Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของไทยยังไม่มีความคืบหน้า แต่ในกัมพูชา กลับจะได้นำมาใช้ในปี 2554 นี้แล้ว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงขอนำเสนอความคืบหน้าของกัมพูชาเพื่อเป็นอุทธาหรณ์สำหรับประเทศไทย
 
ในกรณีประเทศไทย หลายฝ่ายอาจรู้สึกผวากับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะคิดถึงการ “รีด” เอาเม็ดเงินออกจากกระเป๋าผู้เสียภาษี ดังนั้นเมื่อมีการนำเสนอภาษีใหม่นี้ มักจะถูกต่อต้าน แต่ในกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ความจริงแตกต่างจากภาษีอื่นโดยสิ้นเชิง นับเป็นภาษีที่ “ยิ่งให้ ยิ่งได้” แก่ผู้เสียภาษีเอง
 
ภาษีทรัพย์สินหมายถึงภาษีที่ประชาชนผู้ครอบครองทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นสังหาริมทรัพย์ (รถ เรือ ฯลฯ) และโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ต้องเสียให้กับท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองโดยตรง ในกรณีประเทศไทยกฎหมายภาษีทรัพย์สินที่จะออกมานั้นเก็บภาษีเฉพาะอสังหาริมทรัพย์จึงเรียกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนี้เกิดขึ้นบนฐานคิดสากลที่ว่าใครครอบครองทรัพย์สิน ก็ต้องเสียภาษี เพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น
 
ในปัจจุบันประเทศไทยเรามีภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งก็คล้ายกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่จัดเก็บกับเฉพาะผู้ที่ให้เช่าทรัพย์สิน และมูลค่าทรัพย์สินที่ใช้ในการคำนวณภาษีก็ไม่เคยได้ปรับปรุงมาเกือบ 20 ปีแล้ว เมื่อมีการนำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้ ก็จะได้ยกเลิกภาษีดังกล่าวเสีย
 
ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กำหนดให้มีอัตราการจัดเก็บคือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยไม่ประกอบการในเชิงพาณิชย์ จัดเก็บภาษีไม่เกิน 0.1% ของฐานภาษี อัตราภาษีสำหรับอสังหาริมทรัพย์เกษตรกรรม จัดเก็บไม่เกิน 0.05% นอกนั้นจัดเก็บไม่เกิน 0.5% และมีการยกเว้น คือ ให้ยกเว้นแก่ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวาทั้งหลายและมีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทในพื้นที่สำคัญ (กรุงเทพมหานคร หัวเมืองใหญ่และหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เมืองพัทยา) มูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาทในพื้นที่เขตเทศบาล และมูลค่าไม่เกิน 3 แสนบาทในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล
 
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้สัมภาษณ์คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลัง กัมพูชา ที่มาอบรมการประเมินค่าทรัพย์สินที่ ดร.โสภณ จัดขึ้นในกรุงเทพมหานครในช่วงวันที่ 13-14 มกราคม 2554 ได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการเพื่อให้คนไทยได้สังวร
 
กัมพูชามีแนวคิดที่จะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2550 แต่ไม่ผ่านสภาในปีดังกล่าว จนเมื่อช่วงสิ้นปี 2552 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2551 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาก็ผ่านพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ออกมา โดยมีกรอบเวลาให้นำมาใช้จริงในปีเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ กรอบเวลาได้ขยายไปเป็นประมาณกลางปี 2554 นี้
 
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชามีความรวดเร็วในการกำหนดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกว่าไทยเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีของไทย มีการนำเสนอไว้ตั้งแต่ยุค “ประชาธิปไตยเต็มใบ” พ.ศ.2518 มีการยกร่างใหม่และแก้ไขเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและยังไม่อาจทราบแน่ชัดว่าจะมีพระราชบัญญัติฉบับนี้เมื่อใด ข้อสังวรในที่นี้ก็คือ ระบบราชการของไทยอาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่ากัมพูชา และคงมีผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองและมีที่ดินมากมายที่ไม่ต้องการให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเข้าใจผิดว่าภาษีนี้จะเป็นภาระ ทั้งที่ภาษีนี้จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น ทำให้ทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองไว้กลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าเดิม
 
สำหรับในรายละเอียดของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกัมพูชานั้น มีการจัดเก็บเพียงอัตราเดียวคือ 0.1% โดยราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 30% การกำหนดราคาก็ไม่ได้กำหนดเป็นรายแปลง แต่กำหนดตามเส้นถนน สำหรับอาคารนั้น ก็มีอัตราค่าก่อสร้างอาคารมาตรฐานให้ใช้คำนวณราคา
 
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกัมพูชา ก็มีการกำหนดข้อยกเว้น เช่น ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 100 รีล หรือ 740,000 บาทเป็นต้น นอกจากนี้วัดวาอาราม สถานทูตหรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ก็ไม่มีการจัดเก็บภาษีแต่อย่างใด ในเบื้องต้นคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้จากอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณ 180,000 ราย และจะได้เงินภาษีไม่เกิน 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงการเริ่มต้น
 
ในทางปฏิบัติของการจัดทำบัญชีราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยกัมพูชากำหนดให้แต่ละจังหวัด (24 จังหวัด) ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสำรวจจัดทำบัญชี โดยเฉลี่ยแล้วจังหวัดหนึ่ง ๆ อาจมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการประมาณ 30 คน โดยเน้นสำรวจเฉพาะในตัวเมืองเป็นสำคัญ และประมาณการราคาที่ดินตามถนนแต่ละสายไว้อย่างชัดเจน จากนั้นจะมีคณะกรรมการขึ้นมากำหนดราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาใช้จัดเก็บภาษีในท้ายที่สุด บัญชีราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้อาจจะมีการปรับปรุงทุกรอบ 3 ปี
 
ภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้นี้เก็บเข้าท้องถิ่นโดยเฉพาะ โดยท้องถิ่นเป็นผู้นำเงินส่วนนี้มาใช้พัฒนาท้องถิ่นทั้งด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ โดยไม่มีการหักเงินมาเพื่อใช้ในกิจการอื่นใด ผิดกับกรณีประเทศไทย ที่มีการเสนอให้หักเงินภาษีที่จัดเก็บได้ 2% มาเข้ากองทุนธนาคารที่ดิน ซึ่งสร้างความสับสน และทำให้ประเด็นแตกออกไปเป็นการถ่วงเวลาการให้มีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย
 
การนำเสนอเกี่ยวกับความก้าวหน้าในระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของกัมพูชานี้ ไม่ใช่เพื่อนำมาข่มประเทศไทยของเราเอง แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายในประเทศไทยได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าของประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นอุทาหรณ์ให้ประเทศไทยได้เร่งรัดการพัฒนาประเทศโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net