Skip to main content
sharethis

 

 

(15 ก.ย.) คนงานกว่า 400 คน ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายแรงงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยนิสิตนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) นัดรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 10.00 น. และพากันเดินเท้ามาที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายกฯ ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ การเลิกจ้าง และสิทธิแรงงาน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งให้ยุติมาตรการจับกุมผู้นำแรงงานที่ถูกออกหมายจับ เพิกถอนหมายจับ และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการสลายการชุมนุมของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งใช้เครื่องขยายเสียงระยะไกล (LRAD) จากกรณีการชุมนุมของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออนฯ และคนงานบริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงให้แก้ปัญหาแรงงานแต่ละกรณีปัญหาอย่างเร่งด่วน (อ่านฉบับเต็ม)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้ปิดถนนหน้าทำเนียบรัฐบาล 3 เลน โดย สวี สุดารัตน์ อนุกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวขอโทษผู้ใช้รถใช้ถนนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม พร้อมทั้งชี้แจงว่า กรรมกรไม่มีสื่อเป็นของตัวเอง และไม่มีเงินมากพอ การรวมตัวกันของคนงานจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้แก้ปัญหาต่างๆ ของคนงานทั้งการถูกเลิกจ้าง การถูกดำเนินคดี และถูกทำลายสหภาพแรงงาน การออกมาเดินขบวนไม่ใช่เรื่องสนุก ถ้าไม่มีปัญหาคงไม่มา พร้อมบอกว่า แรงงานมีปัญหาคนเดียว แต่ผลกระทบเกิดกับทั้งครอบครัว อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลออกมารับหนังสือ

จนเวลาประมาณ 13.00 น. คนงานตัดสินใจย้ายขบวนมากดดันที่ประตู 3 เยื้องสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้าไปเขย่าประตูรั้วทำเนียบฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนมารับข้อเรียกร้อง ขณะที่ตำรวจปราบจราจลเริ่มเดินออกมาตั้งแถว ส่วนคนงานก็เริ่มส่งเสียงโห่เป็นระยะ เมื่อเห็นขบวนทหารกว่า 30 นายเดินมาตั้งแถวในรั้วทำเนียบรัฐบาล

วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวผ่านโทรโข่งที่ข้างรั้วทำเนียบฯ ประตู 3 ว่า คนงานมาชุมนุมกันเพื่อขอยื่นหนังสือกับนายกฯ โดยได้ประสานงานมาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว และทราบว่า ตอนนี้นายกฯ อยู่ในทำเนียบฯ จึงอยากให้ช่วยประสานงานให้คนที่มีอำนาจออกมาคุยกับคนงาน เพราะที่ผ่านมาไปกระทรวงแรงงานมาแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า และตอนนี้คนงานเดือดร้อนอย่างหนัก ต่อมา รั้วทำเนียบที่คนงานเขย่าได้หลุดและเปิดออก ขณะที่คนงานไม่มีทีท่าจะบุกเข้าไป

อย่างไรก็ตาม ตำรวจปราบจราจลได้ขยับเข้ามาจนติดรั้วทำเนียบ และมีประกาศจากทางตำรวจชี้แจงว่า คนงานสามารถชุมนุมได้ตามกรอบของกฎหมาย แต่แกนนำต้องควบคุมอย่าให้ผู้ชุมนุมทำลายทรัพย์สินราชการ พร้อมทั้งระบุด้วยว่า ได้ถ่ายรูปเอาไว้หมดแล้ว ทำให้คนงานส่วนหนึ่งไม่พอใจ เวลาประมาณ 14.00 น. รถกระบะในทำเนียบฯ ซึ่งบรรทุกเครื่องขยายเสียงระดับไกล (LRAD: Long Range Acoustic Device) 1 เครื่อง ถูกขับออกมาจอดด้านในรั้วทำเนียบ โดยหันเครื่อง LRAD มาทางผู้ชุมนุม คนงานตะโกน "อีแรดมาแล้วๆ" และต่างหยิบกระดาษทิชชู่ออกมาอุดหูเตรียมพร้อม อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการใช้เครื่องดังกล่าว จนเมื่อเวลา 14.25 น. จึงมีการติดต่อว่าให้คนงานส่งตัวแทนเข้าไปในทำเนียบฯ วิไลวรรณ พร้อมด้วยตัวแทนแรงงานแต่ละกรณีปัญหาได้เข้าพบปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้อง โดยนายปณิธาน ระบุว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง เพียงแต่รอช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจหลังจากเดินทางกลับจากการประชุมสหประชาชาติ

ทั้งนี้ การชุมนุมได้ยุติในเวลาประมาณ 16.00น. หลังจากตัวแทนได้กลับออกมาและชี้แจงการเข้าพบรองเลขาฯ นายกฯ ต่อผู้ชุมนุม

 

เอกสารจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

จาก "แคนาดอล" ถึง "ไทรอัมพ์"
นายจ้างฉวยโอกาส หรือผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจริง?: ต้นปี ถึงกลางปีไร้คำตอบจากรัฐบาล

ใคร?
ที่ไหน?
จริงหรือไม่?
22 มกราคม 52
 
กรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกถูกเลิกจ้างรวม 350 คน เนื่องจากรวมตัวเรียกร้องสวัสดิการและค่าจ้าง เช่น ขอปรับเพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 1 วัน, ขอปรับค่าจ้างประจำปีให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 6% ของฐานค่าจ้าง
บริษัทแคนาดอลเอเชีย จำกัด: ระยอง
 
ผลิตท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันให้แก่บริษัทชั้นนำของโลก เช่น PTT, Unical, Exxon Mobil, Chevron
บริษัทมีกำไรทุกปี และล่าสุดมีการขยายโรงงานจาก 2 แห่งเพิ่มเป็น 8 แห่ง
24 มีนาคม 52
 
นายจ้างได้ประกาศลดเงินเดือนพนักงาน 13.04% ทำให้พนักงานไม่พอใจ จึงรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสหภาพและยื่นข้อเรียกร้อง แต่ก็ถูกนายจ้างปิดงาน
 
ลูกจ้างได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาแก้ปัญหา กลับไม่ได้รับการเหลียวแล หนำซ้ำยังถูกดำเนินคดีข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว ขณะนี้คณะกรรมการสหภาพแรงงานและสมาชิกทั้งหมด 45 คน ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน
บริษัท สยามมิชลิน จำกัด: ชลบุรี
 
ผลิตยางรถยนต์มิชลิน ส่งขายทั้งภายในและนอกประเทศ
บริษัทขายยางทดแทนทั่วโลกเป็นอันดับ 1
 
มีการขยายโรงงานต่อเนื่องตลอดเวลาที่ดำเนินกิจการมาเป็นเวลา 20 ปี
 
บริษัทฯ มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 50 มีกำไรถึง 1,114 ล้านบาท
1 พฤษภาคม 52
 
บริษัทประกาศปิดกิจการโดยอ้างว่าขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี โดยไม่จ่ายค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย และค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้าแก่พนักงานรวม 41 คน
บริษัทเวิลด์เวลลการ์เมนท์: สมุทรสาคร
 
ผลิตเสื้อผ้าตามออเดอร์ของลูกค้าจากหลายบริษัท เช่น ดิสนีย์ ฮาเลย์ เดวิดสัน รีบ๊อค
มีการส่งงานออกไปให้บริษัทอื่นซับคอนแทรคแทน เช่น โรงงานใน อ.แม่สอด จ.ตาก
8 พฤษภาคม 52
 
บริษัทได้เลิกจ้างคนงาน 68 คนในจำนวนนี้ มีคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 13 คน ที่เหลือเป็นสมาชิกอีก 37 คน โดยมีคนงานที่ตั้งครรภ์ 7 คนและมีคนงานที่อยู่ระหว่างลาคลอดรวมอยู่ด้วย โดยอ้างเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ 18, 28 มิถุนายน 52
ผู้นำสหภาพหญิงถูกขู่ฆ่า และกรรมการสหภาพถูกทำร้ายร่างกาย
 บริษัท เอ็น ที เอ็น นิคเด็ค: ระยอง 
 
ทำกิจการผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์
 บริษัทมียอดการผลิตดีมาตลอด มีการทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุด รวมทั้งมีการสั่งซื้อเครื่องจักรมาใหม่ เพื่อเพิ่มยอดการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
17 มิถุนายน 52
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 52 บริษัทได้ออกประกาศเปลี่ยนแปลงวันเวลาทำงานจากเดิมวันละ 8 ชั่วโมง (08.00-17.00น.) เป็นวันละ 8 ชั่วโมงครึ่ง (08.00-17.30น.) โดยอ้างเหตุผลว่า ต้องการลดต้นทุน และได้ออกเอกสารให้พนักงานลงลายมือชื่อยินยอมโดยดำเนินการข่มขู่ บีบบังคับมาอย่างต่อเนื่อง
 
ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 52 บริษัทมีหนังสือสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงาน 11 คน หยุดงานชั่วคราว ด้วยข้อกล่าวหาว่า สหภาพแรงงานฯ จัดชุมนุมประท้วงตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 52 เป็นต้นมา มีการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในลักษณะโจมตีให้ร้ายต่อบริษัทฯ ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง
บริษัท คาวาซากิมอเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ประเทศไทย จำกัด: ระยอง
 
ทำการผลิตรถจักรยานยนต์คาวาซากิ ส่งขายทั้งภายในและต่างประเทศ
เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ไม่ใช้อำนาจในการดำเนินการแก้ไขปัญหา กรณีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ปล่อยให้ลูกจ้างดำเนินการแก้ไขปัญหาเอง
29 มิถุนายน 52
 
บริษัทประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 1,959 คน โดยอ้างเรื่องขาดทุนจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าลดลง
บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด: สมุทรปราการ
 
ผู้ผลิตชุดชั้นในชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อ ไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO HOM ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ
ปี 2551 มีการขยายกำลังการผลิต โดยสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ จ.นครสวรรค์ โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ถึง 75.5 ล้านบาท
7 สิงหาคม 52
 
บริษัทได้มีการเลิกสัญญาจ้าง รวม 239 คน โดยไม่มีการจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่ ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทำงานในวันหยุด
บริษัท เอนีออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์): ชลบุรี
 
ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หม้อแปลงไฟฟ้าโทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์
ขาดการตรวจสอบว่าบริษัทวิกฤตจริงหรือไม่ รวมถึงมีการเข้ามาถือหุ้นของนายทุนคนใหม่


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net