Skip to main content
sharethis
 
 
สวนป่าคอนสารเริ่มดำเนินการเมื่อ ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา ตามเงื่อนไขการสัมปทานทำไม้ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม บริเวณพื้นที่ป่าเหล่าไฮ่ โดยการปลูกสร้างสวนป่าดำเนินการตามระบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้ เนื้อที่ทั้งสิ้น 4,401 ไร่ อย่างไรก็ตาม การปลูกสร้างสวนป่าไม่ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายบริเวณป่าเหล่าไฮ่ แต่ได้เข้ามาปลูกในพื้นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยของราษฎร ตามพื้นที่สวนป่าในปัจจุบัน ทำให้เกิดทับซ้อนที่ดินของชาวบ้าน และนำมาสู่ปัญหาผลกระทบ และความขัดแย้งในเวลาต่อมา
 
เราสามารถพิจารณาการเข้ามาปลูกสร้างสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้ดังนี้
(1) การชักชวนให้ชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ โดยจะได้สิทธิทำงานเป็นลูกจ้างของ ออป. ได้ที่ดินทำกินคนละ 5 ไร่ และที่อยู่อาศัยอีก 1 ไร่ กรณีที่ชาวบ้านไม่ยินยอม จะมีการข่มขู่ คุกคาม และใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าดำเนินการกับชาวบ้าน รวมทั้งมีการจ้างผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ (นักเลง) เข้ามาข่มขู่ เช่นกรณีการจับกุมนาย รื่น เลิศคอนสาร ชาวบ้านหัวปลวกแหลมในข้อหาเผาป่า การจับกุมนายทองคำ เดชบำรุง ชาวบ้านทุ่งพระข้อหาตัดต้นไม้ จำคุก 3 เดือน การจับกุมนายวรรค โยธาธรรม ข้อหามีอาวุธสงครามอยู่ในครอบครอง ซึ่งกรณีนายวรรค โยธาธรรม ไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ จึงมีการใส่ร้ายโดยการนำเอาระเบิดมาฝังไว้ในพื้นที่ จากนั้นก็เข้าดำเนินการจับกุม
 
(2) การเรียกเก็บใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ของชาวบ้าน โดยเจ้าหน้าที่สวนป่าสัญญาว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน ไร่ละ 100 บาท จนถึงปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้รับค่าชดเชยดังกล่าว ลักษณะการเรียกเก็บหลักฐานข้างต้น จะใช้วิธีข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ผู้ปกครองท้องถิ่น เพื่อบังคับให้ชาวบ้านยินยอมมอบหลักฐานให้
 
(3) กรณีบ้านน้อยภูซาง จำนวน 11 ครัวเรือน ที่มีที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยในบริเวณเป้าหมายการปลูกสร้างสวนป่า ถูกบังคับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอมโดยอ้างว่าจะอยู่ที่เดิม ทางเจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่ จนกระทั่งบางส่วนต้องจำยอมอพยพเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่จัดสรรตามโครงการหมู่บ้านป่าไม้ บางส่วนย้ายกลับไปอยู่กับญาติพี่น้อง และบางส่วนไม่ยินยอมย้ายออกจากพื้นที่ เช่นกรณีของนาย ลอง อุ่นขัวเรือน ชาวบ้านหัวปลวกแหลม ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
 
(4) การดำเนินการตามระบบหมู่บ้านป่าไม้ โดยการจัดสรรที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเป็นแปลง จำนวน 100 แปลง จำแนกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับสิทธิออกเป็นสองประเภท คือ เจ้าของที่ดินเดิม และคนทั่วไปที่เข้ามาอยู่เป็นลูกจ้าง โดยได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงเรียน และวัด ในปัจจุบันมีสมาชิกในชุมชน จำนวนประมาณ 130 ครัวเรือน ซึ่งขนาดของชุมชนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมส่วยใหญ่มีลักษณะเป็น “ครอบครัวขยาย” อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานตามระบบโครงการหมู่บ้านป่าไม้ก็ยังไม่สามารถจัดสรรที่ทำกินให้กับสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้ ได้จนกระทั่งปัจจุบัน
 
(5) การดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ในช่วงระยะแรกจะให้ผู้นำหมู่บ้าน หรือผู้มีอิทธิพล เป็นผู้คุมคนงานปลูกป่า เพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งกับเจ้าของที่ดิน โดยจะปลูกทับพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านที่อยู่ในช่วงของการผลิต และการเก็บเกี่ยว พันธุ์ไม้ที่ปลูกในระยะแรกจะเป็นไม้เบิกนำ เช่น ไม้เลื่ยน กฐินณรงค์ นนทรี ส่วนไม้ยูคาลิปตัส นำเข้ามาปลูกใน ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา
 
 
การคัดค้านโครงการปลูกสร้างสวนป่าคอนสารของชาวบ้านเริ่มต้นมาตั้งแต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา โดยชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกสร้างสวนป่าโดยเด็ดขาด และคืนสิทธิที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้เดือดร้อน แต่อย่างไรก็ตาม ออป. ยังคงเข้าดำเนินการกระทั่งปัจจุบัน ต่อมามีการร้องเรียนของราษฎรมาโดยตลอดทั้งการยื่นหนังสือข้อร้องเรียนผ่านกลไกปกติของทางราชการ เช่น นักการเมือง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือการชุมนุมของชาวบ้าน ช่วงปี พ.ศ. 2539 – 2540 เป็นต้น กระทั่งปี พ.ศ. 2547 ชาวบ้านในนาม “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน” ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอำเภอคอนสาร (นายสมศักดิ์ อิทธิวรกุล) โดยกรณีสวนป่าคอนสารมีข้อเรียกร้องดังนี้
(1)   ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด
(2)   ให้ออกเอกสารสิทธิ์แก่ราษฎรผู้เดือดร้อน
            (3) พื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ที่ไม่มีการถือครองทำประโยชน์มาก่อน ให้สิทธิแก่ชุมชน ท้องถิ่นจัดการทรัพยากรป่าไม้ ในรูปแบบ “ป่าชุมชน”
 
 
สภาพปัญหา และผลกระทบ
จากการดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร ได้ก่อผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้เดือดร้อนตลอดช่วง 27 ปีที่ผ่านมา ในหลากหลายกรณี
1) กรณีผู้เดือดร้อนที่เกิดจากการปลูกสร้างสวนป่าทับที่ดินทำกิน ได้แก่ ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย อยู่ในพื้นที่ปลูกสร้างสวนป่าปัจจุบัน
2) กรณีผู้เดือดร้อนที่เป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ได้แก่ ชาวบ้านที่ยินยอมเข้าเป็นสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ที่ได้รับสัญญาว่าจะดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยให้ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการจัดหาที่ดินทำกินได้
            3) กรณีผู้เดือดร้อนที่เป็นครอบครัวขยาย หมายถึง ชาวบ้านที่เป็นบุตร เขย สะใภ้ หรือทายาท ของเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องที่ดิน กล่าวคือ ไร้ที่ดินทำกิน หรือที่ดินทำกินไม่เพียงพอ
 
 
การติดตาม ผลักดันการแก้ปัญหา
ในการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ติดตาม ผลักดันกันมาโดยตลอด
 
วันที่ 4 – 12 มีนาคม 2552 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ได้ชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และวันที่ 11 มีนาคม 2552 คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้จัดประชุมครั้งแรกที่รัฐสภาหารือกรอบนโยบายการแก้ไขปัญหา และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
 
ที่ประชุมมีมติ ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ผ่อนผันให้ราษฎรได้อยู่อาศัย และทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติไปพลางก่อนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน และแจ้งส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้ง หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป และให้คณะอนุกรรมการฯที่จะแต่งตั้งขึ้น ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการฯ ต่อไป
 
ส่วนกรอบ นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรีได้มอบแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางที่นายกรัฐมนตรีเสนอ โดยให้ยึดหลักการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ตามสภาพพื้นฐานของแต่ละปัญหาและยึดหลักนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นความสัมฤทธิ์ผลของการดำเนินงานเป็นสำคัญ ดังนั้นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฏระเบียบ แต่สามารถอลุ่มอล่วย ให้ดำเนินการได้ ก็ให้ดำเนินการต่อไป โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนกรณีที่จำเป็นต้องแก้ไขกฏระเบียบก็ให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาถึงผลดี ผลเสีย และนำเสนอคณะกรรมการฯ ต่อไป
 
ต่อมานายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ 1/2552 (24 มีนาคม 2552 ) เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ทั้งสิ้น 6 ชุด โดยหนึ่งในนั้นมีคณะอนุกรรมการฯ ด้านการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งมีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน
 
คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ และที่ป่าไม้อื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ประชุมกันรับทราบมติของคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่การแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
มีการประชุมกันอีกเป็นครั้งที่ 2 ที่ทำเนียบรัฐบาล ครั้งนี้ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือด้วย และรับปากว่าจะแก้ปัญหาภายใน 2 สัปดาห์
 
ครบ 2 สัปดห์ตามสัญญา วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีสวนป่าคอนสาร ตัดสินใจเข้าปักหลักรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล ในบริเวณพื้นที่พิพาท โดยมีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ และพื้นที่ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ให้สิทธิชาวบ้านและท้องถิ่นจัดการทรัพยากรในรูปแบบป่าชุมชน  
 
5 วันต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกันอีกรอบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ขัดข้องในการดำเนินงานตามนโยบายโฉนดชุมชนในเขตพื้นที่ป่าไม้ และกระบวนการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามกลไกที่มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีปัญหาสวนป่าคอนสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันจะไม่มีการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านอย่างเด็ดขาด และจะลงพื้นที่เพื่อดูข้อเท็จจริง ต่อไป
 
ต่อมา วันที่ 3 สิงหาคม 2552 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อรับฟังสภาพปัญหา กระบวนการแก้ไขปัญหา และแนวทางการทำงาน จากนั้น ได้ลงพื้นที่พิพาท บริเวณสวนป่าคอนสาร ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
น่าสนใจว่า ในการประชุมร่วมในพื้นที่ ที่ประชุมหารือได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันความรุนแรงที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น โดยห้ามมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งดำเนินการโดยเด็ดขาด และให้มีการนัดประชุมเพื่อทำบันทึกข้อตกลงอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 ณ ห้องประชุมอำเภอคอนสาร
 
วันที่ 5 สิงหาคม 2552 นายนิพนธ์ บุญภัทโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ปัญหาสวนป่าคอนสาร เพื่อรับฟังปัญหา และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีข้อสรุปคือ ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบขอบเขตที่ดินเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน เนื้อที่ 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ
 
ล่าสุด วันที่ 27 สิงหาคม 2552 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ได้ฟ้องขับไล่ ชาวบ้านผู้เดือดร้อน และที่ปรึกษาเครือข่าย รวม 31 คน ออกจากพื้นที่พิพาทต่อศาลจังหวัดภูเขียว พร้อมกันนี้ ได้ขอคุ้มครองชั่วคราว ในการห้ามมิให้ขยายเขตพื้นที่ครอบครองออกจากพื้นที่เดิม ห้ามนำวัสดุสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น และห้ามขัดขวางโจทก์ในการเข้าตรวจสอบ บำรุงดูแลพื้นที่สวนป่าพิพาท ซึ่งศาลอนุญาตตามคำขอ และได้นำหมายห้ามชั่วคราวมาติดในพื้นที่พิพาท วันที่ 28 สิงหาคม 2552
 
สถานการณ์ปัจจุบัน
จนถึงวันนี้การลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่ เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน 1,500 ไร่ ยังไม่ได้มีการดำเนินการ จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงแม้ผู้แทนชาวบ้านผู้เดือดร้อนจะมีการประสานงานมาโดยตลอดก็ตาม
 
ข้อเสนอเพื่อพิจารณา
1.             ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ( นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ) เร่งดำเนินการลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป
2.             ให้นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ) สั่งการไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายสุวิทย์ คุณกิตติ ) เพื่อสั่งการให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ถอนฟ้องชาวบ้านผู้เดือดร้อนและที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
3.             ให้จัดการประชุมเจรจาเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ข้อยุติ ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านผู้เดือดร้อน ทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
3.1) ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด
3.2) ให้นำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน ทั้งนี้การบริหารจัดการที่ดินดังกล่าว จะดำเนินการในรูปแบบ โฉนดชุมชน
3.3) ในระหว่างการแก้ไขปัญหาจนกว่าจะได้ข้อยุติ ให้สิทธิชาวบ้านผู้เดือดร้อนสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,500 ไร่ ตามมติประชาคมตำบลทุ่งพระ
3.4) พื้นที่บริเวณที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ ได้แก่ ภูซาง แลบะ ภูฝ้าย ให้สิทธิชุมชน และท้องถิ่น จัดการทรัพยากรในรูปแบบ ป่าชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net