Skip to main content
sharethis
องค์การรัฐอเมริกันลงมติขับฮอนดูรัสพ้นสมาชิกหลังคณะรัฐประหารเมินคืนอำนาจ “มานูเอล เซลายา” พยายามนั่งเครื่องบินเจ็ทเข้าฮอนดูรัส ผู้สนับสนุนเร่งสมทบที่สนามบิน ประธานาธิบดีละตินหลายชาติบินติดตามหวังลงจอดด้วยหากเซลายาแตะพื้นสำเร็จ ด้าน “มิเชลเลตติ” สั่งกองทัพตรึงกำลังเข้มห้ามเครื่องบินลงจอด

 

ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาที่ถูกรัฐประหาร พยายามฝ่าแนวกั้นของตำรวจเพื่อมุ่งหน้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติตอนคอนติน (Toncontin) ในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อ 4 ก.ค. 52 (ที่มา: Reuters/daylife.com)
 
ผู้สนับสนุนเซลายา ดึงป้ายโฆษณาสนับสนุนรักษาการณ์ประธานาธิบดีมิเชลเลตติ ซึ่งติดที่ท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงเตกูซิกัลปา เมื่อ 4 ก.ค. ป้ายเขียนว่า “นายโรเบอร์โต มิเชลเลตติ ประธานาธิบดีตามรัฐธรรมนูญฮอนดูรัส ประชาชนขอขอบคุณที่ท่านปกป้องประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญของเรา” (ที่มา: Reuters/daylife.com)
 
ทหารลาดตระเวนภายในพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงเตกูซิกัลปา ขณะที่มีผู้สนับสนุนประธานาธิบดีเซลายาชุมนุมอยู่ภายนอก เมื่อ 4 ก.ค. ป้ายสีเหลืองที่เห็นเขียนว่า “ห้ามเข้า เขตหวงห้าม” (ที่มา: Reuters/daylife.com)
 
 
 
เซลายานั่งบินเจ็ทกลับฮอนดูรัสทวงอำนาจคืน
ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา (Manuel Zelaya) ของฮอนดูรัสซึ่งถูกรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้โดยสารเครื่องบินเจ็ทสัญชาติเวเนซุเอลาจากกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันอาทิตย์นี้ (5 ก.ค.) เพื่อกลับไปทวงอำนาจในฮอนดูรัส แม้ว่ารัฐบาลรักษาการของฮอนดูรัสสั่งให้กองทัพดูแลไม่ให้อากาศยานใดลงจอดได้
 
แม้เซลายาจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ แต่มีเพียงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติโดยสารมาพร้อมกับเซลายา ท่ามกลางข้อวิจารณ์เรื่องความปลอดภัยในการกระทำเช่นนี้
 
“ข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการกองทัพ ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ข้าพเจ้าขอให้กองทัพเชื่อฟังคำสั่งด้วยการเปิดท่าอากาศยาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการร่อนลงจอดและเพื่ออ้าแขนรับประชาชนของข้าพเจ้า” เซลายากล่าวระหว่างเดินทาง
 
 
รักษาการณ์ประธานาธิบดีฮอนดูรัสลั่นไม่ยอมให้ลงจอด
อย่างไรก็ตาม รักษาการณ์ประธานาธิบดีฮอนดูรัสอย่างโรเบอร์โต มิเชลเลตตี (Roberto Micheletti) ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของเซลายา โดยมิเชลเลตตีสั่งให้ป้องกันไม่ให้มีการลงจอดของอากาศยาน และปฏิเสธที่จะเจรจากับใครก็ตามจนกว่าจะกลับสู่สถานการณ์ปกติ
 
“ข้าพเจ้าจะอยู่ที่นี่ จนกว่าประเทศนี้จะสงบ” มิเชลเลตตีกล่าวระหว่างแถลงข่าว “พวกเราเป็นผู้แทนของประชาชนโดยชอบตามกฎหมาย”
 
ขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนชุมนุมกันภายนอกท่าอากาศยานในเมืองหลวงของฮอนดูรัส รอเผชิญหน้ากับทหาร ผู้ประท้วงบางส่วนเข้าผลักดันกับทหารและตำรวจปราบจลาจลที่มีโล่หลายร้อยนาย ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจบินตรวจการอยู่โดยรอบ ส่วนเที่ยวบินพาณิชย์ถูกยกเลิก
 
 
เตือนนิคารากัวอย่าส่งทหารข้ามแดน
รักษาการณ์ประธานาธิบดีมิเชลเลตติ ยังเตือนประเทศนิคารากัวว่าการเคลื่อนทหารเข้ามาใกล้ชายแดนถือเป็นการข่มขู่เชิงจิตวิทยา และเตือนว่าอย่าข้ามเข้ามาในเขตฮอนดูรัส “เพราะพวกเราพร้อมป้องกันชายแดนของเรา”
 
ขณะที่ พลจัตวา อโดลโฟ เซเปดา (Adolfo Zepeda) โฆษกกองทัพนิคารากัวได้ปฏิเสธเรื่องการเคลื่อนกำลังดังกล่าว และว่าการเตือนของมิเชลเลตติเป็นเรื่องที่ “ไม่มีข้อเท็จจริงทั้งสิ้น”
 
 
ประธานสมัชชาใหญ่ยูเอ็นร่วมโดยสารพร้อมเซลายา
ผู้อำนวยการการบินพลเรือนของฮอนดูรัสกล่าวว่าเครื่องบินของเซลายาได้รับคำสั่งห้ามเข้ามาในน่านฟ้าของฮอนดูรัสแล้ว
 
เครื่องบินหลายลำที่บินออกจากกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกามุ่งสู่ฮอนดูรัส มีผู้โดยสารประกอบด้วยประธานาธิบดีจากประเทศในลาตินอเมริกาหลายชาติ เลขาธิการทั่วไปองค์การรัฐอเมริกัน หรือ OAS และนักข่าวจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องการติดตามสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฮอนดูรัส ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะร่อนลงจอดในพื้นที่ใด
 
ผู้ร่วมเดินทางมากับเซลายาประกอบด้วยที่ปรึกษาคนสนิทและคณะทำงานของเซลายา ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวของเวเนซุเอลาเทเลซู (Telesur) และนายมิเกล เดสโคโต บล็อกมานน์ (Miguel D'Escoto Brockmann) ประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นบาทหลวงฝ่ายซ้ายและเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของนิคารากัว ซึ่งประณามการขับนายเซลายาออกนอกประเทศว่าเป็นการรัฐประหาร
 
ผู้สื่อข่าวของเทเลซูซึ่งโดยสารบนเครื่องบินได้สัมภาษณ์สดนายเซลายาระหว่างทำการบิน เขากล่าวว่า “ไม่มีใครทำให้ผมหันหลังกลับได้ รัฐธรรมนูญห้ามไล่ชาวฮอนดูรัสออกนอกประเทศ ข้าพเจ้าเดินทางกลับโดยยึดตามรัฐธรรมนูญเป็นหลักประกัน” เซลายากล่าว
 
 
ประธานาธิบดีเอกวาดอร์เตือนกองทัพฮอนดูรัสให้เลี่ยงการนองเลือด
แต่ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยของพวกเขาได้ ทำให้ประธานาธิบดีของประเทศเอกวาดอร์ ราฟาเอล คอเรอา (Rafael Correa) ขอร้องมายังกองทัพฮอนดูรัสให้หลีกเลี่ยงการนองเลือด “ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งโลกจะถามหาว่าใครคือคนรับผิดชอบ” เขากล่าว
 
หากเครื่องบินของเซลายาได้รับอนุญาตให้ร่อนลงจอด เครื่องบินลำอื่นๆ ก็จะลงจอดด้วย คอเรอากล่าว ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น เครื่องบินของประธานาธิบดีคอเรอา ประธานาธิบดีเฟร์นันโดอาร์มินโด ลูโก เมนเดซ ของปารากวัย ประธานาธิบดีกริสตินา เฟร์นันเดซ เคิร์ชเนอร์ ประธานาธิบดีหญิงของอาร์เจนตินา และโฮเซ่ มิเกล อินซุลซ่า (Jose Miguel Insulza) เลขาธิการทั่วไปขององค์การรัฐอเมริกัน (OAS) จะลงจอดที่ประเทศเอลซัลวาดอร์
 
 
เผยหลังรัฐประหาร เซลายาเจอ 18 ข้อหา
ด้านหัวหน้าบาทหลวงของฮอนดูรัสและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในฮอนดูรัสเตือนเซลายาให้อยู่ห่างๆ และว่าหากเซลายากลับเข้ามาจะทำให้เกิดการนองเลือด ขณะที่รัฐบาลรักษาการชุดใหม่ก็เตือนว่าจะจับกุมเซลายาและนำขึ้นพิจารณาคดีในชั้นศาล
 
โดยรัฐบาลหลังการรัฐประหารของฮอนดูรัส ประกาศว่าจะจับเซลายา โดยตั้งข้อหาให้ 18 ข้อหา หนึ่งในจำนวนข้อหานี้คือ ทรยศและไม่ยอมผ่านกฎหมาย 80 ฉบับที่รัฐสภาอนุมัติ นับตั้งแต่เซลายาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2549
 
ขณะที่ศาลสูงสุดของฮอนดูรัสมีอำนาจอย่างมาก เซลายายังกดดันด้วยการเตรียมจัดการลงประชามติเพื่อขอให้รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลวิจารณ์แผนการขยายวาระการดำรงตำแหน่งของเขาด้วย
 
แต่การส่งทหารเข้าไปยิงภายในทำเนียบประธานาธิบดีและขับเซลายาออกจากฮอนดูรัสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยมิเชลเลตติถูกนานาชาติประณาม โดยเฉพาะถูกประณามจากสหรัฐเมริกา และองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ซึ่งมีประเทศในทวีปเมริกาเป็นสมาชิกกว่า 35 ประเทศ
 
ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนออกมารับรองรัฐบาลใหม่ของฮอนดูรัส ขณะที่ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า (Barack Obama) ร่วมกับประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมแห่งโคลัมเบียอัลวาโร อูริเบ (Alvaro Uribe) และประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายอย่างฮูโก ชาเวซ (Chavez of Venezuela) ต่างวิจารณ์การรัฐประหารในฮอนดูรัส
 
 
OAS ขับฮอนดูรัสจากการเป็นสมาชิกแล้ว
องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ยื่นคำขาดให้รัฐบาลรักษาการฮอนดูรัสคืนอำนาจแก่เซลายาภายในวันเสาร์ และส่งคณะผู้แทนฉุกเฉินเข้าไปในฮอนดูรัสเพื่อโน้มน้าวรัฐบาลรักษาการ แต่มิเชลเลตติก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของ OAS
 
โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา OAS ได้ถอนฮอนดูรัสออกจากสมาชิกภาพ ขณะที่มิเชลเลตติก็ประกาศถอนตัวจาก OAS ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะถึงเส้นตายของ OAS ที่ให้คืนอำนาจแก่เซลายา
 
โดยสมาชิก OAS 34 ชาติลงมติ 33-0 เสียง ขับฮอนดูรัสพ้นจากการเป็นสมาชิก เมื่อคืนวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างการประชุมที่สำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่ผู้แทนของฮอนดูรัสงดออกเสียง โดยโฮเซ มิเกล อินซุลซา เลขาธิการใหญ่ OAS ให้สัมภาษณ์ว่า การขับฮอนดูรัสพ้นสมาชิกเป็นไปตามมาตรา 21 ของกฎบัตร OAS ที่ระบุว่าชาติสมาชิกอาจถูกระงับการเป็นสมาชิกหากมีเหตุที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญต้องถูกขัดขวางด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญ
 
 
เซลายาเรียกร้องผู้สนับสนุนรวมตัวสนามบิน
เซลายายังเรียกร้องให้ผู้ที่นิยมในตัวเขาช่วยสนับสนุนเขาในการเข้าประเทศฮอนดูรัสด้วยการแสดงพลังอย่างสันติ
 
“พวกเรากำลังจะแสดงให้เห็นที่ท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงเตกูซิกัลปา และในวันอาทิตย์พวกเราจะอยู่ที่เตกูซิกัลปา” เซลายาแถลงเมื่อวันเสาร์ที่ 4 ก.ค. ผ่านการบันทึกเทปคำแถลงและเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเทเลซูร์ และคิวบาดีเบต (Cubadebate) “ทำอย่างที่ผมสอนเป็นประจำโดยใช้สันติวิธี”
 
ผู้สนับสนุนเซลายากล่าวว่าพวกเขาทราบถ้อยแถลงดังกล่าวระหว่างการเคลื่อนมารวมตัวกันที่ท่าอากาศยาน
 
“พวกเราไม่มีปืนพกหรืออาวุธอะไร มีแต่หลักการของพวกเรา” แกนนำการชุมนุมอย่างราฟาเอล อัลเรเรีย (Rafael Alegria) กล่าว “พวกเรามีความชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและช่วยประธานาธิบดีเซลายากลับมาประจำตำแหน่ง”
 
ฝูงชนที่ต่อต้านเซลายาจำนวนมากได้จัดการชุมนุมทุกวันเพื่อสนับสนุนนายมิเชลเลตติ ซึ่งได้รับเลือกจากรัฐสภามาเป็นประธานาธิบดีเพื่อดำรงตำแหน่งอีก 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหลือของเซลายาในการดำรงตำแหน่ง
 
ผู้สนับสนุนของเซลายาส่วนใหญ่เป็นกรรมกรและชนชั้นกลางของประเทศซึ่งยากจน และแม้ว่าประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายผู้นี้จะมีพื้นเพมาจากเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ผู้มั่งคั่ง แต่เขาก็ไม่ได้รับความนิยมจากชนชั้นสูง
 
 
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Honduran military told to turn back Zelaya's jet, WILL WEISSERT and NESTOR IKEDA, AP, Sun Jul 5, 2009.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net