รายงานเสวนา Thailand in transition: a historic challenge and what's next?

วันที่ 8 ธ.ค. เวลา 20.00 น. มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม และโครงการหลักสูตรปริญญาโท สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันจัดงานเสวนาหัวข้อThailand in transition:  a historic challenge and what's next? ที่ ร.ร. เชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท โดยมี ธงชัย วินิจจะกูล ผาสุก พงษ์ไพจิตร พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยชัยรัตน์ ถมยา

ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เริ่มโดยกล่าวว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องย้อนหลังไปไกล หากมีการเชื่อมโยงมาถึงปัจจุบันก็สุดแต่จินตนาการของผู้ฟังและขอให้รับผิดชอบตัวเอง เขากล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญเมื่อปี 2475 ว่า ขณะที่คณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 2475 ประชาชนไม่พอใจกับสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ เพราะมองว่าทำให้ประเทศล้าหลัง รัชกาลที่ 7 ทรงตระหนักเรื่องนี้และพยายามปฎิรูปบางอย่าง แต่ที่ปรึกษาอาวุโสของพระองค์ในขณะนั้นไม่พอใจและเห็นว่าคนไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา

อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจนี้ไม่ได้เพิ่งมีในรัชกาลที่ 7 เริ่มตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 6 พระองค์ไม่ใช่นักปกครองที่ดีนัก แต่เป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ ข้าราชบริพารทั้งหลายและสหายของรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เชื่อมั่นในรัชกาลที่ 6 โดยกังวลกับบุคลิกภาพและพฤติกรรมส่วนพระองค์ ความไม่เชื่อใจนี้เริ่มตั้งแต่พระองค์เป็นมกุฎราชกุมาร โดยมีข่าวลือว่า มีองครักษ์คนหนึ่งตีทหารและไม่ได้รับโทษ เพราะได้รับความช่วยเหลือของมกุฎราชกุมาร ข่าวลือเกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนพระองค์แพร่ออกไปจำนวนมาก รวมถึงข่าวลือว่า พระองค์อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับขึ้นครองราชย์ สร้างความกดดันต่อการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม มกุฎราชกุมารเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียว และได้รับการแต่งตั้งตั้งแต่ยังพระเยาว์ ซึ่งยังไม่มีพฤติกรรมที่ชัดเจน

ธงชัย แสดงความเห็นว่า ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งถ้าจะสนใจที่เรื่องส่วนพระองค์ แต่ต้องมองปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น สิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามคือ หากรัชกาลที่ 5 ไม่ได้มีพระเกียรติคุณมากมาย พระโอรสอาจมีโอกาสมากกว่านี้ แต่ความจริงคือพระบิดามีเกียรติเป็นที่นับถือ เป็นเรื่องยากสำหรับพระราชโอรสที่ต้องเอาชนะอุปสรรค ปัจจุบันสถาบันฯ มีโอกาสที่ดี ที่จะไม่ทำเช่นนั้นอีก หากสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ดังนั้น สำหรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ราชสำนักสามรัชกาลจึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ พวกเขามักอ้างว่าคณะราษฎรเป็นปัญหา และประชาชนยังไม่พร้อมก็ด้วย คำถามคือ พร้อมสำหรับอะไร เพราะไม่มีการปฎิวัติครั้งใดที่เกิดตอนประชาชนพร้อมแล้ว

ธงชัย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยหลังศตวรรษ 1980 ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและชนบทของสังคมไทยเปลี่ยนไป คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรอีกต่อไป คนยากจนไม่ใช่ชาวไร่นาในอุ้งมือของคนในรัฐบาล การเลือกตั้งทำให้คนชนบทและคนจนเมืองมีโอกาสแสวงหาส่วนแบ่งด้านอำนาจและทรัพยากรที่เคยอยู่ในมือชนชั้นนำ คนในชนบทและคนจนเมืองไม่เพียงแต่เข้าใจประชาธิปไตย แต่ยังได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากประชาธิปไตยด้วย  ขณะที่ชนชั้นนำไม่เข้าใจพวกเขา ทำให้คนชั้นล่างสนับสนุนทักษิณ

ประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้งถูกโจมตีโดยชนชั้นนำว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชั่นเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง ขณะที่พวกกษัตริย์นิยมก็เชื่อมั่นในคุณธรรมของผู้ปกครองต่อไป หลายคนสนใจแต่ทักษิณ สนความขัดแย้งเหลืองแดง บ้างเชื่อว่าวิกฤตทุกวันนี้เกิดจากคนชั่วร้ายไม่กี่คน หากกำจัดคนชั่วไปได้จะกลับเข้าสู่ปกติ ซึ่งนั่นเป็นนิยาย

ในปี 2475 ชนชั้นสูงบางคนไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง ปี 2519 ทหารไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และอ้างว่าคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังการต่อต้านรัฐบาล ส่วนตอนนี้ ขอให้เติมคำในช่องว่างกันดู

ธงชัย กล่าวถึงกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า ถูกนำมาใช้โดยมิชอบ มีสถานการณ์ที่ทำให้ประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นในสังคม แต่ผู้อยู่ในอำนาจไม่ต้องการแก้ปัญหา ต้องการเพียงให้คนอื่นเงียบ อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เชื่อว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งเขาเองไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร รู้เพียงว่า การเปลี่ยนผ่านกำลังเกิดขึ้น และไม่สามารถหยุดมันได้

"เราไม่อาจบอกให้รถไฟไม่ออกจากสถานีได้ เพราะมันได้ออกจากสถานีไปแล้ว"

นอกจากนี้ เขาเตือนด้วยว่า ให้ระวังพวกกษัตริย์นิยม เพราะคนเหล่่านี้เป็นอันตรายกับสถาบันกษัตริย์ และจะเป็นผู้ที่ทำลายอนาคตของสถาบันพระมหากษัตริย์

ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ประเทศไทยควรจะมีความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน ทั้งนี้ประเทศไทยมีความไม่เท่าเทียมสูงมากเมื่อพิจารณาจากรายได้ของคนที่รวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ กับคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ พบว่าห่างกันถึง 13 เท่า ซึ่งเป็นสัดส่วนความแตกต่างที่มากกว่ายุโรป และเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันซึ่งมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนอยู่ 9-12 เท่า แม้กระทั่งในประเทศแถบแอฟริกาที่มีสงครามกลางเมือง ก็ยังมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนน้อยกว่าไทย

ผาสุกกล่าวต่อไปว่าไม่เฉพาะเรื่องรายได้กับความมั่งคั่งเท่านั้นแต่เรื่องอำนาจก็มีการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมมาก ผู้ที่อยู่ในระดับที่มีอำนาจเช่นนักการเมือง ข้าราชการชั้นสูง ตำรวจและทหารสามารถจะทำอะไรก็ได้สามารถที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองอย่างผิดกฎหมายและสร้างความเชื่อถือในผู้คนในสังคมระดับสูง

ผาสุกกล่าวว่า แม้ว่าความไม่เท่าเทียมในด้านความมั่งคั่งและการกระจายอำนาจจะไม่ได้หมายความว่าจะก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองเสมอไป แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ในช่วงที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยของไทยสูงขึ้นกว่าสามเท่า เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็มีความคาดหวังสูงขึ้น คนต้องการโอกาสที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ประชาชนกำลังรู้ว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองเป็นยุทธศาสตร์ที่สามารถทำให้เกิดผลได้ในแง่การปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น คงไม่กลับไปที่อดีตอีกต่อไป

"มีคนที่รู้สึกว่าการเมืองจะช่วยปรับปรุบงชีวิตเขาได้ มีคนรวยทีได้รับอภิสิทธิ์มานานก็ไม่ต้องการสูญเสียไป หลายคนไม่ต้องการสูญเสียอำนาจที่เคยมี"

ผาสุกเสนอว่า แนวทางที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทยก็คือการสร้างความเป็นธรรม เพราะหากพูดถึงความเท่าเทียมแล้วจะทำให้หลายคนรู้สึกกลัว ทั้งนี้การสร้างความเป็นธรรมนั้นสามารถทำได้โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การเก็บภาษีโดยตรงต่อทรัพย์สินและรายได้ เพราะปัจจุบันนี้ประเทศไทยใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลักซึ่งเป็นการผลักภาระภาษีให้กับคนจน เนื่องจากพวกเขาต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้

มาตรการที่จำเป็นอีกประการคือบริการสาธารณะที่ควรกระจายไปให้ครอบคลุมเหมือนบริการสาธารณสุข รัฐบาลต้องจัดบริการสาธารณะให้ถึงคนจน โดยผาสุกระบุว่าปัจจุบันบริการสาธารณะค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ให้คนรวยมากกว่า

และมาตรการท้ายสุดคือหลักนิติธรรม "เราต้องไม่ทำให้คนที่มีอิทธิพลสามารถจะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย นี่คือข้อท้าทายอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลประชาธิปไตยที่จะสามารถจัดการให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็จะไม่สามรารถมีสันติสุขได้" ผาสุกกล่าวในท้ายที่สุด

พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางของตัวเองว่าจะอยู่ตรงส่วนไหนของไม้กางเขนการพัฒนาระหว่างจีนและญี่ปุ่น พร้อมให้ข้อมูลว่าทั้งสองประเทศมีแนวคิดที่จะทำเส้นทางเชื่อมต่อเพื่อพัฒนาเศรฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยจีนมีโครงการตัดเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงลงมายังประเทศไทย และญี่ปุ่นต้องการทำเส้นทางเชื่อมผ่านเวียดนาม กรุงเทพฯ ไปย่างกุ้ง และเมืองเชนไนของอินเดีย

"ผมเชื่อว่าญี่ปุ่นก็คงแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบแล้วถึงแนวคิดในการทำถนนนี้ เพราะว่าเคยคุยตั้งแต่สมัยรัฐบาลก่อน ญี่ปุ่นพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนามและกัมพูชาอย่างรวดเร็ว และจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพม่าอย่างรวดเร็ว"

พันศักดิ์กล่าวว่าสิ่งที่จีนและญี่ปุ่นเสนอน่าสนใจเพราะช่วยยืดอายุขัยเฉลี่ยของประชาชน ทำให้เกิดการจ้างงาน การมีระบบขนส่งที่ดี ก็จะมีการลงทุนมากขึ้น มีกระบวนการแปรรูปสินค้ามากขึ้นตามเส้นทางหลวง

"เรามีความสามารถที่จะทำให้เป็นจริงได้ไหม หรือเป็นแค่ทางผ่าน"

พันศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จะไม่มีประโยชน์ถ้ามัวแต่มาคุยกันหรือปรับตัวด้านอารมณ์เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น "ผมเสนอว่าเราควรต้องมีเสถียรภาพด้านปัญญา อารมณ์" เขาระบุว่าจากการพูดคุยกับนักลงทุนจากต่างชาติผู้ประเมินความเสี่ยงในการลงทุน พวกเขาต้องการเห็นหลายอย่าง คือ เสถียรภาพของประชาธิปไตย และการตีความหลักนิติรัฐ

"เราต้องมีหลักนิติธรรมที่มีความน่าเชื่อถือ กรณีมาบตาพุดเป็นวิกฤตของการตีความพันธกรณีของรัฐที่ไม่ถูกต้อง การตีความสัญญาประชาคมที่ไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาด้านกฎหมายด้านสัญญา ซึ่งเป็นปัญหาของรัฐบาลไทย ภาระเร่งด่วนของรัฐบาลก็คือการสร้างความน่าเชื่อถือในเรื่องการสร้างพันธสัญญาในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองประชาชนอย่างดีที่สุด ต้องเสนอที่จะจัดตั้งองค์กรสิ่งแวดล้อมอิสระและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเร็วที่สุด เป็นเรื่องการีสร้างความน่าเชื่อถือของรัฐบาล"

พันศักดิ์กล่าวว่าสังคมไทยต้องตอบคำถามตัวเองในเรื่องการสร้างคุณค่า เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความจริงของการแลกเปลี่ยนสินค้า "อย่างไรก็ตามผมคุยกับคนที่ไม่สนใจเลยว่าจะเกิดอะไรกับประเทศนี้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ทำเงินได้อยู่ดี จะไปสวรรค์ หรือไปนรก ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่มีใครช่วยเราได้"

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรากำลังจะเข้าสู่ช่วงที่มีการพบกันของความไม่แน่นอนและแน่นอนหลายอย่าง ความไม่แน่นอนได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินต่อไป และปีหน้าจะเป็นปีที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งจะบอกว่าใครมีความชอบธรรมในการขึ้นครองอำนาจ อย่างไรก็ตาม คนที่ชนะการเลือกตั้งครั้งหน้าจะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมในการปกครองต่อไป ทั้งจากฝ่ายเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า จะสร้างความมีเสถียรภาพและไร้เสถียรภาพต่อไปไหม

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจขึ้นตรงต่อเศรษฐกิจโล ซึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศก็เกิดจากการที่รัฐบาลใช้ทรัพยากรมหาศาล ดังนั้นแล้ว จึงอยากจะเห็นจินตนาการเรื่องเศรษฐกิจ-ความสามารถในการแข่งขันมากกว่านี้จากพรรคประชาธิปัตย์  

ความไม่แน่นอนทางสังคม อันเกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ  คงจะมีการแยกขั้วทางการเมืองและความง่อนแง่นของเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดการประท้วงมากขึ้น ทั้งนี้ สหภาพยุโรป มีรายงานว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสังคมสูง

เรื่องความไม่แน่นอนด้านความมั่นคง เขาเองมีความกังวลเรื่องชายแดนภาคใต้ โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการปะทะกัน 8000 ครั้ง เสียชีวิต 400 กว่าคน บาดเจ็บเป็นพัน ยังไม่รวมขมขื่น ความเกลียดชัง ซึ่งเกิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น

"นโยบายต่อสถานการณ์ภาคใต้ของประชาธิปัตย์น่าผิดหวัง เราบอกว่าเรารู้จักภาคใต้ แต่เราไม่รู้จะทำอย่างไร" เขากล่าวและเสนอให้กลับไปดูอินโดนีเซีย โดยการสร้างความอดทนและการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างวัฒนธรรม เป็นสิ่งแรกที่ต้องมี

ขณะที่ความไม่แน่นอนในระดับภูมิภาค ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แสดงความเห็นกรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและกัมพูชาว่า แม้สมเด็จฮุนเซนจะผลักและจี้เรา แต่เราอาจจะตอบโต้เกินความจำเป็นเกินไป อาจต้องมีกระบวนนการระงับไม่ให้กรณีพิพาทลุกลามมากขึ้น

ส่วนความแน่นอนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุว่า จำนวนประชากรในประเทศกำลังพัฒนาจะเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าไทยเองจะมีอัตราการเพิ่มต่ำ แต่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านห้อมล้อมไทย จะทำให้มีการอพยพมากขึ้น เพิ่มความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ซึ่งเรายังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร รวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ ของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ เราจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อโรคระบาด เพราะเรามีการเคลื่อนย้ายผู้คนข้ามประเทศ ข้ามพรมแดน ทั้งสินค้าและบริการ โรคระบาดแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้เรายังมีโรคของสังคมสมัยใหม่ โรคซึมเศร้า ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้ว จะส่งผลต่อสาธารณสุขของเรา ที่เลวร้ายคือ จะกระทบต่อผู้มีรายได้รายน้อย และผู้ที่เข้าถึงการรักษาได้น้อย ลำพังงบของสาธารณสุขเอง ปัจจุบันก็ค่อนข้างต่ำ โดยต่ำกว่า 100 เหรียญดอลลาร์ต่อหัว ขณะที่สหรัฐใช้ 6,000 ดอลล่าร์ต่อหัว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ระบุว่า แนวโน้มการขยายตัวของเมือง ในปี 50 ประชากรในเมืองมากกว่าในชนบทเป็นครั้งแรก ในอนาคต 60% ของประชากรโลกจะอยู่ในเมือง จะต้องจัดการปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับผลกระทบ เรื่องอาหาร ความมั่นคงของอาหารและผลทางสวัสดิการสังคมด้วย

ด้านสิ่งแวดล้อม มีปัญหาทั้งพายุไซโคลน แผ่นดินไหว ที่เพิ่มมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ในไทยเอง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้การเซาะกร่อนชายฝั่งเกิดขึ้นอีก ทั้งยังมีการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งในระยะยาว หากเกิดทั้งสองกรณี จะทำให้ กทม. จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งต้องการมาตรการระยะสั้นและยาว และการลงทุนมหาศาลเพื่อป้องกันการพังทลายของชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ เราจะต้องช่วยกันกับชาวโลก ลดรอยเท้าทางนิเวศน์ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย

เราแน่ใจว่า เรามีปัญหาท้าทายในอนาคตหลายอย่างแน่นอน และจำเป็นต้องลงทุนมหาศาล แต่เรากำลังเสียเวลาไป โดยปล่อยให้ความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาทางสังคมมีต่อไป

"ถ้าเรามองถึงอนาคตแล้ว เราต้องลดความไม่แน่นอนในปัจจุบันลง" 

 

 

ติดตามอ่านรายงานฉบับเต็มได้เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท