บทวิเคราะห์นโยบายการเกษตร เพื่อไทยVS ปชป.:จะเอาประกันราคาหรือรับจำนำกันดีพี่น้อง..?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่กี่วันนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคต่างก็มีนโยบายด้านการเกษตรออกมาหาเสียง ที่น่าสนใจคือ นโยบายประกันรายได้ และนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก ที่ถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศ จากข้อมูลเมื่อเดือน ตุลาคม 2553 มีตัวเลขผู้มาลงทะเบียนเกษตรกรแล้วกว่า 6,796,241 ครอบครัว มีจำนวนเกษตรกร 19,824,665 ราย เกษตรกรจำนวนทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้โดยตรง เพราะปัจจุบันนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจะดำเนินการโดยใช้ฐานข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกรเกือบทั้งสิ้น คำถามหลักที่น่าสนใจ ก็คือว่า เกษตรกรอยากจะได้ ประกันรายได้แบบรัฐบาลประชาธิปัตย์หรือว่า อยากจะได้แบบรับจำนำข้าวเปลือก ของพรรคเพื่อไทยกันแน่ ? เริ่มจากนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ให้เงินชดเชยส่วนต่างของราคาข้าวเปลือกกับเกษตรกรในลักษณะของการอิงกับพื้นที่ตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยไม่เกินครอบครัวละ 30 ไร่ และจำกัดเพดานสูงสุดไม่เกิน 30 ตัน เหตุผลความชอบใจของชาวบ้านต่อนโยบายนี้ก็คือ เมื่อเทียบกับแบบรับจำนำแล้ว เขาได้เงินทันทีหลังจากที่ขายข้าว และ ยังได้เงินส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า เงินตาม คือเงินชดเชยส่วนต่าง ตามมาทีหลังอีก แน่นอนว่า คนที่ชอบแบบนี้ ทุกคนมีความพอใจกับเงินตาม ที่ได้เป็นเงินก้อน แม้ว่าราคาข้าวที่ขายจะไม่สูงนัก แต่พอรวมกับเงินตามที่ได้จากส่วนต่างแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ แม้ว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว ราคาขายข้าวเมื่อรวมเงินตามแล้วจะต่ำกว่าราคาเกณฑ์อ้างอิงก็ตาม เช่น กรณีชาวนาปรัง โดยปกติชาวนาเกี่ยวข้าวขายสดเลย โรงสีก็จะหักค่าความชื้นออก แต่ราคาตามเกณฑ์เป็นราคาที่ความชื้น 15% ซึ่ง ในความเป็นจริงไม่น่าจะมีเกษตรกรนาปรังคนใดขายข้าวที่ความชื้น 15%แน่นอน นอกจากนี้ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าจะมีข้าวขายหรือไม่มีข้าวขาย การประกันราคา ก็จะให้เงินชดเชยส่วนต่างกับชาวนาทุกคนอย่างทั่วถึง ต่างกับการรับจำนำ ที่เกษตรกรจะต้องมีข้าวไปขายโรงสีเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้ในราคารับจำนำ ถ้าเกิดข้าวเสียหาย เกิดโรคระบาด ผลผลิตได้น้อย กรณีนี้เกษตรกรก็อาจจะไม่ได้เงินมากนักแม้ว่าราคารับจำนำจะสูงก็ตาม และยังน่าสนใจอีกว่าชาวนาที่มีที่นาน้อย อาจจะไม่เกิน 30 ไร่ มีแนวโน้มที่จะชอบการประกันรายได้มากกว่าการรับจำนำ สำหรับเกษตรข้าวนาปี กรณีทางภาคอีสาน ชาวบ้านส่วนใหญ่น่าจะชอบประกันรายได้มากกว่ารับจำนำ เพราะเขาได้เงินเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะขายข้าวหรือไม่ขายข้าวก็ตาม เพราะโดยมากแล้วชาวนาทางภาคอีสานจะเก็บข้าวไว้กินส่วนหนึ่งและขายบ้างบางส่วน เมื่อการประกันรายได้อิงเกณฑ์ตามพื้นที่ทำนา ทำให้เงินชดเชยส่วนต่างไปถึงทุกครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียน แม้ว่าจะมีส่วนต่างไม่มากนักก็ตาม ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลความพอใจของเกษตรกรต่อนโยบายการประกันรายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากโครงการนี้ ก็มีให้เห็นไม่ต่างจากโครงการอื่นๆของรัฐบาล แต่โครงการนี้ถือว่าสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรเกือบยี่สิบล้านคนทั่วประเทศ ปัญหาที่พบก็มีมากมาย เช่น ตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรกโครงการมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วม ทำให้เสียสิทธิ์ไป ดังนั้นจึงพบว่าการเปิดลงทะเบียนในรอบต่อๆมา จะมีผู้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรกันเพิ่มขึ้นเท่าตัว และในช่วงรอบแรกของโครงการที่การดำเนินงานยังไม่รัดกุม ในช่วงเวลานั้นพบว่านอกจากการแจ้งแปลงนาแล้ว ยังมีการแจ้ง ที่บ้าน ที่สวน ที่ไร่ ร่วมด้วย ทำให้ตัวเลขพื้นที่นาที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นในรอบหลัง จึงมีการกำหนดให้ต้องถ่ายรูปแปลงนาประกอบด้ว นอกจากนี้การจำกัดพื้นที่และจำกัดเพดาน ซึ่งรอบแรกจำกัดไว้ที่ 25 ตัน และเพิ่มเป็น 30 ตันในรอบนาปีของปี 2553 การจำกัดในลักษณะนี้ส่งผลผระทบต่อคนที่ทำนามากกว่า 30 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องมีความยุ่งยากมากขึ้นในการที่จะให้ได้เงินชดเชยตามพื้นที่ที่เขาทำนาจริงมากที่สุด จึงมีทั้ง แบ่งโฉนด ย้ายทะเบียนบ้าน หาคนมาลงทะเบียนแทน เพราะเพดานที่จำกัดไว้นั้น หากชาวนาแจ้งตามเพดาน แต่ถ้าเขาทำนามากกว่านั้น แสดงว่าข้าวส่วนที่เหลือก็ต้องขายในราคาที่ถูกกว่าราคาประกันมาก ต่างกันอย่างน้อย 1,000-2,000 บาท เลยทีเดียว หนักเข้า ก็มักจะถูกหาว่าชาวบ้านโกง ทั้งที่ในความเห็นของชาวบ้านแล้ว เขารู้สึกว่านั่นเป็นเงินส่วนที่เขาควรจะได้มิใช่หรือ นอกจากนี้แล้ว การขึ้นลงของราคาข้าวตามเกณฑ์อ้างอิงนั้นก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหมายถึง เงินค่าชดเชยส่วนต่างที่แตกต่างกันในลักษณะนี้จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาต้องคอยลุ้นว่าจะได้ราคาที่เท่าไหร่ ได้ส่วนต่างที่เท่าไหร่ ชาวบ้านหลายคนจึงบอกว่า ที่เขาเรียกเงินตามนั้นถูกแล้วเพราะเขาต้องคอยตามเงินว่าจะได้เท่าไหร่กันแน่ มาถึงนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าชาวบ้านที่ชอบนโยบายรับจำนำ พวกเขาฝันถึงข้าวราคาเกวียนละ 15,000 บาท ที่เขาเคยได้ และมั่นใจว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเขาจะได้ขายข้าวที่ราคานี้ หรือยังไงก็ไม่ต่ำกว่าเกวียนละหมื่นแน่ๆสำหรับข้าวนาปรัง ส่วนพวกพ่อค้าโรงสีก็คงรอนโยบายนี้ด้วยใจจดใจจ่อด้วยเหมือนกันเพราะงบประมาณจากโครงการนี้นั้นมหาศาลทีเดียว ยิ่งในช่วงนี้ยังมีข่าวว่าบรรดาโรงสีพากันซื้อข้าวกักตุนไว้เพราะข้าวตามนโยบายประกันรายได้มีราคาถูก แล้ว รอเอาข้าวไว้ขายในช่วงหลังเลือกตั้งที่พวกเขาคาดว่าจะมีการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นแน่นอน มาดูเหตุผลความชอบใจของเกษตรกรต่อโครงการรับจำนำข้าว แน่นอนว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่พอใจและรู้สึกมั่นใจกับนโยบายรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย เหตุผลความชอบใจประการหนึ่งคือ เขารู้สึกอย่างชัดเจนว่าข้าวที่เขาขายได้มีราคาสูงกว่าการประกันราคา และไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดด้วยพื้นที่ แม้ว่าจะมีการจำกัดเพดานไว้ที่ 45 ตัน ก็ตาม ทั้งหมดนี้ทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่าเขาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ จากการรับจำนำ โดยไม่ต้องมาคอยลุ้นว่าจะได้ส่วนต่างเท่าไหร่กันแน่ ชาวนาที่ทำนาหลายๆไร่ และทำนาได้ผลผลิต 80 ถัง หรือขึ้นไปถึงไร่ละตัน เขาย่อมพอใจและมีความสุขที่ได้ขายข้าวราคาสูงตามปริมาณข้าวที่เขาได้เก็บเกี่ยวจริง โดยไม่ต้องมาใช้วิธีพิเศษจนถูกเรียกว่า โกง อย่างที่มีข่าวกัน และอาจจะปล่อยให้คำนี้ตกไปอยู่ที่บรรดาพ่อค้าโรงสี ที่หัวดีกว่าชาวนา (ฮ่าฮ่า) ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ก็รู้ว่าส่วนใหญ่โรงสีก็มักจะมีวิธีพิเศษเช่นกัน แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าข้าวที่เขาขายได้นั้นขอให้มีราคาสูงก็พอ เมื่อพูดถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ลงทะเบียน เพื่อร่วมโครงการ ดูเหมือนว่าชาวนาส่วนใหญ่จะชอบ วิธีปฏิบัติแบบรับจำนำกันเสียมาก ด้วยเพราะเขาให้เหตุผลว่า ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน ไม่ต้องมีเอกสาร และขั้นตอนมากมายเหมือนการประกันราคา ที่ชาวนาต้องวิ่งถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งเจ้าของนาหวงนักหวงหนา ต้องถ่ายรูปแปลงนา ต้องรอประชาคม แต่การรับจำนำเพียงแต่เอาใบขายข้าวจากโรงสีไปยื่นที่ ธกส. แล้วรอเงินโอนเข้าบัญชีเท่านั้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านบอกว่า ทั้งการประกันรายได้ และการรับจำนำ นั้นชาวบ้านต้องรอการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งอาจจะใช้เวลานานเกือบเดือนก็มี ชาวบ้านส่วนหนึ่งเห็นว่าการรับจำนำเปิดโอกาสให้ชาวนาเลือกราคาข้าวได้มากกว่าการประกันรายได้ เช่น ในช่วงที่ข้าวราคาดี ชาวนาก็อาจจะตัดสินใจขายสด คือขายไม่เข้าโครงการ แต่เอาเงินสดไปเลย แต่ถ้ายังไม่พอใจราคา ก็อาจจะเข้าโครงการรับจำนำ แล้วรอราคาข้าวให้ข้าวราคาดี แล้วค่อยขายก็ได้ แต่กรณีนี้ชาวนาที่ต้องการเงินสดหมุนเวียนอาจจะไม่ชอบนักเพราะต้องรออีกระยะจึงจะได้รับเงิน แม้ว่าจะได้รับเงินมากกว่าขายสดก็ตาม อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะมีปัญหาอยู่มากทีเดียว แม้ว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่เอาเข้าจริง ชาวนาก็ยังขายได้ต่ำกว่าราคารับจำนำ เพราะถูกหักค่าความชื้นอยู่ดี แต่ยังไงก็ถือว่าดีกว่าการประกันรายได้ แต่จุดที่เป็นปัญหาของโครงการรับจำนำนั้นดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับโรงสีเกือบทั้งสิ้น เพราะโครงการนี้ดำเนินการผ่านโรงสี ต่างจากการประกันรายได้ที่ดำเนินการผ่านชาวนาโดยตรง ทำให้ในขั้นตอนปฏิบัติการ มีวิธีพิเศษมากมายที่โรงสีสามารถทำกำไรจากโครงการลักษณะนี้ ในขณะที่การประกันรายได้ลดบทบาทของพ่อค้าโรงสีไป แต่ก็ทำให้พ่อค้ามีโอกาสกดราคารับซื้อได้มากขึ้น แต่การรับจำนำนั้นโรงสีมีบทบาทสำคัญ และเป็นการเปิดโอกาสให้โรงสีสามารถใช้วิธีพิเศษกับโครงการนี้ได้โดยไม่ยากนัก ดังที่เป็นข่าวทราบกันทั่วไป ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นโยบายรับจำนำนั้นชาวบ้านที่ปลูกข้าวนาปีทั้งไว้กินและแบ่งขายบ้าง อาจจะไม่ได้ประโยชน์นักจากนโยบายรับจำนำ แม้ว่าจะมีการตั้งเกณฑ์รับซื้อไว้สูง แต่เอาข้าวจริงๆ แล้ว ข้าวที่ชาวนานำไปขายนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ก็จะถูกพ่อค้ากดราคารับซื้ออยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ ถ้าราคารับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ราคาที่ชาวบ้านขายได้ในเวลานั้นก็น่าจะอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท เท่านั้น แต่พอถึงช่วงข้าวแพง ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่มีข้าวขาย ผลประโยชน์ของการรับจำนำจึงน่าจะไปตกอยู่กับโรงสีมากกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการใช้งบประมาณระหว่างการรับจำนำกับการประกันรายได้ พบว่าการรับจำนำนั้นใช้งบประมาณมากกว่าการประกันรายได้อยู่มากทีเดียว เพราะการรับจำนำนอกจากต้องใช้งบสำหรับการรับซื้อข้าวแล้วยังต้องมีงบประมาณสำหรับการจัดเก็บอีกด้วย แต่ก็เถอะ รัฐบาลใช้งบประมาณไปอุดหนุนภาคธุรกิจอื่นๆ ก็ตั้งมากมาย แล้วถ้างบประมาณจะมาอุดหนุนชาวนารายย่อยบ้างจะเป็นไรไป แม่นบ่..พี่น้อง คำถามสุดท้าย แล้ววันเลือกตั้งชาวบ้านจะเลือกนโยบายแบบไหน จากการสอบถามเกษตรกรจำนวนหนึ่ง พบว่ามีทั้งคน ที่ชอบ และ ไม่ชอบ นโยบายการประกันรายได้ และนโยบายรับจำนำ และความชอบหรือไม่ชอบในสองนโยบายนี้ ก็อาจจะไม่เกี่ยวกันนักกับความนิยมในพรรคการเมืองนั้นๆ แต่อาจเกี่ยวข้องกับความพอใจกับรายได้ที่ได้จากการขายข้าวเป็นสำคัญ และเป็นไปได้อย่างมากที่ พี่น้องชาวอีสาน ถึงแม้ว่าจะชอบประกันรายได้ แต่ว่าจะกาเบอร์หนึ่ง (ฮา)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท