Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทวิพากษ์จากห้องส้วม ว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นในห้องน้ำตามปั๊ม โดยเสนอประเด็นถกเถียงสำคัญ 2 เรื่องคือ ทำไมความอัดอั้นตันใจทางความคิดเห็นจึงไปปรากฏอยู่ในส้วมและทำไมส้วมในปั๊มน้ำมันของเอกชนจึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ


*คำเตือน : บทความนี้เหม็นมาก [i]

ส้วมมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า...ห้องปลดทุกข์

ห้องน้ำสาธารณะเช่นในปั๊มน้ำมันเป็นส่วนผสมของสถานที่แบบ “ความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะ” เราสามารถประกอบกิจอันเป็นส่วนตัวได้ในชั่วขณะเวลาหนึ่ง แต่ทันใดที่เราสละกรรมสิทธิ์สถานะส่วนตัวจากไป ร่องรอยที่เหลือทิ้งไว้ก็จะเป็นของสาธารณะไปในทันใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งในทางรังเกียจสยดสยองหรือขบขัน และจากข่าวล่าสุด[ii]...ของเหลือเหล่านี้อาจทำให้ท่านติดคุกได้!

ประเด็นแรกคือ ประเทศไทยอาจเป็นที่เดียวหรือไม่ ที่ส้วมสาธารณะไปสังกัดอยู่กับสถานที่ของเอกชนเช่นปั๊มน้ำมันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนลองนึกว่าเมื่อเราปวดส้วมนอกสถานที่ในประเทศอื่น สถานที่ที่เรามองหามันได้คือ ร้านอาหาร fast food, ในพิพิธภัณฑ์, สวนสาธารณะ, ห้างสรรพสินค้า, สถานีรถไฟ-บัส....หรืออาคารสาธารณะ และส้วมสาธารณะที่รัฐจัดหาให้เมือง แต่ไม่ใช่ปั๊มน้ำมันทั่วไปแน่ๆ หากเราลองใช้สัญชาติญานแบบไทยๆนี้ก็จะต้องพบกับความผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะไม่ทันการ (Rest Area บนถนน high wayของอเมริกันที่ให้บริการทั้งปั๊มน้ำมัน, Fast food, ร้านขายของที่ระลึกและจิปาถะเพื่อการเดินทางต่อไป อาจเป็นต้นแบบของมัน แต่มันก็ให้บริการเฉพาะกับพฤติกรรมเดินทางในแบบวัฒนธรรมรถยนต์ของอเมริกัน)

ส้วมน่าจะเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันมาก่อนร้านกาแฟสดจัดรสเคลือบลำคอ(คอกาแฟ) ที่ตามมาภายหลังเพื่อยื้อผู้ใช้บริการให้อยู่กับแหล่งบริการค้าขายให้นานที่สุดเพื่อการบริโภคที่มากันแบบดาบหน้า การไม่มีบริการสาธารณะจากรัฐในเรื่องนี้ให้พอเพียงหรือพอทำใจเข้าใช้บริการได้จึงกลับเป็นประโยชน์ส่งเสริมการขายแก่ปั๊มน้ำมันชาวไทย

ประเด็นที่สองคือ ความอัดอั้นคับข้องใจของชาวไทย ไฉนเลยจึงไปพรั่งพรูอยู่ในห้องน้ำ  เหตุใดความอัดอั้นแบบฝรั่งที่ถูกพัฒนาต่อมาเป็นงานศิลปะข้างถนน หรือGraffiti Art จึงปรากฏตัวอย่างฉูดฉาดทะนงตนตามสองฝั่งถนนอย่างไม่เกรงสายตา และออกจะเป็นความประสงค์เสียด้วยซ้ำที่จะให้สะดุดแก่สายตาสาธารณะ แม้จะไม่ท้าทายขนาดไปเขียนบนผนังห้างดังย่านในเมือง (เว้นแต่ถ้าได้รับเชิญเมื่อถูกยกสถานะเป็นArtแล้ว) มันมักจะเลือกถิ่นสักหน่อย คือเป็นถนนท้องถิ่นย่านเสื่อมโทรมของเหล่าผู้เขียนนั่นเอง และผนังเหล่านั้นก็ดูจะไม่ได้รับการเหลียวแลมาก่อนหน้าการบรรเลงสีของเขาอยู่แล้ว... ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงGraffiti แบบไทย เพราะมันถูกนำเข้าและบริโภคด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนขอกล่าวถึงคำว่า”ขี้” ไม่เลือกคำว่า“อึ”ที่สุภาพกว่าเล็กน้อย เพราะ”ขี้”ให้ความเชื่อมโยงกับประเด็นคำถามที่กล่าวข้างต้นนี้ได้มากกว่า ...คำว่า ขี้เกียจ  ขี้เบื่อ ขี้เหงา ขี้เมา ขี้หึง นอกจากมันทำตัวเป็น “คำนำหน้า” (prefix )ของพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ค่อยดีแล้ว คำว่า”ขี้” คือการเน้นความหมายว่าเป็นคนทำอะไร(ที่ไม่ดี)ซ้ำๆจนเป็นนิสัย เราอาจอุปโลมได้ว่าเนื่องมาจากการเข้าส้วมไปขี้ เป็นกิจกรรมที่มนุษย์มีความจำเป็นต้องทำอยู่ให้เป็นนิสัยแม้สิ่งที่ผลิตออกมาจะน่ารังเกียจก็ตาม การเป็นคนขี้...อะไรซักอย่างก็คือเป็นคนแบบนั้นจนเป็นนิสัย

การเลือกกิจกรรมขี้(และฉี่)มาเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันจึงนับเป็นความฉลาดไม่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ที่อยู่บนรถนานๆต้องการแน่ๆ และต้องทำซ้ำจนเกิดการซื้อขายในสถานที่นี้จนกลายเป็นนิสัยที่ดี(ต่อเจ้าของบริการ) กิจการก็ย่อมรุ่งเรือง

กิจกรรมประกอบระหว่างการขี้ก็กล่าวได้ว่า คงทำกันจนเป็นนิสัยเช่นกัน เมื่อมาบวกรวมกับบรรยากาศส่วนตัว มันจึงมักเป็นกิจกรรมในที่ลับ ถ้าเป็นส้วมที่บ้านก็อาจเป็นหนังสือโป๊ แต่พอเป็นส้วมสาธารณะ มันจึงกลายเป็นเรื่องลับที่ประสงค์จะเปิดเผยแต่ไม่อาจบอกกันตรงๆได้นั่นเอง... มันจึงเป็นความอัดอั้นคนละแบบกับGraffiti Art  กิจกรรมประกอบเช่นความลับในที่แจ้งในส้วมสาธารณะที่ทำกันจนเป็นนิสัยเหล่านี้ เอาเข้าจริงไม่เคยมีใครถือสาหาความเอากับมัน ตลอดชีวิตของผู้เขียนได้รับรู้มามากมายจากผนังส้วมว่าใครเป็นพ่อของใครเต็มไปหมด มาจนถึงยุคสมัยที่ผู้คนอยากรู้เสียเหลือเกินว่าใครเป็นพ่อใครกันแน่จนต้องไปขุดคุ้ยให้เปลืองเวลาทางทีวี ทั้งๆที่เราชาวไทยก็รู้กันทางทีวีอยู่แล้วว่าใครเป็นพ่อของใคร

จะว่าไปแล้ววรรณกรรมในส้วมน่าจะเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่จริงใจที่สุด เพราะมันสดกว่ากลอนสด จะมีอะไรให้ผู้เขียนหมกมุ่นปรุงแต่งได้อีกเล่า ในเมื่อการเขียนยามปลดปล่อยนั้นสมาธิย่อมเพ่งไปที่แหล่งระบายทางกายภาพเป็นลำดับสำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่าความคิด ความเห็นน่าจะก่อตัวในช่วงสะสมพลังเบ่ง ไปจนถึงช่วงคลายตัวเพื่อเฮือกถัดไป การได้ระบายทั้งทางความคิดและทางกายภาพนี่คือความหมายในการมีอยู่ของห้องปลดทุกข์ ที่ไม่น่าจะมีช่องว่างให้วัตถุประสงค์ทางการเมืองแฝงเข้ามาในตอนไหน...ถ้าเพิ่งจะมี...พลังทางการเมืองแบบใดกันที่ถึงกับต้องหนีมาแสดงออกกันในส้วม?...สังคมไม่เหลือพื้นที่ปกติที่ปลอดภัยกันแล้วหรือ?  อะไรทำให้พื้นที่ในส้วมสาธารณะในปี 2553จึงดูเหมือนจะมี free speech มากกว่าพื้นที่แจ้ง?

เราคงไม่ควรถึงกับต้องมาเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ปลดทุกข์ แต่หากเรามองหาความหมายทางสังคมจากเรื่องที่ดูเหลวไหลเป็นขี้เหล่านี้ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการจับคนผิดเข้าตะรางข้อหาหมิ่นให้ได้ เช่น เหตุใดวลีที่ล่อแหลมไปในทางหมิ่นสถาบันเหล่านี้ จึงได้เป็นเนื้อหาใหม่ที่กระจายตัวเข้ามาถึงปริมณฑลส้วมสาธารณะกันเล่า? ถ้ามันไม่เคยมีมาก่อน เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในเวลานี้ที่ผู้คนมาระบายทุกข์ในเรื่องที่ไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน? แล้วต้องมากล่าวกันอย่างเป็นเรื่องลับที่ประสงค์จะเปิดเผย? หรือเคยมี? แต่สังคมในช่วงเวลานั้นไม่เคยถือสาหาความเอากับมัน ไม่ต่างกับการรับรู้ว่าช่างกลสถาบันไหนจะเป็นพ่อใคร คนระบายทุกข์ในที่ลับอาจจะป่วยใจ แต่คนที่จ้องจับคนป่วยใจเข้าคุกนั้นน่าจะมีอาการป่วยทางจิตมากกว่า

อาจกล่าวได้ว่ากฏหมายหมิ่นมีแนวโน้มจะถูกบังคับใช้โดยตำรวจพลเมืองอาสาเอากับส้วมในสถานบริการน้ำมันโดยเฉพาะ อันดูจะเป็นการเลือกปฏิบัติของกฏหมายที่เนื่องมาแต่พฤติกรรมขายส้วมสาธารณะและข้อจำกัดในการแสดงความเห็นแบบไทยๆนี้เอง ส้วมอาจไม่พึงเป็นจุดขายในการค้าของปั๊มน้ำมันอีกต่อไป หากการเข้าส้วมของผู้ใช้บริการ”ขี้หมิ่น”อาจทำให้ผู้ให้บริการเข้าคุกในลำดับถัดไป หรือผู้ใช้บริการเองก็อาจเกรงว่าวรรณกรรมในส้วมเช่น “กูxxx...พ่อของ yyy...” อาจไปเข้าข่ายหมิ่นสถาบันใดๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ส้วมสาธารณะจึงไม่อาจตอบสนองหน้าที่”ห้องปลดทุกข์” ได้สมประโยชน์ต่อไป เนื่องด้วยต่างก็จะมีอาการ”ขี้หดตดหาย”ไปตามๆกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net