โฉนดชุมชนเขวาโคก : ความฝันของพ่องานนารวมเขวาโคก

ปี พ.ศ.2551 บ้านเขวาโคก-เขวาพัฒนาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ฐานะเป็นชุมชนผู้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนใช้ร่วมกัน แต่ถูกนายทุนบุกรุก จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล สุดท้ายผู้บุกรุกยอมถอยร่น ปีนี้มีกิจกรรมอีกหนึ่งกิจกรรม คือการทำนารวม

 

 

พ่อคูณ: พ่องานแห่งนารวมเขวาโคก
“พ่อคูณ” ที่ใครๆ เรียก คือชายร่างเล็ก คิ้วเข้ม หน้าตาคมสัน มองผาดๆ ดูแกร่งและกรำงานหนักเยี่ยงคนอยู่กับดินผู้ทำการผลิต “พ่อคูณ” หรือนายคูณ สงฆ์มา ปัจจุบันอายุ 53 ปี เป็นเกษตรกรอยู่บ้านเขวาโคกมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 7 ต.สระบัว อ.ปทุมรัตน์ จ.ร้อยเอ็ด มีลูก 5 คนกับแม่คล้ายเมียคู่ทุกข์คู่ยาก ลูกคนโตออกเรือนแยกครัวไปแล้ว คนรองอยู่ที่บ้านดูแลพ่อกับแม่ 3 คนที่เหลือแยกย้ายไปเรียนต่อและทำงานในเมืองหลวง 

บรรดาลูก 2 ใน 5 คนของพ่อคูณ จบปริญญาตรีจากเมืองกรุง อีกคนกำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ขณะยังเรียนอยู่ก็ไม่ได้เป็นภาระพ่อแม่ เพราะมีพี่น้องที่เรียนจบแล้วส่งเสียกันต่อเป็นทอดๆ ส่วนลูกชายคนเล็ก พ่อคูณบอกคนนี้ไม่ชอบเรียน และกำลังลาออกจากงานเดิมมาช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้าน พร้อมกับการสมัครเรียน กศน.ควบคู่ไปด้วย
 
ครอบครัวพ่อคูณจัดอยู่ชั้นผู้มีที่ดินทำกินเยอะ หากเทียบวัดจากชาวบ้านเขวาโคกคนอื่น ๆ ซึ่งตัวเลขเฉลี่ยของผู้มีที่ดินมากแล้วอยู่ที่ 10-15 ไร่ มีที่ดินระดับปานกลางอยู่ที่ 3-7 ไร่ ต่ำสุดเกือบ 20 ครอบครัวจาก 195 ครัวเรือน ไม่มีที่ดินทำกินเลย หรือมีก็ไม่กี่งานสำหรับปลูกบ้าน ส่วนพ่อคูณมีที่ดินทั้งที่ปลูกบ้านและที่ทำกินรวมแล้วประมาณ 25 ไร่ ซึ่งตัวเลขขยับสูงจากกลุ่มที่พ่อคูณประมาณให้ฟังอย่างชัดเจน
 
น่าแปลกอยู่ทีเดียว เมื่อมองเชิงกายภาพ บ้านเขวาโคกเป็นชุมชนขนาดกลาง ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ไม่ได้แออัด รอบหมู่บ้านก็มีทุ่งข้าวเขียวเวิ้งว้างเหมือนทิวทัศน์ทุ่งกุลาที่เราคุ้นตา แต่คนในชุมชนกลับเป็นเจ้าของที่ดินในสัดส่วนที่น้อยเอาการ พ่อคูณเล่าว่า “นอกจากที่ดินหลุดมือมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อแม่ บางส่วนออกไปค้าขายแล้วขาดทุน บางรายก็ล่ำซำในตอนแรก กลับมาสร้างบ้านใหญ่โต สักพักก็หมุนเงินไม่ทัน เอาที่ดินไปจำนอง ที่ดินจึงหลุดมือไปด้วย”
 
แม่คล้ายเมียของพ่อคูณ ก็เคยออกไปขายอาหารอีสานที่กรุงเทพฯอยู่เช่นกัน แต่อยู่ไม่ไหว “ความแน่นอนของรายได้มันน้อย แต่ค่าใช้จ่ายมันเยอะ” จึงกลับมาอยู่บ้าน และบอกจะไม่ไปทำงานที่อื่นอีกแล้ว
 
“คนสมัยก่อนเขาแบ่งที่ดินกันง่ายๆ โดยยึดแนวเขตตามร่องน้ำ ตามหมายหญ้า ตามต้นไม้ใหญ่ๆ และชี้มือวาดเอาเป็นอันเข้าใจกัน แบ่งเสร็จจะบุกเบิกทำกินใครมัน ไม่มีการระรานกัน” ปัจจุบันที่ดินทั้งชุมชนมีประมาณ 2,800 ไร่ ใช้ประโยชน์จากการตั้งบ้านเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15 เป็นป่าโคกสาธารณะและทุ่งเลี้ยงสัตว์ร้อยละ15 ที่เหลือเป็นทุ่งนาเสีย 70%
 
ที่ดิน 5 ไร่ของพ่อคูณ ถูกแบ่งให้หนูกุล-ลูกสาวคนโตเมื่อปีก่อน หากไม่นับรวมที่บ้านงานเศษ ๆ จึงเหลือที่ดินอยู่ 20 ไร่ เป็นที่นา 2 แปลง แปลงหนึ่ง 8 ไร่ อีกแปลง 12 ไร่ ในแปลงหลังพ่อคูณปรับให้เป็นไร่นาสวนผสม และนั่นเป็นแหล่งรายได้อีกทาง นอกจากการขายข้าวตอนสิ้นปีการผลิต ปลาในสระ 4 ลูกซึ่งไม่ได้ลงทุนซื้อหามาปล่อยมากมาย อาศัยปลาตามธรรมชาติ อีกมะม่วงหลายต้น พืชผักนานาชนิด หมู 2 ตัว เป็ดทุ่ง 100 ตัว ควาย 4 ตัว ก็ถูกปล่อยเลี้ยงในสวนผสม โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อฟางซื้อหญ้า  
 
นาทั้งสองแปลงของพ่อคูณได้ข้าวเปลือกเฉลี่ยไร่ละ 35-40 ถังโดยประมาณ 20 ไร่ก็เกือบ 800 ถัง/ปี เก็บไว้กินเอง 350 ถัง ที่เหลือขาย ปี ๆ หนึ่งครอบครัวพ่อคูณจึงได้เงินจากการขายข้าวประมาณ 50,000 บาท
 
ถึงหน้าแล้ง หลังจากที่พ่อคูณได้ไถพักดินเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ที่ดินบางส่วนใน 20 ไร่จะถูกใช้ทำประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพราะพ่อคูณปลูกพืชเสริมรายได้ในแปลงนาต่อ พืชที่ลงเป็นพืชที่นิยมปลูกในแถบนั้น อาทิ พริก ถั่ว ฟักทอง แตงกวา แตงโม แตงร้าน ฯ แล้วแต่เงื่อนไขในแต่ละปี พืชบางชนิดก็ปลูกได้ 2 รอบ เช่น ถั่ว บางชนิดอย่างแตงร้าน แตงกวาจะปลูกรอบเดียว หากปลูกอีกรอบ มันใกล้ฤดูฝนมาก เก็บเกี่ยวไม่ทันน้ำ ก็ไม่ได้ผลผลิต หรือพริก ที่ปลูกทิ้งไว้รอบเดียวแต่เก็บผลผลิตได้จนกว่าฤดูทำนาจะเวียนมาอีกรอบ
 
พืชพรรณยามแล้งเหล่านี้ นอกจากเก็บกินแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของครอบครัว รองจากพืชหลักอย่างข้าว และหากรวมรายได้จากการขายเส้นไหมของแม่คล้าย ซึ่งปีหนึ่งขายได้หลายกิโล และหากมีแรงก็ทำเป็นอาชีพเสริมควบคู่กับการผลิตได้ทั้งปี ในรอบ 1 ปี ครอบครัวของพ่อคูณจึงมีรายได้ถึง 100,000 บาท
 
“น่าจะถึงนะ” พ่อคูณเว้นช่องครุ่นคิดและกล่าวยืนยัน  
 
ความที่พ่อคูณเคยเป็น อบต.มาเมื่อสมัยที่แล้ว และยังถือเป็นแกนนำหรือตัวประสานหลักของกลุ่ม พ่อคูณจึงนับเป็นผู้กว้างขวางพอตัว ค่าภาษีสังคม งานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ หรือกระทั่งการประชุมพบปะ หรือเดินทางไปนั่นมานี่ แล้วต้องออกทุนสำรองของตัวเองไปบ้าง ตัวเลขรายปีในเรื่องราวดังกล่าวน่าจะถึง 20,000 บาท แม่คล้ายชี้แจง
 
ในครัวเรือนเอง มีค่าใช้จ่ายตายตัวในแต่ละเดือน คือ ค่าประกันชีวิต ค่าฌาปนกิจ ฯ เดือนละ 1,600 บาท บวกค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ อีก ตกอยู่ที่เดือนละ 3,000 บาท หากลองรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด นับรวมค่าภาษีสังคม รวมเงินลงทุนที่ใช้ไปกับการทำนา หรือปลูกพืชสวนแต่ละรอบ คร่าว ๆ ปีหนึ่งก็เกือบ 70,000-80,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกือบพอกับรายรับ
 
แม้อาหารการกินในครอบครัวของพ่อคูณ ไม่ได้ใช้เงินซื้อ-จ่ายฟุ่มเฟือยนัก นอกจากอาหารที่หาได้จากไร่นาสวนผสมแล้ว บ้านเขวาโคกยังมีป่าโคกสาธารณะ มีเห็ด มีผัก มีสมุนไพร ไม้ ฟืน อันเป็นปัจจัยสี่ที่ชุมชนพึ่งพาได้สารพัด จนพ่อคูณเรียกมันเป็น “ตลาดของชุมชน” และบ้านพ่อคูณก็ได้พึ่งพิงป่า ไม่ต่างจากครัวเรือนอื่น
 
กระนั้นครอบครัวพ่อคูณก็ยังมีหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. ซึ่งพ่อคูณบอกว่าตัวเลขตอนนี้เหลืออีก 80,000 บาท มีหนี้กลุ่มออมทรัพย์ในชุมชนอีก 10,000 บาท เป็นหนี้ติดพันมาจากยุคของการออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้กับนายทุนบุกรุกที่สาธารณะหนองโมง-หนองกลาง และยืมมาใช้กับนากับสวนของพ่อคูณเอง
 
ถึงโลกในยุคไร้พรมแดนที่เชื่อมโยงคนเขวาโคกเข้ากับโลกาภิวัตน์ สิ่งที่ปรากฏขึ้นชัดเจนในชุมชนคือ “หนี้” ไม่ว่าครัวเรือนนั้นจะมีที่ดินน้อย มีที่ดินมาก หรือไร้ที่ดินทำกิน ก็ยังพอมีช่องทางหรือมีหลายกองทุนให้กู้ยืมเงินมาใช้สอย และเมื่อทุกครัวเรือนเป็นหนี้ กระทั่งคนที่นับได้ว่าพอที่ดินมากอย่างพ่อคูณ ก็ยังมั่นใจได้ยากว่า จะมีความมั่นคงไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน
 
พ่อคูณกล่าวด้วยความกังวลว่า พอแบ่งที่ดินให้ลูกๆ ซึ่งมีความผูกพันกับที่ดินที่นาน้อย กลัวลูกจะปล่อยให้ที่ดินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษหลุดมือไป “หรือพ่อจะทำพินัยกรรมแบบโฉนดชุมชนดี” พ่อคูณตั้งคำถามและตอบเองว่า “ทำเป็นโฉนดครอบครัว ไม่มีใครมีสิทธิ์ขาด แต่พ่อก็กลัวลูกจะฆ่ากันตาย” พูดเสร็จพ่อคูณก็หัวเราะ
 
 
พิทักษ์ป่าโคก ถึงลูกโลกสีเขียว และนารวม ถึงโฉนดชุมชน
ปี พ.ศ.2551 ที่ผ่านมา บ้านเขวาโคก-เขวาพัฒนาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ฐานะเป็นชุมชนผู้ลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ป่าดอนหนองโมง-หนองกลาง ป่าโคกสาธารณะที่ชุมชนใช้ร่วมกัน แต่ถูกนายทุนบุกรุก จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล สุดท้ายผู้บุกรุกยอมถอยร่น แม้ชาวบ้านจะติดคดีอยู่หนึ่งคดี แต่การลุกขึ้นพิทักษ์สิทธิของตนเองย่อมส่อสะท้อนถึงพลังชุมชน ที่ยังเปี่ยมไปด้วยการช่วยเหลือพึ่งพา และเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
 
ปีเดียวกับที่ได้รับรางวัล มีกิจกรรมที่ชี้วัดสำนึกการช่วยเหลือเกื้อกูล การเอาใจใส่แบ่งปันของคนบ้านเขวาโคกอีกหนึ่งกิจกรรม คือ นารวมบ้านเขวาโคก ซึ่งถูกริเริ่มขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากคนรุ่นพ่อแม่เคยพาทำมาแล้ว ราวปี 2528-2529 ด้วยเหตุเบื้องต้นคล้ายคลึงกัน คือ ชาวนาบ้านเขวาโคกประสบปัญหาภัยแล้ง และน้ำมาล่าจวนจะเลยฤดูปักดำ ชาวบ้านจึงพูดคุยหารือกันว่า หากไม่ลงแขกช่วยกัน จะไม่ทันน้ำ นาข้าวของคนทั้งหมู่บ้านอาจไม่ได้ผลผลิต
 
หลังช่วยกันลงแขก มีผืนนาเปล่าซึ่งเจ้าของนาทำไม่เสร็จ ทำไม่ทัน บ้างเป็นนาของคนแก่ ซึ่งไม่มีแรงงานทำการผลิต กลุ่มนารวมเขวาโคกจึงเกิดขึ้น หลังเกิดความคิดจะเช่าผืนนาเปล่า ทำนารวมด้วยกัน นอกจากเป็นกิจกรรมที่เอาแรงต่อเนื่อง คนไม่มีนา ไม่มีที่ดิน จะได้มีข้าวกิน ไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องอพยพไปใช้แรงงานที่อื่น และพ่อคูณก็นับเป็นแกนหลักที่พาพี่น้องริเริ่มและดำเนินการในเรื่องนี้
 
ปีแรกของการทำนารวมบ้านเขวาโคก มีสมาชิกที่มาร่วมหุ้นอยู่ 18 ครัวเรือน ถือเป็น 18 หุ้น จากแปลงนาที่กลุ่มเช่าได้ 60 ไร่ ทำเสร็จไม่ทันน้ำจนกลายเป็นทุ่งเลี้ยงวัวควายของคนในกลุ่มไปเสีย 12 ไร่ พอเก็บเกี่ยวผลผลิต ทุกหุ้นต่างได้ส่วนแบ่งเท่ากัน เป็นข้าวอีก 130 ถัง หลังจากแบ่งข้าวให้เจ้าของนาเป็นค่าเช่าในอัตรา 1 ใน 3 ส่วนของผลผลิตที่ได้ และแบ่งเป็นข้าวปลูกสำหรับปีถัดไป ในส่วนครอบครัวพ่อคูณ จึงได้เงินจากการขายข้าวเพิ่มเติม จากส่วนที่ได้จากผืนนาตนเองอีกประมาณ 10,000 บาท
 
โดยเก็บเงินลงทุนจากทุกหุ้น 500 บาทในเบื้องต้น และเก็บเรื่อยๆ หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมยอดค่าใช้จ่ายทั้งฤดูการผลิต เป็นหุ้นหรือครัวเรือนละประมาณ 2,000 กว่าบาท เปรียบตัวเลขจากยอดขายข้าวของพ่อคูณจึงถือว่าคุ้มค่ากับทุนรอนที่ลงไป
 
นอกจากเก็บเงินจากสมาชิกในแต่ละรอบอย่างเท่ากัน กติกาอย่างอื่นของกลุ่มเน้นความเท่าเทียมไม่เอารัดเอาเปรียบ อย่างเวลามาลงแรงร่วมกันแต่ละครั้ง ต้องมาทุกคนทุกหุ้น ใครขาดต้องหาแรงงานมาทดแทน จะแทนในวันนั้นหรือแทนในวันถัดไปก็ได้ และหากติดขัดเกิดปัญหาอะไรขึ้น ให้แจ้งให้กลุ่มทราบ ซึ่งคนในกลุ่มก็พูดคุยกันได้ประสาพี่น้องคนบ้านเดียวกัน
 
นารวมบ้านเขวาโคก จึงดำเนินการมาถึงปีที่สอง หรือในปีนี้ ซึ่งข้าวกำลังแตกกอออกช่อเขียวงามอยู่ในแปลง 25 ไร่ สมดุลกับสมาชิก ซึ่งเหลือ 8 หุ้น หรือ 8 ครัวเรือน แม่คล้ายบอกว่า สมาชิกส่วนหนึ่งเช่าที่นาได้ และจัดการนาที่เช่าแล้วมาร่วมทำนารวมไม่ทัน ส่วนหนึ่งออกมาทำงานนอกชุมชน ฝั่งพ่อคูณเล่าว่าบางส่วนย้ายไปเข้ากลุ่มทำนารวมกับหมู่ 17 บ้านเขวาพัฒนา แต่พ่อคูณกับแม่คล้ายก็ยืนยันคล้ายกันว่า สมาชิกนารวมน้อยลง ก็ไม่ได้เป็นปัญหา และไม่ได้มีปัญหากัน นาที่เช่าได้ในปีนี้ก็ไม่ได้เยอะเกินกำลัง และผลผลิตที่จะได้ก็น่าจะคุ้มค่า เพราะฝนฟ้าตกดีกว่าปีก่อน
 
สิ่งชี้วัดความสำเร็จอีกประการคือ เสียงสะท้อนจากเจ้าของที่นาที่กลุ่มเคยเช่าทำนามาแล้ว บอกว่ากลุ่มนารวมบ้านเขวาโคกทำนาดี เอาใจใส่นาเหมือนเป็นนาของตน หากจะให้คนเช่าทำนาอีก ก็เจาะจงจะให้กลุ่มนี้เช่าต่อ และในปีต่อไปมีเจ้าของนามาเสนอให้กลุ่มไปทำนารวมในที่ดินของเขาแล้วด้วย
 
พอเสร็จจากนาข้าว ในหน้าแล้งกลุ่มนารวมบ้านเขวาโคก ยังพากันปลูกพืชเสริมรายได้ต่อเนื่อง เหมือนที่พ่อคูณเคยปลูกในนาของตน เพียงแต่ย้ายมาปลูกในนารวมแทน พืชที่ปลูกก็เหมือนกับที่พ่อคูณปลูก ผลผลิตก็แบ่งเท่ากัน บางอย่างจึงต่างคนต่างขาย อย่างเช่นพริกที่เก็บผลและแบ่งกันแล้ว บางครัวเรือนเลือกขายแห้ง บางครัวเรือนขายสด ตัวเลขจากการขายผลผลิตที่ได้จึงไม่เท่ากัน แต่สิ่งที่ทุกครัวเรือนได้ คือนารวม-สวนรวมเป็นครัวใหญ่ ที่ใครใคร่กินก็ได้กิน ใครใคร่ขายก็ได้ขาย ผลผลิตจากสวนจึงช่วยลดรายจ่ายของทุกครัวเรือน แน่นอนนั่นหมายถึงรายได้เพิ่ม ในทางหนึ่ง ศักยภาพที่จะใช้หนี้สินของสมาชิกก็ย่อมเพิ่มตามไปด้วย
 
เมื่อถามถึงปัญหาที่พบเจอจากการทำนารวม พ่อคูณบอกว่ายังไม่พบปัญหาใดหนักหน่วง เพราะคนในกลุ่มก็เป็นใจ พูดคุยกันง่าย มีการจัดแบ่งงานกันตามสภาพ และพิจารณาตามความเป็นจริง ส่วนที่เป็นปัญหาอยู่บ้างก็เนื่องจากผู้ชายในกลุ่มน้อย สมาชิกมักเป็นแม่หม้ายแม่ร้าง ไม่มีแรงผู้ชายมาช่วย มีบ้างที่บางหุ้นผู้ชายก็ไม่ยอมมาเป็นแรง งานจัดการอย่างไถนา คราดนา จึงตกอยู่กับผู้ชายบางคนอย่างพ่อคูณเป็นหลัก
 
ซึ่งครอบครัวพ่อคูณก็เป็นหลักเกือบทุกเรื่อง เป็นเหมือนเจ้าภาพ เหมือนคนเตรียมกระบวนการ เตรียมเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องครัว จึงใช้ของที่มีอยู่ที่บ้านโดยไม่ได้คิดค่าสึกหรอ บางทีต้องสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน ทั้งเวลาเข้ามาประชุม และเวลาลงแปลงนา-แปลงสวน “แต่แค่ได้พี่ได้น้องได้ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในกลุ่มในชุมชน ก็ถือว่าถึงเป้าหมายแล้ว” แม่คล้ายพูด
 
พ่อคูณยังกล่าวถึงการสร้างข้อผูกพันให้สมาชิกอยู่ทำนากับกลุ่มต่อ ต้องสร้างความไว้วางใจ เป็นแบบอย่างที่ลงแรงเอาจริงเอาจัง และทำให้เห็นว่า “นารวมทำให้ชีวิตของสมาชิกดีขึ้นได้” การทำธนาคารข้าว เป็นทุนสำรองสำหรับคนขาดข้าว ทำผลิตภัณฑ์แปรรูป ทำกองทุนที่ดิน ฯลฯ เป็นเรื่องที่อยากพัฒนาให้เกิดกับกลุ่มในอนาคต
 
พ่อคูณแม่คล้ายเห็นด้วยกับนโยบายโฉนดชุมชน และนโยบายธนาคารที่ดิน ซึ่งอาจช่วยคนที่ไม่มีที่ดินทำกินได้มากขึ้น “หากเป็นการเพิ่มอำนาจให้ชุมชนสามารถจัดการที่ดินโดยชุมชนมากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ดี ส่วนรัฐต้องให้การสนับสนุน และให้ความสำคัญกับคนที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นอันดับแรก อย่างภาษีที่ดินต้องเก็บตามสภาพ และจะทำอย่างไรให้คนที่ออกจากชุมชนกลับมาอยู่บ้าน มาทำการเกษตรให้มากขึ้น” พ่อคูณกล่าว
 
“หากรัฐบาลนี้เอาจริงเอาจัง นโยบายดังกล่าวจะสำเร็จ และหากคดีเรื่องป่าดอนหนองโมง-หนองกลางชนะ การต่อสู้ของแม่จะจบลงเสียที” แม่คล้ายกล่าวยืนยัน
 
 
 
 
-----------------------------------------
หมายเหตุ; สัมภาษณ์และเรียบเรียงจากกรณีศึกษาบนแปลงปฏิรูปที่ดิน ภายใต้โครงงานวิจัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท