Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ
บทความนี้มุ่งตั้งคำถามพื้นฐานที่สุดสำหรับนักกฎหมาย และอธิบายความให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจ
ทำไม สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญจึงมีทั้งสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิเสรีภาพอื่นๆ

บทความนี้มุ่งเผยแพร่ความรู้เท่านั้น โปรดอ่านและตรองโดยปราศจากอคติ แต่อย่าอ่านโดยปราศจากสติปัญญา และเหตุผล กรุณาอย่าเอาไปโยงกับการเมืองเด็ดขาด หากแต่จะเกี่ยวเนื่องอยู่บ้าง ก็แต่โดยที่ผู้เขียนและท่านผู้อ่านทุกท่านเป็น "มนุษย์" ที่ทรงไว้ซึ่ง "สิทธิ""เสรีภาพ""สติปัญญา" และ "เหตุผล" เท่านั้น

การกำเนิดขึ้นของสิทธิเสรีภาพ
นับตั้งแต่ยุโรปยุคกลาง หรือที่เรียกว่า "ยุคมืด"(Dark age) อันเป็นยุคที่ศาสนจักรเรืองอำนาจอย่างสูงสุด หากพิจารณาโดยแท้จริงแล้ว ศาสนจักรไม่ได้เรืองอำนาจมากมายขนาดนั้น ที่ถูกต้องจะต้องเรียกว่า "ผู้คลั่งศาสนจักร" ได้เรืองอำนาจถึงจะถูก เพราะลำพังศาสนจักรเอง แม้มีอำนาจ แต่หากไม่มีผู้ศรัทธาหรือคลั่งศาสนจักรแล้ว เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่?

การทำลายล้างผู้ที่ไม่เห็นด้วย กับตนเอง ด้วยการตั้งตนเป็น "ผู้ล่าแม่มด" หรือ "ผู้กำจัดคนนอกรีต" แท้จริงแล้วก็คือการกำจัด "ผู้ที่เห็นไม่เหมือนตน" เท่านั้นเอง โดยเอาศาสนจักรเป็นที่ตั้งความชอบธรรมในการฆ่า ทารุณมนุษย์ด้วยกันเยี่ยงสัตว์ ป่ากระหายเลือด ไม่ว่าจะเผาทั้งเป็น หรือจับตรึงกางเขน ล้วนแล้วเป็นผลลัพธ์โดยตรงมาจาก "การเห็นต่าง" ไปจากพวกของตนเท่านั้น

หลังจากความเสื่อมอย่างถึงขีดสุด นักคิด นักปรัชญา ได้นำพาสติปัญญาและเหตุผล กลับเข้าสู่พิภพของยุโรป โดยการรื้อฟื้นการศึกษาปรัชญากรีก ที่ยึดถือว่า มนุษย์ มีคุณค่าในตัวเอง เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และสติปัญญาเป็นแนวคิดที่เรียกว่า "ปัจเจกชนนิยม (Individualism)" ซึ่งเป็นข้อความคิดพื้นฐานในการจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิไตย ในกาลต่อๆ มา ท่ามกลางความืดมิดของยุคสมัย แนวคิดปัจเจกชนนิยมจึงเหมือนแสงสว่างที่ขับไล่ความชั่วร้ายอันไร้เหตุผลและสติปัญญาของยุคกลาง เราจึงเรียกยุคนี้ว่า "ยุคความรุ่งเรืองทางสติปัญญา" หรือ Enlightenment (en light - เป็นรูปศัพท์ที่สอดคล้องกับคำ ว่าจุดไฟ หรือทำให้เกิดแสงสว่าง )

จากแนวคิดปัจเจกชนนิยมสู่รัฐธรรมนูญเสรีประชาธิปไตย
การจัดทำรัฐธรรมนูญของรัฐเสรีประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลมาจากแนวคิด "ปัจเจกชนนิยม" ที่นับถือคุณค่าของมนุษย์ โดยยอมรับว่ามนุษย์ เกิดมาพร้อม "สิทธิ" และ "เสรีภาพ" โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใดๆ มารับรองอีก

อย่างไรก็ตาม ฌอง ฌ๊าค รุสโซ ได้กล่าวว่า "มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกแห่งหนเขาอยู่ในพันธนาการ" ที่เป็นเช่นนี้เพราะการที่มนุษย์จะมาอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขนั้น เราต่างจำต้องสละสิทธิเสรีภาพบางประการ เพื่อสร้างภราดรภาพให้การรวมตัวของเราดำเนินไปได้โดยดี เช่นนี้เองจึงเป็นที่มาของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ว่า รัฐอาจกำจัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เท่าที่พอสมควรกว่าเหตุจำเป็น และไม่กระเทือนสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพนั้นๆ

แนวคิดนี้ สอดคล้องกับนักปรัชญาชาวอังกฤษนามว่า "จอห์น ล็อค" โดยเขากล่าวว่า เรามารวมตัวกันเป็นรัฐ เพื่อมุ่งประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยทั้งภายในและภายนอก มุ่งประโยชน์ในทางการยุติระงับ ข้อพิพาท การจะทำเรื่องดังกล่าวนี้ ล้วนเรียกว่า "ภารกิจพื้นฐานของรัฐ" หากรัฐใดไม่อาจจะปฏิบัติภารกิจเหล่านี้ได้ ย่อมไม่อาจควรดำรงอยู่เป็นรัฐอีกต่อไป โดยประชาชนจะต้องเสียสละสิทธิเสรีภาพบ้างเพื่อเข้าทำสัญญากับรัฐ เรียกว่า "สัญญาประชาคม"

สิทธิขั้นพื้นฐานกับความเป็นมนุษย์และการก่อกำเนิดนิติรัฐ
เมื่อเรายอมรับนับถือว่า มนุษย์มีคุณค่าในตัวเองตามธรรมชาติ การออกแบบรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ย่อมต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ด้วย กล่าวคือ ลักษณะตามธรรมชาติของมนุษย์คืออะไรบ้าง? ซึ่งหากไม่มีสิ่งเหล่านี้แล้ว เราไม่อาจถือได้ว่าเขาเป็นมนุษย์ได้อีกต่อไป ตัวอย่างเช่น มนุษย์นั้นต้องคิด ต้องพูด ต้องเคลื่อนไหว ต้องมีชีวิต ร่างกาย สุขภาพอนามัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะกำจัดหรือพรากเอาไปจากมนุษย์มิได้เลย มิเช่นนั้นแล้ว มนุษย์นั้นก็จะกลายเป็น "สัตว์" หรือ "วัตถุ" และการปฏิบัติให้มนุษย์เป็นเช่นนั้น เราเรียกว่า "การละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์"

เมื่อเราไตร่ตรองและทราบว่า การจะเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์นั้นจำต้องมีสิ่งใดบ้าง เพื่อให้เขาพัฒนาศัยภาพตามที่ใจสมัคร และสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ สิ่งเหล่านั้น คือ "สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน"

รัฐไม่อาจจะจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้อย่างเกินควร หรือขัดต่อหลักความได้สัดส่วน แดนแห่งสิทธิเสรีภาพเหล่านี้ เหมือนปราการอันแน่นหนาที่รัฐจะไปรุกรานตามอำเถอใจไม่ได้ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจเพื่อการนั้นๆ เหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของ "หลักนิติรัฐ (État de droit)"

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่า เมื่อมีกฎหมายแล้วรัฐจะทำอะไรก็ได้ รัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐพึงสังวรณ์ ไว้ด้วยว่า หลักนิติรัฐที่ให้รัฐเข้าไปกระทำการใดๆ กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพได้นั้น ให้รัฐกระทำได้เท่าที่พอสมควรกว่าเหตุ และที่สำคัญ หลักนิติรัฐเกิดขึ้น "เพื่อจำกัดอำนาจรัฐ" ไม่ใช่ "ใบอนุญาต" ให้รัฐกระทำกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดย "อ้างกฎหมาย" หรือ "การปฏิบัติการตามกฎหมาย" เพราะแท้จริงแล้ว ต้องไม่ลืมว่า หลักนิติรัฐ มีเนื้อหาเพื่อ "คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน" เป็นหลัก 

บทสรุป
สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่ไม่อาจพรากเอาไปจากมนุษย์ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงมีความเป็น มนุษย์ตามธรรมชาติ การกำเนิดขึ้นของหลักนิติธรรมก็ดี หลักนิติรัฐก็ดี ล้วนแล้วเกิดมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ หรือผู้ถืออำนาจรัฐ แต่ก็มิได้หมายความว่า สิทธิเสรีภาพจะเป็นดินแดนที่ไร้อาณาเขต การสละสิทธิเสรีภาพบางประการนั้น จะต้องกระทำภายใต้สัญญาประชาคมที่เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" และที่ประชาชนสละนั้น ด้วยเหตุเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างฉันท์มิตรที่เรียกว่า "ภราดรภาพ"

การใช้อำนาจรัฐไม่ว่าทางใดก็ดี ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ประชาชนเองก็ควรตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย มิใช่เพียงเพื่อเอาอำนาจรัฐไปกำจัดประหัตประหารผู้ที่มีความเห็นต่างจากตน และมิได้ให้ความเป็นมนุษย์กับเขาอุปมาดังบุคคลชื่มชมปรบมือกับพลุ สีเลือด หากพลุนันมิได้ตกต้องโดนบ้านเรือนของตนหรือญาติพี่น้องก็ยังมิรู้สึกอะไรท้ายที่สุดแล้วก็จะไม่ต่างอะไร กับ "ยุคกลาง" และสำคัญที่สุดคือ รัฐที่มิอาจทำภารกิจขั้นพื้นฐานได้ ก็มิสมควรดำรงชีวิตอยู่เป็นรัฐได้อีกต่อไป

 แด่ สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกๆ คน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net