Skip to main content
sharethis

ไม่เคยมีรัฐบาลไหนออกมายอมรับว่าการสร้างเขื่อนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ความยากจน” ขึ้นกับคนน้ำโขง ปลาในแม่น้ำโขงที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจถูกแย่งยึดไปในนามของการพัฒนาที่มาพร้อมเขื่อน ทางเลือกในการดำรงชีพของคนน้ำโขงถูกทำให้ตีบตันและหดแคบลง ความยากจนในชีวิตพวกเขาไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเองลอยๆ ตามยถากรรม ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมือง ต่อให้รัฐบาลจะพยายามทำให้เขื่อนไม่เป็นการเมืองก็ตาม

ตลอดความยาว 4,909 กิโลเมตร ที่ไหลผ่าน 6 ประเทศของแม่น้ำโขง มี “เขื่อน” ที่สร้างเสร็จแล้วและกำลังจะสร้างใหม่บนแม่น้ำสายนี้กว่า 24 โครงการ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเขื่อนเหล่านี้ คือไม่เคยมีรัฐบาลประเทศไหนออกมายอมรับว่า การสร้างเขื่อนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิด “ความยากจน” ขึ้นกับชีวิตคนในพื้นที่ เขื่อนถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาและความทันสมัยในการจัดการน้ำที่ถูกส่งลงจากนโยบายของรัฐบาล แต่อีกด้านเขื่อนนำพามาซึ่งความสูญเสียแก่คนที่เคยพึ่งพิงแม่น้ำ สูญเสียทรัพยากร ถิ่นฐาน อาชีพ ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตเดิมของคนต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ 

แผนที่เขื่อนบนแม่น้ำโขง

 

ปัจจุบันแม่น้ำโขงกำลังถูกช่วงชิง ต่อรอง และประกอบสร้างจากผู้กระทำหลายกลุ่ม จนแม่น้ำโขงแทบจะไร้อำนาจและทำให้เกิดความยากจนในกลุ่มคนที่พึ่งพิงทรัพยากร ซึ่งผู้กระทำอย่างรัฐบาลและสถาบันที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างธนาคารโลกและกลุ่มทุน ไม่ยอมรับว่าการสร้างเขื่อนเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของความยากจนของประชาชนจำนวนมากในลุ่มแม่น้ำโขง รัฐบาลมองเห็นแต่ข้อดีของการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา

ตัวอย่างของชีวิตคนที่ยากจนลงภายหลังการสร้างเขื่อนในลุ่มแม่น้ำโขงมีให้เห็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  

อดีต : 'เขื่อนปากมูล' ประตูเขื่อนเปิด ปลาหาย คนจน

หนึ่งในนโยบายการจัดการน้ำที่สร้างบาดแผลและความยากจนให้กับคนอีสานคงหนีไม่พ้นโครงการเขื่อนปากมูลกลางลำน้ำมูล ที่บ้านหัวเห่ว อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างเขื่อนปากมูลซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 136 เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2533 เริ่มก่อสร้างในปี 2534 และเปิดใช้งานในปี 2537 เขื่อนปากมูลใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 3,880 ล้านบาท ในจำนวนนี้ รัฐบาลไทยกู้มาจากธนาคารโลก 1,940 ล้านบาท

เขื่อนปากมูลถูกบรรจุอยู่ในโครงการ “อีสานเขียว” ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานและพัฒนาชนบทอีสาน

ก่อนการก่อสร้างเขื่อน แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายหลักที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของอีสาน เนื่องจากเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง มีพันธุ์ปลามากกว่า 265 ชนิด ระบบนิเวศเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านเรียกน้ำมูลว่าเป็น “เมืองของปลา” ชาวบ้านหัวเห่วชุมชนริมน้ำมูลต่างพึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำมูลที่เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งสร้างรายได้

แต่ทันทีที่ กฟผ. เริ่มก่อสร้างเขื่อนปากมูล “เมืองของปลา” ก็ถูกทำลายลงจากการระเบิดแก่งหินธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งวางไข่และที่อยู่ของปลา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวบ้านที่หาปลาในลำน้ำมูล  มีรายงานว่า หลังเขื่อนปากมูลเปิดใช้ใน พ.ศ. 2537 เหนือเขื่อนเหลือปลาเพียง 96 ชนิด สะท้อนให้เห็นว่าพันธุ์ปลาหลายชนิดหายไปหลังการสร้างเขื่อน โดย “บันไดปลาโจน” ที่ กฟผ. สร้างขึ้นไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพจากน้ำโขงเข้ามาสู่น้ำมูลได้จริง ชาวบ้านที่หาปลากว่า 7,000 ครอบครัว ต้องสูญเสียอาชีพ พวกเขาจึงรวมตัวกันการเรียกร้องให้เปิดประตูระบายน้ำถาวร

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลมีการรวมตัวคัดค้านโครงการมาตั้งแต่ต้น โดยในปี พ.ศ. 2537 ชาวบ้านบุกยึดเครื่องจักรที่เจาะชั้นหินและเครื่องมือที่ใช้ระเบิดแก่ง นั่งทับจุดที่มีระเบิดไดนาไมต์ฝังอยู่ใต้แก่งหิน นัดชุมนุมใหญ่หน้าศาลากลางจังหวัด ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2538 ชาวบ้านที่รับผลกระทบจะรวมตัวกันเป็น “สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล” ปี พ.ศ. 2541 ชาวบ้านที่ปากมูลเคลื่อนขบวนเข้ามาเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 99 วัน หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญคือให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ฟื้นคืนระบบนิเวศและพันธุ์ปลาที่สูญหายไปกลับคืนมา พร้อมทั้งกดดันให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม

ความยากจนจากการสูญเสียทรัพยากรและอาชีพบังคับให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่งลูกหลานหรือกระทั่งพาตัวเองไปทำมาหากินนอกพื้นที่เมื่อไม่เหลือปลาในแม่น้ำมูลให้จับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นมานานเกือบ 30 ปี และทุกวันนี้ ชาวบ้านปากมูลบางส่วนก็ยังคงต่อสู้เรียกร้องความรับผิดชอบและการชดเชยเยียวยาจาก กฟผ.

“เราสูญเสียอาชีพหลักคือการหาปลา เขาจ่ายชดเชยค่าที่ดินให้ แต่การไฟฟ้าให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าถ้าสร้างเขื่อนเสร็จแล้วไม่มีปลาอย่างที่เราพูด ปลาขึ้นมาไม่ได้จริงเขาจะชดเชยที่ดินให้ 15 ไร่ แต่เขาไม่ทำตามที่พูด จึงต้องเรียกร้อง จนถึงวันนี้ เรายังหวังอยู่ เรื่องนี้ผ่านมติ ครม. รัฐบาลคุณชวลิตในปี 2540 มาแล้ว ทุกอย่างชัดเจน หวังว่ารัฐบาลจะช่วยแก้ไขให้” อรัญญา เรือนเงิน ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ The101.world  

นอกจากปัญหาการเข้าไม่ถึงการเยียวยา เขื่อนยังผลกระทบข้ามพรมแดนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างมีความผันผวน ด้วยเหตุผลที่น้ำในแม่น้ำถูกควบคุมโดยเขื่อนที่อยู่ในประเทศแม่น้ำโขงตอนบน เช่น เขื่อนปล่อยน้ำในฤดูแล้ง กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลาก ฯลฯ ทำให้ปลาในแม่น้ำโขงหลงฤดู ส่งผลต่อการวางไข่ ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ไป ซ้ำเติมชะตากรรมคนหาปลาน้ำโขงขึ้นไปอีก

ปัจจุบัน : 'เขื่อนไซยะบุรี' ตาข่ายร้างปลา ความยากจนที่ก่อตัว

“หาปลาได้ครั้งล่าสุด 1 ตัว” สุดตา กล่าว

เช้าตรู่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่เต็มไปด้วยไอหมอกเหนือแม่น้ำโขง สุดตา อินสำราญ คนหาปลาวัยกลางคนใน อ.สังคม จ.หนองคาย เล่าถึงปลาน้ำโขงตัวสุดท้ายที่เขาจับได้เมื่อ 3 เดือนก่อน ปลาน้ำโขงตัวนั้นมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม สุดตาขายให้ร้านอาหารได้เงินมา 2,000 บาท นี่เป็นเงินที่นานครั้งเขาจะได้จากอาชีพหาปลา นับตั้งแต่เขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2562 น้ำโขงก็ขึ้นลงผิดไปจากเดิม ปลาน้ำโขงที่สุดตาเคยจับได้ทุกวันมาตั้งแต่เป็นหนุ่มก็แทบไม่เหลือ

สุดตา คนหาปลา ใน อ.สังคม จ.หนองคาย

เขื่อนไซยะบุรีตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากพรมแดนไทย ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2555 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ลงทุนโดยบริษัท ช.การช่าง   ของไทยที่ถือหุ้นในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ มูลค่าการลงทุนกว่า 1.5 แสนล้านบาท โครงการนี้ได้รับสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้ เขื่อนไซยะบุรีเริ่มขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562

นอกจากบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินของไทยจะเข้าไปเกี่ยวข้องในการลงทุนและการให้สินเชื่อในการสร้างเขื่อนแล้ว ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเขื่อนไซยะบุรีกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ยังถูกส่งมาขายให้แก่ประเทศไทย โดย กฟผ.ได้ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 31 ปี

เขื่อนไซยะบุรีเป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในช่วงที่เขื่อนเริ่มมีการทดลองเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 แม้จะเป็นช่วงฤดูฝน แต่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนกลับลดลงถึง 3 – 4 เมตรภายในหนึ่งสัปดาห์ ทำให้ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กตายอยู่ริมโขง ยิ่งไปกว่านั้นชาวบ้านยังสังเกตเห็นว่า หลังจากเขื่อนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ตะกอนในแม่น้ำโขงที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ได้หายไป สีของน้ำในแม่น้ำโขงที่เคยขุ่นจึงกลับกลายเป็น “สีใส” ที่นักวิชาการเรียกว่าภาวะ “หิวตะกอน” ของแม่น้ำโขง

ครอบครัวของสุดตาหาเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาในน้ำโขงมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ สุดตาเติบโตมากับแม่น้ำโขง ออกหาปลาตั้งแต่อายุ 18 ปี  จนถึงตอนนี้สุดตาอายุ 47 ปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงที่อำเภอสังคม และชีวิตผู้คนที่พึ่งพิงการจับปลาจากแม่น้ำโขง รายได้ของคนหาปลาลดลงจนแทบไม่เหลือ เช่นเดียวกับปลาน้ำโขงที่หายากขึ้นทุกวัน ปลาเอิน ปลาเทโพ ที่เคยจับขายได้ทุกวันนานๆ ถึงมาติดตาข่าย

 

สุดตาวางตาข่ายหาปลา 3 จุด ในแม่น้ำโขง ก่อนดึงตาข่ายขึ้นมาเขามักจะพูดอวยพรให้ตัวเอง “ตกได้ปลาตัวใหญ่เด้อ” “ปลาถูกบ่” แต่เมื่อสาวไปสุดความยาว 50 เมตรของตาข่ายใหญ่ที่ใช้สำหรับดักปลาตัวใหญ่อย่างเดียว กลับเจอแต่สาหร่ายไกติดอยู่ ไม่มีร่องรอยของปลาให้เห็น

“แต่ก่อนปลาเยอะจนสามารถเอาไปแลกข้าว แบ่งญาติพี่น้อง ทำปลาร้าปลาแดกเก็บไว้กินได้ ไปบ้านไหนจะมีปลาแห้งตากไว้หน้าบ้าน เดือนหนึ่งเราขายปลาได้ตกเดือนละ 20,000 – 30,000 บาท รายได้จากการจับปลาแม่น้ำโขงเยอะ เคยได้ 140,000 บาทต่อปี แต่ก่อนหน้านั้นหาได้ตลอด ช่วงปี 2562 ก็ยังพอได้อยู่ หลังจากปี 2562 มา 10,000 บาท ก็ไม่ได้ บางที 2 เดือนแล้วยังไม่เจอปลา ทุกวันนี้ไม่มีปลาแห้งกินแล้ว หายาก ต้องไปพึ่งปลาตลาด” สุดตา กล่าว

สุดตายังเล่าต่อว่า จุดวางตาข่ายเมื่อก่อนสามารถขายต่อให้กันได้จุดละ 20,000 – 30,000 บาท แต่สมัยนี้ไม่มีใครซื้อจุดวางตาข่ายแล้ว เพราะไม่มีปลา  

ตลอดทางที่ออกเรือหาปลา สุดตาทักทายคนหาปลาที่เป็นเพื่อนออกหาปลาด้วยกันตั้งแต่เล็กๆ 3 – 4 คน ทุกคนต่างไม่ได้ปลาเหมือนกัน

ปลาในน้ำโขงเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตของสุดตา “ขายปลาได้เยอะก็มีทุน เอาเงินมาเปลี่ยนตาข่ายได้ ทุกวันนี้ไม่ได้ปลา ไม่มีทุนแล้ว”

ตอนที่ยังไม่มีเขื่อนไซยะบุรี สุดตาเคยหาได้ปลาวันละไม่ต่ำกว่า 2 ตัว หนักตัวละ 10 กิโลกรัม ขายได้วันละ 4,000 บาทเป็นอย่างน้อย “เงินหมื่น แค่ 2-3 วันก็หาได้แล้ว ทุกวันนี้เงินหมื่นไม่ได้ ค่าน้ำมันยังไม่ได้”

 

ปัจจุบันสุดตาต้องหาอาชีพเสริมด้วยการรับจ้างทั่วไป รับจ้างกรีดยางบ้าง “พอได้ไปวันๆ ทุกวันนี้แม่น้ำโขงพึ่งมากมายไม่ได้หรอก มันไม่มีปลา มีแต่เสียกับเสีย ได้ไม่มี” สุดตาบอกก่อนจะขยายความว่าสิ่งที่เขาต้อง “เสีย” ทุกครั้งในการออกเรือหาปลาคือค่าน้ำมัน “เครื่องเรือเราต้องมีน้ำมัน ต้องเติมน้ำมัน บางครั้งไม่มีเงินเติมน้ำมัน จอดเรือไว้ก่อน ไปหาตังค์มาเติมน้ำมันก่อน ปลาก็ไม่ได้”

แม้จะคาดได้ว่าอาจไม่ได้ปลาติดมือกลับมา สุดตาก็ยังคงออกเรือทุกวัน “ที่ไปทุกวัน เพราะเป็นความผูกพัน ถ้าไม่ไปก็กลัวว่าปลาจะเน่าคาตาข่าย บางคนก็บอกว่า หาปลาไม่ได้ ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น เราทำอย่างอื่นได้ แต่การหาปลามันคือความผูกพันของเรา”

“ทุกวันนี้มันเหมือนแม่น้ำโขงเป็นเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ขั้นโคม่า ไม่มีใครได้ปลาเลย คนหาปลาที่นี่บ่นเหมือนกันว่าไม่มีปลา  ปลาเล็ก ปลาน้อย ปลาใหญ่ ไม่มีเลย น้ำขึ้น น้ำลง และน้ำมีสารพิษ ปลามันเลยอยู่ไม่ได้ ปลากำลังวางไข่ในแอ่งเล็กๆ ลูกปลากำลังเติบโต น้ำก็ขึ้น ปลาไม่มีสิทธิ (ตัว) ใหญ่ได้ แต่ก่อนเราได้ปลาเยอะ เพราะน้ำขึ้นลงเสมอต้นเสมอปลายตามธรรมชาติของมัน ปลาก็วางไข่ ทุกวันนี้น้ำหลอกปลา เดี๋ยวขึ้นลง เดี๋ยวแห้ง รากไคร้ที่ปลาเคยไปนอนเป็นแหล่งอาหารของปลาก็หายไป” สุดตาบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากสายตาของชาวประมง

"ไก" กลางแม่น้ำโขงที่มักติดตาข่ายหาปลา

ในมุมมองของสุดตาเขาตั้งข้อสังเกตว่า “แม่น้ำโขงมีพิษ” หลังเขื่อนไซยะบุรีเปิดใช้งานเกิดสภาพที่แม่น้ำโขงสีใส “แต่ก่อนน้ำโขงไม่ใสขนาดนี้ แต่เขาฟอกน้ำ ปั่นไฟ เกิดตะกอนเบา น้ำเลยใส เวลาเขา (เขื่อนไซยะบุรี) ปั่นไฟทีน้ำ (ด้านท้ายเขื่อน) จะแห้ง เขากักน้ำไว้ เขาใช้น้ำเยอะปั่นไฟ ฟอกน้ำ เสร็จแล้วเขาก็ปล่อยน้ำออกมา”

คำว่า “ฟอกน้ำ” ตามความเข้าใจของสุดตาหมายถึงการที่เขื่อนไซยะบุรีกักเก็บน้ำในแม่โขงไว้ใช้เพื่อปั่นกระแสไฟ และปล่อยน้ำเหล่านั้นออกมาอีกครั้งเมื่อผลิตกระแสไฟเสร็จแล้ว สุดตาเชื่อว่าน้ำโขงที่เขื่อนไซยะบุรีปล่อยลงมาหลังการปั่นไฟเป็น “น้ำโขงมีพิษ” เนื่องจากน้ำถูก “ฟอก” เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

หากยังมีการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงตอนบนจนถึงตอนล่างเช่นนี้ สุดตาชื่อว่ายากที่ปลาน้ำโขงจะกลับมา ในฐานะคนที่อยู่กับแม่น้ำโขงมาทั้งชีวิต สุดตาแทบไม่เชื่อว่าปลาน้ำโขงจะหมดไป แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และเขามั่นใจว่าเป็นเพราะผลกระทบของการสร้างเขื่อน

สุดตาเคยไปชุมนุมต่อต้านเขื่อนกับคนในชุมชนหลายครั้ง แต่เขาก็รู้ว่าเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านธรรมดาจะต่อสู้คัดง้างกับโครงการระหว่างประเทศของรัฐบาล

“มันแก้ไม่ได้ เขาทำเขื่อนแล้ว เราไปทำลายเขื่อนของเขาไม่ได้ แต่มันมีเขื่อนอีกที่หนึ่งที่กำลังจะสร้างเขื่อนที่ อ.ปากชม จ.เลย ใกล้ๆ เรา เราต้องห้ามไม่ให้เขาสร้าง ตอนสร้างเขื่อน (ไซยะบุรี) เขาไม่เคยมาถาม (ชาวบ้าน) รัฐบาลไทย รัฐบาลลาว เขาคุยกันแล้ว เมื่อก่อนเราคิดแค่ว่าเป็นเพราะเขื่อนไซยะบุรี แต่จริงๆ มันเป็นกันมาตั้งแต่เขื่อนที่จีนแล้ว เรื่องมันใหญ่กว่านั้น” สุดตา กล่าว

 

ปลาบ่อ

 

หลังออกเรือหาปลาแต่ไม่ได้ปลา สุดตาตัดสินใจขับเรือขึ้นฝั่งกลับบ้าน ระหว่างทางเขาแวะทักทายชายชราคนหนึ่งที่กำลังตากปลาอยู่ริมแม่น้ำ ชายชราบอกเขาว่าซื้อปลาจากบ่อเลี้ยงมาตาก คำบอกเล่านี้ทำให้สุดตาได้แต่หัวเราะเศร้าๆ กับชะตากรรมของตนและคนในหมู่บ้าน

“คนน้ำโขงเอาปลาบ่อมาตาก หาปลาไม่ได้” สุดตา กล่าว

 

 

ภาพปลาน้ำโขงตอนล่างที่ติดอยู่ที่บ้านสุดตา

สุดตาและแม่ที่เคยเป็นคนหาปลาในแม่น้ำโขง

แม้ทุกวันนี้ปลาน้ำโขงจะราคาดี เป็นที่ต้องการของร้านอาหารที่รอรับซื้ออยู่ริมฝั่งโขง แต่คนหาปลากลับไม่มีปลาจะขาย 

“จ้อย” เป็นคำที่สุดตามักพูดขึ้นทุกครั้งที่สาวตาข่ายแล้วไร้เงาปลา ซึ่งเป็นคำที่อธิบายถึงชีวิตคนหาปลาในแม่น้ำโขงได้อย่างดี เมื่อปลาที่เคยเหลือกิน “หายจ้อย” ไปเกือบหมดหลังสร้างเขื่อน แม้สุดตาจะยังคงฝันถึงรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการหาปลาน้ำโขงเหมือนในอดีต แต่สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้วในปัจจุบันและอนาคต ตราบใดที่ยังคงมีเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำโขงอยู่

'ไม่มีอนาคต' ให้ 'วิถีชีวิตดั้งเดิม'

แม่น้ำโขงในปัจจุบันไม่เหลืออนาคตให้วิถีชีวิตดั้งเดิม กนกวรรณ มะโนรมย์ อาจารย์ประจำสาขาสังคมศาสตร์และการพัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ได้อธิบายให้เห็นว่าความยากจนของคนลุ่มน้ำโขงไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเอง แต่ “ความยากจนถูกสร้างขึ้น” จากเขื่อนในนามของการพัฒนา ชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเคยมีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย ทั้งความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางรายได้ ด้วยการพึ่งพาทรัพยากรในแม่น้ำโขงที่อุดมสมบูรณ์

“เขื่อนเป็นเครื่องมือของการพัฒนาที่รัฐเชื่อว่า เขื่อนจะนำความผาสุก ความมั่งคั่ง และพัฒนาระดับโครงสร้างของประเทศโดยรวมได้ ปัจจุบันลาวและไทยก็เชื่ออย่างนั้น การพัฒนาถูกขับเคลื่อนผ่านความคิดที่ว่าเขื่อนเป็นเครื่องมือสร้างความทันสมัยที่จะทำให้คนหลุดพ้นจากความยากจน โดยเฉพาะประเทศลาวที่ยังใช้เขื่อนเป็นเครื่องมือในการลดความยากจน วิถีชีวิตของผู้คนที่เคยพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำโขงสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางรายได้ และความสัมพันธ์ของผู้คนที่ใช้แม่น้ำร่วมกัน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของคนลุ่มน้ำเคยมีวิถีเป็นแบบนั้น แต่พอมีเขื่อน ทรัพยากรที่ชาวบ้านริมน้ำโขงเคยใช้ประโยชน์ถูกจัดสรร ถูกแย่งยึดไปในนามของการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาความยากจน เป็นการขัดกัน เพราะการพัฒนาที่ควรจะลดความยากจน แต่กลับกลายเป็นว่าเขื่อนทำให้เกิดภาวะปัญหาความยากจน” กนกวรรณ  อธิบายความยากจนถูกสร้างขึ้นทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจ

กนกวรรณ มะโนรมย์ 

ทรัพยากรในแม่น้ำโขงเป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงอย่างมีนัยสำคัญ การที่ทรัพยากรถูกแย่งยึดไป ทำให้คนแม่น้ำโขงเผชิญกับความไม่แน่นอน และความผันผวนของรายได้ เมื่อไม่มีปลาแม่น้ำโขงให้จับเหมือนแต่ก่อน ชาวบ้านก็ไม่มีเครื่องมือในการสร้างเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง เขื่อนถูกสร้างขึ้นในนามของการพัฒนาเพื่อลดความยากจน 

“เขื่อนไม่ได้ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงสำหรับคนท้องถิ่น กับรัฐคงใช่ เพราะรัฐสามารถเก็บภาษีจากการซื้อขายไฟฟ้าได้ มีเงินจากการขายไฟฟ้า แต่สำหรับคนท้องถิ่นที่พึ่งพาทรัพยากร มันเกิดปัญหา ผลกระทบ และก่อให้เกิดความไม่แน่นอนผันผวนของชีวิต ซึ่งเขาคาดหมายไม่ได้ว่าจะมีชีวิตหรือมีอนาคตอย่างไร และการชดใช้ก็ยังมาไม่ถึง มันเลยพ้นไปจากความยากจน กลายเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม เป็นการผลักไสคนจากพื้นที่ทรัพยากรที่เขาเคยใช้ ละเลยสิทธิของประชาชนในการใช้แม่น้ำ” กนกวรรณ กล่าว

กนกวรรณอธิบายเพิ่มเติมว่า ในกรณีของสุดตาและชาวบ้านริมน้ำโขงการออกเรือหาปลาทั้งที่รู้ว่าจะไม่ได้ปลา สะท้อนให้เห็นว่าทางเลือกในการดำรงชีพของคนเหล่านี้ถูกทำให้ตีบตันและหดแคบลง พวกเขาจึงต้องใช้วิถีแบบเดิม แล้วคิดว่าอาจจะโชคดีได้ปลา เนื่องจากปลาน้ำโขงมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง

“ทางเลือกของชีวิตเขาคับแคบลง เพราะตัวเองไม่มีทุนอย่างอื่นที่จะไปหางานอื่น หรือไม่มีความรู้ด้านอื่นๆ ไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตมากไปกว่าการหาปลา คนวัยกลางคนถึงคนมีอายุจะเกิดภาวะเช่นนี้เยอะ คนเหล่านี้เกิดมาพร้อมกับชีวิตที่หาปลา การที่จะต้องไปสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อหารายได้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเขา ชีวิตเขามีตัวเลือกจำกัด และเขาผูกพันกับแม่น้ำ เป็นเรื่องของวัฒนธรรมคนกับปลา โลกทัศน์ของเขากับแม่น้ำ” กนกวรรณ กล่าว

คนรุ่นต่อไปที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับทรัพยากรแม่น้ำโขงที่มีจำกัดจะสามารถปรับตัวได้มากกว่าคนรุ่นก่อน เนื่องจากพวกเขามีชีวิตอยู่ท่ามกลางทรัพยากรที่ขาดแคลนลงเรื่อยๆ ของแม่น้ำโขง ไม่อาจพึ่งพิงได้อีกต่อไป จำเป็นต้องหาทางดำรงชีพด้วยวิธีการอื่น

กนกวรรณเสนอว่า รัฐต้องมองเห็นและรับฟังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาธรรมาภิบาลน้ำ รัฐไทยต้องใช้กระบวนการ PNPCA (ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้ง การปรึกษาหารือ ล่วงหน้า และข้อตกลง) เป็นเครื่องมือ “การทูตทางน้ำ” ผ่านการเป็นคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศอื่นในมาตรฐานที่สูงขึ้น มิใช่เพียงการกระทำเพื่อให้ครบองค์ประกอบ เพื่อให้แม่น้ำโขงผ่านพ้นวิกฤต

“แม่น้ำโขงจะวิกฤติหรือไม่ ก็อยู่ที่การตัดสินใจทางการเมือง” กนกวรรณ กล่าว

สุดท้าย ไม่เคยมีรัฐบาลประเทศไหนในประเทศลุ่มน้ำโขงที่ออกมายอมรับว่า ความยากจนที่เกิดขึ้นกับคนน้ำโขงเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อน และอ้างว่าความยากจนเกิดจากปัจจัยอื่นๆ  เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“กลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจน (เขื่อน) ถูกสถาปนาให้เป็นเช่นนั้นแล้ว รัฐจึงไม่สามารถออกมาบอกได้ว่าเขื่อนทำให้คนจน เพราะรัฐจะไม่มีความชอบธรรมในการหางบประมาณมหาศาล หรือกู้ยืมเงินลงทุน ทำให้จำเป็นต้องเลี่ยงว่าผลกระทบมีทั้งบวกและลบ ไม่สามารถพูดได้อย่างตรงไปตรงมาว่าบวกคืออะไร ลบคืออะไร เป็นการออกแบบทางเทคนิคที่จะไม่พูดให้เขื่อนเป็นประเด็นการเมือง” กนกวรรณ กล่าว

 

 

 

อ้างอิง

กนกวรรณ มะโนรมณ์ , “ภววิทยาแม่น้ำโขง เขื่อน น้ำของ และผู้คน” , สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์ พิมพ์ครั้งที่ 1

พงษ์เทพ บุญกล้า , “เรื่องเล่าประมงพื้นบ้านปากมูนกับปฎิบัติการในชีวิตประจำวัน” , วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

พนา ใจตรง และ กนกวรรณ มะโนรมณ์, “พลวัตการเคลื่อนไหวและการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล” , วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2557

““มันกะคึดฮอดบ้านละลูกเอ๊ย” เมื่อความจนบังคับคนออกจากบ้าน” https://www.the101.world/assembly-of-the-poor/ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net