การเพิ่มและคงกำลังทหารคือตัวเร่งการปลดปล่อยรัฐปัตตานี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน  

บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากผู้เขียนได้อ่านแนวคิดหรือทัศนคติของพล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งมองว่า.” ถอนทหารเมื่อไหร่...ป่วนใต้ขยายวง” [1] โดย ผู้เขียนมีทัศนะว่า การยังคงและเพิ่มกำลังทหารคือตัวเร่งการปลดปล่อยรัฐปัตตานี โดยมีเหตุปัจจัยดีนี้

๑. สถิติความรุนแรงและความอนุภาพความรุนแรงไม่ได้ลด
การพิจารณาว่าความรุนแรงลดหรือไม่ต้องดูสถิติก่อนปี 2547 ไม่ใช่ดูช่วง 5 ปี เพราะช่วง 5 ปีคือการปฏิบัติการณ์ทางทหาร

“ถ้าเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี ก่อนการปะทุของเหตุการณ์ ในปี พ.ศ. 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ได้สูงโด่งขึ้นมาอย่างฉับพลัน อย่างรุนแรงและเป็นระบบ ระหว่างเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนธันวาคม 2551 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นรวมเป็นจำนวน 8,541 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 8,692 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้เสียชีวิต ประมาณ 3,287 ราย และบาดเจ็บ 5,405 ราย  ความ ไม่สงบดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปของการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ด้วยวิธีการโจมตีด้วยการยิงสังหาร การวางระเบิด การวางเพลิงและการก่อกวนทำลายสถานที่ต่างๆ เหมือนไฟที่เผาลามสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้และอารมณ์ความรู้สึกของคนทั้ง ชาติอย่างไม่รู้จบสิ้น” [2]
 
นี่คือข้อมูลจาก ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี   ผอ. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้  สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้   มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและเป็นตัวเลขที่นับได้และผู้เขียนมั่นใจว่ายังมีตัวเลขที่ไม่ได้อีกจำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน
 
๒. ความอยุติธรรม การซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นช่วงปฏิบัติการทางทหารมิใช่หรือ
ในทุกเวทีที่ผู้อ่านเข้าร่วมสัมมนาว่าด้วย ความยุติธรรม   การซ้อมทรมานและสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ชายแดนใต้หรือเวที ในกรุงเทพมหานคร ต่างสะท้อนตรงกันว่า  "ความไม่เป็นธรรม" คือรากเหง้าหนึ่งของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน แม้ทุกรัฐบาลจะพยายาม ฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรมโดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของโครงสร้าง ศอ.บต. เพื่อเป็นหลักประกันด้าน "ความเป็นธรรม" ให้มากขึ้นกว่าเดิม 
 
ในขณะที่ข้อมูลการอุ้มฆ่า อุ้มหาย การซ้อมทรมานและการวิสามัญฆาตกรรม เกิดขึ้นทั้งจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและนอกกฎหมายเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยมีกรณี ตัวอย่างที่รัฐไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเพราะมันถูกเปิดเผยสูสาธารณชนแล้วอย่างกรณีอิหม่ามยะผา หรือคดีล่าสุดซึ่งเป็นข้อมูลจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งผู้ต้องสงสัยนายชมาน ปะแตบือแน ถูกเจ้าหน้าที่แต่งกายชุดเครื่องแบบอยู่ในสภาพที่เมาเหล้าและมีกลิ่นเหล้าติดตัวซ้อมทรมานขณะซึ่ง นับเป็นกรณีที่ 18 จากการตรวจสอบและการรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานนับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเหตุการณ์ซึ่งพื้นที่เต็มไปด้วยหน่วยความมั่นคงทั้งในและนอกพื้นที่
 
อันเนื่องมาจากโจทย์ของความไม่สงบคือขบวนการแบ่งแยกดินแดนดังนั้นกลุ่มเป้าหมายหลักๆจากหน่วยความมั่นคงก็ยังคงเป็นไทยคนมลายูมุสลิมจาก จากกลุ่มผู้นำศาสนาโต๊ะอิหม่าม  โต๊ะครู  อุสตาซ หรือครูที่สอนในโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนเด็กเล็ก) การตรวจค้นจับกุมบุคคลเหล่านี้ หากไม่ทำความเข้าใจให้ดี และไม่มีพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอ จะกระทบกับความรู้สึกของชาวบ้านอย่างมาก
 
ยิ่งฝ่ายความมั่นคงใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษ และเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม มากขึ้นเท่าใด ความรู้สึก "ไม่เป็นธรรม" ในหัวจิตหัวใจของชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีมากขึ้นเท่านั้น เบื้องหลังของความรู้สึกแบบนี้เป็นสิ่งที่ต้องค้นหา เพื่อหยุดยั้ง "สงครามความรู้สึก" ระหว่าง "รัฐ" กับ "ชาวบ้าน" ที่ทำให้คนสองกลุ่มในชาติเดียวกันยืนห่างกันคนละมุมมากขึ้นทุกที
 
3. งบประมาณที่มากและกระจุกคือจุดอ่อนหลักในการแก้ปัญหา
การคงทหารจะต้องคงงบประมาณ และเป็นที่ยอมรับว่างบประมาณเป็นปัจจัยหลักในการแก้ปัญหาเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแต่มันอาจเป็นจุดอ่อนหลักเช่นกัน หากปัจจุบันงบประมาณ ถูกทำให้เหมือนยาเสพติด ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญของคนในพื้นที่ว่า “ หลายโครงการคือการเสพงบประมาณ” เพราะปัจุบันด้านงบประมาณในรอบ 5 ปี ใช้ไปแล้วประมาณ 109,000 ล้านบาท จากการคำนวณต้นทุนในการจัดการพบว่า การทำให้เกิดเหตุการณ์ลดลง 1 เหตุการณ์จะต้องใช้งบประมาณ 88 ล้านบาท ซึ่งเป็นฐานที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นถ้ารัฐใช้นโยบายที่เน้นการทหารและความเข้มแข็งเป็นหลัก ต้นทุนที่รัฐต้องลงทุนเพื่อนำไปสู่ความสงบต้องเพิ่มอีกประมาณ 235,984 ล้านบาท รวมแล้วประมาณ 345,280 ล้านบาท และใช้เวลาอีกประมาณ 5 -10 ปี
    
4. การพัฒนาต้องให้ประชาชนไม่ใช้ทหารนำ
หากจะพิจารณาการพัฒนาที่นำโดยทหารโดยลงพื้นที่สัมผัสจริงๆหรือเข้าไปวิจัยก็ได้ (ผู้เขียนในฐานะทำและร่วมโครงการดับบ้านดับเมืองซึ่งลงสู่ชุมชน)พบว่าลึกๆแล้วเกิดผลสัมฤทธิ์น้อยกว่าชุมชนคิดเอง ทำเอง และควรให้หน่วยงานอื่นทำมากมากว่าทหาร   โดยใช้งบประมาณเท่ากันหรือน้อยกว่าก็ได้
 
หลักการให้ประชาชนเป็นพลังหลักในงานพัฒนานั้นมีส่วนสำคัญมากทั้งทัศนคติและการลงสู่ปฏิบัติ  การพัฒนาในอดีตหรือทหารให้โมเดลมาที่มีลักษณะรวมศูนย์การตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลางได้สร้างปัญหาให้ประชาชนเกิดความรู้สึกวางเฉยต่องานพัฒนา ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางงานพัฒนา ไม่มีบทบาทใดๆจึงไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของงานพัฒนา เพื่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม ทิศทางใหม่ของงานพัฒนาควรให้ประชาชนในพื้นทีเป็นหลัก ประชาชนมีความรักและหวงแหนในสิ่งที่ตนได้ทำเอง โดยมีพี่เลี้ยงผู้ชำนาญการด้านวิชาการจากคนในพื้นที่หรือมีความเป็นพลเรือนคอยดูแลให้การปรึกษาหารือและประสานงานเป็นระยะ โดยมีการสนับสนุนอีกชั้นหนึ่งจากภาครัฐ(ภาคพลเรือน)ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความพร้อม มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือจากภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งบทบาทนี้ภาคประชาสังคมจะทำหน้าที่ได้ดี แต่ขาดทรัพยากรด้านงบประมาณในการทำงาน
 
โดยที่หลักการพัฒนาจะต้องเกิดจากความต้องการจากข้างล่าง (Bottom Up) ซึ่งจะได้ข้อมูลข้อเท็จจริงของแต่ละพื้นที่ มีความเบี่ยงเบนน้อยที่สุด ทำให้การแก้ปัญหาได้ตรงจุดเป็นรายพื้นที่ ไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนในพื้นทีที่สามารถกำหนดตนเองตามความต้องการได้ มีความสอดคล้องอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อขจัดข้อหวาดระแวงที่มีอยู่ในใจของประชาชน สามารถแก้ปัญหาในส่วนที่เป็นการบริการของภาครัฐที่มีการเลือกปฏิบัติและเข้าไม่ถึงพื้นที่ โดยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเวทีแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างเปิดเผย ไม่ใช่เป็นเวทีที่ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกันและมีอุปสรรคในการใช้ภาษาในการพูดคุย
 
การพัฒนาเหล่านี้จะเป็นหลักการพัฒนาแห่งการพึ่งพาตนเองได้ ให้ประชาชนคิดเอง แก้ปัญหาเอง โดยไม่จำเป็นต้องรอความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าฝ่ายใด มักจะช่วยเหลือในเชิงการสงเคราะห์ ซึ่งไม่ได้สร้างสติปัญญาและพัฒนาความสามารถของประชาชนเท่าใดนัก ทำให้ประชาชนมีนิสัยเอาแต่ร้องขอและรอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา แก้ปัญหาตนเองไม่ได้ ซึ่งวิธีการที่ได้ผลต้องมีการรวมกลุ่มและมีการสร้างกิจกรรมกลุ่มอย่างที่มีพัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอน สามารถต่อยอดจากกิจกรรมหนึ่งสู่อีกกิจกรรมหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่ประชาชนต้องเริ่มต้นใหม่อยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นการสูญเสียเวลาและงบประมาณ
 
ในขณะเดียวกันจะต้องไม่ลืมหลักการที่ใช้ทุนเดิมมีอยู่ในท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย และมีภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มมูลค่า โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งจิตภาพและกายภาพ ด้วยเช่นกัน
 
กล่าวโดยสรุป การแก้ปัญหาความไม่สงบที่ใช้ทหารนำในการพัฒนาแบบสั่งการในเชิงปฏิบัติในพื้นที่คือปัญหาด้วยส่วนหนึ่งดังนั้น ควรภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมทั้งรัฐที่เป็นภาควิชาการและพลเรือนควรมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการคลี่คลายสถานการณ์ เพราะมีข้อจำกัดอยู่ไม่มาก มีการทำงานที่ยืดหยุ่นมากกว่าภาครัฐที่เป็นหน่วยความมั่นคงและ ควรได้รับแรงหนุนเสริมที่ไปในทิศทางเดียวกันของส่วนภาครัฐ ซึ่งจะเกิดได้ต้องอาศัยเวทีการสานเสวนาสร้างความเข้าใจและได้ปฏิบัติการไปพร้อมๆ กัน มิฉะนั้นจะมีแต่การสร้างวาทะกรรมกันเพียงอย่างเดียว โดยไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมที่เป็นสัญญาณของงานพัฒนาที่ได้รับการสัมผัสจริงที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน
 
หรือแม้แต่การปรับทัศนคติเกี่ยวกับรัฐปัตตานีซึ่งทหารทำอยู่และอบรมหลายรุ่นโดยใช้นักวิชาการจากกรุงเทพมหานครนั้นก็ควรให้ภาคประชาสังคมจัดให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากว่าอบรมยัดเยียดความรู้
 
5.ปัญหาใต้เข้าสู่เวทีโลกมุสลิมแน่นอน [3]
รัฐ หรือคนเข้าข้างรัฐมักแสดงความวิตกกังวลว่า เหตุการณ์ภาคใต้ จนถึง ณ วินาทีนี้ อาจถูกดึงเข้าสู่เวทีโลกมุสลิมและและความช่วยเหลืออย่างอื่นจากกลุ่มต่างๆในโลกมุสลิมเข้ามา หรือกลุ่มเหล่านั้นเข้ามาเอง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไป และอาจเกิดการต่อสู้ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
 
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับโดยดุษฎีในยุคโลกไร้พรมแดน นั้นปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สู่การพูดคุย ในทางทีไม่ดีในเวทีนานาชาติแล้วตลอดมาและจะยิ่งสู่จุดอับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน NGOs หรือ หน่วยงานของรัฐมุสลิมหลายประเทศ
 
หากรัฐมั่นใจในการคงทหารเพื่อเดินเกมส์การแก้ปัญหาและมั่นใจว่าทหารนับหมื่นในพื้นที่ไม่พลาดและมั่นใจว่าสามารถควบคุมคนของหน่วยความมั่นคงนอกแถวหรือคนที่รัฐสนับสนุนติดอาวุธให้ได้ตลอดก็คงไว้เถอะกองกำลังทหาร
 
แต่หากกองกำลังทหารไทยพลาดเมื่อไร ไม่เพียงแต่เวทีโลกมุสลิมเท่านั้นยอมรับไม่ได้ ชาวบ้านที่เป็นคนไทยมลายูมุสลิมเองส่วนใหญ่นั่นแหละจะออกมาเรียกร้อง……ส่วนเป็นการเรียกร้องจะเป็นเรื่องอะไรนั่น รัฐคงมีคำตอบอยู่ในใจ เพราะประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทั่วโลกไม่ต่างกันมากหรอก     
 

 

 


[1] See …..http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4744&Itemid=86
 
[2] ซึ่งผู้อ่านสามารถอ่านตัวเลขเหล่านนี้ได้จาก http://www.deepsouthwatch.org/documents/01-520118.pdf
 
[3]ส่วนหนึ่งของข่าวและสกูปผ่านสื่ออาหรับ และมุสลิม โปรดดูhttp://www.islamonline.net/servlet/Satellite?c=ArticleA_C&cid=1213871658378&pagename=Zone-Arabic-News%2FNWALayout
http://www.almotamar.net/news/48641.htm
http://mppas.wordpress.com/2007/07/03/wakil-rakyat-pas-bela-nasib-umat-islam-4-wilayah/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท