คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่รายงานโดยเว็บไซต์ thaiinsider ว่านายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ยันสู้คดีเพื่อปกป้องอธิปไตย บี้พรรคอื่น ต้องยืนยันท่าทีเรื่องปัญหาไทย-เขมรให้ชัดเจน เพราะจุดยืน ปชป.ชัดแล้ว” และในข่าวมติชนวันที่ 5 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ยังบอกว่ากัมพูชาต้องแสดงความจริงใจ “ด้วยการชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก โดยเริ่มต้นร่างแผนบริหารจัดการร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา” นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์ใช้ชาตินิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง ผู้เขียนเชื่อว่าประชาชนไทยทุกกลุ่มทุกสีล้วนเอาใจช่วยให้ทีมกฎหมายของไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดีกับกัมพูชาในขณะนี้ เพราะถ้าศาลตีความว่า “พื้นที่โดยรอบ” ที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปให้หมดนั้น คือพื้นที่ตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1:200,000 จะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.โดยรอบพระวิหาร การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มพูนความเกลียดชังระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่วิกฤติการเมืองไทยที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่พระวิหารเคยเป็นปัญหามา การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก ปัญหาคือ ประเทศไทยไม่ควรต้องเดินมาสู่ความเสี่ยงนี้เลย หากนายอภิสิทธิ์ไม่ไหลไปกับกระแสแสชาตินิยมและมุ่งเอาชนะทางการเมืองภายในมากจนเกินไป สิ่งที่บทความชิ้นนี้ต้องการแสดงให้เห็นคือ สาระสำคัญที่ทีมกฎหมายไทยที่นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย แถลงด้วยวาจา (Oral hearing) ในนามของรัฐบาลไทยต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 30 และ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชได้กระทำไว้ แต่นายสมัครและนายนพดล ปัทมะ กลับถูกกลุ่มชาตินิยมและนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น โจมตีว่าทำให้ไทยเสียดินแดน ว่าด้วยเส้นเขตแดนตามมติ ครม.2505 และการสงวนสิทธิ์ นายวีรชัยแถลงว่า “ประเทศไทยมีความสม่ำเสมอในจุดยืนของตนที่ยอมรับคำตัดสิน ของศาลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 และได้ปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าวอย่างสมบูรณ์” ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากศาลมีคำตัดสินออกมา คณะรัฐมนตรี (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อกำหนดพื้นที่ของพระวิหารให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. ฝ่ายไทยได้จัดทำรั้วลวดหนวมขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเป็นเครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร และฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับเส้นเขตแดนดังกล่าวตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเห็นว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายกฎหมายไทยเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด โดยใช้การประพฤติปฏิบัติของกัมพูชาเป็นเครื่องผูกมัดทางกฎหมายต่อกัมพูชาเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตสองประการ (1) คำแถลงของฝ่ายไทยชี้ว่านับแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยได้ยึดรั้วลวดหนวมที่ตั้งขึ้นในสมัย รบ.สฤษดิ์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร ข้อเท็จจริงก็คือ ในยุคของ รบ.นายสมัคร สุนทรเวช กระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของนายนพดล ปัทมะได้พยายามเจรจาจนกระทั่งกัมพูชายินยอมตัดพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ออกจากเอกสารยื่นขอจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2551 ได้สำเร็จ โดยกัมพูชาเอาเฉพาะพื้นที่ที่ถูกล้อมรั้วตามมติ ครม. 2505 ไปขึ้นทะเบียน (โปรดดูรูปแผนผังประกอบ) แผนผังแสดงพื้นที่ (1) คือทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน และพื้นที (2) คือเขตกันชน จาก The Kingdom of Cambodia, The Temple of Preah Vihear Inscribed on the World Heritage List (UNESCO) since 2008. จากแผนผังข้างต้น ส่วนสีเหลืองคือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ในเอกสารยื่นจดทะเบียน กัมพูชาระบุชัดเจนว่ามีเพียงพื้นที่หมายเลข 1 คือตัวปราสาท และหมายเลข 2 (พื้นที่สีเขียวทั้งหมด) ซึ่งอยู่ในเขตพื้นราบฝั่งกัมพูชา เราจะเห็นได้ว่าไม่มีพื้นที่ฝั่งตะวันตกถูกนำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงเท่ากับกัมพูชาเอาเฉพาะตัวปราสาทและพื้นที่ภายในรั้วลวดหนามนั่นเอง แต่เมื่อนายนพดลชี้แจงต่อสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2551 ว่าพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของพระวิหารที่กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่มีส่วนใดรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์อยู่ (4.6 ตร.กม.) เพราะเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่กำหนดตามมติครม. 2505 นายอภิสิทธิ์ตอบโต้ว่า: “ผมฟังท่านรัฐมตรี (นพดล) ชี้แจงหลายเวทีแล้วครับ ไปบอกว่าศาลตัดอย่างนั้น เราก็เลยไปกำหนดเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี 2505 ท่านประธานครับ ไม่มีที่ไหนเขาขีดเขตแดนโดยมติคณะรัฐมนตรีครับ มติคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้เป็นอย่าง สัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนได้...ไม่มีหลักสากลที่ไหนเลยครับเขาไปปล่อยให้คณะรัฐมนตรี หรือมติของฝ่ายบริหารกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ” “ศาลตัดสินให้เฉพาะ Temple ตามมติ ครม.2505 นั้นเป็นเรื่องของ Area เพื่อจะปฏิบัติ เพราะแน่นอนครับ การดำเนินการของรัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกังวลแน่นอนว่า ถ้าไปขีดเส้นแล้ว เกิดการเผชิญหน้า เกิดการปะทะกัน ก็ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด ก็ต้องกำหนดแนวปฏิบัติไว้อย่างนี้ครับ ที่ท่านรัฐมตรีมักจะมาขีดเส้นอยู่นี่ แล้วก็บอกว่าเป็นเขตแดนนั้น ไม่ใช่ครับ เป็นเขตแนวปฏิบัติกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติให้เห็นว่าเราไม่ได้ฝ่าฝืนสิ่งที่เป็นศาลโลกสั่ง แต่ไม่ได้มีสถานะของการเป็นเขตแดน กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับ นี่คือข้อเท็จจริงครับ” คำถามคือ นายอภิสิทธิ์ยอมรับหรือไม่ว่า ณ วันนี้ ตนเห็นด้วยกับ รบ.นายสมัคร ที่ให้ยึดเส้นรั้วตามมติ ครม. 2505 เป็นเส้นเขตแดนในบริเวณนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริง นายอภิสิทธิ์ควรกล่าวคำขอโทษต่อนายสมัคร ที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว และต่อนายนพดลหรือไม่? (2) นี่เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในนามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลก โดยไม่มีประโยคต่อท้ายว่า “ไทยยังสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารคืนมาเป็นของไทย” อันเป็นประโยคที่นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำบ่อยครั้งตั้งแต่สมัยที่เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจนถึงปัจจุบัน เป็นประโยคที่ใช้โจมตี รบ.สมัครว่าได้สละสิทธิ์ดังกล่าวไป ประโยคดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดและความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับประชาชนทั่วไปว่าไทยยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเอาปราสาทพระวิหารมาเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ธรรมนูญของศาลโลกกระบุไว้ชัดเจนว่า คำตัดสินของศาลโลก “ถือเป็นที่สุด” ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา แต่หากจะขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาจะต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา คำถามคือ ถ้านายอภิสิทธิ์เชื่อมั่นว่าไทยยังมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องปราสาทพระวิหารคืนมาจริง ทำไมจึงไม่ให้ทีมกฎหมายไทยประกาศข้อสงวนสิทธิ์ดังกล่าวในเวทีศาลโลก เพราะการประกาศว่า “ไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลก” โดยไม่มีเงื่อนไขต่อท้าย ก็เท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังสละสิทธิ์ที่จะทวงคืนพระวิหาร หรือเพราะนายอภิสิทธิ์รู้ว่าประโยคแบบนี้ใช้หากินได้แต่ในเมืองไทยเท่านั้น? แต่ไม่มีความหมายในทางกฎหมายใดๆ ในเวทีนานาชาติเลย ซ้ำร้ายจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวตลกเสียอีก คำพูดเรื่อง “สงวนสิทธิ์” ที่จะเอาพระวิหารคืนมานั้น มีที่มาจากจอมพลสฤษดิ์ และจดหมายที่นายถนัด คอมันตร์ รมต.กต. มีถึงเลขาธิการยูเอ็น แต่การพูดแบบนี้เมื่อปี 2505 ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะยังมีอายุความอยู่ แต่เมื่ออายุความหมดไปตั้งเกือบ 40 ปีแล้ว โดยที่ไทยไม่เคยพยายามรื้อฟื้นคดีในช่วงที่ผ่านมาเลย มันย่อมเป็นได้แค่เครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ การบริหารจัดการพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน ผู้เขียนเห็นด้วยกับถ้อยแถลงต่อศาลโลกของนายวีรชัย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ว่า เมื่อปี 2546 รัฐบาลไทยและกัมพูชาเคยตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกัน และได้หารือเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยว “สองอาณาจักร หนึ่งเป้าหมาย” มีการจัดตั้งอนุกรรมการร่วมสองคณะ คณะหนึ่งเพื่อดูแลการฟื้นฟูและรักษาพระวิหาร อีกคณะหนึ่งเพื่อวางแผนและพัฒนาพื้นที่รอบปราสาท โครงการดังกล่าวชี้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น พร้อมที่จะเปิดหน้าใหม่ของปราสาทพระวิหารให้เป็นความร่วมมือและมิตรภาพกับกัมพูชา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อกัมพูชากลับยื่นขอขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียวในปี 2547 ฝ่ายไทย (ในสมัย รบ.สุรยุทธ์) จึงได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาเพราะเอาดินแดนที่ไทยอ้างสิทธิ์ไปขึ้นทะเบียนด้วย ได้มีความพยายามเจรจาแก้ไขในส่วนนี้ และในที่สุด รบ.ไทย (สมัยสมัคร) ก็สนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำความกระจ่างในบางประเด็น: เมื่อกัมพูชายืนยันที่จะยื่นจดทะเบียนตามลำพัง และบอกให้ไทยแยกยื่นส่วนที่อยู่ในเขตแดนไทย รัฐบาลสุรยุทธ์ยังคงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระวิหารของกัมพูชาต่อไป บนเงื่อนไขว่ากัมพูชาต้องร่วมมือแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะกระทบต่อเขตแดนที่ไทยอ้างสิทธิ์ การเจรจาเพื่อให้กัมพูชาแก้ไขแผนผังแนบขอขึ้นทะเบียนพระวิหารจึงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึง รบ.สมัคร จนในที่สุดกัมพูชายินยอมตัดพื้นที่ส่วนที่ไทยอ้างสิทธิออกจากแผนผัง โดยจำกัดพื้นที่เขตกันชน (buffer zone) ให้เหลือเพียงตัวปราสาท, ฝั่งตะวันออกและด้านใต้ของตัวปราสาท ดังแผนที่ข้างต้น หน่วยงานของไทยในสมัย รบ.สมัครยังทำให้กัมพูชาตกลงว่าจะร่วมกับไทยจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาท โดยแผนดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการปราสาทฯ และพื้นที่โดยรอบทั้งหมด หน่วยงานของไทยในสมัย รบ.สมัครยังสามารถเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชายอมตกลงในหลักการว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนด้วย (ตรวจสอบข้อมูลในข้อ 1-4 ได้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แฉเอกสารลับที่สุด ปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505-2551, น.280-302) ประเด็นในที่นี้คือ ความร่วมมือผลักดันให้พระวิหารเป็นมรดกโลกมาจากความพยายามของ รบ.ไทยที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ทั้งสองฝ่ายมีเจตจำนงที่จะทำให้พระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและความร่วมมือยุคใหม่ แต่แน่นอนว่าความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างคงมีอยู่ ฝ่ายกัมพูชาหวาดระแวงว่าไทยคงอยากได้พระวิหาร และหวงแหนในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายของเขาแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนร่วมกับไทย กระนั้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างกันยังดีอยู่ การเจรจาแก้ปัญหาก็สามารถเดินต่อไปได้ จนกระทั่งไทยสามารถเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชาตัดพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ออกจากเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้งๆ ที่ 4.6 ตร.กม. ก็เป็นพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิอยู่ด้วยเช่นกัน แต่เขาก็ตัดทิ้ง เพราะเขามั่นใจว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่มีผลต่อการปักปันเขตแดน แต่สิ่งสำคัญกว่าในที่นี้คือ ปรากฏการณ์ที่ชี้ว่าเมื่อความสัมพันธ์ดี การเจรจาและยืดหยุ่นก็เป็นไปได้ แต่สังคมไทยก็หลงอยู่กับข้อมูลบิดเบือนว่าไทยกำลังจะเสียดินแดนนับล้านไร่หากกัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก นอกจากนี้ สิ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ข้อตกลงที่ให้มีการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อน อันเป็นแนวทางสร้างสันติภาพและความเจริญให้กับผู้คนสองประเทศที่ดีที่สุด ก็ได้ถูกทำลายลงไปด้วย กัมพูชาก็ไม่ยอมรับแนวทางนี้อีกต่อไปเช่นกัน ฉะนั้น ในวันนี้ การที่นายอภิสิทธิ์เรียกร้องให้กัมพูชาหันมาบริหารจัดการร่วมพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร จึงสายเกินการณ์ไปเสียแล้ว น่าเสียดายที่นายอภิสิทธิ์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่านายสมัครและนายนพดลที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง และหาทางยุติปัญหากับกัมพูชาด้วยสันติวิธี แต่เรากลับไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้เลย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกที่ถ้อยแถลงต่างๆ ของ รบ.อภิสิทธิ์ในวันนี้เป็นสิ่งที่ รบ.สมัครได้พยายามทำไว้แล้วทั้งสิ้น เมื่อกระแสชาตินิยมขยายอวิชชา เพิ่มพูนมิจฉาทิฐิของทั้งไทยและกัมพูชา จนเหลือแต่ความเกลียดชังและมุ่งเอาชนะกันอย่างเด็ดขาด การเจรจาทุกปิดประตู การสูญเสียที่ชายแดนเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน เราจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยง ณ ศาลโลกอีกครั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท