เอ็นจีโอ โต้ “สุวิทย์” อย่าทำตัวเป็นนักสร้างเขื่อน

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.53 เวลา 10.00 น. นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาพร้อมคณะรวม 7 คน ภายใต้ชื่อ “คณะสำรวจนิเวศวัฒนธรรมแม่น้ำโขง” ได้ลงพื้นที่ทำการสำรวจสภาพข้อเท็จจริงแม่น้ำโขงเริ่มตั้งแต่ ปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย จนไปถึง อ.โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา 8 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม รวมระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร

“สิ่งที่คณะเราพบจากการสำรวจระบบนิเวศ และสอบถามพูดคุยกับชาวบ้านในส่วนของอำเภอเชียงคาน จนถึงอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย พบว่าสภาพระบบนิเวศสองฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นภูเขา และในลำน้ำโขงจะเป็นแก่งหินสลับกับหาดทราย ซึ่งระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ในฝั่งประเทศไทยจะมีลำห้วยมากถึง 45 ห้วย โดยเฉลี่ย 2 กิโลเมตรต่อหนึ่งห้วย ห้วยที่เราพบขนาดใหญ่เช่น ปากชม ห้วยโมง จะมีเขื่อนกั้นเอาไว้ที่ปากแม่น้ำและลำห้วยเล็กๆ น้ำจะแห้ง ไม่มีน้ำไหลลงน้ำโขง นอกจากนี้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศบนภูเขา ซึ่งเป็นต้นน้ำ ป่าไม้จะถูกโค่นเปลี่ยนมาปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วดำ มะละกอ ยางพารา และในช่วงฤดูฝนพื้นดินจะไม่สามารถกักเก็บเอาไว้ได้และ น้ำจะไหลลงแม่น้ำโขงในทันที ส่งผลให้ฤดูแล้งน้ำในลำน้ำโขงลดลง”

ถ้าสังเกตจาก อ. ศรีเชียงใหม่ จนถึงจังหวัดมุกดาหาร ลักษณะระบบริมฝั่งโขงจะเป็นที่ราบเหมาะสำหรับการปลูกพืชริมโขง ซึ่งจะเป็นการปลูกพืชที่ไม่ใช้น้ำมาก เช่นยาสูบ พริก ฯลฯ แต่หากพื้นที่ที่อยู่หากจากลำน้ำโขงประมาณ 5-10 กิโลเมตรจะมีการใช้น้ำโดยการสูบจากลำโขงโดยเครื่องสูบน้ำจากกรมพัฒนาพลังงาน (พพ.) และมีการจ่ายค่าน้ำ 100 บาทต่อชั่วโมง จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่มีการใช้น้ำในลักษณะนี้ บอกว่าไม่คุ้มกับการลงทุน

ในช่วงฤดูแล้งช่วงเดียวกันนี้ลำน้ำโขงจะเป็นปกติแห้ง แต่ในปีนี้รู้สึกว่าจะแห้งผิดกว่าปกติในรอบ 50 ปี ชาวบ้านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการที่น้ำในลำน้ำโขงแห้งเร็วน่าจะเกิดจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำของประเทศจีน และรัฐบาลไทยน่าจะพูดคุยกับรัฐบาลจีนถึงปัญหานี้ สิ่งที่ชาวบ้านเห็นตอนนี้คือ ลำน้ำโขงไม่ได้ถูกควบคุมด้วยธรรมชาติ แต่ถูกควบคุมด้วยเขื่อนในประเทศจีนและมีผลกระทบต่อการปรับตัวของการอยู่หากินในช่วงสั้นๆ

“การที่รัฐมนตรี (สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ออกมาพูดสนับสนุนการสร้างเขื่อนเป็นการตั้งธงเอาไว้และขาดความรู้ข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่อยากจะถามนายสุวิทย์ (รมต.) นอกจากคิดสร้างโครงการเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงเพื่อผันน้ำและเสนอให้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในอีสาน เพื่อหวังจะได้ส่วนแบ่งงบประมาณต่างๆ แล้วเคยทำประโยชน์และมีข้อเสนอที่แสดงตัวตนถึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในฐานะเจ้ากระทรวงบ้างหรือไม่ หรือมีหน้าที่เอาทรัพยากรมาใช้ให้หมดในรุ่นเรานี้” หัวหน้าคณะสำรวจฯ กล่าวทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท