Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทยจัดเสวนา 50 ปีการอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาตั้งข้อสังเกต “พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ” เปิดช่องให้มีการค้าสัตว์ป่าเสียเอง “ผู้บริหารไนท์ซาฟารี” ยอมรับมีปัญหาจริงแต่สวนสัตว์ทุกแห่งก็มีสัตว์ตายแต่ไม่เป็นข่าว สร้างไปแล้วต้องหาทางแก้ ด้าน “ชัยพันธุ์ ประภาสวัต” โผล่จี้เลิกกิจการไนท์ซาฟารี-พืชสวนโลก อ้างทำผิดกฎหมายตั้งแต่เริ่ม

 
 
 
เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่า 26 ธันวาคมของทุกปี เครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทยจัดงานเสวนา “50 ปี การอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย” ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา
 
โดยนายนิคม พุทธา เลขาธิการเครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย ได้กล่าวว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 จนเปลี่ยนมาเป็นฉบับปี พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์การคุ้มครองสัตว์ป่าไทยยังอยู่ในข่ายที่น่าเป็นห่วง และล่าสุดได้มีการร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ขึ้น จึงอยากให้เวทีในวันนี้เป็นการพูดถึงช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการใช้ พ.ร.บ.
 
 
“หมอหม่อง” ชี้สัตว์ป่าไม่ใช่แค่สวยงาม แต่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา ได้เริ่มต้นการเสวนาด้วยการพูดถึงคุณค่าของสัตว์ว่าคนส่วนใหญ่มักมองที่ความสวยงามทั้งที่คุณค่าของสัตว์อยู่ที่ความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ โดยยกตัวอย่างดอยสุเทพที่ดูเหมือนจะมีต้นไม้หนาแน่นแต่จริงๆ แล้วมีงานวิจัยบอกว่าพันธุ์ไม้บนดอยสุเทพนั้นไม่สามารถกระจายพันธุ์ได้ เนื่องจากไม่มีสัตว์ที่กินลูกหรือผลของต้นไม้เหล่านั้นและนำเมล็ดพันธุ์ไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อื่น ซึ่งจะเห็นว่าสัตว์ในป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างมาก
 
“สวนทุเรียนบางแห่งไม่ติดลูก พอค้นไปค้นมาก็พบว่าเป็นผลมาจากการระเบิดภูเขาหินปูนเพื่อมาทำปูนซีเมนต์ ซึ่งภูเขาที่ว่านั้นเป็นภูเขาที่มีถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ และค้างคาวนี่เองที่ทำหน้าที่ผสมเกสรให้ต้นทุเรียน พอระเบิดภูเขาค้างคาวก็ไม่มีที่อยู่ แล้วกลไกในการผสมพันธุ์ของทุเรียนก็หยุดลง”
 
 
ความรู้เรื่องสัตว์ในสังคมไทยมีปัญหาแม้แต่ใน “สวนสัตว์”
นพ. รังสฤษฎ์ กล่าวว่า คนในสังคมส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจในระบบนิเวศน์แม้แต่ระดับพื้นฐาน เห็นว่าการที่สัตว์สูญพันธุ์ไม่ส่งผลกับวิถีชีวิตของตน อย่างการจัดสถานที่แสดงสัตว์ของไนท์ซาฟารีนั้นก็ไม่เหมาะสมกับความเป็นอยู่สัตว์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตอนนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วหรือไม่ แต่มันก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าความรู้เรื่องสัตว์ในสังคมไทยมีปัญหาแม้แต่ทางสวนสัตว์เอง
 
และถึงแม้เราอาจไม่ได้เป็นผู้ล่าสัตว์โดยตรงแต่เราเป็นผู้สร้างความต้องการล่าสัตว์ให้เกิดขึ้น อย่างการนิยมบริโภคเนื้อสัตว์ป่าที่ส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย เช่น การกินอุ้งตีนหมีทำให้ต้องฆ่าหมีเพื่อนำอุ้งเท้ามันมาทั้งที่มันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์ โดยการหาน้ำผึ้งของหมีนั้นจะต้องเจาะโพรงที่ต้นไม้ ซึ่งช่วยทำให้นกเงือกสามารถทำรังที่ต้นไม้ได้ และเมื่อนกเงือกทำรังที่ต้นไม้ก็จะช่วยในเรื่องการกระจายพันธุ์ต้นไม้ต่อไป แต่ปรากฏว่าเพียงเพราะเราต้องการอุ้งเท้ามันจึงไปทำลายระบบนิเวศน์ดังกล่าว
 
 
พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ เปิดช่องให้มีการค้าสัตว์เสียเอง
นพ. รังสฤษฎ์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ฉบับปัจจุบันที่แก้ไขเมื่อ พ.ศ. 2535 และกำลังมีการร่างแก้ไขใหม่ว่า แม้ในกฎหมายจะกำหนดไม่ให้มีการค้าขายสัตว์สงวน แต่ในกฎหมายการค้าขายสัตว์สงวนสามารถทำได้หากดำเนินการผ่านองค์กรของรัฐ สวนสัตว์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน รวมไปถึงการเปิดให้เพาะพันธุ์ได้ ซึ่งการเพาะพันธ์สัตว์นั้นที่ไม่ได้คำนึงประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์นั้นเท่ากับเป็นการเพาะพันธุ์เพื่อการค้า ซึ่งเท่ากับว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวนั้นเป็นการเปิดช่องทางให้มีการค้าสัตว์มากขึ้น
 
ไม่แน่ใจว่า พ.ร.บ.ฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้จะคุ้มครองสัตว์ป่าหรือคุ้มครองธุรกิจค้าสัตว์ป่ากันแน่ กรี๊ดแพนด้าไม่ว่าแต่อย่าละเลยสัตว์ไทย แพนด้าอาจช่วยเรื่องเศรษฐกิจแต่ไม่ช่วยเรื่องระบบนิเวศน์”
 
 
ผู้บริหารยอมรับไนท์ซาฟารีมีปัญหา แต่ลงทุนไปแล้วต้องหาทางแก้
ด้าน นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ผู้จัดการพื้นที่พิเศษ ไนท์ซาฟารี เชียงใหม่ กล่าวว่าที่ผ่านมาก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งนั้นการจัดการดูแลไนท์ซาฟารีมีปัญหา และยอมรับว่าไนท์ซาฟารีมีปัญหาขัดแย้งภายใน อย่างเรื่องสัตว์ตายนั้นสวนสัตว์ทุกแห่งนั้นก็มีสัตว์ตายเช่นกันแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว ขณะที่ทางไนท์ซาฟารีนั้นมีคนในคอยแจ้งข้อมูลต่อสาธารณะชนเพื่อให้เป็นข่าว อย่างไรก็ตามถึงแม้ไนท์ซาฟารีจะมีปัญหาในหลายๆ ด้าน แต่ในเมื่อลงทุนสร้างมาแล้วก็ควรที่จะหาทางสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น
 
 
“ชัยพันธ์” เสนอหยุดไนท์ซาฟารี-พืชสวนโลก คืนสัตว์สู่อุทยาน
ขณะที่ นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต  ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่าปัญหาที่สำคัญก็คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะประเทศไทยเราไม่เคยเคารพสัญญาใดๆ ที่เราได้ลงนามไว้ ทำให้สัตว์บางชนิดพบในป่าได้ยากกว่าพบในสวนสัตว์เสียอีก สำหรับกรณีของไนท์ซาฟารีตนเห็นว่าควรหยุดดำเนินการเพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น ควรจะหาทางคืนสัตว์กลับสู่พื้นที่อุทยาน ซึ่งไม่เฉพาะไนท์ซาฟารีเท่านั้นแต่พื้นที่จัดงานพืชสวนโลกก็ควรจะหยุดดำเนินการเช่นกัน ซึ่งตนก็ได้ร้องเรียนไปแล้วแต่ไม่เป็นผล
 
 
ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าฯ โอดสังคมเห็นเจ้าหน้าที่เหมือนเครื่องจักร
ทาง ดร. กมลไชย คชชา ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สังคมเรียกร้องกับเจ้าหน้าที่มากเกินไปในเรื่องการดูแลสัตว์ป่าจากกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ เนื่องจากคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานเหมือนเครื่องจักร ทั้งที่จริงแล้วเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถที่จะอยู่อาศัยในป่าได้ตลอดเวลา ซึ่งเหมือนกับการที่ตำรวจเองก็ไม่สามารถที่จะตรวจตราดูแลความปลอดภัยได้ทุกพื้นที่ ไม่เช่นนั้นคดีวิ่งราวชิงทรัพย์หรืออาชญากรรมก็คงจะไม่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net