Skip to main content
sharethis

วันนี้ (22 ส.ค.) เวลา 09.00 น. ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 82 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ดังนี้  

ช่วงที่ 1

ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุ ฮ.ตก

สวัสดีครับพี่น้องประชาชนที่เคารพรักครับ กลับมาพบกันอีกครั้งนะครับทุกเช้าวันอาทิตย์ เพื่อที่จะรายงานเหตุการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาขอเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ที่ผมคิดว่าทำให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ รู้สึกสะเทือนใจ นั่นคือเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมทั้งผู้ที่ได้ทำงานเพื่อที่จะผลักดันโครงการตามแนวพระราชดำริ อยากจะขอแสดงความเสียใจไปยังครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง และขอเรียนครับว่าการเสียชีวิตครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเสียชีวิตในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วก็คือการไปติดตามโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในแง่ของการเผยแพร่งานที่เป็นงานที่สืบเนื่องมาจากแนวพระราชดำริ และมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่ยากจนและอยู่ในชนบทที่ห่างไกล  สำหรับตัวท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช) นั้น ผมเองได้มีโอกาสทำงานกับท่าน ซึ่งท่านก็อยู่ในช่วงที่ต้องมาเผชิญกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งถือว่ายากพอสมควร ทั้งในเรื่องของการทำงานภายในประเทศเอง เช่น ปัญหาของมาบตาพุด ไปจนถึงเรื่องระหว่างประเทศ เรื่องของการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ขอแสดงความเสียใจมายังครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกท่านอีกครั้งหนึ่งครับ  

เชิญเที่ยวงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ และงาน OTOP

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ยังมีงาน 2 งานที่ขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์   วันนี้เป็นวันสุดท้ายของมหกรรมวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำอยู่ที่ไบเทค บางนา และเป็นวันที่จะเริ่มต้นงาน OTOP ที่เมืองทองธานี สำหรับงานของ OTOP นั้นจะจัดได้อีกหลายวัน 21-29 ในเดือนนี้ ส่วนงานของมหกรรมวิทยาศาสตร์ที่ไบเทคนั้น จะจบลงวันนี้ครับ เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมงาน  ผมไปเกือบทุกปี และได้มีโอกาสในการที่จะเห็นถึงความสามารถของคนไทย และสถาบันต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเอกชนด้วย ที่ได้มีการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก็อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชน ถ้ามีเวลาวันนี้เป็นวันสุดท้ายครับ คงถึงประมาณสองทุ่ม อยากจะให้เผื่อเวลาสัก 2-3 ชั่วโมงครับเป็นอย่างน้อยในการที่จะไปเยี่ยมชมงานต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ทั้งที่เป็นงานวิจัยที่ทางด้านการเกษตรก็ดี ทางด้านอื่น ๆก็ดี ทางด้านอุตสาหกรรมไปจนถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้วยที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  

การเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐเข้ากับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

ซึ่งเมื่อวานนี้นอกจากที่ผมจะได้ไปเยี่ยมชมงานแล้ว ก็เลยได้ใช้โอกาสนั้นพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้มีการพูดถึงปัญหาของงานวิจัย และการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งต้องยอมรับว่าในการประเมินของสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ นั้นก็ยังจัดประเทศไทยให้อยู่ในอันดับที่ไม่ดี และเห็นได้ชัดว่าการเติบโตหรือการขยายตัวของการวิจัย และการพัฒนานั้นยังน้อยเกินไป ส่วนหนึ่งรัฐบาลก็พยายามที่จะผลักดันโดยการแก้ไขในเรื่องของสัดส่วนงบประมาณ ในเรื่องของการทุ่มเทไปยังบางโครงการ เช่น โครงการมหาวิทยาลัยวิจัย แต่ว่าปัญหาพื้นฐานจริง ๆ ก็ยังเป็นเรื่องซึ่งสัปดาห์ที่แล้วก็ได้พูดคุยกับทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องของการที่จะสนับสนุนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน มาตั้งแต่การเรียนการสอนในโรงเรียน และที่สำคัญคือว่าการเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและพัฒนากับทางด้านของภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจหรือภาคสังคม ยังมีน้อยเกินไป  

สิ่งที่ได้มีการปรึกษาหารือกันเมื่อวานนี้ และคิดว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นการผลักดันอีกขั้นหนึ่ง ก็คือว่าเราจะเริ่มต้นจากการที่จะให้ทุกหน่วยงาน ที่ทำงานทางด้านการวิจัย และมีโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย  โครงสร้างพื้นฐานที่ว่าก็หมายถึงในเรื่องของอุปกรณ์ ในเรื่องของบุคลากรต่าง ๆ ต้องจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมด แล้วก็ส่งข้อมูลนี้มารวบรวมไว้ ก็ตั้งใจว่าจะมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้รวบรวมฐานข้อมูลตรงนี้ไว้ แล้วเสร็จจากนั้นจะให้ฐานข้อมูลนี้สามารถที่จะเปิดไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมได้ ในหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ก็จะเป็นกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ หรือหน่วยงานกลางอย่างสำนักงบประมาณ แล้วก็จะมีในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน เช่น ในส่วนของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และก็ไปถึงเรื่องของภาคประชาสังคมด้วย ในแง่ของชุมชนต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สิ่งที่เราคาดหวังคือว่าเมื่อภาคส่วนต่าง ๆ เหล่านี้สามารถที่จะรับทราบว่ามีโครงสร้างพื้นฐานทางวิจัยตรงไหน เช่น มีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ใด ๆ แล้วอยากจะใช้ก็สามารถที่จะติดต่อใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น หลายเรื่องซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทางหน่วยงานของทางด้านวิจัย หรือหน่วยงานภาครัฐมีอยู่ อาจจะใช้เฉพาะในเวลาราชการ แต่ว่าถ้าเรามีข้อมูลตรงนี้ และมีความต้องการที่จะใช้ เราก็จะเปิดโอกาสให้ใช้นอกเวลาราชการได้  

เช่นเดียวกันนะครับการมีฐานข้อมูลตรงนี้ ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนหรือเอสเอ็มอี ภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งมีความประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่าง โดยต้องการที่จะให้มีการวิจัยเข้ามาสนับสนุนในเรื่องกิจการของตัวเอง ก็จะมีโอกาสทราบว่ามีนักวิจัย หรือมีผู้เชี่ยวชาญทำงานทางด้านที่คาบเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองอยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ไหน อย่างไร หลังจากนั้นผมคิดว่าเมื่อเราเริ่มต้นจากก้าวแรกก้าวนี้แล้ว การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมก็ดี ภาคสังคมก็ดี กับงานวิจัยต่าง ๆ ที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น  และจะเป็นการส่งเสริมในที่สุดต่อไปว่าภาคเอกชนกับภาครัฐจะสามารถเข้ามาทำงานทางด้านการวิจัยร่วมกันได้ จะไปดูในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้นักวิจัยที่จะเป็นนักวิจัยที่สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภาครัฐ ไปจนถึงนักเรียนที่กลับมาใช้ทุนในภาครัฐ สามารถไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดเราก็หวังว่าจะนำไปสู่การที่เราจะเอางานวิจัยและพัฒนาไปใช้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง 

เพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น 

ซึ่งคาบเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็มีสิ่งที่รัฐบาลจะผลักดันอีก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการที่จะใช้เครื่องมือของการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการที่มีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นในการที่จะต้องนำเอานักวิจัยมาจากต่างประเทศ เพื่อที่จะมาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งกำลังจะมีการผลักดันให้มีมาตรการใหม่ออกมา เรื่องที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น คือว่าเราจะมีการทำในเรื่องของโครงการที่อยู่ในโครงการการปฏิรูปประเทศ ที่เน้นบทบาทของสถาบันการศึกษา ที่เคยได้ปรารภเอาไว้ในความคิดในเรื่องของ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งความจริงแล้วคงจะไม่ใช่ 1 มหาวิทยาลัย แต่หมายความว่าในทุกจังหวัดนั้นจะมีการระดมสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่นั้น ๆ โดยมี 1 สถาบันที่จะเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบหลัก ในการที่จะเชื่อมโยงเอาความรู้และความสามารถที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยและองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นงานสำคัญที่เราจะได้มีการผลักดันให้เกิดการนำเอางานวิจัย รวมทั้งงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง 

การปรับค่าตอบแทนของภาคราชการให้ใกล้เคียงกับภาคเอกชน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีงานที่อยากจะรายงานให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอยู่ เรื่องแรกคงจะเป็นเรื่องของระบบราชการ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไม่เพียงแต่เรื่องของการที่จะปรับบัญชีเงินเดือนราชการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนเมษายนอย่างที่ได้เคยเล่า และพี่น้องประชาชนคงทราบอยู่แล้ว  แต่ว่าได้มีการอนุมัติในโครงการซึ่งจะช่วยปรับในเรื่องของค่าตอบแทนของภาคราชการให้มีความใกล้เคียงกับภาคเอกชนมากขึ้น โดยจุดแรกที่เราเข้าไปดูคือจุดของการบรรจุข้าราชการที่รับเข้าไปเป็นครั้งแรก พูดง่าย ๆ คือว่าบรรดาผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ตัดสินใจที่จะก้าวเข้ามาสู่ระบบราชการ ปัจจุบันเราพบว่าช่องว่างระหว่างเงินเดือนของคนที่จบใหม่เข้ารับราชการกับภาคเอกชน ห่างกันพอสมควร เข้ารับราชการก็ไม่ถึงหมื่น และเราก็มีการดูตัวเลขและกำหนดเป้าหมายเบื้องต้นที่จะลดช่องว่างตรงนี้ พยายามจะทำให้เท่าเทียมกันให้ได้ภายใน 5 ปี สิ่งแรกที่เราได้อนุมัติไปคือว่าจะมีการปรับเรื่องของเงินเดือนสำหรับคนที่แรกเข้า หรือเข้ารับบรรจุเป็นครั้งแรกขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท  นั่นเป็นประเด็นแรก  

แต่ว่าที่เราทำมากกว่านั้นคือว่าเราต้องการที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นในเรื่องของการที่จะรับคนเข้าสู่ระบบราชการตั้งแต่แรกเลย ความยืดหยุ่นที่ว่าก็คือว่าปัจจุบันนี้เวลาที่มีการบรรจุเข้ารับราชการ เงินเดือนไม่ว่าจะจบมาจากสถาบันไหน ไม่ว่าจะมีความสามารถพิเศษหรือไม่อย่างไร ก็จะเท่ากันหมด ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปัญหาเพราะว่าทำให้แรงดึงดูดของคนที่จะเข้าระบบราชการน้อยเกินไป  สิ่งที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบคือว่านอกเหนือจากการที่จะเพิ่มเงินเดือนที่บรรจุในครั้งแรกแล้ว ยังกำหนดให้มีความยืดหยุ่นคือเป็นช่วง นั่นหมายความว่าจะมีเงินเดือนขั้นต่ำ แล้วก็จะสามารถที่จะมีการเพิ่มให้เงินเดือนที่แรกรับเพิ่มขึ้นได้จากเงินเดือนขั้นต่ำนี้ โดยจะมีการกำหนดปัจจัยสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะไปพิจารณา เช่น ถ้าสมมติว่ามาทำงานในสาขาที่ขาดแคลน ก็จะมีโอกาสได้เงินเดือนสูงขึ้น  ถ้าสมมติว่ามีความสามารถพิเศษ เช่น อาจจะมีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศที่เป็นที่ต้องการ ก็จะได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง หรือดูจากคะแนนในการสอบ เพราะฉะนั้นคนที่เก่งจริง ๆ เก่งมาก ๆ สามารถที่จะทำคะแนนได้ มีความโดดเด่น ก็จะมีส่วนเพิ่มเข้าไปเป็นเงินเดือนที่เข้ารับราชการตอนแรกแล้วสูงกว่าเงินเดือนขั้นพื้นฐาน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพยายามที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เราสามารถที่จะดึงดูดให้คนเก่ง ๆ คนดี ๆ เข้ามารับราชการมากขึ้น  และทำให้การรับราชการนั้นมีค่าตอบแทน มีความก้าวหน้า ที่จะเหมาะสม เพราะว่าเมื่อเราปรับเงินเดือนเมื่อแรกรับเข้าแล้ว ในที่สุดแล้วจะมีการไล่ปรับในระดับอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต อันนี้ก็เป็นความพยายามที่จะให้ระบบราชการนั้นยังคงความดึงดูดในการที่จะได้คนดีคนเก่งเข้ามาทำงานเพื่อรับใช้บ้านเมือง ก็เป็นงานสำคัญงานหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไปราคาข้าวน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

เรื่องที่ 2 ที่อยากจะขอใช้เวลาตรงนี้ก็เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาและเรื่องของข้าว เพราะว่าจริง ๆ ขณะนี้สถานการณ์ทางด้านการเกษตรในปีนี้  จะพบว่าราคาสินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็นยางพารา  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด ค่อนข้างจะดีมาก แต่ว่าผลผลิตได้รับผลกระทบจากเรื่องของภัยแล้งอยู่บ้าง รวมทั้งเรื่องของผลไม้ด้วย แต่ว่ามีข้าวครับที่เป็นปัญหาในเรื่องของราคา ซึ่งอันนี้ก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่ได้มีการพิจารณากันไปในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ส่วนหนึ่งก็คือยอมรับครับว่าปัญหาของราคาข้าวที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ก็สืบเนื่องมาจากปัญหาของการแทรกแซงในอดีตของรัฐบาล ในเรื่องของโครงการที่มีการจำนำ และเก็บเอาข้าวมาอยู่ในสต็อกของรัฐบาลจำนวนมาก ก็ขอเรียนว่าขณะนี้แนวทางของรัฐบาลก็ชัดเจนครับคือเร่งระบายข้าวส่วนนี้ออก แต่เป็นการระบายซึ่งจะไม่ให้มีข่าวคราว หรือมีผลกระทบต่อเรื่องของราคาในตลาด ผมอยากจะเรียนเพียงสั้น ๆ ว่าได้มีการดำเนินการไปพอสมควรแล้ว และคิดว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการมีสต็อกข้าวที่มีผลกระทบต่อราคาในส่วนนี้ เมื่อเข้าสู่ประมาณช่วงปลายปีจะลดลงไปมาก  ซึ่งผมคิดว่าจะมีโอกาสทำให้ราคาข้าวกระเตื่องขึ้นมา พร้อมๆ  กันนั้นก็จะเห็นว่าภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายต่อหลายประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าว ก็คงจะทำให้ความต้องการเทียบกับปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาด ตั้งแต่ช่วงปลายปีเป็นต้นไป น่าจะทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น 

ขณะเดียวกันการแทรกแซงในรูปแบบของการประกันรายได้ซึ่งทำมา ก็ได้มีการประเมินผลอย่างกว้างขวาง ก็ขอเรียนว่าในภาพรวม การใช้นโยบายการประกันรายได้ของเกษตรกรก็ได้ช่วยให้การช่วยเหลือของรัฐบาลมีความทั่วถึงมากขึ้นอย่างชัดเจน และไม่เป็นการไปบิดเบือนกลไกตลาด และเป็นแนวทางที่เรามั่นใจว่ามาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว  เพราะฉะนั้นในฤดูกาลนี้ที่กำลังมีการเพาะปลูกอยู่ ก็มีการเดินหน้าในโครงการของการประกันรายได้ โดยคงในเรื่องของราคาและปริมาณที่เป็นสิทธิที่ให้กับพี่น้องเกษตรกร พี่น้องชาวนา แต่ว่าเรื่องของจำนวนผลผลิตต่อไร่ ที่ใช้คำนวณในการที่จะจ่ายเงินชดเชยนั้นก็มีการปรับขึ้นทั้งในพื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ส่วนปัญหาที่มีอยู่บ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงการประกันรายได้ ก็จะมีการแก้ไขไปโดยลำดับ ประการแรกคือสำหรับกรณีของข้าวนาปรัง และช่วงที่ผ่านมาที่ปรากฏว่าหลายพื้นที่ยังมีการร้องเรียนเข้ามาว่ายังไม่ได้รับราคา หรือการชดเชยที่เป็นธรรม ทางคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามันมีช่วงรอยต่อระหว่างวันที่ 25 กับวันที่ 26 เมษายน ซึ่งทางการไปเปลี่ยนสูตรในการคำนวณราคาอ้างอิง เพราะฉะนั้นทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชยก่อนวันที่ 26 เมษายนได้รับในอัตราค่อนข้างต่ำ สิ่งที่เป็น มติของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ก็คือให้มีการไปคำนวณ โดยใช้สูตรคำนวณราคาอ้างอิง ที่ใช้หลังจากวันที่25 เมษายน ย้อนกลับไปคำนวณ และมีการเพิ่มเงินชดเชยให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ได้ใช้สิทธิ์ก่อนวันที่ 25 เมษายน ซึ่งกำลังจะไปคำนวณตัวเลขในรายละเอียด และคงจะได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และจะได้มีการชดเชยเพิ่มเติมต่อไป   

รัฐผลักดันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชาวนา

ผมขอเรียนว่านอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว ในส่วนของสวัสดิการของเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาทาง กขช. ก็ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเช่นเดียวกันครับ ที่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้นไปยกร่างกฎหมายที่จะมาทำในเรื่องของกองทุนสวัสดิการชาวนา หลักคิดตรงนี้ก็คงจะเหมือนกับที่รัฐบาลได้มีการผ่านกองทุนเงินออมแห่งชาติ และกำลังจะนำเสนอเข้าสู่สภาฯ คือจะเปิดโอกาสให้ชาวนา สามารถที่จะนำเงินที่ได้จากการขายข้าว หักออกมาสมทบเข้าเป็นกองทุน และได้รับการสมทบจากรัฐบาลอีกส่วนหนึ่ง เพื่อจะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการชาวนา อันนี้ก็จะเป็นการเพิ่มหลักประกัน และเป็นไปตามแนวทางที่ผมได้พูดตลอดเวลาว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่จะมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องชาวนาด้วย อันนี้ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ได้มีการผลักดันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

สภาฯ พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 54 ต่อวันอังคารนี้

สุดท้ายครับสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันครับ สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาในเรื่องของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ในวาระที่ 2 แต่ปรากฏว่าหลังจากพิจารณาไปได้ประมาณ 3 วัน ปรากฏว่ายังไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ครบทุกมาตรการ ตรงนี้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรครับ  เพราะว่าตามกฎหมายนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็จะมีเวลาในการพิจารณาเรื่องนี้ถึงวันที่ 26 สิงหาคม ท่านประธานรัฐสภาก็จะนัดให้มีการประชุมต่อในวันอังคาร และถ้ามีความจำเป็นก็เป็นวันพุธอีก 1 วัน  ผมขอเรียนว่าบรรดาประเด็นที่เพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้หยิบยกขึ้นมา  โดยเฉพาะในกรณีที่มีความห่วงใยว่ามีโครงการใดหรือการใช้งบประมาณในส่วนไหน ซึ่งขาดความโปร่งใส และก็จะการดำเนินการตรวจสอบ และข้อคิดข้อเสนอแนะหลายอย่างจากสมาชิก ก็เป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้เราสามารถปรับปรุงในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณในปีต่อ ๆไปได้ด้วย  ก็ขอความร่วมมือจากเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าคงจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนวันพุธนี้ และรัฐบาลจะได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีฯ เสนอต่อวุฒิสภาต่อไป สำหรับสัปดาห์นี้คงจะใช้เวลาเพียงเท่านี้ เดี๋ยวกลับมาเราจะมาพูดคุยกับทางพิธีกรรับเชิญในเรื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ ซึ่งก็มีความคืบหน้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกันครับ

ช่วงที่ 2

ผู้ดำเนินรายการ (นายวีระ ธีรภัทร) สวัสดีครับคุณผู้ชมครับ กลับมาพบกับรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ วันนี้ผมได้เป็นพิธีกรรับเชิญที่มาพูดคุยในการรายการนะครับ ก็คงจะมีหลายเรื่องที่จะพูดคุยรวมทั้งที่ท่านนายกฯ ทิ้งท้ายไว้ว่าจะคุยเรื่องหนี้นอกระบบด้วย รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจเรื่องอะไรทั้งหลายทั้งปวงที่จะต้องคุยกัน สวัสดีครับท่านนายกฯ ครับ

นายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

ผู้ดำเนินรายการ เกือบปีนะครับไม่ได้เจอกัน ครั้งที่แล้วไปสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรี สหรัฐอเมริกาก็เกือบ ๆ ปีพอดีครับ

ผู้ดำเนินรายการ คนก็ไม่คิดว่ารัฐบาลจะอยู่กันได้ยาวนานขนาดนี้ ขนาดนี้ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งครับ ก่อนที่จะไปคุยเรื่องหนี้นอกระบบนี้ เมื่อกี้นี้ท่านนายกฯ ทิ้งท้ายไว้เรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ ในการพูดคุยเรื่องงบประมาณผมก็เข้าใจว่ามีหลาย ๆ คนพูดถึงเรื่องหนี้เหมือนกัน

นายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะ

ผู้ดำเนินรายการ หนี้สาธารณะ ผมคิดว่าถ้าอย่างนี้เราแบ่งออกเป็น 3 ก้อนนะครับ

นายกรัฐมนตรี ได้ครับ

ผู้ดำเนินรายการ ก้อนหนึ่งเรื่องหนี้สาธารณะ ก้อนหนึ่งอาจจะเป็นหนี้ของธุรกิจ และอีกก้อนหนึ่งจะเป็นหนี้ของครัวเรือนหรือประชาชนซึ่งจะมีส่วนหนึ่งเป็นหนี้นอกระบบ และส่วนหนึ่งเป็นหนี้ในระบบ ผมจะค่อย ๆ ไล่ไปนะครับ เพราะส่วนของหนี้นอกระบบผมเข้าใจว่าท่านนายกฯ ได้มีแคมเปญใหม่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เอาเรื่องหนี้นอกระบบก่อน ผมฟังแล้วได้เกิดความสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณรายจ่ายปี 54

นายกรัฐมนตรี หนี้สาธารณะก่อน

ผู้ดำเนินรายการ หนี้สาธารณะ ในงบประมาณรายจ่ายปี 54 ที่รัฐบาลตั้ง เป็นงบประมาณใช้คืนเงินกู้ แล้วก็ใช้คืนเงินต้นด้วย ส่วนที่เป็นเงินกู้นี้ใช้คืนเงินต้นแค่ประมาณสัก 30,000 กว่าล้านถ้าผมจำไม่เป็นนะครับ และที่ใช้คืนเป็นดอกเบี้ยแต่ละปีที่เกิดขึ้นประมาณเกือบ ๆ 180,000 ล้านบาท คำถามที่คนถามคือว่า ทำไมรัฐบาลจ่ายดอกเยอะจัง ทำไมไม่ใช้ต้นเลย มันมีกฎเกณฑ์อะไรที่มันเกี่ยวข้องในงบประมาณรายจ่าย

นายกรัฐมนตรี คือเอาตัวดอกเบี้ยที่เยอะก่อนนะครับ หลายคนทราบว่าจริง ๆ แล้วดอกเบี้ยของเงินกู้ก้อนใหญ่ตรงนี้มาจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว คือปี 2540 ซึ่งระบบสถาบันการเงินทั้งหมดมีปัญหา และสุดท้ายหนี้ตัวนี้ก็เข้ามาสู่การเป็นหนี้ของรัฐบาล และเป็นเงินก้อนใหญ่ เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยก็ค่อนข้างจะเยอะนะครับ จริง ๆ แล้วทางกระทรวงการคลังเขาก็จะมีหน้าที่ในการที่จะคอยดูอยู่ตลอดเวลา ว่าตรงไหนจะสามารถที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ เพื่อจะนำไปสู่การบริหารหนี้ไม่ให้เป็นภาระมากจนเกินไป เพราะฉะนั้นส่วนไหนนะครับที่สามารถที่จะชำระต้นเงินได้เร็วขึ้น มีประโยชน์ ถามว่าทำได้ สัญญาหรือตัวมูลหนี้ที่เกี่ยวข้องนี้อนุญาตให้ทำได้เขาก็จะทำนะครับ พร้อม ๆ กันไปนี้

ผู้ดำเนินรายการ คล้าย ๆ กับว่าชำระก่อนกำหนด

นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ๆ เพราะฉะนั้นก็จะทำตลอดเวลานะครับในการที่จะลดภาระตรงนี้ เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่ที่มาถกเถียงกันนี้ ก็คือความคิดที่ว่าหนี้ตรงนี้มาจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย จะรับกลับคืนไปได้ไหมอย่างไร ก็เป็นที่ห่วงใยกันในเรื่องของ ใช้คำว่าคลังหลวงบ้าง อะไรบ้างนะครับ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร

ผู้ดำเนินรายการ เงินต้นที่เป็นยอดคงค้างอยู่นี้ยังไม่มีการชำระสะสาง เพราะฉะนั้นดอกเบี้ยก็จะต้องเกิดขึ้นแต่ละปี ๆ

นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ ๆ ทีนี้ก็เมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ดีแล้วนะครับ เพราะว่าคำว่าหนี้สาธารณะนี้หลายคนก็มีความวิตกกังวลกันมากนะครับว่า เกิดมาแล้วมีหนี้เท่าไรอะไร เกิดขึ้นมาปั๊บรับหนี้ไปแล้วจะต้องใช้เงินกันเมื่อไรอย่างไร

ผู้ดำเนินรายการ เอาหนี้สาธารณะเป็นตัวตั้งปั๊บ เอาจำนวนประชากรหารว่ามีคนหัวละ 80,000 - 100,000 อะไรอย่างนี้

นายกรัฐมนตรี สิ่งที่ผมอยากจะเรียนก็คือว่า อันนี้เป็นเรื่องของการบริหารงบประมาณนะครับ ผมว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีหนี้สาธารณะนะครับ เพราะว่ารัฐบาลจะมีบทบาทอยู่เรื่อย ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงการลงทุนของรัฐบาลเอง ในโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง รถไฟ ซึ่งอาจจะมีเอกชนเข้ามาร่วมบ้าง แต่ว่ายังมีอีกหลายส่วนนะครับ อย่างน้อยโรงเรียนโรงพยาบาลอะไรต่าง ๆ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนไปก่อน เพราะฉะนั้นหนี้ตรงนี้จะเกิดขึ้น รัฐบาลทุกรัฐบาลจะมีหนี้ ถามว่ารัฐบาลเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ผมก็พูดมาตลอดครับรัฐบาลไม่มีเงินของตัวเองหรอก รัฐบาลก็เก็บจากประชาชน เก็บจากอะไร จากภาษีอากร ทีนี้ถามว่าหนี้สาธารณะนี้ถ้ามันมีมากขึ้น ๆ ๆ มันไปอันตรายตอนไหน 1. ก็คือบอกว่าถ้าหนี้มันเริ่มเพิ่มเร็วกว่ารายได้ของรัฐ ก็เหมือนกับตัวคนหรือเหมือนกับองค์กร ในที่สุดก็เหมือนกับล้มละลายนะครับ หรือ 2.

ผู้ดำเนินรายการ คือหามาเท่าไรก็ใช้แต่หนี้ก็หมด

นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเอาเงินมาใช้อย่างอื่นแล้ว และก็ไม่พอด้วยอะไรอย่างนี้นะครับ ซึ่งพอเกิดอย่างนั้นปั๊บนี้หมายความว่าเจ้าหนี้เขาก็จะเริ่มมีปัญหากับเรา เขาก็จะไม่ให้เรากู้เพิ่ม ไม่ให้อะไรต่าง ๆ นะครับ 2. นี้ถ้าหากว่าหนี้สาธารณะมันเพิ่มขึ้นรวดเร็วนะครับ จนกระทบกับความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นนี้ก็หมายความว่าจะทำให้เจ้าหนี้บอก อย่างนี้ประเทศนี้ไม่น่าให้กู้แล้ว

ผู้ดำเนินรายการ หนี้ใหม่ไม่ให้กู้ หนี้เก่าหรือว่า

นายกรัฐมนตรี หรือว่าคิดดอก ดอกขึ้น หรือเรียกเงินกลับคืนเร็วขึ้นหรืออะไรต่าง ๆ อันนี้ก็จะเป็นปัญหา ทีนี้ผมก็ขอยืนยันนะครับ หลายคนบอกรัฐบาลชุดนี้เข้ามากู้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่จริงไม่ใช่หรอกครับ ไม่ใช่หรอกครับ ผมยกตัวอย่างว่า เดิมนี้เราเจอวิกฤตที่ต้องถือว่าแรงที่สุด เราก็คิดว่าต้องกู้เยอะ เราก็บอกว่าประกาศว่าเราพร้อมจะกู้ 800,000 ความจริงถึงกู้ครบ 800,000 นะครับ และหนี้สาธารณะอาจจะขึ้นไปแตะเกือบจะ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลิตภัณฑ์มวลรวมนี้ก็ถือว่าอยู่ในระดับซึ่งสากลยอมรับได้นะครับ และก็เวลานี้บอกได้เลยว่าปีที่ผ่านมาในที่สุดนี้ พอเศรษฐกิจฟื้นเร็วกว่าที่คิด เราก็บอก 400,000 หลังไม่กู้ ลดมาครึ่งหนึ่งแล้ว และก็แถมที่เราบอกว่าต้องกู้มาชดเชยงบประมาณขาดดุล เดิมนี้งบไม่ใช่ที่พูดกันในสภาฯ นะ งบที่ใช้อยู่ขณะนี้ จะขาดดุล 350,000 ล้านนะครับ แต่พอผ่านมาจะครบ 12 เดือนนี้ปรากฏว่าจัดเก็บรายได้เกินเป้า อาจจะขาดดุลไม่กี่หมื่นล้าน หรือถ้าโชคดีจริง ๆ อาจจะกลายเป็นงบประมาณสมดุลก็ได้

ผู้ดำเนินรายการ อันนี้อาจจะเกี่ยวกับเรื่องส้มหล่นได้เงินมาอีก 40,000 กว่าล้าน

นายกรัฐมนตรี นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งนะครับ แต่ว่าเรื่องใหญ่ก็คือว่าฐานะในเรื่องของหนี้มันดีกว่าที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้นะครับในช่วงที่เกิดวิกฤต และก็เสร็จสรรพขณะนี้ก็บอกว่าหนี้สาธารณะเพิ่มจากประมาณ 37 เปอร์เซ็นต์มาเป็น 42 -43 -44 ไม่น่าจะเกินนี้มากนัก ซึ่งใครที่อ่านข่าวเศรษฐกิจระหว่างประเทศนี้จะทราบ ประเทศในภูมิภาคขณะนี้ปวดหัวกันหมด ของเขาขึ้นไปเกิน 100 ก็มี 80 - 70 -60 และไม่มีประเทศไหนปีที่ผ่านมาไม่เพิ่มขึ้นสักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ละครับ เพราะว่าทุกคนจำเป็น

ผู้ดำเนินรายการ ก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลใช้ตังค์

นายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะย้ำก็คือว่ารัฐบาลได้ดูอยู่แล้ว ไม่ต้องกังวลเลยว่าหนี้ตรงนี้กำลังจะทำให้ประเทศล้มละลาย หรือลูกหลานเราเกิดขึ้นมาแล้วไม่มี โอ้โหต้องมาปวดหัว ไม่มีปัญหาในการที่จะมาใช้หนี้ ไม่มีกรณีอย่างนั้น มันเป็นเรื่องการบริหารปกติของรัฐบาลครับ

ผู้ดำเนินรายการ ถ้าหนี้สาธารณะหรือหนี้ของรัฐบาลไม่เป็นปัญหานี้ ขณะนี้ที่มาโพกัสกันหรือมาให้ความสนใจกันนี้ ผมเข้าใจว่าคงจะเป็นหนี้ของประชาชน

นายกรัฐมนตรี ก่อนไปถึงตรงนั้นอีกนิดเดียวก็คือว่าอย่างที่บอกว่าเงินที่จะเอามาใช้หนี้ในที่สุดก็คือภาษี สิ่งที่ยืนยันว่าไม่ต้องกังวลก็คือ ขณะนี้รัฐบาลไม่มีความคิดว่าจะต้องเพิ่มภาษีเพราะมีปัญหาเรื่องการขาดดุล

ผู้ดำเนินรายการ เคยเก็บเท่าไรก็เก็บเท่านั้น

นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ คือเก็บเท่าไรนี้อัตรานะครับ แต่ว่าการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นเพราะยังมีคนจำนวนเยอะซึ่งไม่ได้เสียและควรจะเสียนี้นะครับ นั่นก็ส่วนหนึ่งที่จะต้องทำ กับเรื่องของแม้กระทั่งภาษีที่เราจะปรับโครงสร้าง เช่น ภาษีที่ดินทรัพย์สินนี้ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ว่าอยากจะได้เงินเข้ามาเพิ่ม เป้าหมายอยู่ที่ว่าลดความเหลื่อมล้ำ อยู่ที่เรื่องของการปล่อยให้ทางท้องถิ่นเขามีรายได้ของตัวเองมากขึ้น มีภาษีอยู่สองตัวเท่านั้นที่ผมพูดมาตลอดว่าผมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือเหล้ากับบุหรี่ อันนี้ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าเราไม่สนับสนุนในเรื่องของเหล้ากับบุหรี่

ผู้ดำเนินรายการ แต่ที่ท่านนายกฯ พูดถึงก่อนจะไปหนี้นอกระบบ  หนี้ประชาชน ท่านนายกฯ พูดอย่างนี้ก็ดีแล้วนะครับ คือขณะนี้รัฐบาลท่านนายกฯ เข้ามานี้มันมีหลาย ๆ อันซึ่งผมคิดว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายประจำ อันเกิดจากการให้สวัสดิการคนมีรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น 500 บาท เบี้ยยังชีพ หรือโครงการเรียนฟรี พวกนี้พอเข้าเป็นงบประมาณแล้วมันเลิกไม่ได้ ส่วนใหญ่มันจะเลิกไม่ได้

นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่จะเลิกไม่ได้

ผู้ดำเนินรายการ รัฐบาลไหนมาถ้าเกิดอีกหน่อยเลิกจ่ายเงิน 500 บาทให้กับคนผู้สูงอายุ ผมคิดว่าเสร็จแน่นอนนะครับ เพราะฉะนั้นพวกนี้มันเป็นรายจ่ายที่อยู่ในนั้น ฝังอยู่ แล้วมันก็จะเพิ่มพูน ๆ ถ้าต่อไปเพิ่มจาก 500 เป็น 600 / 800 จำนวนคนเพิ่มขึ้นอย่างนี้ แบบนี้ในระยะยาวถ้ารัฐบาลอื่นมาทำอย่างอื่นอีก ไปแจกอย่างอื่นอีกหรือไปเพิ่มอย่างอื่นอีกนี้ พวกนี้มันจะทำให้ภาระที่เป็นงบประจำนี้มันมากขึ้น ๆ ๆ ถ้ารายได้มันไม่สัมพันธ์กันอย่างนี้มันก็จะเป็นปัญหาได้

นายกรัฐมนตรี เราดูล่วงหน้าครับ เราดูล่วงหน้า อย่างสิ่งที่ผมพูดถึงว่าเกี่ยวข้องกับสวัสดิการทั้งหมดนี้ เราก็ตั้งใจว่าพอถึงปี 2559 ทุกอย่างเข้าระบบ คำว่าเข้าระบบนี้ พูดฟังเหมือนน่ากลัวว่าเอามาเข้าระบบทำไม จริง ๆ ยังไงก็มันมาจากตรงนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เดิมค่อนข้างจะเป็นนโยบายประเภทที่ว่าเฉพาะกิจบ้างอะไรบ้างนะครับ และก็มีความไม่แน่นอน และก็สุดท้ายนี้ผมว่ามันไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดหลักประกันความมั่นคงนะครับ ทีนี้เราก็เอาให้ชัดนะครับว่าต่อไปนี้ ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือว่าโครงการเรียนฟรีมันเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องให้ โดยส่วนตัวนี้ผมมองว่ารูปแบบของโครงสร้างเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายทางสังคมยังไงก็ต้องเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้ามเราจะมองว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ระยะหลังเราจะเห็นว่าภาครัฐจะทำน้อยลง เพราะเอกชนสามารถที่จะเข้ามาทำได้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องปรับเหมือนกันว่า พูดง่าย ๆ คนที่รับภาระกับการลงทุนทางด้านโครงสร้างทางเศรษฐกิจอาจจะไม่ใช่ผู้เสียภาษีทั้งหมด อาจจะต้องแบ่งกันบ้างกับคนที่ใช้บริการ คนที่ได้ประโยชน์โดยตรง ใช่ไหมครับ เหมือนกับว่า สมมติเราเอาเงินไปสร้างทางด่วน คนเขาก็ถามอยู่เสมอ หรือแม้กระทั่งรถไฟฟ้านี้ อ้าวแล้วถ้าเกิดผมไม่ได้ใช้ทำไมผมต้องเสียภาษีด้วย เราก็ต้องหาความพอดีตรงนี้ ซึ่งผมคิดว่าในอนาคตนี้คนที่ใช้บริการคงต้องรับในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ภาษีอากรน้อยลง แล้วเอาภาษีนี้มาทำงานทางด้านสังคมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามนี้ผมคิดว่าเรื่องของการที่บอกว่ามันจะบานปลายหรือเปล่า แนวทางรัฐบาลนี้ก็ถือว่าเราจะใช้ระบบที่เอาเรื่องอื่นเข้ามาเสริมได้ อย่างผู้สูงอายุ ก็คือคนที่พูดง่าย ๆ เกษียณอายุแล้ว บอกว่าอยากจะมีบำนาญ แต่ตอนนี้ได้เบี้ยยังชีพ 500 บาท เราก็ไม่ได้กระโดดไปเพิ่มเป็น 800 / 1,000 บาท ความจริงตอนนี้ถ้าเริ่มเจออสม. เริ่มเจอผู้สูงอายุ เขาบอกแหมเมื่อไรจะขึ้น แต่เราก็จะพยายามบอกว่า

ผู้ดำเนินรายการ บางคนเป็นทั้งอสม.ด้วยทั้งสูงอายุด้วย

นายกรัฐมนตรี ใช่ ๆ คือเราจะดูตัวเลขของจำนวนคนครับ และเรารู้ล่วงหน้าด้วยพอสมควรว่าผู้สูงอายุจะต้องเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร ๆ นี้ เราก็จะต้องคำนวณอยู่ตลอดเวลาให้มันพอดีกับเรื่องสถานะทางการคลัง กับสองก็คือว่า จะเห็นว่ารัฐบาลก็เริ่มผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติ เมื่อกี้ก็พูดกองทุนสวัสดิการชาวนา เพื่อส่งสัญญาณว่าอะไร ว่าในที่สุดแล้วไม่ใช่ว่าอายุ 60 แล้วคิดว่า

ผู้ดำเนินรายการ รอรัฐบาลจ่ายเงินอย่างเดียวไม่ได้

นายกรัฐมนตรี คุณต้องออมด้วย

ผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนยังไม่ 60

นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ 18 ปีอะไรนี้ต้องเริ่มออมเลย แล้วออมแล้วรัฐบาลช่วยสมทบเงินให้

ผู้ดำเนินรายการ เป็นแบบ Counter Fund คนออมก้อนหนึ่ง รัฐบาลจ่ายเงินให้อีกก้อนหนึ่ง อายุ 60 ก็รับเงิน

นายกรัฐมนตรี เพราะเวลานี้คนที่เป็นข้าราชการเขาก็มี กบข. คนที่อยู่ในประกันสังคม เขาก็มีประกันสังคม นายจ้างจ่าย ลูกจ้างจ่าย เราจ่าย รัฐบาลจ่าย ทำไมเราไม่ให้ชาวนา ทำไมเราไม่ให้คนประกอบอาชีพอิสระ นี่ก็คือแนวคิดรัฐบาล ต่อไปนี้ทุกคนมีอย่างนี้หมด พอทุกคนมีอย่างนี้หมด แรงกดดันต่อไปในอนาคตเรื่องเบี้ยยังชีพ ก็จะเบาลงครับ

ผู้ดำเนินรายการ อันนี้จะได้เห็นในรัฐบาลชุดนี้ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี กองทุนเงินออมแห่งชาติขณะนี้

ผู้ดำเนินรายการ อยู่ที่กฤษฎีกา

นายกรัฐมนตรี เสร็จแล้วครับ เสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นก็เสนอเข้าสภาฯ ในสมัยประชุมนี้ ส่วนจะได้เห็นไหมอยู่ที่สภาฯ ว่าจะออกมาให้ผมก่อนหรือเปล่านะครับ ส่วนกองทุนสวัสดิการชาวนาก็ตามหลังไป ยังช้าอยู่เพราะว่าอยู่ในขั้นของการยกร่าง

ผู้ดำเนินรายการ ที่จริงคุยเรื่องหนี้มันก็มีหลายมิติ อย่างหนี้สาธารณะ สังเขปอย่างนี้ กลับมาทางหนี้ ผมจะข้ามหนี้ภาคเอกชนไปเลยเพราะคิดว่าหนี้ภาคธุรกิจ ภาคธุรกิจเขากู้สถาบันการเงิน เขาอาจจะมีปัญหาหลักประกันกู้ไม่ได้อะไรก็สุดแท้แต่

นายกรัฐมนตรี แต่ความจริงก็มันแยกกันเสียทีเดียวก็ไม่ได้นะครับ เพราะเวลาเราพูดหนี้ หนี้ครัวเรือนหรือหนี้นอกระบบ เราจะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว หลายคนก็คือหนี้ ธุรกิจน่ะแหละ เพียงแต่เขาเป็นเอสเอ็มอี เล็กมาก ๆ เท่านั้นเอง

ผู้ดำเนินรายการ ก็เลยไปกู้หนี้ยืมสินตั้งวงแชร์ ทีนี้ถ้าเป็นของเอกชน ผมคิดว่าประชาชนขณะนี้มีปัญหาเรื่อง ถ้าพูดถึงหนี้นอกระบบ คือไม่ได้กู้กับสถาบันการเงิน ผมเข้าใจว่ารัฐบาลนี้พยายามทำอะไรในช่วงตั้งแต่ปีที่แล้ว มีการให้ไปลงทะเบียน มีคนมาลงทะเบียน 1,200,000 ราย เสร็จแล้วไปกรองไปคัด ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พูดคำว่า Kick off เริ่มจัดระบบว่าถ้าเกิดคนชำระหนี้ ให้กู้ไป 400,000 กว่าคนเป็นเงินประมาณ 40,000 กว่าล้าน แล้วเริ่มชำระหนี้ รัฐบาลก็พยายามจะจัดระบบ มีที่เรียกว่า ลดหนี้ มีวินัย ใช้การเงินอะไรประมาณอย่างนี้ นี่เป็นแคมเปญที่ท่านนายกฯ ออกไปเมื่อวันจันทร์ อะไรครับนี่ คำถามคืออะไรครับนี่

นายกรัฐมนตรี กระโดดไปถึงตรงนั้นเลยหรือ ผมนึกว่าจะคุยตั้งแต่ว่าแก้ไปกี่คน

ผู้ดำเนินรายการ ได้ ๆ แล้วผมจะตัดกลับมาอีกที

นายกรัฐมนตรี ได้ครับ เอาอย่างนี้ดีกว่าว่า พอเราเริ่มโอนหนี้ของคนซึ่งเป็นหนี้นอกระบบ ให้ธนาคารแล้ว คือหมายความว่าตอนนี้ปลดปล่อยเขาออกจากเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งมาทวงเงินกันทุกวัน ๆ ดอกเบี้ยมหาโหดอะไรนี้นะครับ เข้ามาสู่ระบบแล้ว อาจจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคาร ธ.ก.ส. หรืออะไรก็ตามนี้นะครับ เราก็จะออกบัตรอันนี้ให้นะครับ ถามว่าบัตรอันนี้ให้เพื่ออะไร คำตอบคือเราย้ำมาตลอดว่า การแก้หนี้นอกระบบนี้ไม่ใช่โอนเงินแล้วก็จบ

ผู้ดำเนินรายการ ไม่ใช่ใช้หนี้แทนด้วย

นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ใช้หนี้แทนด้วยนะครับ แล้วโอนเข้ามามันอาจจะไม่จบ ไม่จบเพราะอะไร เพราะว่าถ้าเขาเป็นลูกหนี้ไม่ดี ก็กลายเป็นหนี้เสียอีก วันข้างหน้าเดี๋ยวก็ต้องมาเรียกร้องอีกว่าทำอย่างไร ปลดหนี้ พักหนี้ แฮร์คัทอะไรต่าง ๆ ใช่ไหมครับ กับสองนี้ก็คือว่า พอเขาโอนเข้ามาแล้วคงไม่ได้หมายความว่าเขาอาจจะไม่มีความต้องการในการที่จะได้วงเงินเพิ่ม เราจะส่งสัญญาณอย่างไร เราก็คิดกันว่าถ้าอย่างนั้นเมื่อโอนเข้ามาแล้วให้เขาเป็นลูกหนี้ที่ดี ถึงใช้คำว่า นายหรือนางสาวนะ คนไทย วินัยดี วินัยดีคือะไร หมายความว่าพอโอนหนี้เข้ามาแล้วนี้คุณส่งเงิน ดอกเบี้ยทุกงวด ทุกเดือนอะไรนี้นะครับได้ครบตามที่ตกลงกันไว้ พอถ้าครบตรงนี้ บัตรนี้ คือใครเข้าโอนปั๊บ เข้ามาสู่ระบบปั๊บได้บัตรนี้ แล้วก็มีบาร์โค้ด พอชำระหนี้เสร็จปั๊บครบทั้งปี เราก็บอกเลยว่าธนาคารจะมีวงเงินให้กู้เพิ่ม ครึ่งหนึ่งของที่เขาจ่ายเข้าไป อันนี้เพื่ออะไร เพื่อส่งเสริมว่าเมื่อคุณเข้ามาแล้วนี้ถ้าคุณมีวินัย วินัยดีอย่างที่ว่านี้ก็จะได้รับการลดหนี้ มีวงเงินอย่างที่ว่า แล้วตรงนี้ก็จะมีเรื่องสิทธิ เรื่องประกันชีวิต เรื่องอะไรต่าง ๆ อีกนะครับ เพื่อที่จะบอกอะไรครับ เพื่อที่จะบอกว่าการที่เราจะแก้ปัญหาหนี้สินให้มันยั่งยืนนี้ สุดท้ายยังต้องกลับมาในเรื่องของวินัย และเรามีแต่ คือเรามักจะเห็นแต่บทลงโทษใช่ไหม มีค่าปรับฟ้องร้องอะไรต่าง ๆ แต่ขณะนี้เรากำลังจะจูงใจว่า ถ้าคุณมีวินัย มันมีสิ่งตอบแทน

ผู้ดำเนินรายการ ผมถามอย่างนี้ดีกว่าว่า วิธีการแก้หนี้ ผมจำสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คือพักหนี้ 3 ปี รัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยส่วนต่างให้กับเจ้าหนี้ ของรัฐบาลท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวลามองหนี้ประชาชน ซึ่งผมคิดว่าเป็นกว้าง ๆ นี่นะครับ ซึ่งที่มันมีซอยแยกย่อยเยอะนี้ บางคนกู้ไม่ได้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง บางคนกู้มาแล้วใช้ไม่ได้ก็เป็นปัญหาหนึ่ง บางคนกู้ในระบบไม่ได้ก็ต้องไปกู้นอกระบบ ก็เป็นปัญหาหนึ่ง อันนี้เวลาเราเข้าไปรับกับปัญหาเรื่องหนี้ของภาคครัวเรือนแบบนี้ อีรุงตุงนังสังขยาแบบนี้ มันต่างจากที่สมัยรัฐบาลเดิมเขาทำอย่างไร

นายกรัฐมนตรี คือรัฐบาลเดิมมีพักหนี้ด้วยนะครับ แล้วก็เคยมีขึ้นทะเบียนแบบนี้

ผู้ดำเนินรายการ ขึ้นทะเบียนคนจน เขาใช้คำว่าขึ้นทะเบียนคนจน

นายกรัฐมนตรี แต่เขาจะแยกว่าคนจนมีปัญหาเรื่องที่ดิน ปัญหาเรื่องอะไร ขึ้นไปแล้วตอนนั้น 1.7 ล้าน แล้วก็แก้ไปได้ประมาณ 80,000 คน แต่ว่าเรื่องพักหนี้ก็หมายความว่า 3 ปีนั้นรัฐบาลก็ช่วย แต่ว่าพอครบ 3 ปีก็กลับไปเป็นสาธารณะเดิม ทีนี้ที่เราแก้นี้ขณะนี้คือหนี้นอกระบบนี้ คือพวกที่ไปกู้เงินจากในชุมชน จากใครต่อใคร แล้วดอกเบี้ยโหดมาก ๆ นะครับ แล้วก็ทวงกัน แล้วก็มีปัญหาอื่น ๆ แทรกซ้อนเข้ามา เราก็เริ่มต้นจากการให้มาขึ้นทะเบียนก่อน ก็ขึ้นมา 1.2 ล้าน เราก็คิด จริง ๆ ตอนนั้นเราคิดว่าแก้ได้สัก 200,000 - 300,000 คนก็ถือว่าเยอะแล้วนะครับ แต่หลักคิดของเราคืออะไร ไม่ใช่รัฐบาลไปจ่ายหนี้ให้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ไม่เป็นไรผมรับหนี้มา

ผู้ดำเนินรายการ รัฐล้างหนี้ให้ ไม่ใช่

นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ เราเพียงแต่บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะมานั่งจ่ายดอกเบี้ยกัน 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน และวันจันทร์ที่ผมไปงานเขานี้ เจอคนที่จ่าย 1 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน นะครับ กู้มา 200,000 จ่ายวันละ 2,000 มันเป็นไปไม่ได้หรอก เราก็บอกว่าอย่างนี้มันไม่ไหว แล้วสุดท้ายนี้ก็ครอบครัวล่มสลาย ค่าตัวตาย หรือว่าทวงหนี้กันแล้วก็ต้องไปฆ่าแกงกัน

ผู้ดำเนินรายการ ลงไม้ลงมือกัน

นายกรัฐมนตรี ใช่ เราก็บอกว่าว่าไม่เอาแล้ว อยู่กันแบบนี้ สิ่งแรกที่เราทำก็คือว่า ให้ฝ่ายปกครอง มหาดไทย และตำรวจเขาช่วยด้วย เอาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ มาประนีประนอมกัน คุณอย่าอยู่อย่างนี้เลย เจ้าหนี้คุณก็ได้ไปพอสมควรแล้ว

ผู้ดำเนินรายการ จะผ่อนผันผ่อนเกณฑ์อะไรก็ทำ

นายกรัฐมนตรี หรือประนอมหนี้กันได้ไหม ขั้นตอนนี้จาก 1.2 ล้าน ก็ได้ประมาณสัก คือก่อนจะถึงตรงนี้ก็มาตกลงกันประมาณ 700,000 ราย แล้วก็ตกลงกันได้ 600,000 อีก 500,000 ที่หายไปนี้ผมก็พยายามให้เขาไปไล่ดูเพราะอะไร มีอย่างที่คุณวีระพูดนะครับ ส่วนหนึ่งบอกว่าเข้าใจว่ารัฐบาลจะจ่ายให้อะไรอย่างนี้

ผู้ดำเนินรายการ จะล้างหนี้ให้

นายกรัฐมนตรี จะล้างหนี้ให้ รัฐบาลไม่ล้างให้ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการอะไรอย่างนี้มี แต่ว่าสุดท้ายพอ 600,000 ตกลงกันได้ เราก็บอกว่าหนี้อันนี้ให้ธนาคารเขาไปเอามาจากเจ้าหนี้นั่นแหละ แล้วก็จะได้เข้ามาสู่ระบบที่มันพอไหวหน่อย อัตราดอกเบี้ยที่มันสมเหตุสมผล

ผู้ดำเนินรายการ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือว่าจะเป็น 0.75 สุดแท้แต่ว่า คือมันลดลงไปเยอะ

นายกรัฐมนตรี ลดลงไปเยอะนะครับ อย่างรายที่ผมพูดเมื่อกี้ 200,000 เคยจ่ายวันละ 2,000 ตอนนี้จ่ายเดือนละ 3,800 เท่านั้น อย่างนี้เขาก็จะลืมตาอ้าปากได้นะครับ ก็เอาเข้ามา ทีนี้ตอนเอาเข้ามามันก็ต้องมีหลักเกณฑ์บ้างนะครับ เราจะไปบังคับธนาคารบอกว่าคุณต้องรับมามันไม่ได้ เพราะเขาก็ต้องดูฐานะ

ผู้ดำเนินรายการ เขาเป็นคนปล่อยกู้ ถ้าเกิดเขาตึงเกินไป เสียหายเขาก็แย่อีก

นายกรัฐมนตรี ครับ หรือว่าสุดท้ายถึงเขาเสียหายเขาก็คงวิ่งมาขอรัฐละครับ ถ้ารัฐไปทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเขาก็จะวางหลักเกณฑ์เรื่องว่า มีคนมาค้ำประกันมาอะไร ทีนี้บางทีก็เข้าใจผิด หรืออาจจะไม่ผิดแต่ไม่อยากให้กู้หรืออย่างไรไม่ทราบ ทั่วประเทศที่ร้องผมมามากที่สุดตอนนั้นก็บอกว่า ต้องไปหาข้าราชการมาค้ำ ความจริงไม่ใช่ข้าราชการ เราก็กำหนดหลักเกณฑ์ว่าใครก็ได้ แต่ว่ามีรายได้ รู้สึกว่าจะ 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลหนี้ ก็ทำกันมา แล้วก็ช่วงหนึ่งก็ปรากฏว่ามีหลายคนบอกหาคนค้ำประกันไม่ได้ เราก็วิ่งไปเอา บสย. มาช่วยค้ำประกันให้ ตอนนี้ก็เลยทำไปได้เกิน 400,000 รายแล้ว เข้ามาสู่แล้วก็จะมีบัตรอย่างนี้ครับ 400,000 ราย แล้วก็คิดว่าน่าจะเดินต่อไปได้อีกประมาณสักเกือบ 100,000 เหมือนกัน

ผู้ดำเนินรายการ ที่ตกค้างหรืออาจจะมี

นายกรัฐมนตรี ที่ยังอยู่ในกระบวนการ

ผู้ดำเนินรายการ ถ้าเกิดอย่างนี้พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเริ่มสตาร์ทจาก 1.2 ล้าน ตัดคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรออกไปเสียส่วนหนึ่ง รัฐบาลสามารถช่วยคนที่เป็นหนี้นอกระบบนี้ 500,000 คน แล้วก็จะเกี่ยวข้องกับเงินประมาณ 40,000 - 50,000 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรี แล้วตอนนี้ก็คิดว่าคงจะเปิดรอบสองในอนาคตอาจจะไม่ไกลเกินไป ให้มาขึ้นทะเบียนสำหรับคนอื่น ๆ เพราะมีหลายคนบอกรอบแรกไม่ได้ขึ้น ไม่เชื่อว่าจะทำได้ อะไรอย่างนี้นะครับ

ผู้ดำเนินรายการ ทั้งหมดนี้รัฐบาลไม่ได้ใช้ตังค์จากงบประมาณแม้แต่บาทเดียว

นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ อันนี้เป็นการโอนเข้ามา ทีนี้สิ่งที่ผมหวังมากไปกว่านั้นขณะนี้นะครับ อาจจะเล็งผลไปไกลอีกก็คือว่า ธนาคารที่เข้ามาในโครงการนี้ครับ โดยเฉพาะถ้าตัวนี้ไปได้ดีนะครับ คือหมายความว่าเขาได้ลูกค้าดี ๆ เข้ามา ผมว่าเขาจะเริ่มคิดเรื่องที่เราเรียกว่า Micro Finance กันมากขึ้นนะครับ ความหมายก็คือว่า คนมองว่าลูกหนี้นอกระบบ คนไม่มีสตางค์คนไม่มีอะไร แต่คุณวีระมานั่งคิดดูนะครับ ถ้าเราต้องจ่ายเงินวันละ 2,000 อย่างที่ผมว่า เรามีปัญหาไหมครับบางที ไม่มีหรอก แสดงว่าคนเหล่านี้เขามีศักยภาพนะ เขามีศักยภาพ

ผู้ดำเนินรายการ ที่จะหาตังค์

นายกรัฐมนตรี ใช่ เพียงแต่ว่าเขาขอให้เขามีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่ง เพียงแต่ว่ามันเป็นระบบซึ่งอาจจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ได้รู้จักคนที่จะมาค้ำประกันอะไรต่าง ๆ ต้องไปช่วยคนเหล่านี้ ทีนี้กลุ่มที่เหลือที่ยังมีปัญหา แก้ยากสุดคือไม่มีรายได้ อย่างนี้ยากแล้ว พอไม่มีรายได้ใครเขาจะปล่อยให้กู้ เราก็เลยบอกว่าสำหรับกลุ่มนี้ให้กระทรวงแรงงานเข้ามาอีกทางหนึ่ง สร้างอาชีพ

ผู้ดำเนินรายการ สร้างอาชีพ ให้เกิดรายได้อะไรก็ว่ากันไป

นายกรัฐมนตรี ทีนี้มาถึง Micro Finance ก็คือว่า พอคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นลูกหนี้ของธนาคาร เราก็หวังว่าธนาคารจะเริ่มคิดระบบที่ปล่อยกู้ ที่มันสอดคล้องกับความเป็นจริงของคนเหล่านี้ แต่คนเหล่านี้ถ้าไปใช้แบบระบบปกติไม่มีทางผ่าน ใช่ไหมครับ บังเอิญเรามีนโยบายนี้ และก็มีการมาประนีประนอมหนี้อะไรต่าง ๆ และก็พูดง่าย ๆ คือตามติด และยิ่งตอนหลังมีสายด่วน 1689 คนชอบโทรมาฟ้อง ว่านี่ไปติดต่อธนาคารอะไรอย่างนี้ จี้เข้าไป มันก็ช่วยกระตุ้นอะไรหลายอย่าง ตอนนี้ผมเข้าใจว่าการคิดเรื่องของระบบสินเชื่อสำหรับรายย่อยจริง ๆ Micro Finance นี้ไปได้ดี ธ.ก.ส. ก็ไปทำที่ศรีสะเกษ เป็นธนาคารชุมชน ธนาคารศรีฐานอะไรต่าง ๆ นี้ เราก็หวังว่าตัวนี้จะเป็นการเติบโตขึ้นมา ทำให้คนเข้าถึงแหล่งทุน ก็ไปนึกถึงว่าตอนที่เขาไปสำรวจความคิดเห็นในโครงการปฏิรูปประเทศนี้นะครับ ว่าปัญหาความยากจนแน่นอนมาอันดับ 1 เสมอนี้ อะไรสาเหตุความยากจน มากสุดก็บอกว่าเข้าไม่ถึงแหล่งทุน คือเขามีความเชื่อว่าจริง ๆ ขอให้เขาได้มีการเข้าถึงแหล่งทุนที่มันสมเหตุสมผล

ผู้ดำเนินรายการ ถ้าได้กู้เสียหน่อยมันก็จะสามารถ

นายกรัฐมนตรี ในเงื่อนไขที่มันเป็นไปได้ มันก็จะ
 

ผู้ดำเนินรายการ ผมฟังท่านนายกฯ พูดเรื่องหนี้คล้าย ๆ กับว่าพอเขาเห็นรายละเอียดเยอะ ถามเป็นเรื่องส่วนตัวนิด ตัวท่านนายกฯ มีหนี้ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี  ผมนี่มนุษย์เงินเดือน และครอบครัวผมก็มนุษย์เงินเดือน มันก็มีความง่ายอย่างหนึ่ง ก็คือว่ามันมีความแน่นอนของมันอยู่ว่ารายได้เราเท่าไหร่ มันสำคัญที่สุดคือว่าเมื่อเรารู้ว่ารายได้เราเท่าไหร่ ต้องอย่าให้รายจ่ายเรามันเกินรายได้ ก็จะไม่มีหนี้ และหนี้ที่มีก็จะมีเฉพาะเรื่องผ่อนรถ

ผู้ดำเนินรายการ ผมถามต่ออีกนิดหนึ่ง เพราะท่านนายกฯ พูดถึงเรื่องรายได้ คือแต่ละคนก็มีภาระครอบครัว เงินเดือนท่านนายกฯ บวกเงินเดือนภรรยาท่าน ซึ่งรับราชการทั้งคู่  และท่านนายกฯ มีลูกต้องเลี้ยงดู คุณพ่อคุณแม่ต้องเลี้ยงดู  ผมถามจริง ๆ ตำแหน่งนายกฯ เงินเดือนนายกฯ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนพอเลี้ยงครอบครัวไหมครับ

นายกรัฐมนตรี  ถ้าบอกว่าพอ จะบอกว่าพอ ไม่พอ ก็คงไม่ใช่นะครับ  คือผมจริง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังพอมีฐานะมีรายได้อยู่  ครอบครัวก็มีฐานะอยู่  คือถ้าพูดตรง ๆ มาทำงานการเมืองและหวังว่าจะรวยขึ้นอย่าหวังเลย และก็ไม่ควร ถ้าคิดว่าเข้ามาทำงานการเมืองแล้วรวยขึ้น แต่ว่าเงินเดือนนายกฯ แสนกว่า ๆ พอหักภาษีไป และผมอยู่พรรคซึ่งหักผมอีกเดือนละ 20,000 อีก พูดตรง ๆ ไม่น่าพอ จริง ๆ ถามว่าคุ้มกับการทำงาน  มันไม่น่าจะคุ้ม แต่ว่าเราไม่ได้มาทำเพื่อตรงนี้  เราก็คิดว่าเงินเดือนราชการ ซึ่งพูดไปเมื่อช่วงต้นรายการเหมือนกัน เราก็เห็นว่าต้องผลักดัน  แต่ว่าราชการโชคดีเรื่องของสวัสดิการของการรักษาพยาบาล อันนี้ใครอย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ความจริงแต่ละปีเราก็ใช้เงินเยอะมาก สวัสดิการราชการ และค่าใช้จ่ายของบุคคล โดยเฉพาะยามเจ็บป่วยในยามชราเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งสูงมากและมีผลกระทบ

ผู้ดำเนินรายการ ผมอยากจะข้ามไปอีกสักเรื่องหนึ่ง ปีนี้ท่านนายกรัฐมนตรีจะพูด แล้ววันจันทร์นี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ ซึ่งปีแรกของปี 2553 ท่านนายกฯ พูดว่าประมาณบวกลบ 10 เปอร์เซ็นต์ ครึ่งแรกปีนี้ 

นายกรัฐมนตรี  บวกไม่ลบครับ

ผู้ดำเนินรายการ ประมาณบวก 10 เปอร์เซ็นต์หรือ 8 เปอร์เซ็นต์ 9 เปอร์เซ็นต์ ก็สุดแล้วแต่ ทั้งปี 6-7 เปอร์เซ็นต์ มองแบบนี้เทียบกับคนอื่นในว ๆ นี้เราเป็นอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี  ดีครับ อาจจะมีสิงคโปร์กับไต้หวันที่อาจจะสูงกว่าเรา แต่ว่านอกนั้นต้องถือว่าเราอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก และเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งติดลบหนักหนาสาหัส จนกระทั่งมาตีตื้นเอาตอนปลายปี ก็ถือเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่หลายคนคาด แม้กระทั่งเทียบย้อนกลับไปปี 2540 ต้องถือว่าครั้งนี้เราฟื้นตัวได้เร็วกว่า และที่ผมคิดว่าหลายคนก็เข้าใจด้วยก็คือว่านอกจากวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้เราเจอวิกฤตการเมืองด้วย ก็ปรากฏว่าตัวผลกระทบตรงนั้นที่ชัดเจนที่สุด ก็จะอยู่ที่ภาวะการท่องเที่ยว แต่แม้กระทั่งภาวะการท่องเที่ยวขณะนี้จะฟื้นตัวขึ้นมาค่อนข้างเร็วกว่าคิด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสุวรรณภูมิ เราใช้เกณฑ์มาตรฐานว่า 30,000 คน ถือว่าปกติ ขณะนี้ได้กลับมาเกิน 30,000 แล้ว โรงแรมในกรุงเทพฯ จริง ๆ พื้นที่อย่างราชประสงค์ ตอนนี้ดีมาก แต่ว่าข้างนอกต่างจังหวัดยังเป็นปัญหาอยู่  ก็บางจังหวัดเขาก็คิดว่าเป็นเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ก็ยกเลิกให้แล้วนะครับ

ผู้ดำเนินรายการ ตอนนี้เหลือแค่ 7 จังหวัดแล้ว

นายกรัฐมนตรี เหลือแค่ 7 จังหวัด ส่วนใหญ่ก็กรุงเทพฯ ปริมณฑล และมีจังหวัดในอีสานอยู่ ซึ่งจะทยอยยกเลิกไป นอกเหนือจากการท่องเที่ยว การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม การส่งออก รายได้ภาคการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะฉะนั้นก็เป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างจะสมดุลด้วย

ผู้ดำเนินรายการ แต่ว่าเรื่องส่งออกที่โตเยอะ ๆ ช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวสูง พอถึงช่วงครึ่งหลังที่จะไหลเข้าไป มีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งอีกแล้ว ผู้ส่งออกบ่นหลายคน

นายกรัฐมนตรี ความจริงค่าเงินบาท ตอนที่เข้ามาก็ถกเถียงกันเยอะ เพราะตอนนั้นแนวโน้มว่าเงินบาทจะแข็งตัวขึ้นมาตลอด พอไปศึกษาดูค่าเงินบาทกระทบกับการส่งออกน้อยกว่ารายได้ของลูกค้าเรา พูดง่าย ๆ คือว่าถ้าเศรษฐกิจข้างนอกดี แม้ของ ๆ เราอาจจะแพงขึ้นผู้ดำเนินรายการ แต่เขาก็ซื้อ

นายกรัฐมนตรี เขาก็ซื้อ แต่ว่าถ้าเกิดข้างนอกไม่ดี คือเขาไม่ใช้จ่าย อันนี้ต่อให้ค่าเงินอ่อนอย่างไรก็ลำบาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมกลัวมากกว่าอาจจะเป็นผลกระทบจากเรื่องของยุโรป ถ้าตรงนั้นบายปลาย ผมคิดว่าจะกระทบชัดเจนกว่า แต่ก็เข้าใจและเห็นใจ เพราะว่าคนที่เป็นผู้ส่งออกรายได้ที่เข้ามาเป็นเงินเหรียญ และมาเปลี่ยนเป็นเงินบาทมันก็ลดลง เราทำได้ก็คือไม่ให้มันผันผวนจนเกินไป แต่ถามว่าของเราแข็งขึ้น  คู่แข่งเราโดยเฉพาะในแถบนี้ก็แข็งขึ้นเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันไม่มาก ก็จะมีคนพูดถึงเวียดนาม  เพราะเวียดนามค่าเงินลด แต่ค่าเงินลดของเวียดนาม เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อเขาสูงกว่าเรา  เราก็จะพยายามดูตรงนี้ว่ามีอะไรที่จะไม่ให้กระทบกระเทือนหรือผันผวนจนเกินไป  แต่ผมคิดว่าเราปฏิเสธไม่ได้หรอกครับ เราเกินดุลเยอะมาก ดุลบัญชีเดินสะพัด คือตราบใดก็ตามที่เราส่งออกได้มากกว่านำเข้า รวมบริการ รวมอะไรด้วยแล้ว และเงินมันเข้ามา ค่าเงินเราก็ต้องแข็งขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯ เป็นนายกฯ ไม่กี่คนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์โดยตรง เรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าสิ่งที่ผมเห็นท่านนายกฯ เกือบ ๆ 2 ปี ส่วนใหญ่เป็นทักษะ หรือใช้ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ ทางด้านการเมือง คือคนที่เป็นนายกฯ ที่เก่งเรื่องการเมือง ก็อยากจะมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากเลย คนที่เก่งเรื่องเศรษฐกิจกลับต้องมาแก้ปัญหาการเมือง มันเกิดอะไรกลับตาลปัตร

นายกรัฐมนตรี เราไปเลือกไม่ได้ละครับ ว่าเราจะต้องแก้ปัญหาอะไร เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ความจริงไม่ใช่หรอกครับ ผมก็ทำงานทางด้านเศรษฐกิจต่อเนื่อง และผมยืนยันว่าถ้ารัฐบาลเสียสมาธิกับเรื่องการเมือง และไม่แก้เศรษฐกิจ  ผมยืนยันไม่มีทางที่เศรษฐกิจจะฟื้นมาได้อย่างนี้ การวางแผนแต่ละอย่าง อย่างช่วงแรกก็เถียงกันเยอะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ถึงวันนี้ทุกคนบอกเช็ค 2,000 บาทอะไรต่าง ๆ ตรงนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมาก

ผู้ดำเนินรายการ  ที่ดึงอำนาจซื้อกลับมาเร็ว

นายกรัฐมนตรี  ถูกต้องครับ พลิกกลับมาเร็ว และอันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งหลายประเทศมาดูว่าเราใช้นโยบายซึ่งมุ่งไปที่ตรงนี้มากกว่าที่จะไปทำตามปกติ คือคิดสร้างถนนหนทางลงทุน ซึ่งความจริงใช้เวลานานมาก และการกระจายตัวตรงนั้นกว่าจะไปเกิดผลก็ค่อนข้างจะช้า อันนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามดูในทางเศรษฐศาสตร์มาตลอด ผมก็ประชุมไม่ครม.เศรษฐกิจ ก็ กรอ. เกือบทุกอาทิตย์ ก็ให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วย แต่ว่าธรรมดาครับ สื่อก็สนใจเรื่องการเมืองมากกว่า เศรษฐกิจอยู่หน้าใน ๆ และตัวเลขเยอะ

ผู้ดำเนินรายการ อีกอันคือเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในประเทศ ผมคิดว่าสถานการณ์การเมืองคลี่คลายไปตามลำดับ ขณะนี้ก็รอว่าจะยุบสภา จะเลือกตั้ง อะไรต่ออะไรก็ว่ากันไป แต่ข้างนอกผมเข้าใจว่าความที่เราติดหล่มในประเทศ เราไม่มีโอกาสไปเวทีต่าง ๆ หรือแม้แต่ประชุมบางอัน ท่านนายกฯ ก็ติดอยู่ในประเทศไปไม่ได้ ตรงนี้จะมีการเปลี่ยนภูมิทัศน์  Land Scape ออกไปข้างนอกกันบ้างไหมครับ 

นายกรัฐมนตรี  ที่จริงเราก็ไปพอสมควร  ผมก็ไปไล่ดูเหมือนกันว่าไม่ได้ไปน้อยนะครับในช่วงปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ก็จะมีช่วงเมษายน พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ว่าต้องไปแบบเร็ว ๆ ไปเช้าเย็นกลับเหมือนไปเที่ยวบางแสน ก็ไม่เป็นไรครับ ผมคิดว่าอันนี้ก็อยู่ในฐานะที่เราประคับประคองมาได้โดยตลอด เพราะเราจะเห็นว่าความสนใจในเรื่องการลงทุนก็เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จริง ๆ มาสะดุดก็จะเป็นเรื่องมาบตาพุด เรื่องอะไรต่าง ๆ ซึ่งพรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมครั้งสุดท้าย เรื่องของบัญชีกิจการอะไรต่าง ๆ หรือมีประกาศอะไรที่จะต้องออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาไป แต่ว่าการออกไป รัฐมนตรีก็ออกไป รัฐมนตรีคลังก็ไป รัฐมนตรีท่องเที่ยว รัฐมนตรีพาณิชย์ ก็ออกไปอย่างต่อเนื่อง ความจริงเฉพาะเรื่องการประชุมเยอะมากเดี๋ยวนี้  ปลายปีนี้ผมมีทั้งเอเปค อาเซ็ม อาเซียน ยูเอ็น ก็ถือว่าเยอะพอสมควร

ผู้ดำเนินรายการ  ช่วงครึ่งหลังไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ท่านนายกฯ คงจะอยู่ต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี และก็แม้กระทั่งการค้าชายแดน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) ก็เข้ามาเดินสายอะไรต่าง ๆ ทำงานอยู่พอสมควร และจริง ๆแล้วยกเว้นกรณีการปิดด่านที่แม่สอด ต้องบอกว่าอย่างกับกัมพูชา  คนมีความเป็นห่วงว่าความสัมพันธ์ตึงเครียดขึ้นมา มีประเด็นขึ้นมา การค้าชายแดนจะกระทบไหม ไม่ใช่นะครับ การค้าชายแดนไปได้ดีหมด ก็จะมีเรื่องของแม่สอด ซึ่งกำลังเร่งแก้ไขกันอยู่

ผู้ดำเนินรายการ ผมมีคำถามสุดท้าย อาจจะเป็นเรื่องทางด้านสถานการณ์การเมือง  คือขณะนี้ความไม่มั่นใจของคนส่วนหนึ่ง คือว่าชะตากรรมของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ตกลง Land Scape ปีหน้าจะเลือกตั้ง อะไรพวกนี้  ความไม่มั่นใจปัญหาทางการเมือง รวมทั้งเรื่องที่ความครุกรุ่นมันยังอยู่  ความขัดแย้งอาจจะมีอยู่ มันซ่อนอยู่  ภาพพวกนี้จะกลับเข้าที่เข้าทาง  ท่านนายกฯ ใกล้ข้อมูลมากที่สุด คือท่านนายกฯ ไปหาเสียงต่างจังหวัดได้ ไปแคมเปญ สมมติอย่างนี้นะครับ ภาพแบบนั้นจะกลับมาอีกนานไหม

นายกรัฐมนตรี คือผมแยก 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มีอยู่โดยปกติธรรมดา หรือโดยระบบของมัน  ผมว่าเราต้องยอมรับอันนี้ เราเป็นสังคมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจะไปบอกคาดคั้นว่ารัฐบาลต้องมั่นคงอยู่ 4 ปีอะไรต่าง ๆในระบบรัฐสภามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ยกตัวอย่างเล่น ๆ ตอนที่ผมเข้ามา เมื่อสักครู่คุณวีระก็แซวตอนต้นว่าไม่นึกว่าทริปนี้ก็ยังอยู่  ผมดูประเทศอย่างอังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น

ผู้ดำเนินรายการ  ก็ไปง่าย ๆ เหมือนกัน

นายกรัฐมนตรี  ไปกันง่าย ๆเลย มันเกิดขึ้นได้ เราอย่าไปมองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป และความเป็นจริงเราอาจจะชอบพรรคไหน ไม่ชอบพรรคไหน แต่ภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ทำให้จะต้องตกอกตกใจกัน ไม่ค่อยมีรัฐบาลไหนเข้ามาถึงและบอกว่าเอกชนห้ามทำธุรกิจหรือจะปิดประเทศ ไม่ค่อยมีหรอกครับ เพราะฉะนั้นในภาพรวมเราต้องยอมรับความเสี่ยงตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าจะยุบสภา หรือเกิดคดียุบพรรคมันออกมาอย่างไร ผมถือว่าเราก็ต้องว่าไปตามระบบของมัน ไม่ควรจะไปกังวลตรงนั้นมากจนเกินไป แน่นอนครับดีที่สุด ผมก็ยังยืนยันว่าอยากให้มีความต่อเนื่อง แต่เป็นมุมมองของผมก็ว่ากันไป แต่เราก็ต้องยอมรับกระบวนการ

ผู้ดำเนินรายการ สมมติว่ายุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่านนายกรัฐมนตรีจะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 ปี 5 ปี เหมือนพรรคอื่นที่เขายุบอย่างนั้นใช่ไหมครับ

นายกรัฐมนตรี  อยู่ที่ศาลครับ คือถ้าเป็นคดี มันมี 2 คดี

ผู้ดำเนินรายการ กรณี 29 ล้านกับคดี 258 ล้าน

นายกรัฐมนตรี  คดี 29 ล้านบังเอิญเป็นการขอให้ยุบตามกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งตรงนั้นรู้สึกว่าถ้ายุบไปแล้วจะถูกห้ามหรือไม่ กฎหมายจะยืดหยุ่นหน่อยว่าคล้าย ๆ ว่าให้เอาคนที่เกี่ยวข้องอะไรต่าง ๆ แต่ว่าคดีที่ 2 เป็นการยุบตามรัฐธรรมนูญ พูดง่าย ๆ ถ้าอย่างนั้นก็ไปแน่นอน เพราะอันนั้นก็ไปในฐานะรองหัวหน้าพรรคสมัยก่อน ถ้ายุบนะครับ ก็ว่ากันไปอย่างนั้น  ทีนี้ส่วนที่ 2 มันไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ อย่างที่คุณวีระพูดว่ามันรุนแรงขึ้นอีกหรือเปล่า ไปหาเสียงแล้วมันมีการผิดปกติ ตรงนี้มันอยู่ที่พวกเราทุกคนผู้ดำเนินรายการ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล

นายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล และผมก็พยายามอย่างเต็มที่ดึงเอาทุกภาคส่วนเข้ามา ผมก็ทราบดีว่ายังมีกลุ่มคนซึ่งอาจจะไม่ยอมรับ ยังหวาดระแวง  แต่ยืนยันว่าจริง ๆ แล้วเราต้องช่วยกัน ให้มันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เหตุผลก็คือถ้าเราคิดว่าเราไปใช้วิธีการแบบรุนแรง ข่มขู่ อะไรกัน มันไม่จบหรอกครับ  ฝ่ายหนึ่งทำได้อีกฝ่ายหนึ่งก็ทำได้ มันก็ไม่จบ และสุดท้ายอันนั้นก็ทำร้ายประชาธิปไตย  เพราะฉะนั้นถ้าเราสนับสนุนช่วยประชาธิปไตย ผมก็อยากจะกลับไปสู่ความปกติที่ว่า และผมได้บอกแล้วว่าถ้าเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองสงบเรียบร้อยดีทุกอย่าง จะเลือกตั้งกันใหม่   ผมก็ไม่ว่าอะไร

ผู้ดำเนินรายการ วันนี้ขอบพระคุณท่านนายกฯ มากครับ  ท่านผู้ชมครับเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์วันนี้ก็คงหมดเวลาด้วยเวลาเพียงเท่านี้นะครับ  แต่ว่าตอนท้ายของรายการจะมีสกู๊ป 3 ชิ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีตอบโทรศัพท์เข้ามาสอบถามในช่วง 6 วัน 63 ล้านความคิด ไปติดตามกัน แต่สำหรับวันนี้ผมและท่านนายกฯ ต้องลาคุณผู้ชมด้วยเวลาเท่านี้ครับ 

ที่มาข่าว:
นายกรัฐมนตรีย้ำเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่จะมีระบบสวัสดิการที่ครอบคลุมพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม (www.thaigov.go.th, 22/8/2010)
http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1779&contents=48042

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net