วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช: ความเป็นจริงจากมุมมองของสหภาพยุโรป

“มูลนิธิชีววิถี” เผยข้อมูลวิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทยที่ชี้ถึงนโยบายและมาตรการความ ปลอดภัย “สองมาตรฐาน” ระหว่างพืชผักที่บริโภคในไทยกับที่ส่งไปขายยังสหภาพยุโรป รวมถึงรากเหง้าของปัญหาที่ถูกระงับการนำเข้าซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การตรวจพบสาร เคมีปนเปื้อนสูงมากเท่านั้น

เอกสารเรื่อง “วิกฤตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช: ความเป็นจริงจากมุมมองของสหภาพยุโรป” ยังสะท้อนปัญหาแท้จริงที่ดำรงอยู่คู่สังคมไทยที่ว่า เราไม่เคยมีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเลย ทั้งๆ ที่สถานการณ์สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว
 
มากกว่านี้เอกสารชิ้นนี้ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะ ต้องช่วยกันกำกับควบคุมการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนับหมื่นรายการ ที่จะต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมปีนี้ด้วย
 
000
 
จากมาตรการแบนตัวเองในการส่งออกพืชผัก 16 ชนิดไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมาตรการตรวจเช็คคุณภาพผักและผลไม้ส่งออก 100% ของกรมวิชาการเกษตร ในช่วงต้นปี 2554 ได้บ่งชี้ถึงวิกฤตเกี่ยวกับปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารที่ผลิตในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินค่ามาตรฐาน (MRLs) ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจการส่งออกผักผลไม้ของไทยไปยังสหภาพยุโรป ที่มีมูลค่ากว่า 58 ล้านยูโร (2,785 ล้านบาท) ต่อปี [1] อีกทั้งยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศผู้นำเข้าอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น
 
 
วิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้นได้ถูกส่งสัญญาณจากสหภาพยุโรปตลอดหลายปีที่ผ่าน มา เฉพาะอย่างยิ่งหากวิเคราะห์จากฐานข้อมูลของระบบเตือนภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) ที่มีการบันทึกข้อมูลการตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักที่ส่งมายัง สหภาพยุโรป พบว่า ปัญหาสารเคมีการเกษตรตกค้างในผักและผลไม้ของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจำนวนการแจ้งเตือนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปี 2553 ได้เพิ่มสูงกว่าสถิติในปี 2552 เกือบ 3 เท่าตัว แซงหน้าจำนวนการแจ้งเตือนของสหภาพยุโรปต่อประเทศตุรกี และประเทศไทยได้กลายเป็นแชมป์ผู้ส่งออกผักผลไม้ที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปน เปื้อนเกินค่ามาตรฐานของสหภาพยุโรป
 
 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าประเทศไทยมีการส่งออกพืชผักและผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปในปริมาณน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลการส่งออกของประเทศอื่นๆที่มีความรุนแรงของปัญหา สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่ใกล้เคียงหรือน้อยกว่า เช่น ในปี 2552 ไทยมีปริมาณการส่งออกผักและผลไม้ประมาณ 27,000 ตัน ในขณะที่ตุรกีส่งออกสูงถึง 1,249,000 ตัน (มากกว่าไทยถึง 46 เท่า) แต่มีการตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างมากกว่าไทยเพียง 11 ครั้ง ส่วนจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีการผลิตและใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ต่อปี ได้มีการตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างเพียง 1 ครั้งในปี 2552 และ 2 ครั้งในปี 2553 แม้ว่ามีการส่งออกผักผลไม้ไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 800,000 ตันต่อปี [2]
 
สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกตรวจพบจากพืชผักส่งออกของไทยในปี 2553 มีถึง 23 ชนิด โดยสารเคมีที่พบมากที่สุดคือ omethoate ที่มีการพบถึง 9 ครั้ง รองลงมาคือ dimethoate และ indoxacarb 6 ครั้ง ส่วน carbofuran และdicrotophos ซึ่งมีพิษร้ายแรงนั้นถูกตรวจพบมากถึง 5 ครั้ง และที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ในปี 2552 ยังมีการตรวจพบสาร EPN ที่ไม่เคยมีการอนุญาตให้จดทะเบียนในสหภาพยุโรปเลยถึง 7 ครั้ง
 
 
รายงานของสหภาพยุโรป สะท้อนปัญหาระบบการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของไทย
 
การพบการตกค้างของสารเคมีเกษตรในปริมาณมากของผักและผลไม้ส่งออกของไทย ทำให้หน่วยงาน Food and Veterinary Office ของสหภาพยุโรป จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่มายังประเทศไทย เพื่อประเมินมาตรการการจัดการและควบคุมปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง โดยมีการเดินมายังประเทศไทยครั้งแรกในช่วงต้นปี 2549 และได้ระบุไว้ในรายงาน DG (SANCO)/8002/2006–MR Final ถึงการควบคุมการตลาดและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยว่า ยังขาดความเข้มงวด ไม่มีระบบการจดบันทึก และไม่มีการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง
 
ในรายงานดังกล่าว ยังได้กล่าวถึงความหละหลวมในการควบคุมระบบการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัด ศัตรูพืช ซึ่งในปี 2549 มีจำนวนกว่า 16,900 ทะเบียนจากสารออกฤทธิ์ประมาณ 400 ชนิด และอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชใหม่ประมาณ 2,500-4,850 ครั้งต่อปี นับตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา [3]
 
คณะทำงานดังกล่าวยังได้วิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของกรมวิชาการเกษตรที่ขาดแผนการที่ชัดเจนและเพียงพอในการควบ คุมการตลาดและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น แม้ว่าจะได้รับคำอธิบาย [4] แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่มีอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะทำให้คณะทำงานดังกล่าวมั่นใจต่อมาตรการและการแก้ปัญหาจากฝ่ายไทย
 
ในส่วนของผู้ค้าปลีกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชนั้น ส่วนใหญ่พึ่งพาข้อมูลจากแผ่นพับโฆษณาสินค้าของบริษัทขายสารเคมีในการแนะนำ ผลิตภัณฑ์ต่อเกษตรกรมากกว่าจากการฝึกอบรมโดยหน่วยงานรัฐ ในกรณีที่มีการทำผิดกฎระเบียบ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะรายงานต่อหัวหน้าของตน แต่มิได้มีระบบการจดบันทึกใดๆ การจำหน่ายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยจึงไม่มีการควบคุมที่ชัดเจนแต่ อย่างใด ยกเว้นกรณีที่มีการตรวจพบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน ณ จุดนำเข้า เท่านั้น ที่ผู้ประกอบการจะถูกยึดใบอนุญาตการนำเข้า
 
ข้อสรุปสำคัญจากการประเมินผลของคณะทำงานจากสหภาพยุโรปคือ การที่ประเทศไทยมีระบบตรวจสอบหาสารตกค้างในพืชผักที่จำกัด มีการตรวจสอบเพียงพืชเศรษฐกิจบางรายการ และวิเคราะห์หาสารเคมีเกษตรตกค้างไม่กี่ชนิด อีกทั้งยังมีช่องโหว่ในกลไกการควบคุมทั้งการให้ข้อมูลต่อเกษตรกร การค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่หละหลวม ส่งผลให้มีการขึ้นทะเบียนสารกำจัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก
 
สำหรับการเดินทางเข้ามาประเมินระบบการควบคุมปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้าง ของคณะทำงานของสหภาพยุโรปครั้งที่สองในช่วงต้นปี 2551 นั้น คณะทำงานเห็นความก้าว หน้าบางส่วน เช่น การจัดฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (stakeholders) และการพัฒนาและเพิ่มระบบการควบคุมเกษตรกรผู้ใช้ โรงบรรจุผักส่งออก และผู้ส่งออก [5] แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวก็มิได้ทำให้ทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัด ศัตรูพืชลดลงแต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาที่คณะผู้ตรวจจากสหภาพยุโรปเดินทางมาตรวจสอบใน ครั้งแรกจนถึงครั้งที่สอง มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างถึง 24 ครั้ง โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบนั้น ล้วนแล้วแต่มีพิษภัยร้ายแรงแทบทั้งสิ้น
 
แม้ว่าจะมีการระบุถึงปัญหาด้านทะเบียนสารเคมีเกษตรในรายงานครั้งก่อน แต่คณะทำงานของสหภาพยุโรปยังพบว่า กรมวิชาการเกษตรยังคงปล่อยให้มีการขึ้นทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพิ่มขึ้น 3,400 ทะเบียน รวมเป็นจำนวนสารเคมีที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมดเป็น 19,300 ทะเบียนในปี 2551
 
ยิ่งไปกว่านั้น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจพบในผักส่งออกจากประเทศไทย ยังมีการพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ได้ห้ามใช้ในประเทศหรือห้ามใช้ในพืชบาง ชนิด และยังไม่มีการกำหนดค่า MRLs สำหรับการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างให้ครอบคลุมพืชผักหลากชนิดในตลาด ภายในประเทศ
 
ความอ่อนแอของระบบการควบคุมการขึ้นทะเบียน การควบคุมผู้จัดจำหน่าย และการขาดการให้ความรู้และข้อมูลที่เพียงพอต่อเกษตรกร ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่การประเมินระบบการควบคุมปัญหาของไทยโดยคณะทำงานของ สหภาพยุโรปครั้งที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2553 ยังคงพบช่องโหว่และความหละหลวมในระบบการควบคุม [6] ซึ่งทางคณะผู้ประเมินจากสหภาพยุโรปได้ระบุอย่างชัดเจนว่ากรมวิชาการเกษตรและ โรงบรรจุผักส่งออกให้ข้อมูลต่อเกษตรกรไม่เพียงพอที่จะป้องกันการตกค้างของ สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกินค่า EU MRLs
 
 
บทสรุป
 
ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูจากตัวเลขการแจ้งเตือนผักและผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี ของสหภาพยุโรปที่พบว่าสินค้าจากประเทศไทยมีจำนวนสูงที่สุดในโลก ทั้งๆที่มีปริมาณ การส่งออกผักผลไม้ที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
 
ปัญหาของสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ส่งออกยุโรปเป็นเพียงสัญญาณเตือนภัย ของวิกฤตเรื่องความไม่ปลอดภัยในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อเกษตรกรและผู้บริโภคคนไทย
 
สังคมไทยควรแปรคำเตือนและมุมมองของสหภาพยุโรปเพื่อนำมาเป็นจุดเริ่มต้น ในการปฏิรูประบบการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การทำงานของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ผู้ค้าปลีก รวมถึงเกษตรกร และผู้บริโภคอย่างตลอดสาย
 
ทั้งนี้ มิใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการส่งออกเท่านั้น แต่เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทุกคน
 
 
............................................................................
 
[1] ข้อมูลปี 2552 จาก EUROSTAT/COMEXT เมื่อ 15 มิถุนายน 2553
[2] EUROSTAT/COMEXT เมื่อ 15 มิถุนายน 2553
[3] ปัจจุบัน ไทยมีทะเบียนการค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารออกฤทธิ์รวมกว่า 27,000 รายการ
[4] กรมวิชาการเกษตรได้ให้คำตอบในประเด็นนี้โดยชี้ถึง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ให้มีการตรวจร้านค้าสารเคมีเกษตรอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี และการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายตามกฎหมาย
[5] DS(SANCO) 2008-7840 – MR Final
[6] DS(SANCO) 2010-8575 – MR Final
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท