Skip to main content
sharethis


บนเส้นทางการพัฒนานั้น จำเป็นอยู่ในตัวของมันเอง ที่เมื่อการก่อร่างสิ่งหนึ่งต้องไปทำลายอีกสิ่งหนึ่งในขนาดที่ไม่มากก็น้อย สังคม ความคิด เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ต้นไม้ ป่าเขา ทะเล ชายหาด หรือแม้กระทั่งสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างหัวจิตหัวใจของผู้คน ผู้เลือกจะยืนอยู่บนวิถีที่ต่างออกไป ยิ่งหากเทพเจ้าในนามนายทุนนักพัฒนาดำริจะใช้พื้นที่บริเวณไหน จิ้มลงมาบริเวณไหน รัฐไทยจำต้องหลับหูหลับตาลืมพลเมืองหอย ปูตัวเล็กๆ แล้วรีบกระวีกระวาดใส่ถาดประเคนให้เขาไป

แทบจะทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น แตกต่างกันเพียง ขนาดและที่ตั้งของทุน เล็กหรือใหญ่ ไกลหรือใกล้ ซึ่งจะมีส่วนในการบีบเค้นความทรหดอดทนของชาวบ้านปูปลาตัวเล็กๆที่ยืนหยัดต่อต้านให้ล่าถอย ทุนใหญ่ ตัวใหญ่ กำลังเยอะ เส้นเยอะ มือตีนเยอะ ย่อมรีดเค้นความมานะพยายามในการต่อต้านของชาวบ้านได้มากเป็นธรรมดา

เช่นเดียวกับที่ อ.จะนะ ที่เริ่มเห็นเค้าลางว่า เหลือเส้นทางอีกไม่เท่าไหร่ ที่พื้นที่แห่งนั้นจะกลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่ 2 สถานรมควันพิษชั้นหนึ่งที่รัฐไทยบรรจงสร้างเป็นของขวัญให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โรงเรียน วัดต้องย้ายออก อีกไม่นานที่จะนะ ทั้งโรงแยกก๊าซที่เกิดขึ้นมาก่อน โรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นตามมา และมีทีท่าจะเกิดขึ้นตามมาอีก 1 โรง โครงการท่าเรือน้ำลึกที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่นับตัวละครอื่นๆ ที่จะพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ให้กลายเป็นดินแดนของอุตสาหกรรม! เต็มรูปแบบ
 

แน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลเป็นการขูดรีดเอาทรัพยากรไปจากชาวบ้าน ผ่านกลไกรัฐ การปกครอง ทุน พวกเขาล้วนละเลยเสียงทักท้วงของชาวบ้าน ว่าการที่พวกเขาเข้ามานั้นล้วนย่ำยีแปลงนา ชายหาด อากาศบริสุทธิ์ของพวกเขา ซึ่งหมายถึงจิตวิญญาณของพวกเขาด้วย
 

1

 

‘’เราเคยสัญญากับเขา(เจ้าหน้าที่รัฐ)ไปแล้วว่า ถ้าหากมีตำรวจเข้ามาในพื้นที่ลานหอยเสียบที่ชาวบ้านอยู่ ต้องชี้แจงและบอกกับชาวบ้านเสียก่อน แต่ว่าพวกเขากลับเข้ามาที่นี่พร้อมกับอาวุธปืน ลูกชายและเยาวชนในหมู่บ้านเห็นว่าผิดสังเกตก็เข้าไปถามว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น พวกเขาก็วิทยุให้ตำรวจจากที่อื่นมากันเป็นสิบคันรถ จับลูกชายกับเพื่อนๆกระหน่ำตีเอาสลบตรงนั้นแล้วก็โยนขึ้นรถ’’ สุไลด๊ะ โต๊ะหลี สตรีมุสลิม หนึ่งในผู้ต่อต้านโครงการโรงแยกก๊าซสะท้อนให้เราฟังทั้งน้ำตาซึมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับบุตรชายของเธอ ในคืนแห่งความโชคร้ายที่บุตรชายถูกมือตีนของกลุ่มทุนเข้าทำร้าย ในช่วงที่สถานการณ์ท่อก๊าซไทยมาเลย์กำลังสุกงอม
 

‘’คืนนั้นตอนตีหนึ่งตนเองออกมาตามหาลูกชายไม่ได้เพราะว่าถูกออกหมายจับ จึงยกครอบครัวหนีไปหลบที่ลานหอยเสียบเพื่อความปลอดภัย เพราะว่าเขาไปล้อมบ้านเพื่อจับตามหมายจับ หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่โรงแรมเจบี ตำรวจก็ยึดเอารถเครื่องไป ยึดเอารถยนต์ไปบ้าง’’ เสียงนั้นยังคงสั่นเทา เรียกเอาน้ำตาของผู้สัมภาษณ์ซึมไหล แน่หละว่าหัวจิตหัวใจของผู้เป็นแม่อย่างเธอในห้วงเวลานั้นคงแทบจะแหลกสลาย
 

‘’ลูกถูกตีแต่ว่าตนเองออกไปไหนไม่ได้ เพราะว่ามีหมายจับ ก็นั่งมองมัสยิดที่ลานหอยเสียบ ใจก็อยากจะออกไปช่วยลูก อยากจะออกไปช่วยลูกแต่ว่าก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรแล้วในตอนนั้น ลูกนอนเจ็บอยู่โรงพยาบาลเราจะออกไปเยี่ยมก็ไม่ได้เพราะว่าตำรวจรอจับอยู่  ตอนนั้นลูกตนเองก็ยังไม่ฟื้น โดนตีหัวกะโหลกร้าว ตอนหลังก็มีหลักฐานชัดว่าตำรวจตีลูกชาย ทั้งตีด้วยกระบอง หรือว่าเอารองเท้ากระทืบหน้าลูกชาย มันทรมานสุดๆ จนบัดนี้ความเจ็บปวดก็ยังไม่หาย เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นแก่นายทุน และผลประโยชน์มากกว่าชาวบ้าน’’เธอยกเอาแขนเสื้อขึ้นซับน้ำตา
 

……….

'โครงการพวกนี้เป็นโครงการของอำนาจรัฐ เขาอ้างเรื่องการพัฒนามากดหัวชาวบ้าน เมื่อก่อนพื้นที่ของเราเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่อุดมสมบูรณ์ ใน อ.จะนะมีแทบจะทุกอย่าง นกเขา เลี้ยงวัว ประมง ทำสวน เขาก็เอาเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษมาอ้าง ถามว่าทุกวันนี้โรงแยกก๊าซถมพื้นที่สูงขึ้นไปเท่าไหร่ พื้นที่การเกษตรพังหมด ชาวบ้านเคยทำนา ทำไร่ น้ำเสียของเขา(โรงแยกก๊าซ)ก็ไหลลงมาในพื้นที่พวกเรา ไม่ใช่มันจะไหลขึ้นไปบนพื้นที่เขาสักหน่อย แล้วก็ไหลลงทะเล ถามว่าปลามันจะอยู่ได้ไหม ทรัพยากรทั้งน้ำและบกก็หมดไป’’เธอสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นออกมาให้ฟัง หลายปีหลังจากที่โรงแยกก๊าซเกิดขึ้นมา เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่าอะไรพังไปบ้างแล้ว
 

‘’ผลที่เกิดขึ้นมาน้ำก็เสีย เสียงจากโรงงานก็ดังลั่น ตอนที่เริ่มเปิดโรงแยกก๊าซ ไก่ของเกษตรกรที่อยู่ติดกับโรงแยกตายหมดคอก แล้วก็มีชาวบ้านเสียชีวิตหนึ่งคน เขาเป็นคนแก่ ไม่สบายอยู่แล้ว พอเดินเครื่องเขาก็ตกใจ ในเวลานี้รอบๆ โรงแยกก๊าซไม่มีชาวบ้านคนไหนเลี้ยงไก่แล้วเพราะว่าเลี้ยงแล้วก็ขาดทุน วัวนี่ตายไปร่วมร้อยตัวได้เพราะกินน้ำเข้าไป ที่นั่นมีกลิ่นเป็นระยะๆ ต่อมาโรงไฟฟ้าก็เกิดขึ้นต่อมาจากโรงแยกอีก จากก่อนหน้านี้เขาบอกว่าจะมีแต่เพียงโรงแยกเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น”เธอร่ายยาวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากที่โรงแยกก๊าซเกิดขึ้นมาก่อน แล้วหลังจากนั้นไม่นานโรงไฟฟ้าก็เกิดขึ้น
 

‘’ตอนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า เขาประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านทางวิทยุ บอกว่าไฟฟ้าที่นี่(จะนะ)ไม่พอใช้ ต้องการที่จะเพิ่มพลังงานไฟฟ้าให้กับชาวบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วถามว่าถ้าหากมันไม่มีอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ชาวบ้านก็ไม่ได้เดือดร้อนที่จะต้องใช้ไฟใช้พลังงานมากมายขนาดนั้น เหมือนกับที่เขาบอกว่า ถ้าหากมีโรงแยกก๊าซเกิดขึ้นแล้ว ราคาก๊าซก็จะถูก ในเวลานั้นที่อ.จะนะ เราซื้อก๊าซถังละ 160 ตอนนี้ราคา 310 บาท แล้วมันถูกตรงไหน พวกนั้นมันก็โกหกทั้งนั้น’’
 

เธอเล่าต่อ’’วิธีการดำเนินงานไม่ว่าเป็นโรงแยกก๊าซ หรือว่าโรงไฟฟ้า คณะทำงานประชาสัมพันธ์หรือพวกเจ้าหน้าที่ที่จัดการมวลชนของโรงไฟฟ้า เขาจะไม่พบคุยกับพี่น้องชาวบ้าน แต่ว่าเขาจะเลือกคุยกับผู้นำ เรียกผู้นำไปพบแล้วก็เสนอผลประโยชน์ให้ ให้กับโต๊ะอิหม่าม มัสยิด หรือว่า อบต. ในส่วนของทาง อบต.คลองเปียะรู้สึกว่าจะได้รับเงินจากโรงไฟฟ้ามาประมาณ 700,000 บาท คือว่าทั้ง 14 อบต.ใน อ.จะนะ ทางโรงไฟฟ้าให้เงินทั้งหมด มีเอกสารที่ยืนยันได้ โรงเรียนแห่งหนึ่งได้เงิน 2,000,000 บาท เพื่อที่จะให้คนมองว่านี่คือความดี เรียกร้องความสนใจ และเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อที่จะเปลี่ยนความคิดของคน แต่ว่าในขณะเดียวกันความจริงที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วไม่เคยบอกกล่าวให้ชาวบ้านได้รับรู้  บอกแต่เพียงเรื่องดี ๆ ชาวบ้านก็กลัวว่าไม่มีไฟฟ้าใช้’’
 

‘’ล่าสุดเกิดกรณีปลาตาย พี่น้องที่เลี้ยงปลาในกระชังที่คลองนาทับ ปลาตายเป็นเบือ พอเกิดผลกระทบ เขาก็จะให้เงินชดเชยว่า คุณมีค่าใช้จ่ายไปทั้งหมดเท่าไหร่ ปลาขนาดนี้ต้องมีราคาเท่าไหร่ จะเอาไปให้ในลักษณะนั้น ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเสียก่อน แต่ว่าปัญหาจริงๆมันก็ไม่ได้รับการแก้ไข...’’
 

..........

เมื่อฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากของชีวิตชาวบ้านถูกทำลาย มีคำถามว่าแล้วระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่จะสามารถรองรับคนอย่างพวกเธอได้หรือไม่ เธอบอกกับเราด้วยน้ำเสียงไม่เชื่อว่า‘’ถามว่าเมื่อเราไม่สามารถหาอยู่หากินได้ จะให้ไปทำงานในโรงงาน รุ่นอย่างตนเขาก็ไม่รับหรอก ความรู้ของตนเองมีเพียงแค่ประถมสี่ แล้วยิ่งวิถีชีวิตแบบบ้านๆของเราก็หมดไป เพราะถ้าให้เปรียบ คนรุ่นอย่างตนเองก็ยังมีแรงตัดยางได้อยู่ ปลูกผักปลูกหญ้าได้อยู่ ถ้าหากให้เข้าไปทำงานในโรงงานเขาจะเอาเราไปไว้ที่ไหน...’’
 

‘’...ก่อนที่จะสร้างโรงแยกก๊าซเขาก็มาประชาสัมพันธ์ว่า ชาวบ้านจะได้มีงานทำเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น ตอนที่เขาเข้ามาใหม่ๆเขาก็ถามว่า คนในบ้านนี้บ้านนั้นหายไปไหนกันหมด ชาวบ้านก็ตอบไปว่าออกไปทำงานในโรงงาน พวกเขาก็บอกว่า เมื่อมีโรงไฟฟ้าเข้ามาแล้ว ต่อไปชาวบ้านที่นี่จะได้มีงานทำกัน ไม่ต้องไปทำงานนอกบ้าน มีการจ้างนักศึกษามาลงพื้นที่แล้วก็ประชาสัมพันธ์ว่า ถ้าหากมีโรงไฟฟ้าแล้ว ชาวบ้านจะมีงานทำ แต่ว่าปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร ถามว่ามีชาวบ้านสักกี่คนที่ได้เข้าไปทำงานในนั้น แล้วเขายังบอกอีกว่าในส่วนที่หากบ้านไหนใช้แก๊สแล้วก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป็นถังๆ เพราะว่าเขามีท่อใหญ่แล้วให้ต่อเข้ามาในบ้านเหมือนกับท่อประปาได้เลย แล้วเป็นอย่างไร’’เธอตั้งคำถามทิ้งท้าย
 

แต่ทางนั้น(ฝ่ายโรงแยกก๊าซ)เขาก็บอกว่าแผนพัฒนาพวกนี้อยู่ในกระดาษ ถ้าหากชาวบ้านไม่เอาจะฉีกทิ้งเสียเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วเขายังบอกว่าในพื้นที่นี้มีแต่โรงแยกก๊าซไม่มีโรงงานอุตสาหกรรม เขาว่าไม่ต้องกลัว
 

‘’ชาวบ้านบางคนที่เขาไม่เข้าใจในส่วนนั้น ก็เห็นด้วยคล้อยตาม ส่วนเราก็ฟังแล้วก็เอาไปศึกษาก่อนว่ามันมีความเป็นจริงเพียงไร จะมีผลกระทบมากเท่าไหน ผลเสียหรือว่าผลได้มากแค่ไหน ไปศึกษาหาข้อมูลจากนักวิชาการ จากอาจารย์มอ.บ้าง เอ็นจีโอบ้าง เขาก็มาให้ความรู้ความคิด ก็ศึกษาแล้วสุดท้ายก็ได้ไปดูงานกันที่มาบตาพุดกันแต่ว่าเมื่อเราไปดูที่มาบตาพุดก็รู้ว่าเมื่อมีโรงงานแยกก๊าซแล้วมันก็ต้องมีอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็มีนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา เพราะว่าโดยเหตุผลแล้ว โรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซต้องให้พลังงานแก่อุตสาหกรรม ให้พลังงานกับโรงงาน’’
 

..........

แน่นอนว่าตัวอย่างที่เกิดขึ้นที่มาบตาพุดเป็นอภิมหากรณีสุดคลาสสิค หรือจะเอาแม่เมาะที่ผ่านการต่อสู้อย่างยาวนาน 16 ปี ประชาชนล้มหายตายจากไปทีละคน ชาวบ้านบางคนที่ทนไม่ได้ก็ต้องย้ายหนีออกจากพื้นที่ อย่างน้อยก็เพื่อชีวิตข้างหน้า คิดเอาข้างหน้า โดยที่ไม่รู้ว่าหลังจากเสียฐานการผลิตแบบเดิมๆ ที่เขาอยู่กับมันมาหลายสิบปี แล้วชีวิตเขาจะมีค่าอะไร จะเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ที่ใครๆในเมืองกรุงต่างก็ตราหน้าพวกเขาว่าเป็นส่วนเกิน ทำนองที่ว่า ‘’พวก...เข้ามาอยู่ในเมืองกันทำไมวะ’’
 

เธอเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่มีโอกาสได้ปีที่มาบตาพุดว่า‘’ตอนที่ตนเองได้ไปมาบตาพุดก็มีโอกาสได้ขึ้นไปดูที่หอคอย ก็เห็นแต่โรงงานอุตสาหกรรมสุดลูกหูลูกตา ไม่มีต้นไม้ มีแต่โรงงาน ก็จินตนาการไปว่าถ้าหากจะนะต้องมาเป็นแบบนี้ ก็จิตใจไม่ดี เมื่อกลับมาบ้านก็คิดว่าถ้าหากเป็นแบบนั้น ต่อไปเราก็คงไม่มีที่อยู่กันแน่ๆ ก็ร้องไห้ออกมาเลย หลังจากนั้นก็มีการเรียกชาวบ้านมาประชุม ให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ก็เป็นเวลาประมาณ 2-3 ปี เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ก็มีการพาชาวบ้านไปดูเรื่อยๆ ว่าที่มาบตาพุดนั้นเกิดอะไรขึ้น...
 

...ตนเองก็พยายามที่จะเอามาบอกกับพี่น้อง จัดเวทีสัญจร ให้ความรู้ แต่ในขณะเดียวกันทางโรงแยกก๊าซพาคนไปดูงาน แต่ว่าเขาก็พาไปดูแต่ภาพดีๆ พาชาวบ้านที่สนับสนุนไป แต่ว่าเขาไม่ได้พาไปดูสิ่งที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างที่ตนเห็น เขากลับพาไปนอนโรงแรม พาไปดูพื้นที่ที่เขาจัดเอาไว้ให้เรียบร้อยแล้ว กินดี นอนดี ชาวบ้านที่ไปก็มาเล่าให้ฟังว่าที่นั่นไม่ได้มีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นสักนิด เขามาบอกว่าที่ไปดูมาสว่างเจริญโชติช่วงชัชวาล พอกลับมาก็มาขัดแย้งกับพวกเราพวกเขาก็บอกว่าพวกเราเป็นพวกที่ขัดขวางความเจริญของบ้านของเมืองของประเทศ’’
 

‘’ตอนที่มาบตาพุดไปครั้งที่ 3 ชาวบ้านที่ไปดูงานก็จะมีอาการเป็นลม ตนเองเองก็ยังเป็นลมเลย ไอออกเป็นเลือด ต้องพาไปที่โรงพยาบาล ไปที่โรงพยาบาลมาบตาพุดก็ไปเห็นกองขยะของบริษัทเจนโก้ โรงพยาบาลมาบตาพุดมีความสูง 4 ชั้นแต่ว่าเอาขยะที่ว่าปล่อยทิ้งไม่ได้สูงกว่าโรงพยาบาล 4ชั้นเลย แต่ว่าเขาปิดผ้าเต็นท์เอาไว้ ปลูกต้นไม้กับปลูกต้นหญ้าเอาไว้รอบๆ...’’ 
 

‘’...ตอนไปที่โรงพยาบาลมาบตาพุดกันนั้นเป็นจังหวะพอดีกับที่มีก๊าซรั่ว บริษัทไหนก็ไม่รู้มีก๊าซรั่วออกมาแล้วก็มีคนงานมาที่โรงพยาบาลประมาณ 200 กว่าคน พอดีวันนั้นตนเองไปโดยบังเอิญเข้า ไปเห็นในโรงพยาบาลที่เตียงนอนหนึ่งนอน 4-5 คนเรียงตามขวางเพราะว่าโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ สุดท้ายก็ต้องพาผู้ป่วยนั้นไปที่โรงพยาบาลอื่นๆ แต่ว่าไม่มีคนงานคนไหนบอกว่ามาจากโรงงานอะไร ตนได้ข่าวมาว่าปีนี้ โรงพยาบาลจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ เพราะว่าอยู่ไม่ได้ อยู่ไปคนไข้ก็มีแต่ตายอย่างเดียว’’เธอร่ายยาวถึงความน่ากลัว
 

‘’ตนเองพาชาวบ้านไปทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายไปเห็นสภาพโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ที่นั่นมีเด็กเรียนเรียนอยู่หลายร้อยคน ตอนที่ไปที่โรงเรียนก็เห็นนักเรียนใส่ผ้ากันฝุ่นเหมือนกับที่พนักงานทำงานที่โรงงาน ต้องเรียนในห้องแอร์ ถ้าหากออกไปข้างนอกก็จะต้องใส่ผ้าปิดปากปิดจมูก มีกลิ่นเหม็น มีการกล่าวหากันว่าโรงเรียนตั้งอยู่ในสถานที่ผิดผัง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรงเรียนตั้งก่อนที่นิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้น ตนก็เอาบันทึกของอาจารย์ที่บันทึกเกี่ยวกับอาการป่วยที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครูเขาจะบันทึกเอาไว้ทั้งหมดเลยว่าเวลาเท่าไหร่มีเสียงดัง หรือว่าเวลาตอนไหนที่มีกลิ่นเข้ามา น่าเศร้าว่ารอบหลังสุดที่ได้มีโอกาสไปนั้นโรงเรียนย้ายแล้ว’’
 

‘’ในระยะตอนที่ไปตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 8 ปีที่เขาสร้างมาบตาพุดขึ้นมา มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดประมาณ 56 โรงงาน ไปครั้งหลังก็เจอเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเขาบอกว่า มันไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว แต่ว่าต้องตั้งงบประมาณเอาไว้โดยเฉพาะเพื่อที่จะรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะ’’เธอว่าติดตลกขื่นๆ
 

..........

ไม่มีอะไรหนักไปกว่าการทำร้ายจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนมุสลิม ศาสนาที่ยึดเอาหลักคำสอนของพระเจ้าเป็นใหญ่เธอว่า‘’...สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดก็คือการทำลายหลักการศาสนา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าหรือว่าโรงแยกก๊าซที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ว่าชาวบ้านก็ยังไม่ยอมหยุดที่จะคัดค้าน เพราะว่านั่นเป็นที่ดินวะกัฟ คือเหตุผลว่าแม้เขาจะสร้างขึ้นมาได้แล้ว แต่ว่าชาวบ้านก็ยังไม่เคยรู้สึกว่าแพ้เลย เพราะว่าเราทำงานให้กับพระเจ้าของเรา นั่นก็คืออัลเลาะห์ เขาโกงเอาที่ดินของอัลเลาะห์ไปโดยน้ำมือของผู้นำทางศาสนาในหมู่บ้าน  ซึ่งพวกนั้นก็อ้างว่าไม่ใช่ที่ดินวะกัฟ แต่ว่าทั้งๆที่คนที่วะกัฟนั้นลูกหลานของเขายังคงมีชีวิตอยู่ ทุกวันนี้เจ้าของพื้นที่ที่วะกัฟเขาเหน็ดเหนื่อยที่จะพูดออกไปทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเขาพิสูจน์หลายครั้งแล้วว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเขาที่บริจาคให้กับศาสนา’’

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net