Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวจำนวนมากคงอยากขึ้นมาสัมผัสทัศนียภาพและอากาศหนาวเย็นทางภาคเหนือ ผมเพิ่งกลับจากงานขึ้นบ้านใหม่ที่อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา บังเอิญได้นั่งโต๊ะร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นและข้าราชการผู้ใหญ่ระดับจังหวัด เรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นในวงสนทนาคือวันที่ 10 เดือนพฤศจิกายน 2553 จะมีการเปิดงานเมืองภูซางหุบเขาแห่งสายสัมพันธ์สองแผ่นดินที่ลานวัฒนธรรมบ้าน ฮวก

บ้านฮวกเคยเป็นข่าวฮือฮา เมื่ออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เรียกประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนชุมชนแถลงข่าวเตรียมความพร้อมเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว"บ้านฮวก" เป็น "ปาย 2 " โดยทางจัง หวัดมีแผนทุ่มงบประมาณเกือบร้อยล้านเพื่อการนี้

สำหรับแผนที่จะเนรมิต “ปาย 2” เป็นการพัฒนาเส้นทางคมนาคม 3 ระยะคือ ระยะแรกปรับปรุงถนนเดิม 7 ล้านบาท โดยมีกำหนดให้เสร็จภายในวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ระยะที่ 2 ปรับปรุงถนนสายเดิมนี้เช่นกัน 5.5 ล้านบาท และระยะที่ 3 ก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย 2 เส้นทาง 86 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 98.5 ล้านบาท

อันที่จริงคำว่า ปาย 2” เริ่มคุ้นเคยคำนี้มาแล้วระยะหนึ่ง สื่อมวลชนเรียกเชียงคาน จังหวัดเลย ด้วยคำนี้กันอยู่บ้าง นัยว่าจะเป็นการกระตุกให้นักท่องเที่ยวที่นิยมแนวธรรมชาติหลั่งไหลไปชมความงามที่แนวชายฝั่งแม่น้ำโขง มีจุดสนใจตรงการปั่นจักรยานเที่ยวชมบ้านโบราณ ชมวิวแม่น้ำโขงและฝั่งลาว ชมทะเลหมอกในตอนเช้ามืด จากนั้นร่วมกันตักบาตรตามถนนชายโขง เข้าพักแบบ Home Stay สัมผัสอัธยาศัยชาวบ้านที่บริการผู้มาเยือนอย่างไมตรีจิตถึงขั้นหุงหาอาหารพร้อมข้าวเหนียวให้ใส่บาตร

ว่ากันว่าเสน่ห์ชองเชียงคานอยู่ที่เดินทางมาถึงเชียงคานทำให้รู้สึกว่าชีวิตเดินช้าลง ไม่ต้องไปเร่งรีบกับชีวิตให้วุ่นวาย ใช้จักรยานแทนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ อาคารไม้เก่าแก่ดึงดูดให้ประทับใจ เดินไปทางไหนก็มีแต่รอยยิ้มและมิตรไมตรี อันนี้เท่าที่แอบเห็นตามรูปภาพนะครับ ผมเองก็ยังไม่เคยได้ไปกะเขา

 ผมนึกภาพเชียงคานอาจเปรียบได้กับสาววัยขบเผาะที่เพิ่งแตกเนื้อสาว ใครๆ ก็อยากไปเยือน อยากไปสัมผัส แต่ผมกลับคิดว่า ความงาม ในความเงียบ ของเชียงคานจะอยู่ได้นานอีกสักเท่าไหร่ ถ้าต่อไปจะต้องกลายเป็น ปาย 2 ”

การจุดประกาย บ้านฮวก เป็นปาย 2 อาจทำให้ดูตื่นเต้นได้บ้าง อย่างน้อยจะทำให้สื่อมวลชนและนักท่อง เที่ยวเงี่ยหูฟังสนใจใคร่รู้ว่า บ้านฮวก อยู่ไหน เป็นอย่างไร แม้หากมองด้านต้นทุนด้านท่องเที่ยวอาจเป็นคนละเรื่องเมื่อเทียบกับเชียงคาน

บ้านฮวกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดชายแดนไทย-ลาว พื้นที่ครอบคลุมหมู่ 3,12 ต.ภูซาง อ.ภูซาง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนา ปลูกพืชไร่ ซึ่งตอนนี้มีเสวนยางเกิดขึ้นแล้ว เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP Village Champion ขึ้นชื่อด้านหัตถกรรมผ้าทอของชาวไทยลื้อ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดพะเยา ประมาณ 100 กิโลเมตร ตามถนนสาย พะเยา-จุน-เชียงคำ-ภูซาง อยู่ไม่ไกลกับน้ำตกภูซางและน้ำตกห้วยโป่งผา ที่มีเตาปูลูหาดูได้ยาก เป็นเต่าที่มีลักษณะพิเศษคือตัวเตี้ย มีขนาดเล็ก กระดองยาวเพียง15 -20 เซนติเมตร ส่วนหัวค่อนข้างโตและแบน ปากงุ้มเป็นตาขอและแข็งคมมีกรามที่แข็งแรง มีหางยาวมาก ขาทั้งสี่มีนิ้วยาวเล็บแหลมคม และไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้ ทั้งบ้านฮวกและน้ำตกภูซางได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจาก อบต.ภูซางเป็นอย่างดี

บ้านฮวกมีตลาดนัดนำสินค้าต่างๆ มาค้าขายกับประชาชนชาวลาว ทุกวันที่ 10, 20 และ 30 ของเดือน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถแวะมาหาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไปได้ บางท่านที่กลับจากไปเที่ยวภูชี้ฟ้าและผาตั้งที่เชียงรายหรือภูลังกาอาจจะถือเอาที่นี่เป็นจุดแวะพักชมวิถีชีวิตชาวบ้านตามแนวชายแดนก็ยังพอไหว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียงไม่กี่กิโลเมตรเช่น วัดนันตาราม เป็นวัดมีวิหารไม้หลังใหญ่รูปทรงแบบไทยใหญ่หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกร็ด และวัดพระนั่งดิน Unseen Thailand พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มิยอมขึ้นประดิษฐานบนฐานชุกชี เหตุอัศจรรย์นี้เอง ผู้คนจึงเรียกกันว่า 'พระนั่งดิน' จากนั้นเข้าสู่เมืองพะเยาเที่ยวกว๊านพะเยา นมัสการพระเจ้าตนหลวงต่อ

ที่บ้านฮวกนี้อำเภอภูซางได้ร่วมกับพี่น้องชาวลาว จัดพิธีทำบุญตักบาตรสองแผนดินขึ้นเป็นประจำทุกปีในห้วงเดือนธันวาคม เพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของจังหวัด

ข่าวการจะเนรมิตให้ด่านชายแดนบ้านฮวก เป็น ปาย 2 “ เกิดเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการให้ภาพของบ้านฮวกต้องประสบชะตากรรมดั่งเช่นที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน วัชระ ศรีคำตัน นักวิชาการและสื่อท้องถิ่นได้เขียนบทความให้ความเห็นต่อการพัฒนาบ้านฮวก ดังนี้ *

ทำไมจะต้องให้ บ้านฮวกเหมือน อำเภอปาย ทั้งที่อยู่ห่างไกลกัน วิถีชีวิต ชาติพันธุ์ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นก็แตกต่างกัน คิดอย่างไร ทำอย่างไรมันก็ไม่เหมือนกัน 

ปาย ปัจจุบันแตกต่างไปจากสิบปีก่อนอย่างไร เป็นสิ่งที่ชาวบ้านดั้งเดิมของปายต้องการหรือไม่ ปาย กลายเป็นขยะที่เหม็นเน่า สูญ­เสียทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เงียบสงบ กลายเป็นความวุ่นวายโกลาหล ทุกซอกมุมเต็มไปด้วย เทค ผับ ร้านอาหาร โคโยตี้ นักท่องเที่ยวต่างถิ่น ผู้ห­ญิงหากิน ผู้ชายขายตัว เด็กวัยรุ่นติดยาเสพติด มั่วสุม ปัญ­หาโจร คนปายดั้งเดิมเขาอาจจะหวนคิดถึงอดีตอันเงียบสงบ แต่ก็สายเกินไปแล้วที่จะกลับคืน

สิ่งที่น่าจะทำคือชวนคนบ้านฮวกมาช่วยกันดิดหาอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของตัวเองที่เป็นทุนทางสังคม เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่น อาหาร เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ฯลฯ ธรรมชาติอันสวยงาม ซึ่งเป็นจุดเด่น มาเป็นจุดขาย ไม่ใช่คิดหาแต่ความเจริญ­ทางด้านวัตถุ แต่เน่าเสียด้านจิตใจมาใส่ใน บ้านฮวกแบบนั้นที่ไหนก็มี และหากไม่เตรียมพร้อมรับมือกับการท่องเที่ยวที่จะมาอย่างเป็นระบบ อาจได้รับผลกระทบเหมือน ปายในวันนี้

ไม่จำเป็นต้องเอาเงินตั้ง 100 ล้านไปเนรมิต บ้านฮวกให้เป็น ปาย 2เพราะอย่างไร บ้านฮวกก็คือ บ้านฮวก ปายก็คือปาย ไม่มีวันที่จะเหมือนกันได้

ความร่ำรวยที่สร้างฝันให้ชาวบ้านนั้นจริงหรือ ใครกันแน่ที่จะได้รับผลประโยชน์เต็มๆ ใครเป็นเจ้าของที่ดินบริเวณนั้น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ นักการเมืองท้องถิ่น หรือนักการเมืองระดับประเทศ ยอมรับกันตรงๆ มาเลยสิครับ.

ครับ..! ผมไม่แน่ใจว่า เชียงคาน จังหวัดเลย หรือบ้านฮวก จังหวัดพะเยา ที่แห่งใดจะควรคู่กับการสถาปนาให้เป็น ปาย 2” ได้เร็วกว่ากัน แต่ที่ทราบก็คือ ที่ดินแถบบ้านฮวกรวมถึงกิจการบ้านพัก ร้านตัดผม ร้านขายเสื้อผ้าพื้นเมืองฯลฯ ที่เคยเป็นทำเลและอาชีพให้ชุมชนท้องถิ่นเลี้ยงชีพ มีรายได้เพียงพอสำหรับส่งเสียลูกหลานให้ได้ร่ำได้เรียน

 

 มาบัดนี้ มีนายหน้าและนักลงทุนทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เข้ากว้านซื้อจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ที่ดินส.ป.ก.4-01 เพื่อทำแหล่งที่พักรองรับนักท่องเที่ยว และสวนยางพารา ซึ่งถือว่าเป็นทำเลทอง คนบ้านฮวกจริงๆ พากันขายที่ให้นายทุน ตอนนี้บางคนต้องเช่าจากนายทุนทำมาหากิน บางคนต้องไปเป็นลูกจ้างเขา วิถีชีวิตที่เคยเรียบง่ายเปลี่ยนไปอย่างไม่มีทิศทาง

 

เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าการพัฒนาระยะที่ 1 และ 2 ไปได้ขนาดไหน การก่อสร้างถนน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องของรัฐที่บ้านฮวก นอกจากจะช่วยปั่นให้เศรษฐกิจคึกคัก ทำให้พวกที่รู้เล่ห์สนกลในร่ำรวยกันอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว การสร้างถนนเลี่ยงเมืองใหม่ตามแผนระยะที่ 3 ที่จะใช้งบประมาณ 86 ล้านบาท อาจมีการตัดต้นไม้ใหญ่ข้างทางหรือเบิกพื้นที่หน้าดินใหม่ซึ่งจะเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม และจะส่งผลกระทบต่ออุทกภัยดังที่กำลังประสบกันอยู่

 

ประการสำคัญอย่าลืมว่าแถบนี้เป็นแนวชายแดน ฝ่ายเกี่ยวข้องต้องมีมาตรการเฝ้าระวังและปราบปรามการไหลทะลักเข้ามาของยาเสพติดที่เข้มงวด มิเช่นนั้นจะส่งผลร้ายต่อปัญหาสังคมระดับชาติในอนาคต

 

หากเป็นดังที่ว่า หนาวนี้....ดูท่าจะยิ่งหนาว บรื๊อส์ ๆๆๆๆ

 

อ้างอิง

* http://phayaoforum.com/phayaorath/?p=1083&cpage=1#comment-253

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net