Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเร็วๆ นี้ หลายคนในกรุงเทพฯ อาจสังเกตเห็น ไฟประดับราตรีเพื่อฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ของทาง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถวสยามสแควร์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งป้ายสโลแกนอเมซิ่งไทยแลนด์

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าไฟจะมีสีสันแค่ไหน ก็คงเทียบเท่าสีสันละครการเมือง ช่วงไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมามิได้ คนไทยอย่างผู้เขียน ยังอดทึ่งและรู้สึกว่า บางเรื่องดูเหมือนจะ surreal (เกินจริง) ยิ่งกว่าภาพวาดสไตล์นี้เสียอีก เพื่อนต่างชาติคนหนึ่งบอกผู้เขียนว่า ตนไม่เข้าใจเลยว่า

ทำไมพลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ จึงสามารถยืนเก๊ก ยิ้ม ถ่ายรูปเพื่อมอบสนามบินสุวรรณภูมิคืน แก่ผู้บริหารการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยอย่างหน้าชื่นตาบาน ราวกับว่า เหล่าบรรดาพันธมิตรฯ ได้เข้าไปช่วยอัพเกรดสนามบิน

เพื่อนผู้นี้ ถามต่อไปว่า ทำไมตำรวจถึงไม่จับตัวนายจำลองไปดำเนินการฐานก่อความเสียหาย มหาศาลแก่เศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น แต่ก็นั่นแหละ รูปนี้ได้แพร่กระจายเป็นข่าวไปทั่วโลก

ที่ surreal ยิ่งกว่านี้คือ การที่แกนนำพันธมิตรฯ ไม่เคยแถลงขอโทษแก่คนทั้งประเทศและต่างประเทศต่อความไม่สะดวกและเสียหาย ที่พวกตนได้ก่อไว้ในช่วง 8 วัน ที่ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

มิหนำซ้ำพวกเขายังประกาศว่า จะกลับไปปิดสนามบินอีก หากจำเป็น

อีกประเด็นที่น่าทึ่งก็คือ ทำไมตำรวจและทหาร จึงมิสามารถป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมเข้าไปยึดสนามบินได้ แต่ที่น่าทึ่งกว่าคำถามก็คือ สภาพที่ว่า สื่อไทยมิได้พยายาม แม้กระทั่งจะหาคำตอบว่าทำไมหน้าที่จึงตกเป็นของสื่อต่างประเทศอย่างนายโจนา ธาน เฮด แห่งสำนักข่าวบีบีซี นักข่าวต่างประเทศที่ตั้งคำถามและพยายามไปขุดคุ้ย

พบหลักฐานที่พอจะเชื่อถือได้ว่า มีกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมบางคน ที่ไม่ต้่องการให้ทหารหรือตำรวจป้องกันมิให้สนามบินถูกยึด คลื่นพันธมิตรฯ จึงเข้าสู่สนามบินเหมือนสึนามิ แต่นี่คือสึนามิที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ผู้เชี่ยวชาญสภาพัฒน์ ได้กล่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า การปิดสุวรรณภูมิ 8 วัน มีผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปี ลดลงมากกว่า 1%

ในเมื่อประเทศอยู่ในสภาพวิกฤต ผู้คนที่ยังพอมีสติ ก็คงคาดหวังว่า สื่อไทยจะวิจารณ์วิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมือง โดยเอาปัจจัยต่างๆ เข้ามาพิจารณาในสมการ เพื่อให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของสถานการณ์ แต่สิ่งนั้นมิได้เกิดขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและวัฒนธรรมการ เซ็นเซอร์ ตัวเองของสื่อไทยกระแสหลัก

เหตุการณ์จึงพิลึกพิลั่นอย่างเช่นบทความ ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ วิเคราะห์วิพากษ์สถานการณ์การเมือง แต่สื่อไทยกลับไม่พิมพ์ แต่ไปโผล่เอาในสื่อต่างประเทศอย่าง Korea Times

หรือที่เป็นประเด็นฮือฮาอย่างเงียบๆ ได้แก่กรณีนิตยสาร ดิ อิโคโนมิสท์ เขียนเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และวิกฤตการเมืองปัจจุบัน (ฉบับ 6 -12 ธ. ค.) จนทำให้เกิดปรากฎการณ์ดิ อิโคโนมิสท์แท้ง ไม่โผล่สู่แผงหนังสือเมืองไทยอย่างดื้อๆ

เรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์สเขียนไปเป็นข่าวอีก (รอยเตอร์และสเตรทไทม์รายงาน นิตยสาร The Economist ถูกห้ามเผยแพร่ในไทย) แต่ก็ไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า ร้านหนังสือถูกสั่งให้เซ็นเซอร์หรือร้านหนังสือไม่ยอมเอาขึ้นแผงเอง ผู้เขียนได้ลองไปสุ่มสอบถามเจ้าหน้าที่ร้านหนังสือ Asia Books ทราบจากคนหนึ่งว่า ที่ไม่มีขายก็เพราะบทความที่ขึ้นปกที่ว่านี่แหละ

“ก็คือทราบ [ว่าทำไมไม่ขาย] แต่พูดไม่ได้” เจ้าหน้าที่ผู้ชายคนหนึ่งกล่าวกับผู้เขียน พร้อมกับพูดว่าแต่ตนเอง ก็ได้อ่านบทความนี้ทางอินเทอร์เน็ตและเห็นด้วยบางส่วนกับบทความ เขาให้คำมั่นสัญญาว่า ฉบับถัดไป ก็น่าจะมีขายวางตลาดในวันศุกร์ที่ 12 ธ.ค. (หากไม่เขียนเรื่องเจ้าทำนองนี้ำอีก – อันนี้ผู้เขียนเติมเอง)

ที่น่าทึ่งพอๆ กันก็คือ สื่อไทยส่วนใหญ่ ก็มิได้พูดถึงเรื่องพวกนี้ จนกระทั่งกระทรวงต่างประเทศของไทยเอง ต้องออกมาโต้ (ประท้วง “ดิ อิโคโนมิสต์” บิดเบือนสถาบันเบื้องสูง)

โอ้ นี่เราอยู่ประเทศไทยหรือเกาหลีเหนือ

เท่านี้ยังไม่จบสำหรับอเมซิ่งไทยแลนด์ ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็คงทราบดีว่า พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ค่อนข้างติดธุระมัวให้คำปรึกษาแก่บรรดานักการเมือง โดยหวังว่าจะมีการสลับขั้ว แต่ในขณะเดียวกัน ตนเองก็ปฎิเสธว่า ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวแทรกแซงการเมือง

โฆษกพลเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมว่า “ท่านก็บอกว่า จะไปห้ามไม่ได้ ที่จะไม่ให้เขาโทรมาปรึกษา การที่เขาโทรมาถาม ถือเป็นสิทธิของเขา”

แน่นอนครับ เป็นสิทธิของเขา แต่ผู้เขียนคิดว่า พลเอกอนุพงษ์ ก็น่าจะมีสิทธิ ไม่ตอบให้คำปรึกษาได้เหมือนกัน หากต้องการที่จะไม่ยุ่งกับการเมืองจริงๆ

เหตุการณ์นี้ทำให้นึกถึงบทบาทของพลเอกเปรมในอดีต และก็ยากที่จะเข้าใจว่า นี่มันเป็นการไม่ไปยุ่งกับการเมืองได้อย่างไร เหมือนกับภาษาอังกฤษที่มีคำว่า double speak คือ พูดอย่าง แต่ก็ทำอีกอย่าง

พลเอกสรรเสริญยังได้กล่าวต่อไปว่า “การที่ท่านไม่ไปยุ่งกับการเมือง จะเรียกว่า การปฎิวัติได้อย่างไร

มันช่างซ่อนเร้น ซ่อนรูปเหลือเกิน

อีกเรื่องที่ surreal ก็คือ การที่นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ยึดถือศาลสถิตย์ยุติธรรม เข้าไป “จูบปาก” กับนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าพ่อการเมืองไทย อดีตลูกน้องทักษิณ ซึ่งถูกพิพากษาห้ามยุ่งการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 50 และยังคิดว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้อ่านคงต้องใช้วิจารณญาณเอง แต่ผู้เขียนขอปิดเรื่องอเมซิ่งไทยแลนด์ ด้วยคำตอบที่ได้จากคนไทยผู้หนึ่ง ระหว่างที่ผู้เขียนติดอยู่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลี อยู่หนึ่งอาทิตย์เพราะเหตุการณ์ปิดสนามบิน

ผู้เขียนได้ไปเดินหาคนไทย เพื่อถามความเห็นเกี่ยวกับกาารปิดสนามบิน แล้วพบหญิงไทยผู้หนึ่งอายุประมาณ 30 ปี เดินช้อปปิ้งแถวเมียงดง ซึ่งเป็นเขตช้อปปิ้งของพวกวัยรุ่นเกาหลี

“พวกการท่าอากาศยานฯ ต่างหากล่ะ ที่ไม่ยอมทำงาน” หญิงคนนั้นกล่าวอย่าง SURREAL เพื่อปกป้องบรรดาสมาชิกพันธมิตรฯ

ผู้เขียนเชื่อว่า เหตุการณ์ surreal ๆ คงมีต่อไปอีกนาน สำหรับประเทศอย่างเกาหลีเหนือ เอ้ย ประเทศไทย ต่างหาก สิครับ

………………………

หมายเหตุ :

1. ผู้เขียนถอดความและดัดแปลงจาก Dreams and censorship in an amazing, surreal land, the Nation

2. surreality คำนี้ ผู้เขียนขอดัดแปลงจากคำว่า surrealism ซึ่งหมายถึง กลุ่มศิลปินวาดภาพแบบเหนือจริง surreality น่าจะหมายถึง สภาพที่ตรรกะหมดสภาพและเหนือจริงไปนานแล้ว ซึ่งน่าจะเหมาะกับการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net