Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ณ ปัจจุบัน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย คนเสื้อแดง และฝ่ายอำมาตยาธิปไตย รัฐบาลอภิสิทธิ์และผู้อยู่เบื้องหลัง นำพาสู่การเจรจากัน และ ได้จุดลงตัวอยู่ที่ “การยุบสภา” แต่ก็ยังมีจุดไม่ลงตัว

นั่นคือ เงื่อนไขเวลาที่ไม่ตรงกัน   คนเสื้อแดง เสนอให้ยุบสภาภายใน 15 วัน ผ่านขั้นตอนของกฤษฎีกา อีก 45 วัน รวม 2 เดือน   แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์เสนอ 9 เดือน   

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้มีการเปิดประเด็นใหม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะมีความแยบยลซ่อนเงื่อนอยู่ในตัวมันเอง เพื่อที่จะ ไม่ยุบสภา หรือยุบสภาให้ช้านานมากที่สุด   ได้อ้างว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ50 ก่อนแล้ว ให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งมี 6 ประเด็น คือ 1. ที่มาของส.ส.มาตรา 93-98   2. ปรับปรุงที่มาของส.ว.มาตรา 111-121   3. เพิ่มเติมอำนาจในการกำหนดและทบทวนประเภทของหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภามาตรา 190   4. ปรับปรุงบทลงโทษยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมือง มาตรา 237   5. ปรับปรุง เรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของส.ส.มาตรา 265 และ 6. ปรับปรุงเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของส.ส.และส.ว.ผ่านทางส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ มาตรา 266 ( 1 )

ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยเสนอมาแล้ว และพรรคประชาธิปัตย์กลับปฏิเสธไม่เห็นด้วย อาจจะเนื่องมาจากเป็นสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ให้มีโอกสาขึ้นสู่อำนาจรัฐได้มีจุดยืนคัดค้านไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ50  

การเปิดประเด็นนี้ ขึ้นมา จึงเป็นเกมส์ถ่วงเวลาการยุบสภาเท่านั้นเอง

ขณะที่เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ   ได้เสนอให้มีการยุบสภาภายใน 6 เดือน ก็เช่นเดียวกันได้เสนอว่า สนับสนุนให้มีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างมีส่วนร่วม กำหนดประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยไม่เป็นประเด็นที่เอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นที่ตั้ง

ดูเหมือนว่า เป็นความฝันใฝ่ที่ดี แต่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของความขัดแย้งทางการเมืองที่ไปเกินแล้ว หรือเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเหล่านั้น กลายเป็นส่วนเสี้ยวของฝ่ายอำมาตยาธิปไตย ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในการเคลื่อนไหวให้ยืดเวลา เหมือนในหลายครั้งที่ผ่านมา ด้วยหรือไม่? ต้องติดตามกันดู

และทำไมไม่เสนอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นประเด็นที่เอื้อประโยชน์ให้กับอำมาตย์ หรือกลุ่มได้ผลประโยชน์จากการที่อำมาตย์ครองอำนาจด้วย  ทั้งๆที่รู้กันดีว่า อำมาตย์และระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยมาตลอดนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2472  

แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ที่น่าจะเป็นแบบอย่างได้ดีคือกระบวนการสร้างรัฐธรรมนูญ 40 มิใช่กระบวนการรัฐธรรมนูญ 50 ของอำมาตย์ ที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงเป็นรัฐธรรมนูญของอำมาตย์ โดยอำมาตย์ และเพื่ออำมาตย์  

การยุบสภา จึงเป็นช่องทางให้พรรคการเมืองต่างๆ ไปหาเสียงไปถามประชาชนว่า พรรคจะมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ประชาชนสามารถเสนอประเด็นในการแก้ไขได้อย่างไร  ซึ่งอาจจะมีมากกว่ากว่า 6 ประเด็นของรัฐบาลก็ได้ และพรรคที่ได้เสียงข้างมากต้องนำพาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตหลังการเลือกตั้งโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง

เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเจ้าของประเทศทุกคน มิใช่เพียงเพื่อกลุ่ม องค์กรใดๆทั้งสิ้น

นอกจากนี้แล้ว มีหลายภาคส่วนหลายองค์กรที่มักเคลื่อนไหวรับใช้อำมาตย์มาโดยตลอด เช่น กลุ่ม 40 วุฒิสมาชิก  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) สาขาหนึ่งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้สร้างประเด็นใหม่   และสื่อรับใช้อำมาตย์ก็ขานรับตีโพยตีพายกันยกใหญ่ว่าการยุบสภาไม่ใช่ทางออก

และบอกว่า ปัญหาของประเทศเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย มีความแตกต่างทางชนชั้น ต้องปฏิรูปประเทศไทย

เบื้องลึกแล้ว เป็นการเปิดประเด็นเพื่อทำลายความชอบธรรมในการเสนอให้ยุบสภา ใช่หรือไม่?

แน่นอนว่า   ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย มีความแตกต่างทางชนชั้น ต้องปฏิรูปประเทศไทย 

คำถามก็คือจะปฏิรูปกันอย่างไร ใครจะปฏิรูป?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจรัฐแห่งรัฐชาติ จะต้องนำพาการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย ความแตกต่างทางชนชั้น แล้วอำนาจรัฐมาจากไหน มาจากระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือมาจากระบอบประชาธิปไตย ? มาจากการผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน หรือมาจากการรัฐประหาร ?

การปฏิรูปประเทศไทย เพื่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ที่สำคัญต้องดำเนินการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดิน   ต้องสร้างรัฐสวัสดิการ เก็บภาษีอัตราก้าวหน้า   จัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานสวัสดิการให้ประชาชนทุกคนที่ได้ลงแรงทำมาหากินทำการผลิตความมั่งคั่งในประเทศไทยไม่ว่าเป็นคนไทยหรือไม่ก็ตาม   ต้องลดงบประมาณกองทัพ งบประมาณฟุ่มเฟือยต่างๆ ฯลฯ

สิ่งต่างๆเหล่านี้ ต้องมาจากสิทธิการเมืองที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเหล่านี้ พรรคการเมืองต้องแข่งขันกัน ประชาชนมีเสรีภาพรวมกลุ่ม ทุกคนจัดตั้งพรรคการเมืองได้อย่างเสรี ไม่มีกฎหมายกำจัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สื่อต้องมีเสรี ฯลฯ

พรรคประชาธิปัตย์หรือ ? จะนำพาการปฏิรูปประเทศไทย   ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนเสื้อแดงเขาไม่เชื่อนำยา 

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองใหม่ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายอำมาตย์ จะเสนอปฏิรูปประเทศไทย ก็เสนอแนวทาง นโยบาย แล้วแข่งขันหาเสียงหาการสนับสนุนในเวทีการเลือกตั้ง หลังยุบสภา ไม่ได้เชียวหรือ

หรือเป็นเพียงการเปิดประเด็นนี้ ขึ้นมา เพื่อเป็นเกมส์ถ่วงเวลาการยุบสภาเท่านั้นเอง

ดังนั้น การแก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปประเทศไทย ปัญหาเชิงโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ

ต้องเริ่มต้นด้วยการยุบสภาภายในสองเดือน

พอกันที คืนอำนาจอธิปไตย เข้าหาประชาชน กันซิ ?

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net