นพ.นิรันดร์ ชี้การทูตช่วยแก้ปัญหาส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง

ย้ำต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง ป้องกันชีวิตและความปลอดภัย พร้อมเสนอบัวแก้วประสานเจรจาร่วม ทำข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ปล่อยทหารฉายเดี่ยว และผลักดันองค์กรที่สามร่วมตรวจสอบ สร้างความมั่นใจในเวทีโลก เผยกรรมการสิทธิฯ เตรียมเชิญฝ่ายทหารมาให้ข้อมูลวันที่ 10 ก.พ.นี้

จากกรณีที่องค์กรพัฒนาเอกชนและนักสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องเรียกร้องกองทัพภาคที่ 3 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยับยั้งการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่ากว่า 3,000 คน ในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เนื่องจากหวั่นเกรงถึงความปลอดภัยในพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยหากถูกส่งกลับประเทศพม่า รวมทั้งสิทธิในความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

เมื่อวันที่ 6 ก.พ.52 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ประชาไท เกี่ยวกับ กรณีการดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยดังชาวกะเหรี่ยงสัญชาติพม่าว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง เห็นว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องด่วน จึงมีการนัดประชุม เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเชิญตัวแทนผู้นำองค์กรกระเหรี่ยง นักวิชาการ คือ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มช. รวมทั้งนักศึกษาที่อยู่ในชมรมที่ศึกษาเกี่ยวกับกรณีชาติพันธุ์ในพื้นที่มาร่วมชี้แจง ในกรณีดังกล่าว

นพ.นิรันดร์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ทางผู้นำองค์กรกระเหรี่ยงให้เหตุผลในการร้องต่อกรรมการสิทธิฯ ว่า การดำเนินการส่งกลับผู้ลี้ภัยนั้นสุ่มเสียงต่อชีวิตและความปลอดภัย เพราะพบว่าบริเวณพื้นที่ที่จะส่งกลับมีกับระเบิดอยู่จำนวนมาก และที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งมีการส่งกลับผู้ลี้ภัยไปแล้ว มีผู้ลี้ภัยได้รับอันตรายจากการเหยียบกับระเบิด อาทิ ในกรณีของหญิงตั้งครรภ์ที่บาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิดจนต้องตัดขาทิ้ง โชคดีที่เด็กในท้องไม่ได้รับอันตราย ดังนั้นจึงมีความต้องการให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้าไปตรวจสอบว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องสิทธิการมีชีวิตอยู่และสิทธิในเรื่องความปลอดภัย
 

ย้ำต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง ป้องกันชีวิตและความปลอดภัย
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงข้อสรุปที่ได้จากการประชุมว่า ในพื้นที่ยังมีลักษณะสุ่มเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยให้ทหาร หน่วยเฉพาะกิจ หรือกองทัพภาคที่ 3 ผลักดันผู้ลี้ภัยออกไป เพราะกำหนดการก่อนหน้านี้ที่ทำให้ต้องเปิดประชุมด่วน คือจะมีการผลักดันกลับผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศภายในวันที่ 5-15 ก.พ. โดยวันที่ 5 จะผลักดันออก 30 ครอบครัว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะพบกับปัญหาที่ผู้ลี้ภัยเองไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่รออยู่เบื้องหน้าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งจากข้อมูลที่ได้มาพบว่า ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งกลับไม่ได้มีความสมัครใจ เพียงแต่เป็นภาวะจำยอม

ดังนั้น จึงเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องสิทธิในชีวิตและความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยในฐานะที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทหารไม่ควรที่จะเข้าไปผลักดันให้คนเหล่านี้ต้องออกนอกประเทศโดยที่ยังไม่มีมาตรการในการป้องก

"อย่างกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัยชาวม้ง ทหารยังมีระบบและมาตรการในการที่จะดำเนินการอย่างมีขั้นตอน แต่ในกรณีนี้ยังเป็นการใช้อำนาจในการผลักดัน เท่ากับว่าเรามีส่วนในการผลักให้เขาไปตาย หรือไปบาดเจ็บ ซึงถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นทางชายแดนเหมือนกัน" นพ.นิรันดร์ กล่าว
 

เสนอบัวแก้วประสานเจรจาร่วม ทำข้อตกลงระหว่างประเทศ  ไม่ปล่อยทหารฉายเดี่ยว
นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อมาว่า ข้อมูลที่ได้รับจากตัวแทนในที่ประชุมคือ หน่วยงานส่วนใหญ่พยายามใส่เกียร์ว่างไม่ว่าจะเป็นองค์กรระหว่างประเทศอย่าง สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ (UNHCR) ทางสถานทูตอเมริกา หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเองที่ได้รับรู้ปัญหานี้มาก่อน และได้มี ส.ส.บางคนพยายามแสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้วว่ามาตรการในการส่งกลับไม่ควรเป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารอย่างเดียว ควรจะมีกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมเพื่อให้เกิดระบบการเจรจาระหว่างประเทศ ในการที่จะทำให้เกิดข้อตกลงเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อส่งคนเหล่านั้นกลับไปแล้ว โดยจะต้องมีมาตรการที่ทำให้เกิดการรับรองว่า เขาจะสามารถไปอยู่ในดินแดนพม่าโดยที่ไม่ต้องประสบกับอันตรายทางการเมือง ที่ตามที่ไทยมีข้อตกลงในเรื่องที่จะต้องไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement principle)

ทังนี้ กลไกทางการทหารไม่พอ ต้องมีการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในการจัดเจรจาร่วมกับรัฐบาลพม่า และกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งชาวกระเหรี่ยงด้วย โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการเคลื่อนย้าย มากกว่าจะเป็นการปล่อยให้ทหารดำเนินการฝ่ายเดียว

การที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างระบบหรือมาตรการที่มั่นคงและยังยืนได้ ก็จะเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า ด้วยการอาศัยการผลักดันออกโดยที่ไม่สร้างมาตรการป้องกัน หรือทำให้เป็นเรื่องความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อส่งผู้ลี้ภัยกลับไปเขาก็จะต้องหนีตายกลับมาอีก พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่มีการต่อสู้ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตของพวกเขา อีกทั้งการผลักดันไม่สามารถทำได้ตลอด ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาว ซึงตรงนี้ก็จะนำมาสู่กระบวนการที่ผิดกฎหมาย เช่น กระบวนการค้ามนุษย์ และแรงงานข้ามชาติ
 

ผลักดันองค์กรที่สามร่วมตรวจสอบ สร้างความมั่นใจในเวทีโลก
กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากข้อเสนอ 2 ข้อข้างต้น ยังมีการทำหนังสือเสนอต่อนายกรัฐมนตรีว่า รัฐบาลต้องผลักดันให้มีองค์กรที่ 3 ยกตัวอย่างเช่น UNHCR กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในอาเซียน หรือคณะกรรมการสิทธิฯ เอง เข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เพื่อให้มีความมั่นใจในการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย รวมทั้งระบบที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่องชีวิตและความปลอดภัยเมื่อข้ามแดนไปแล้ว ตรงนี้จะช่วยให้นานาประเทศมีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีแนวทางการแก้ไขปัญหาตามหลักสิทธิมนุษยชน
 

เผยเตรียมเชิญฝ่ายทหารมาให้ข้อมูล
ในส่วนการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการสิทธิฯ นพ.นิรันดร์ เผยว่า ในวันที่ 10 ก.พ.ที่จะถึงนี้ ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ  ภาค3 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งหน่วยเฉพาะกิจที่ดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย มาร่วมพูดคุยในช่วงบ่าย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการหาข้อยุติ และแนวทางปฏิบัติที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหลักการพื้นฐานในเรื่องสิทธิในการชีวิตอยู่ และสิทธิในเรื่องความปลอดภัยในการโยกย้ายผู้ลี้ภัย

โดยการประชุมดังกล่าวภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่สนใจ และในส่วนของสื่อมวลชนสามารถเข้าร่วมได้ แต่ตัวแทนจากองค์กรกระเหรี่ยงไม่พร้อมอยู่ให้ข้อมูลในวันดังกล่าว เนื่องจากมีความล่อแหลมในการเปิดเผยตัว ไม่พร้อมปรากฏตัวให้เห็นเป็นข่าว 

นอกจากนั้นราววันที่ 17-18 ก.พ.ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะลงพื้นที่ ในพื้นที่พักรอชั่วคราวบ้านหนองบัว และบ้านแม่อุสุทะ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อดูข้อเท็จจริงทั้งนี้
 

เชื่อชะลอส่งกลับจนกว่ารัฐบาลจะมีนโยบายชัดเจน
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดทางทหารได้ชะลอการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัย แต่ก็พบว่ามีผู้ลี้ภัยเดินทางกลับ 3 ครอบครัว ซึ่งในการลงพื้นที่จะไปติดตามข้อมูลในเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตามคาดว่าทางทหารจะชะลอการเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยจนกว่าจะมีในโยบายที่ชัดเจนจากฝ่ายการเมือง 

นอกจากนั้นยังแสดงความเห็นต่อการใช้อำนาจในการส่งกลับผู้ลี้ภัยว่า ความจริงควรเป็นหน้าที่ของรัฐในการกำหนดนโยบาย ส่วนผู้ปฏิบัติเป็นทหารก็ได้ แต่มาตรการหรือกระบวนการที่เกิดขึ้นต้องคำนึงถึงหลักมนุษยชน  

"ตรงนี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องเรียกร้องรัฐบาลออกไปว่า ตรงนี้รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนใจ และใช้อำนาจฝ่ายบริหารมาจัดการตรงนี้"
 

ชี้การทำข้อมูลผู้ลี้ภัยสมัครใจกลับหรือไม่ ต้องมีแนวนโยบายสร้างความมั่นใจก่อน
ด้านข้อมูลของ UNHCR ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 30 ครอบครัว จำนวน 161 คน ที่ทางทหารแจ้งว่ามีความประสงค์จะเดินทางกลับไปที่บ้านเลอเปอเฮอ ประเทศพม่า ในวันที่ 5 ก.พ.โดยทหารจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับแต่พบว่า มีผู้ลี้ภัยจำนวนถึง 22 ครอบครัวที่ไม่ได้ต้องการเดินทางกลับ

นพ.นิรันดร์ แสดงความเห็นว่า ของมูลในเรื่องการสมัครใจกลับหรือไม่สมัครใจกลับต้องทำภายใต้แนวนโยบายที่ชัดเจนในการเคลื่อนย้ายที่จะทำให้ผู้ลี้ภัยกลับสู่ประเทศต้นทางคือพม่า โดยมั่นใจว่าจะไม่กลับไปตายหรือบาดเจ็บระหว่างทาง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องหนีภัยการเมืองกลับมายังประเทศไทยอีก มาตรการทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเจรจาทางการทูตกับรัฐบาลประเทศพม่า ซึ่งก็คิดว่ามีความเป็นไปได้เพราะขณะนี้ประเทศพม่าเองก็มีความพยายามก้าวเข้าสู่การเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก อีกทั้งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนในเรื่องคุณธรรมและศีลธรรมของผู้นำแต่ละประเทศซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัว นอกจากนั้น กลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียนควรเข้ามาร่วมทำงานในส่วนนี้ด้วย

"มันต้องทำให้เป็นกระบวนการที่มั่นใจก่อน แทนที่จะปล่อยให้ทางทหารใช้กำลังในการผลักดันอย่างเดียว ถ้ามีคำตอบในเรื่องกระบวนการหรือนโยบายที่ชัดเจนยึดหลักมนุษยชนแล้ว เราก็ค่อยมาทำให้เขาได้รับรู้ว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง แล้วเมื่อนั้นเราถึงจะรู้ว่าเขาสมัครใจหรือไม่อย่างไร" นพ.นิรันดร์กล่าว

นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า การสอบถามความคิดเห็นบนพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยยังไม่มั่นใจ ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร อาจเป็นการสมัครใจภายใต้การถูกบังคับหรือกดดัน นอกจากนี้อาจเป็นการสมัครใจโดยอยู่ภายใต้ความไม่สบายใจว่าต้องประสบชะตากรรมหรือได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการสอบถามความคิดเห็นในรูปแบบนี้ถือเป็นความไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการสอบถามโดยไม่มีส่วนร่วมและไม่มีมาตรการที่ชัดเจน

"ในฐานะที่เป็นรัฐบาลและเป็นตัวแทนระดับประเทศ กระทรวงการต่างประเทศต้องมีหน้าที่ตรงนี้ด้วย เพราะเป็นกติกาโลกในการที่จะดูแลพลเมืองของโลกด้วย อย่าไปคิดว่าเขาคือคนพม่า มาอาศัยเราอย่างเดียว แล้วเราจะผลักดันเขาอย่างเดียว อันนั้นคงไม่ใช่วิสัย เพราะว่ากติกาสิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่ทางการไทยก็มีการเซ็นสัญญาเป็นข้อตกลงกติกาโลกตรงนี้ด้วย" กรรมการสิทธิฯ เน้นย้ำในเรื่องบมบาทของประเทศไทย
 

ชี้ส่งกลับชาวเหรี่ยงสอบตกด้านสิทธิมนุษยชนชัด เมื่อเทียบกับส่งกลับม้งลาว
เมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินการส่งกลับชาวม้งเชื้อสายลาว เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา นพ.นิรันดร์ กล่าวว่ากรณีของม้งเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อมากว่ากรณีของกะเหรี่ยงในตอนนี้ โดยเป็นเรื่องการหลบหนีภัยทางการเมือง เท่าที่ได้ตรวจสอบจากทางฝ่ายทหาร และกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเข้ามาอยู่นานแล้วการผลักดันตรงนี้ก็ทำให้เกิดการเจรจาทวิภาคีระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวที่ต่างก็มีความมั่นใจว่าผู้ถูกส่งกลับจะได้รับความปลอดภัย

โดยทางการลาวได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ถือโทษ นิรโทษกรรม และให้คนเหล่านั้นกลับไปใช้ชีวิตแบบคนลาวทั่วไป เพียงแต่ขณะนี้ต้องมีการติดตามว่ารัฐบาลลาวได้ดำเนินการดังที่พูดไว้หรือไม่

ในส่วนรัฐบาลไทยเองก็ไม่ได้มีท่าทีในการกดดัน สิ่งที่นำเสนอต่อกรรมการสิทธิก็คือ มีระบบในเรื่องของการสอบถาม มีการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการเคลื่อนย้ายอย่างเป็นระบบ และในการเคลื่อนย้ายก็พยายามความคำนึงถึงเรื่องสิทธิในชีวิตและความปลอดภัย ยกตัวอย่ากรณี คนที่ตั้งครรภ์ก็ยังผ่อนผันการเคลื่อนย้าย โดยให้คลอดก่อนแล้วค่อยมีการเคลื่อนย้าย เป็นต้น และมีการดำเนินการเคลื่อนย้ายถึงประเทศลาวโดยมีการไปเฝ้าดูในระยะเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยจริง โดยทั้งตัวแทนจากทางการไทยคือทหารเอง กระทรวงการต่างประเทศ และมีองค์กรกลางเข้าไปดำเนินการ

สรุปก็คือ เป็นการทำงานที่โดยส่วนตัวคิดว่าอยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ ภายใต้ข้อตกลงกันอย่างเป็นระบบที่ให้ความมั่นคงในเรื่องชีวิตและความปลอดภัย แล้วเป็นการดำเนินงานที่ทำให้ชาวม้งในส่วนหนึ่งมีส่วนร่วม เพียงแต่ต้องยอมรับว่ามีชาวม้งราว 100 กว่าคน แสดงความประสงค์จะไปประเทศที่สาม อย่างสหรัฐอเมริกา ตรงนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่ทางการไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าได้ไปละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัย

"โดยภาพรวมตรงนั้นผมคิดว่าใช้ได้ แต่ว่าในกรณีกะเหรี่ยงมันไม่ได้มีการทำให้เห็นระบบหรือมาตรการดังกล่าว เป็นการผลักดันของทหารอย่างเดียว มันจึงเป็นเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราถูกประเมินการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ตก คือสอบตก และจะเห็นค่อนข้างชัดเจนเมื่อเทียบกับกรณีม้ง" นพ.นิรันดร์ แสดงความคิดเห็น
 

ย้ำการเจรจาทางการทูตช่วยแก้ปัญหาส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่า และลดการละเมิดสิทธิ์
นพ.นิรันดร์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งภายในของประเทศพม่าที่มีความซับซ้อน ทำให้คิดว่าต้องใช้การเจรจาทางการทูตในการแก้ปัญหาเพื่อที่จะไม่มีการละเมิดสิทธิ เพราะการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศมีหลักคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และคิดว่าวิธีการในการเจรจาซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้ทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลทหารพม่า ผู้นำชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกแยกแยกกัน ได้ตระหนักว่าไม่ควรเอาชีวิตของคนมาเป็นเครื่องมือในการประหัตประหารกัน

เมื่อมีความรุนแรง มีการต่อสู้กันเกิดขึ้นประชาชนผู้บริสุทธิ์ไม่ควรจะต้องมาได้รับผลกระทบในเรื่องการบาดเจ็บ หรือความเป็นความตาย ซึ่งทุกฝ่ายควรต้องออกมารับผิดชอบสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรต้องละเมิดของประชาชนตาดำๆ โดยเฉพาะในส่วนของเด็กและสตรี

กรณีความต่อเนื่องในการส่งกลับผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้าน นพ.นิรันดร์ แสดงความเห็นว่ารัฐบาลไทยมีสิทธิในการเคลื่อนย้ายคนที่คิดว่าเป็นคนของประเทศอื่นให้กลับไปได้ แต่ว่าควรคิดให้เป็นระบบคือ ต้องคิดในเชิงนโยบายและการจัดการที่ต้องยึดหลักเรื่องการทูตและหลักของสิทธิมนุษยชน นั่นคือการเจรจา

"เรายังเชื่อมั่นอยู่ว่า ถ้ารัฐบาลเห็นปัญหาตรงนี้แล้ว ก็น่าจะหยิบยกปัญหามาหารือพูดคุยในทั้งระบบ แต่ว่าไม่ควรใช้มาตรการทางทหารอย่างเดียว ในส่วนของทหาร ผมคิดว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเคลื่อนย้ายได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายที่กำหนดโดยฝ่ายพลเรือน ทหารต้องดำเนินการภายใต้นโนยายฝ่ายพลเรือน ในด้านการทูต และหลักสิทธิมนุษยชน" นพ.นิรันดร์กล่าวย้ำ

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท