วงที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ในระหว่างที่มีการประกาสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศกฎอัยการศึกก็สามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ [4]

กฎหมายบางประเทศอย่าง The Public Order 1987 ของประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือในมาตรา 3 ได้ กำหนดเงื่อนไขบางประการของการชุมนุมหรือเดินขบวน เช่น แกนนำผู้ชุมนุมต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเกี่ยวกับวันและเวลา จำนวนผู้เข้าร่วมและเส้นทางสัญจรที่จะใช้ ล่วงหน้า 7 วันก่อนการชุมนุมหรือเดินขบวน

นอกจากนี้การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้นยังสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง (ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี) โดยมาตรา 21 บัญญัติว่า "สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายเเละเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์เเห่งความั่นคงของชาติ หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิเเละเสรีภาพของบุคคลอื่น"

สรุปก็คือ ทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 เเละ ICCPR ต่างรับรองตรงกันว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมนั้น มิได้เป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่กระทบต่อสิทธิเเละเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย


เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองของบุคคลมีข้อจำกัดหรือไม่

เช่นเดียวกับเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในเเสดงความคิดเห็นทั้งของบุคคลเเละสื่อมวลชนล้วนเป็นสิ่งสำคัญของ ระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากความคิดเห็น (opinion) เป็นสิ่งตกติดมากับมนุษย์ การเเสดงออกซึ่งความคิดเห็นของมนุษย์จะช่วยให้สังคมได้มีการเเลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ได้อภิปราบเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ การยอมรับให้บุคคลสามารถเเสดงความคิดเห็นได้เป็นการยอมรับว่ามนุษย์เป็น "ผู้ทรงสิทธิ" ที่กฎหมายคุ้มครอง สิทธิในการเเสดงความคิดเห็นนี้เป็นผลพวงมาจาก "ยุคความสว่างไสวเเห่งปัญญา" ที่เรียกว่า "Enlightenment" ในยุโรป

อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการเเสดงความเห็นนั้นมิได้เป็นเสรีภาพที่ไม่มีข้อจำกัดอย่างเสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของบุคคลเเละสื่อย่อมมีข้อจำกัดด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคเเรกบัญญัติว่า "บุคคลย่อมีเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาเเละการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" เเละวรรคสองบัญญัติว่า "การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นเเต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติเเห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียงหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น….." กล่าวโดยย่อก็คือ เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นมิได้เป็นเสรีภาพที่เด็ดขาดสมบูรณ์ เเต่เป็นเสรีภาพที่รัฐสามารถจำกัดได้ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังนั้น การใช้เสรีภาพดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายด้วย


การเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากการปลุกระดมทางการเมือง

ในสังคมระบอบประชาธิปไตยที่เเท้จริงในนานาอารยะประเทศ ประชาชนเเละสื่อสามารถเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือวิจารณ์การบริหารประเทศเเละนโยบายของรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ เเละรัฐเองก็ควรสนับสนุนด้วย ตราบเท่าที่การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองอยู่ภายใต้กฎหมายเเละไม่ขัดต่อผล ประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งการเเสดงความเห็นทางการเมืองนั้นต่างจากการปลุกระดมทางการเมือง ซึ่งประชาชนจะต้องเเยกความเเตกต่างอันนี้ให้ได้


บทส่งท้าย

เสรีภาพในการชุมนุมเเละการเเสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเสรีภาพที่จำเป็นต่อระบอบประชาธิปไตยเเละเป็นเรื่องที่รัฐควรส่งเสริม เเต่มิได้หมายความว่า การใช้เสรีภาพดังกล่าวจะใช้เมื่อใดก็ได้ ที่ไหนก็ได้ วิธีการใดก็ได้ แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายด้วย เกือบทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองมักจะมีการอ้างว่าเป็นการใช้เสรีภาพ การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เเต่อย่าลืมว่า เสรีภาพในการการชุมนุมเเละเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็นของบุคคลเเละสื่อมวลชนนั้น รัฐธรรมนูญรับรองต่างจากเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยเสรีภาพในการนับถือศาสนานั้นเป็นเสรีภาพประเภทเดียวที่เป็นเเบบสมบูรณ์เด็ดขาด รัฐจะจำกัดไม่ได้ ในขณะที่เสรีภาพในการชุมนุมเเละการเเสดงความคิดเห็นนั้นเป็นเสรีภาพที่ไม่เด็ดขาด รัฐสามารถจำกัดได้ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ สังคมไทยกำลังเดินอยู่บนทางสองเเพร่งระหว่างการปกครองด้วย "กฎหมายเป็นใหญ่" หรือ "The Rule of Law" หรือ "ผู้ชุมนุมประท้วงเป็นใหญ่" หรือ "Mob Rule" สังคมไทยจะเลือกเดินทางไหนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ

หวังว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเเละเเสดงความคิดเห็นควรอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย อย่าให้ถึงกับต้องเปลี่ยนจากหลักที่ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย"  มาเป็น "อำนาจอธิปไตยเป็นของผู้ชุมนุมประท้วง" เเละเปลี่ยนจากหลักที่ว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ" มาเป็น "ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดจะมาขัดหรือเเย้งต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมประท้วงมิได้"


เชิงอรรถ

1 มาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญติว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะชุมนุม (หรือรวมตัว) โดยสงบ…." (Everyone has the right to freedom of peaceful assembly…)
2 มาตรา 21 ของ ICCPR บัญญัติติว่า "สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง" (The right of peaceful assembly shall be recognized.)
3 Brian P. White, WALKING THE QUEEN'S HIGHWAY: PEACE, POLITICS AND PARADES IN NORTHERN IRELAND, San Diego International Law Journal ,2000, p.176
4 อย่างที่ได้ที่คณะรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ได้ออกประกาศฉบับที่ 7 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง หลังจากที่คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งเเต่วันที่ 19 กันยายน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท