Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้นานแล้ว ก่อนหนังจะเข้า แรกเห็นก็รู้สึกว่าน่าสนใจโดยเฉพาะเมื่อมีภาพคุณตุ๊กกี้สวมมงกุฎที่เต็มไปด้วยรังนกบนศรีษะ ตัวโตอยู่กลางโปสเตอร์พื้นขาวสะอาด ยิ่งขับเน้นให้คุณตุ๊กกี้ดูโดดเด่นอย่างมาก ยิ่งชวนให้ผู้เขียนอยากดูหนังเรื่องนี้ โดยคาดหวังว่าหนังเรื่องนี้อาจจะพลิกโฉมหน้าหนังไทยที่มีแต่เรื่องรัก ๆใคร่ๆ และมีแต่นางเอกหน้าตาจิ้มลิ้ม โดยหันมาปั้นนางเอกหน้าตาสามัญในบทที่แปลกออกไปบ้าง

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ผู้เขียนก็หวังเต็มที่กับการรับชมคุณตุ๊กกี้ ผู้ที่มีความงามร่วมสมัย (กับคนส่วนใหญ่ในสังคม ที่ไม่ได้สวยเพอเฟ็กต์ในแบบฉบับของนางงาม) ในบทบาทของนางเอก โดยหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นการเปิดมิติใหม่ในเรื่องของความงาม ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยปั้นให้คุณตุ๊กกี้ที่มีอาชีพตลกหญิงและต้องยอมรับว่าสังคมมองเธอว่าไม่งามเท่าไหร่นั้น เป็นนางเอกที่งามในแบบฉบับของเธออย่างให้เกียรติ

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำเอาคนที่ไม่งาม ขี้ริ้ว หรือแม้แต่ตลก มารับบทแปลก ๆ ที่ปกติจะเป็นบทของพระเอกนางเอกรูปงาม เช่นในบทของเจ้าชาย เจ้าหญิงนั้น ในทางนิเทศศาสตร์นับว่าเป็นจุดขายหนึ่ง และเรียกเทคนิคการทำหนังเช่นนี้ว่า เป็นการนำเสนอความอุจาดเป็นจุดขาย กระนั้น ผู้เขียนก็แอบหวังว่าหนังเรื่องนี้คงไม่ใช่เช่นนั้นเสียทั้งหมด แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า คงหลีกเลี่ยงเรื่องการนำเสนอมุขตลกและการหยิบเอาความเป็นตลกของเธอมาเล่นไม่ได้

ต่อเมื่อได้มาดูเข้าจริง ผู้เขียนก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะหนังเรื่องนี้ก็ไม่ต่างกับหนังหลายๆ เรื่องที่หยิบจุดที่สังคมกำหนดให้เป็ด “จุดด้อย” มาเป็นจุดขาย เช่น เรื่องหน้าตา “ขี้เหร่” รูปร่าง “เตี้ย” ไม่สมส่วน และลักษณะเฉพาะบางประการของคน ในทางที่พิการต่าง ๆ ตัวเตี้ยเกินมาตรฐาน เป็นต้น หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้ช่วยเปิดมุมมองความงามมิติใหม่ หรือความงามในแต่ละบุคคลให้แก่สังคมเลยอย่างที่ผู้เขียนคาดเดา (เอาจากโปสเตอร์ หลายท่านอาจตำหนิว่า ผู้เขียนคาดหวังกับหนังไทยมากเกินไป แต่นั่นก็คือความหวัง) อย่างไรก็ตาม เรื่องนั้นอาจจะไม่ทำให้ผู้เขียนหงุดหงิดใจเท่ากับการทับถมโดยการกระแหนะกระแหนคุณตุ๊กกี้ว่าหน้าตาไม่ใช่ “คน”

เรื่องนี้หลายคนอาจเห็นว่าเป็นเรื่องตลก เป็นเรื่องธรรมดาที่หนังไทยทำกันมานาน (และไม่รู้เมื่อไหร่จะเปลี่ยน) แต่อันที่จริงแล้ว คำพูดเช่นนั้นสะท้อนให้เห็นทัศนคติของ คนและสังคมต่อมาตรฐานและการตัดสินผู้คนในสังคมประการหนึ่ง แน่นอนว่าสังคมทุกสังคมต้องมี “กติกา” กระนั้น การมาตัดสินคนว่าคนไม่ใช่คนเพียงเพราะหน้าตาไม่งาม แม้จะเป็นการกล่าวเล่น ๆ ว่ากันให้ขบขัน กระนั้น ก็สะท้อนว่าสังคมนี้ลึก ๆ แล้ว ยังมีอคติเกี่ยวกับความงามของผู้หญิง (ที่ถูกสร้างขึ้นสมัยทุนนิยม และ ตะวันตกนิยม) ว่าต้องงามแบบฝรั่ง คือมีโครงหน้าเรียวยาว ไม่มีกรามกว้าง-หนา จมูกโด่ง มีดั้งเป็นสัน ปากบาง สูง ผิวพรรณสะอาด เป็นต้น เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้ปรากฏเป็นคำอธิบายอยู่ในส่วนของการอธิบายผู้ดีของไทยด้วย ไม่ใช่ไพร่

กล่าวได้ว่าความงามแบบชาวบ้าน ที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใคร่ปรุงแต่ง (ศัลยกรรม) ยังไม่เป็นที่ยอมรับ และยังถูกดูแคลน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีความเป็นตะวันตกนิยมอย่างหนาแน่น (ตอนนี้อาจมีเกาหลีฟีเวอร์ด้วย) และ ยังมีค่านิยมชายเป็นใหญ่ไม่เสื่อมคลาย

ที่กล่าวเช่นนี้ มีหลักฐานจากหลายฉากหลายตอนของหนังสนับสนุน เช่นตอนที่องครักษ์ หรือ ครูที่ถูกจ้างมาสอน เจ้าหญิง (กำมะลอ) ตุ๊กกี้นั้นพูดเกี่ยวกับเธอ ตอนหนึ่ง เป็นตอนที่ครูสอนขี่ม้าด่าเธอต่อหน้า อย่างหน้าตาย (ไม่เกรงใจในความเป็นเจ้าหญิงของเธอเลยแม้แต่น้อย) ว่าเธอนั้นช่าง “ชิงหมาเกิด” หรือ “นี่คนรึ” และอีกหลายคำที่เป็นการไม่ให้เกียรติเธอ ทั้งในฐานะมนุษย์ ในฐานะผู้หญิง หรือแม้แต่ในฐานะ “เจ้าหญิง”

เรื่องนี้จะอธิบายได้อย่างไร คำอธิบายคำหนึ่งที่ผู้เขียนจับได้ก็คือ คุณค่าของคนอยู่ที่หน้าตา หน้าตาอย่างตุ๊กกี้นั้นไม่สมควรได้รับเกียรติใด ๆทั้งสิ้นแม้ว่าเธอมีศักดิ์เป็นเจ้าหญิงในเรื่อง ทั้งนี้เพราะ เธอไม่ได้งามแบบนางงาม แต่งามแบบทั่วไป หรือหลายคนอาจจะบอกว่าออกไปทางขี้เหร่นั่นเอง แม้กระนั้น เธอก็สมควรได้รับเกียรติในฐานะมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน การที่ผู้ชายคนหนึ่ง เป็นแค่อาจารย์สอนขี่ม้า ยืนเท้าสะเอวด่าเจ้าหญิงตุ๊กกี้ฉอด ๆ โดยไม่เกรงอาญานั้น สะท้อนให้เห็นความคิดของผู้สร้างไม่น้อยว่ายังคงวนเวียนอยู่กับความคิดชายเป็นใหญ่ ซึ่งหากผู้หญิงคนนั้นไม่อยู่ในมาตรฐานที่ชายจะให้เกียรติ ไม่ว่าจะมียศศักดิ์เท่าใด ก็ไม่สมควรได้รับเกียรติจากผู้ชายแม้ในฐานะ “คน”

อาจจะฟังดูแรงไป แต่นี่คือแนวคิดที่ผู้เขียนจับได้จากหนังเรื่องนี้หลายฉากหลายตอน นอกเหนือจากฉากอาจารย์สอนขี่ม้าแล้ว ยังรวมถึงฉากอาจารย์สอนดื่มไวน์ อาจารย์สอนเต้นรำ (รับบทโดยคุณเท่ง เถิดเทิง) รวมไปถึงฉากที่บรรดาช่างแต่งหน้าทั้งหลายที่ถูกว่าจ้างให้มาแปลงโฉมเจ้าหญิงตุ๊กกี้ให้ “งามสง่า” ที่ต่างก็แอบนินทา และ ด่าต่อหน้าในเรื่องความงามของเธอในลักษณะเดียวกัน

หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้มีสาระอื่นใดที่เป็นประโยชน์นอกจากขบขัน (?) (แต่ก็อาจจะหวังอะไรจากหนังคอมเมอดี้มากไม่ได้ ) กระนั้น การที่หยิบเอาแต่เรื่องความงามของคุณตุ๊กกี้มาเป็นจุดขายด้วยการประณามความงามของเธอ ก็เป็นจุดที่สะท้อนให้เห็นความคิดเรื่องความงามมาตรฐาน ที่นำมาใช้ตัดสินผู้คนในปัจจุบัน และความคิดชายเป็นใหญ่ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมแอบแฝงอยู่ในหนังเรื่องนี้ ยิ่งฉากตอนกระจกร้าวเมื่อเจ้าหญิงตุ๊กกี้ถามออกไปว่า “กระจกวิเศษบอกข้าเถิด ใครงามเลิศในปฐพี” แล้วกระจกก็แตกโผละนั้น ยิ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า แม้แต่กระจก ก็ยังไม่ยอมรับความงามของเธอ

ความงามตามแบบมาตรฐาน (หรือ อันที่จริงน่าจะพูดว่าความงามที่ “ควรจะเป็น” ) ของหนังเรื่องนี้นั้นเป็นเช่นใด เฉลยออกมาในฉากเกือบสุดท้ายที่เป็นการเฉลยว่าเจ้าหญิงแห่งเมื่องปารังดาวีตัวจริงนั้นยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งรับบทโดย ซาร่าห์ ไคเซอร์ ผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย ผู้เข้าประกวดมิสไทยแลนด์เวิลด์ปี 2010  การปรากฏตัวของ ซาร่าห์ ในฐานะเจ้าหญิงตัวจริง ยิ่งตอกย้ำภาพตัวแทนของความงามฉบับมาตรฐานได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็คือ ตัวแทนความงามที่ผู้หญิงควรจะเป็นของหนังเรื่องนี้ เธอสูง ขาว หน้ายาว หุ่นดี จมูกโด่งเป็นสัน ที่สำคัญเป็นลูกครึ่ง (สวิส) เป็นความงามที่ผ่านเวทีประกวดและได้รับการรับรองแล้วจากกรรมการและผู้ชายในสังคม (!)

ผู้เขียน ไม่ปฏิเสธการมีมาตรฐานหรือกติกาในสังคมเพราะจะช่วยให้สังคมมีร่องรอยในการอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรฐานที่ได้รับการยกขึ้นให้เป็นกติกาของสังคม กระนั้น ก็ควรยอมรับความแตกต่าง และความสามารถสงวนความคิดต่างไว้ด้วย โดยการให้เกียรติไม่กล่าวว่าร้าย ตีตรา หรือลดทอนความสำคัญและคุณค่าของสิ่งนั้นลง การว่าร้ายสิ่งที่ผิดไปจากในลักษณะของการตัดสิน คาดโทษ และไม่ยอมรับ จะนำไปซึ่งความขัดแย้งที่ไม่มีที่สิ้นสุด และรังแต่จะสร้างความแตกแยกร้าวลึก ยากแก่การเยียวยา

สังคมไทย ขณะนี้กำลังตกอยู่ในสภาวะของการไม่ยอมรับความเห็นต่าง และใช้เพียงมาตรฐานเดียวมาตัดสินความถูกต้อง ทั้งๆ ที่เรื่องราวของสังคมเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องของความงามที่เมื่อตัดสินกันแล้วก็จบไป อย่างการประกวดนางงาม หรือการกร่นด่าความงามของตุ๊กกี้ว่าเป็นปลวกบ้าง ผิดไปจากคนบ้าง ตุ๊กกี้อาจจะไม่ทำอะไร คนดูอาจจะไม่ทำอะไร เพราะการตัดสินเช่นนี้นอกจากว่าอาจสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้แก่คนบางคนที่ไม่ได้งามมาตรฐานนางงามแล้ว ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย เสียเลือดเสียเนื้อแก่บ้านเมือง ทั้งยังอาจสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนบางกลุ่มได้อีกด้วย แต่สำหรับเรื่องราวความแตกต่างในสังคม ไม่ใช่การตัดสินแล้วจะจบไป เพราะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากมาย หนทางหนึ่งในการประคับประคองสังคมจึงอาจต้องเริ่มกันด้วยการฟัง การไม่ตัดสินโดยมาตรฐานเดียว และการยอมรับการสงวนจุดต่าง

วกเข้าเรื่องการเมืองเสียดาย ทั้งๆ ที่วันนี้ผู้เขียนเพียงอยากวิจารณ์ภาพยนตร์เท่านั้น อันที่จริงหนังเรื่องนี้ก็มีจุดที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่เช่นกันในฉากแรก ๆ ที่เป็นการเปิดตัวตลาดที่เจ้าหญิงตุ๊กกี้ทำงานขายกบอยู่ ที่แสนจะเต็มแต้มไปด้วยสีสันและดีไซน์ย้อนยุค ร้านแต่ละร้านต่างแสวงหาจุดเด่นของตน เช่น ร้านขายรองเท้าก็นำรองเท้ามาปะที่ตัวเองจนเต็มไปหมดทั้งตัวเพื่อเรียกลูกค้า หรืออย่างการปรากฏตัวของนักเลงหัวไม้ ที่มีไม้อยู่บนหัวจริงๆ ก็ทำให้ชวนคิดว่า ผู้เขียนอาจจะตัดสินใจถูกก็ได้ที่เลือกเข้ามาชมหนังไทยเรื่องนี้ แต่พอถึงฉากด่าเจ้าหญิงตุ๊กกี้อย่างไม่ใช่คนแล้ว ก็รับไม่ได้จริง ๆ

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net