Skip to main content
sharethis

 
เมื่อเอ่ยถึง ‘ปางแดง’ เชื่อว่าหลายคนที่สนใจในเรื่องประเด็นสิทธิมนุษยชน คงจะรู้จักและคุ้ยเคยกันดี เนื่องจากเป็นกรณีตัวอย่างที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายร้อยนาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมและจับกุมชาวบ้านปางแดงซ้ำซาก 3 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งทำให้สังคมมองว่า เป็นการจับกุมแบบเหวี่ยงแห และถือว่าเป็นละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
และเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2552 ที่ผ่านมา ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีเวทีสาธารณะนำเสนอประสบการณ์และบทเรียนการแก้ไขปัญหาชุมชนบ้านปางแดง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ น่าศึกษาวิเคราะห์และหาทางออกร่วมกัน ‘ประชาไท’ จึงขอนำมารายงานไว้ตรงนี้
 
 
 “...และเราต้องระวังอย่าตกหลุมพรางที่ฝ่ายรัฐนั้นวางไว้
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และจะเป็นเงื่อนไขเดียวที่เขาจะปฏิเสธความเป็นคนไทยเรา”
 

นายสุมิตร วอพะพอ ตัวแทนโครงการพัฒนาพื้นที่สูง UNDPได้พูดถึงชะตากรรมของชนเผ่าดาระอั้ง ที่ต้องประสบกับความรุนแรงมาโดยตลอด ก็เนื่องมาจากว่า ประชากรของดาราอั้งประมาณ 6,000 กว่าคนที่อยู่ในประเทศไทย มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีสถานะบุคคลที่ชัดเจน แต่อีก 70 เปอร์เซ็นต์นั้นยังไม่ได้รับสิทธิทางสถานะแต่อย่างใด จึงมักตกเป็นฝ่ายถูกกระทำละเมิดสิทธิซ้ำซาก

“ในส่วนของโครงการพัฒนาพื้นที่สูง หรือUHDP เราทำงานกับพี่น้องดาราอั้งมาเป็นปีที่ 11 และชุมชนบ้านปางแดงนอกก็เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการที่เราทำงาน เพราะฉะนั้น เมื่อพี่น้องปางแดงเดือดร้อนก็หลีกหนีไม่พ้น จึงต้องเข้ามาทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.)ได้สนับสนุนในเชิงของฐานข้อมูล เราทำในส่วนที่เราทำได้ เช่นการพัฒนา ระบบอุปโภค สาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบน้ำ ระบบประปา และการพัฒนาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ เพราะว่าเขาไม่มีที่ทำกิน จะทำอย่างไรให้เขามีพื้นที่ที่จำกัดบริเวณบ้านหรือทำเกษตรรอบบ้านของเขาเอง เพื่อที่จะผลิตของในการอุปโภค บริโภค สิ่งนี้เราทำให้ชุมชนเป็นชุมชนที่ดีขึ้นและหลายๆเรื่อง รวมทั้งการพัฒนากองทุนของกลุ่มสตรีและกลุ่มออมทรัพย์ การพัฒนาอาชีพ เป็นต้น”

นายสุมิตร กล่าวอีกว่า มีอีกสิ่งหนึ่งที่ท้าทายในอนาคตของพี่น้องปางแดง ก็คือ กองทุนพัฒนาอาชีพในลักษณะที่จะสร้างความยั่งยืนของชุมชน สิ่งที่สำคัญคือตอนนี้พี่น้องปางแดงก็มีการจัดทำแผนพัฒนาของหมู่บ้าน ซึ่งถือว่าพี่น้องประสบความสำเร็จไปก้าวหนึ่ง และเป็นก้าวสำคัญ

“นอกจากนั้น ชาวบ้านปางแดง ยังได้มีการดูแลรักษาป่าโดยเห็นได้เจนว่า ที่ผ่านมาปางแดงได้มีการปลูกป่า 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 7,000 กว่าต้น ครั้งที่สอง 9,999 ต้น ซึ่งอยากจะฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ภาคปฏิบัติด้วยว่า ขอให้เข้าใจในเรื่องของวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขอให้เปลี่ยนจากการจับอาวุธเข้าไปเป็นการเข้าไปนั่งเป็นมิตรกับชาวบ้านดีกว่า นั่นเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องอยู่ร่วมกัน เป็นพี่น้องกันในการที่จะช่วยดูแลรักษาป่าไม้ สิ่งแวดล้อมต่างๆ ร่วมกัน และคิดว่านี่เป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่เราน่าจะนำเอาบทเรียนจุดนี้มาแก้ไขปัญหาในหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหา”

ในตอนท้ายของเวทีเสวนา พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้กล่าวสรุปว่า มีหลายคนถามว่า ในฐานะที่คุณเป็นคนดำเนินการในการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐคุณใช้หลักการอะไร ตนตอบว่า ใช้พระบรมราโชวาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้กับผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาเมื่อ ปีพ.ศ.2514 ว่า “ท่านผู้พิพากษาทั้งหลาย อย่าใช้กฎหมายรักษากฎหมาย จงใช้กฎหมายรักษาความเป็นธรรม ตามสภาพความเป็นจริงในที่นั้น”

“เพราะฉะนั้น กฎหมายมีไว้อำนวยความเป็นธรรม ไม่ใช่มีไว้เพื่อไปรักษากฎหมาย แต่ถ้าใช้กฎหมายก็ต้องใช้รักษาความเป็นธรรม กฎหายที่ไม่นำมาใช้ในการรักษาความเป็นธรรม ก็ไม่ใช่กฎหมายที่จะบังคับได้ และย้อนกับไปอีกทีหนึ่ง ที่เหตุผลทั้งหลายที่เรากระทำขึ้น ไม่ว่าแก้ปัญหาอะไรก็ตาม เอาความเป็นธรรมลงไปก่อน แล้วทั้งหลายทั้งปวงจะคลี่คลายในทางที่ดีทั้งสิ้น

กับคำถามที่ว่า เราจะทำอย่างไรกับหมู่บ้านปางแดงต่อไปข้างหน้า?

พลเอกสุรินทร์ บอกว่า ให้มีการสำรวจที่ดิน ก่อตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ และดำเนินการจัดระเบียบที่ดินในทุกชุมชน

“ได้พูดตอนต้นแล้วว่า นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้นเองของหมู่บ้านชาวปางแดง จำนวน 88 หลังคาเรือน เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ถ้าผมเป็นนายอำเภอ หรือเป็นนายกอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็อยากจะให้มีการสำรวจที่ดินทั้งอำเภอว่ามีอะไรอยู่บ้าง มีอุทยาน ป่าสงวน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ชาวบ้าน ราษฎร ร่วมกันทำแผนที่ให้หมด ตามแผนที่ของหมู่บ้านที่ได้รับการสำรวจ หมู่บ้านปางแดงก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เป็นหนึ่งของชุมชนที่ได้รับการสำรวจด้วยเหมือนกัน แล้วเรามีคน มีพื้นที่ อยู่จำนวนเท่านี้ ตรงไหนที่ต้องอนุรักษ์ เอาประชาชนขึ้นมานั่งดูข้อมูลต่างๆหล่านี้ แล้ววางแผนอนาคตร่วมกันว่า ตรงไหนที่ควรอนุรักษ์ ตรงไหนที่ควรฟื้นฟู ตรงไหนที่ต้องมีการปลูกป่าขึ้นมา ตรงไหนเป็นพื้นที่ใช้สอย ตรงไหนเป็นพื้นที่ทำ”

ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) กล่าวเสนออีกว่า ควรจะมีการขอตั้งหมู่บ้านปางแดงเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เพราะว่ามี 80 กว่าหลังคาก็ขอก่อตั้งเป็นหมู่บ้านตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยได้แล้ว แต่ติดขัดในเรื่องที่ไม่มีบัตรประชาชนนั้น ก็ต้องว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง และทางอบต.ก็ต้องเข้ามาจัดการเรื่องของระบบสาธารณูปโภค ดูแลเรื่องของความเป็นอยู่ และเข้ามาดูแลตามกฎหมายตามหน้าที่

“อยากให้มีการดำเนินการในพื้นที่เชียงดาว ให้เหมือนกับบ้านปางแดงทั้งหมด แต่ต้องไม่ทำโดยนายอำเภอสั่งอย่างเดียว แต่ต้องทำแบบให้ประชาชนลุกขึ้นมาทำในพื้นที่เอง เราก็จะได้ทั้งธรรมชาติ ได้ทั้งชุมชนคืนมา ได้ทั้งความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ยากเลย เพียงแต่ว่าให้โอกาสประชาชนได้มีโอกาสรวมกัน นั่งคิดนั่งคุยกัน ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ให้การสนับสนุนทั้งหลายทุกภาคส่วน อุทยาน ป่าสงวน เขตรักษาพันธุ์ฯ ป่าไม้ พัฒนาที่ดิน เกษตร ก็ต้องเข้ามาดูแลและเขาทั้งหลายเหล่านี้ที่เราต้องเข้าไปดูแลจะมีที่ทำกินมากเท่าไหร่อย่างไร ที่ราบ เช่น บางระกำ บางเลน นครปฐม ซึ่งมีพื้นที่ที่ทำกินแค่ 1งานกว่าๆก็สามารถที่จะส่งลูกไปเรียนถึงเมืองนอกได้ ครอบครัวช่วยกันปลูกผักปลอดสารพิษ ทำอะไรอีกหลายอย่าง และทำส่งออกเมืองนอก เป็นต้น”

พลเอกสุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าทำได้อย่างนี้ทั้งหมดแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ปางแดงมีความก้าวหน้าต่อไป ทั้งเชียงดาว เชียงใหม่ ทำให้ชนเผ่าทั้งหลายก็ถือว่าเป็นคนไทยที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง มีการแสดงความเป็นไทยอย่างเต็มที่ มีความมั่นคงและยั่งยืน ทรัพยากรฯและสิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่า “แผนชุมชน” เป็นแผนที่เกิดจากข้างล่าง ขึ้นไปสู่ข้างบน และข้างบนต้องลงมาเอื้อ โดยสุจริตใจ และแผนชุมชนไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะบ้านปางแดงแต่ต้องมีการทำทั้งหมด แผนชุมชนก็ต้องมีการพูดไปทุกเรื่องทั้งหมด ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ทรัพยากรป่าไม้ก็ไม่ต้องไปจ้างใครทำ ก็จะขึ้นมาโดยชาวบ้าน เพราะทางหน่วยงานไม่มีคนพอที่จะไปทำ แต่ต้องอาศัยชาวบ้านเข้าไปทำ เพราะไม่มีป่าชุมชนที่ไหนในโลกถูกทำลาย มีแต่ป่าที่รัฐเป็นคนดูแลเท่านั้นที่ถูกทำลาย ส่วนป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแลไม่มีที่ไหนได้ถูกทำลาย”

ประธานกรรมการบริหาร พอช. กล่าวในตอนท้ายว่า เพราะฉะนั้น ถ้าทางราชการ ป่าไม้เห็นข้อนี้ แล้วพยายามกระจายให้ชาวบ้านได้ดูแลป่าชุมชน ถึงแม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน นั้นยังไม่ออกมา แต่ทางกรมป่าไม้ต้องพยายามให้เกิดป่าชุมชนมากที่สุดให้มากได้ เพราะเห็นประโยชน์ตรงนี้ และป่าก็จะกลับคืนมาอย่างมาก

“ป่าที่เขาดูแล ถ้าเขาดูแล เป็นอาชีพของเขาเอง แต่ถ้าเขาทำลายเอง ก็เป็นเรื่องที่เขาทำร้ายตัวเอง แต่ส่วนที่จะขายให้กับคนภายนอกหรือใครต่อใคร ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็งก็มีโอกาสที่ขายได้ ถ้าชุมชนเข้มแข็งรักษากติกาของชุมชน ชุมชนก็ไม่มีสิทธิที่จะขายได้ และตัวรัฐควบคุมอย่างแท้จริง ก็ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำ ณ วันนี้ต่อไป คือ สนับสนุนให้ทางภาคราชการทุกภาคส่วนเข้ามาทำในเรื่องนี้ให้ทั่วทั้งอำเภอเชียงดาว ทั้งตำบล เพื่อกำหนดเขตเหล่านี้ให้ได้ จำเป็นจะต้องทำข้อมูล ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเอาทั้งหมดเข้ามาอยู่ในแผนชุมชน”

ในขณะที่ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.)และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายฯ ได้พูดถึงประเด็น จะเปลี่ยนชุมชนดาราอั้งให้เป็นชุมชนที่มั่นคง เข้มแข็งและยั่งยืนได้อย่างไรว่า มีอยู่ 3 ประเด็นที่จะต้องทำในขณะนี้ คือ ต้องเปลี่ยนการต่อสู้ ให้สังคมไทยได้รู้สิทธิในความเป็นชุมชนดาระอั้ง ว่าเราต้องการในสิทธิเรื่องของเศรษฐกิจ การทำมาหากิน สิทธิของการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเรา

“สิทธิจะต้องได้รับการจัดสรรความเป็นธรรม ในเรื่องของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ตรงนี้เป็นหลักที่สำคัญ เพราะฐานทรัพยากรธรรมชาติ คือ ความที่เราอยู่กับที่ดิน ลุ่มน้ำ ป่า และแร่ เป็นองค์รวม ที่ทุนและการเมืองจะมาครอบงำและแย่งชิงเรา ดังนั้น ต้องรักษาตรงนี้ไว้ ถ้าเราไม่รักษาไว้ ก็จะถูกกลืนในความเป็นชุมชนดาระอั้ง”

นพ.นิรันดร์ ยังได้หยิบยก กรณีเรื่องของกฎหมายที่รัฐได้นำมาใช้กับชาวบ้านปางแดง ที่ผ่านมาว่า เป็นเพียงแค่มิติเดียว เป็นการละเมิดสิทธิในเชิงโครงสร้าง คือ กฎหมายที่มองในมิติเชิงอำนาจ ดังนั้น จะต้องทำให้กฎหมายนี้เป็นธรรม การที่จะให้กฎหมายเป็นธรรมได้ ก็คือ ต้องใช้หลักของสิทธิมนุษยชน ทำให้เห็นว่ากฎหมายต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรม ธรรมะคือกฎหมาย กฎหมายคือความเป็นธรรม

“ความเป็นธรรม คือ การที่จะต้องสร้างประโยชน์ให้กับคนที่เป็นคน สร้างความถูกต้อง ไม่ใช่ความเป็นธรรมนั้นอยู่บนพื้นฐานของการตัดสินใจของบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด ตรงนี้ 20 กว่าปี เราได้สู้กันมาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะสร้างกฎหมายของการจัดการฐานทรัพยากร กฎหมายของการจัดการที่ดินและป่า ที่ทำให้เรานั้นได้มีการหาอยู่หากินมาได้ตลอด เราเท่านั้นที่เป็นคนเดียวที่จะต้องทำให้มันเกิดขึ้น”

นพ.นิรันดร์ ยังมีข้อเสนอในเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม ว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ร่วมกับหน่วยงานรัฐของพื้นที่ให้เข้าใจเราและเชื่อใจเรา ร่วมกับนักวิชาการที่เขาชอบความเป็นธรรม รักความเป็นธรรม ร่วมกับสื่อ องค์กรต่างๆที่ได้ต่อสู้กับเรามา ในการสร้างมิติในเชิงนโยบายของการดำเนินการฐานทรัพยากรทีจะเกิดประโยชน์ ที่เราเข้าถึงในการใช้ประโยชน์ตรงนั้นได้ และทั้ง 3 ข้อนี้ได้ตราไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“กฎหมายแม่บทที่เราต้องสร้างให้มันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ช่วยสร้างให้เกิดขึ้นในเรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จะไม่มีใครสร้างให้เราเป็นอันขาด นั้นคือสิ่งที่อยากจะฝากไว้ ในภารกิจนี้ต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

ด้านนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่าผลของเหตุการณ์ปางแดงที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การจัดสัมมนาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรม เรื่องของการคุมขังมิชอบ และมีการทำความเข้าใจทั้งหมดจากกรณีปางแดง

“นอกจากนั้น ยังมีการเขียนเป็นวิทยานิพนธ์สำคัญชิ้นหนึ่ง ซึ่งนักศึกษากฎหมายหลายคนก็ได้เข้ามาเรียนรู้ในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเราต้องยอมรับว่าครั้งนั้นมีปัญหาเรื่องของการตีความเรื่องของกฎหมาย แต่สุดท้ายพวกเราก็สรุปบทเรียนตัวเองเหมือนกัน และนำไปสู่การคิด ใคร่ครวญ และหาทางออกในเรื่องนี้

“แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกพี่น้องปางแดงไว้ว่า เรามาถึงวันนี้ได้ ก็เพราะเรามีคนเข้ามาช่วยมากและนำไปสู่การประกอบการแก้ไขของปัญหาปางแดงได้ถึงวันนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าหัวใจของเราไม่ยืนหยัดและต่อสู้ เราไม่ออกมาเรียกร้อง ไม่แสดงตัวตนของความเป็นมนุษย์ให้เขาเห็นว่า คนที่มีสิทธิ มีศักดิ์ศรีที่จะเข้ามาอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้ อย่างมีความสุข ความสงบ ซึ่งเฉพาะกรณีปางแดง ตอนนี้ได้ถูกบันทึกอยู่ในรายงานของประเทศไทยทุกฉบับเกี่ยวกับอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน พูดง่ายๆ ก็คือ ประเด็นปัญหาปางแดง ได้ถูกตีแผ่ไปสู่วงการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งจะนำไปสู่การเริ่มต้น สำนึก การสร้างสถานการณ์ใหม่ในการสร้างกฎหมายคุ้มครองชุมชน”

นายสุมิตรชัย กล่าวในตอนท้ายว่าฉะนั้น การสรุปบทเรียนปางแดงครั้งนี้ ยังถือว่าไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ พี่น้องปางแดงต้องอธิบายตนเองอีกมากมาย ที่จะต้องมีคนเข้าไปหา เข้าไปพูดคุยด้วย และอยากจะให้พี่น้องปางแดงได้บอกเล่า ถอดความรู้สึกนี้ กลับไปถึงเด็กรุ่นเล็กๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็งขึ้น ภายใต้อัตลักษณ์ของความเป็นดาระอั้ง สืบต่อไปได้อย่างไรในอนาคต

ในขณะที่ นางสาวกมลวรรณ ชื่นชูใจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวสรุปว่า กฎหมายเป็นเพียงแค่เครื่องมือ ถ้าเราคิดว่าเครื่องมือนี้ไม่ยุติธรรม เราก็ต้องลุกขึ้นมาร้อง โวยวายว่ากฎหมายไม่ยุติธรรมอย่างไร

“การที่ชาวปางแดงลุกขึ้นมาสู้ มันมีการนำมาสู่ของคำผู้พิพากษาว่าจะใช้กฎหมายอย่างไร แค่บอกว่าจับกุมกับคุมขังเป็นกระบวนการหรือเปล่า เถียงกันแทบตาย การจับกุม คุมขัง กระบวนการจับกุม ถูกต้องแล้ว กระบวนการถูกคุมขังก็ต้องถูกด้วยเหมือนกัน และผู้พิพากษามีการถกเถียงกันว่า จับกุม กับคุมขังเป็นคนละขั้นตอน และฝ่ายที่เห็นเป็นคนละขั้นตอนนั้นไม่ได้อยู่ในกระบวนการของเรา จับกุมมาแล้ว ไม่ใช่ว่าถูกคุมขังจะถูกต้องได้ซักเมื่อไหร่ ศาลตรงนั้นให้ความเห็นว่าจับกุมโดยชอบ เพราะฉะนั้น คุมขังโดยชอบ และนำมาสู่ขั้นตอนของการถกเถียงกัน ต่อไปนี้จะทำอย่างไร จับชาวบ้านมา มีการถกเถียงกัน ส่วนฝ่ายที่บอกว่าจับชาวบ้านมาเป็นฝ่ายชนะ แต่ต้องมีการพิจารณาอีกรอบว่า การถูกคุมขังนั้นผิดหรือไม่ ถ้าเขาพูดว่าจับกุมผิด ถ้างั้นคุมขังก็ผิด…”

นางสาวกมลวรรณ กล่าวอีกว่า เรื่องของปางแดงทำให้คนทำงานในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ต้องคิดได้แล้วว่า จะจับใครโดยภาระการ แล้วสั่งคุมขังใครโดยภาระการไม่ได้ และคนซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ก็ต้องลุกขึ้นมาโวยวาย แล้วการโวยวายสะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมของเมืองไทย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เป็นการล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม

“ดูได้จากปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการพูดคุยของทิศทางของการแก้ไขปัญหาของภาคใต้นั้นว่าจะเอาอย่างไร คือ ชุมชนจะต้องกำหนดการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้อย่างไร ไม่ใช่รัฐกำหนด คิดว่าคนปางแดงก็เหมือนกัน จะหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนปางแดงได้อย่างไร แต่อย่าไปตกหลุมกฎหมายบ้านเมืองในบางเรื่อง เช่น ยาเสพติด ซึ่งจะเป็นข้อต่อสู้ที่ฟังไม่ขึ้นเลย และเราต้องระวังอย่าตกหลุมพรางที่ฝ่ายรัฐนั้นวางไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามและจะเป็นเงื่อนไขเดียวที่เขาจะปฏิเสธความเป็นคนไทยเรา”

ด้าน นางคำ นายนวล ตัวแทนชาวบ้านบ้านปางแดง ได้กล่าวในวงเสวนาว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณที่สอนให้ชาวบ้านมีความคิดว่า ความยุติธรรมนั้นมาจากไหน และทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้น ทำถูกหรือทำผิด และให้โอกาสตัวเองได้สะท้อนในสิ่งที่ตัวเองทำนั้นว่าตรงไหนผิด-ถูก เป็นการให้โอกาสกับชาวบ้าน

“ภูมิใจที่ผ่านมา มีหลายองค์กรเข้ามาอยู่ในชุมชน มาให้ความรู้กับชาวบ้าน ในเรื่องของการจัดเวทีการอบรมให้ชาวบ้านได้เข้มแข็งและสร้างความยุติธรรมกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้รู้ว่าสิ่งที่เราได้รับจากการอบรมนั้นมันเป็นความรู้สำหรับตัวเองและผู้อื่น ทั้งในเรื่องของความยุติธรรมและความไม่ยุติธรรม” ตัวแทนชาวบ้านปางแดง กล่าวในตอนท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 
ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (3)         
ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (4)  
ถอดบทเรียนกรณีชาวบ้านปางแดงกับผืนป่า : มองหาสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ในสังคมไทย (5)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net