Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศิริราชพยาบาลเป็นสถาบันการแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 และต่อมาได้โปรดเกล้าให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2433 และจากโรงเรียนแพทย์ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นคณะแพทยศาสตร์ จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีแห่งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 จนถึงปัจจุบันเรียกได้ว่า ศิริราชพยาบาล เป็นเสาหลักต้นใหญ่ของวงการสุขภาพไทย “วันมหิดล” เป็นวันสำคัญของบุคลากรสายสุขภาพ ด้วยตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี เพื่อร่วมกันน้อมสำนึกพระเมตตาคุณพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ผู้ทรงอุทิศพระองค์ “ทรงให้” ด้วยน้ำพระทัยอันบริสุทธิ์ในการช่วยผู้ป่วย แต่ในปีนี้ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ป้ายประชาสัมพันธ์งานวันมหิดลนั้น มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตา ซึ่งขัดแย้งอย่างยิ่งกับอุดมการณ์ทางสุขภาพของทุกสถาบันการแพทย์การสาธารณสุขนั่นคือ การมีโลโก้ “ไทยเบฟ” หรือเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า นี่คือสัญลักษณ์ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทผู้ผลิต “เบียร์ช้าง” ปรากฏอยู่ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ด้วย “ไทยเบฟ” ไม่ได้ผลิตแต่เบียร์ช้างเท่านั้น ยังเป็นเจ้าของสิ่งมึนเมาที่มอมเมาประชาชนมายาวนานหลายยี่ห้อ เช่น เหล้าแม่โขง เหล้าแสงโสม เหล้าขาว เหล้าหงส์ทอง เหล้าคราวน์99 เหล้าเบรน285 เบียร์อาชา และเหล้าเบียร์อีกหลายยี่ห้อ มินับน้ำดื่มตราช้างที่เจตนาผลิตขึ้นมาเพื่อการโฆษณาแฝง ซึ่งเป็นเทคนิคในการหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ปัจจุบันห้ามโฆษณาก่อนเวลา 4 ทุ่ม \ไทยเบฟ” เป็นข่าวใหญ่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย แต่จากแรงต้านทางสังคม จึงต้องหนีไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์แทน ด้วยความเป็นอุตสาหกรรมที่มอมเมาประชาชน การสร้างภาพลักษณ์จึงเป็นหัวใจสำคัญของบริษัทน้ำเมา ไทยเบฟซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ให้กับศิริราชพยาบาล จึงทำให้ คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ( ภรรยาของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัทไทยเบฟฯ ) ได้เป็นคณะกรรมการบริหารศิริราชมูลนิธิด้วย กรณีการมีโลโก้ของไทยเบฟในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งานวันมหิดลประจำปี 2554 ก็คงเพราะความเคยชินกับการรับเงินบริจาคโดยไม่ได้แยกแยะใส่ใจอย่างลึกซึ้งต่อผลกระทบในระยะยาว จนวันนี้อาจเรียกได้ว่า ศิริราชพยาบาล สถาบันการแพทย์ชั้นหนึ่งของประเทศไทย ได้ตกเป็นเครื่องมือของการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทน้ำเมาอันดับหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือลืมตัวก็ตาม ทุกคนล้วนทราบดีว่า การดื่มและการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนไม่สอดคล้องกับทั้งศีลธรรมและสุขภาพ ทั้งในมิติทางศาสนาและมิติทางสังคม วงการแพทย์เองก็เผชิญกับความทุกข์ของผู้ป่วยที่ป่วยเพราะเหล้า เช่นเป็นโรคตับแข็งหรือประสบอุบัติเหตุจราจรเพราะความมึนเมา การชกต่อย การสร้างความรุนแรงในครอบครัว และการสูญเสียทั้งชีวิต จิตใจและทรัพย์สิน สร้างปัญหาเพิ่มความแออัดแก่ห้องฉุกเฉินทุกค่ำคืนโดยไม่จำเป็น สร้างภาระและความเอือมระอาให้กับโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลคือมหาวิทยาลัยด้านสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งประกาศพันธกิจ ว่า “สร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ... บนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อสังคมไทย และประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” ในขณะที่ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศวัฒนธรรมมหิดล ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “มั่นคงยิ่งในคุณธรรม” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ซึ่งอธิบายไว้ว่าคือการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และสังคม ในขณะที่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุในพันธกิจว่าหนึ่งในนั้นคือ “ชี้นำสังคมไทยในด้านสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิต” แต่น่าเสียดายที่ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงเจตนารมณ์และคำขวัญที่สวยงามเท่านั้น การยอมรับให้ใส่สัญลักษณ์ของบริษัทไทยเบฟในป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรม โดยอ้างว่าเป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้สัญญาการรับเงินบริจาคช่วยกิจกรรมนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า “เงินนั้นสามารถง้างวัฒนธรรมมหิดลได้” สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั้นสูงส่งและมุ่งมั่นในยกระดับมาตรฐานทางวิชาการแพทย์ และต่อสู้เพื่อการสร้างสุขภาพของประชาชน ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีโลโก้ของไทยเบฟในป้ายประชาสัมพันธ์วันมหิดล เพียงใช้สามัญสำนึกก็รับรู้ได้ว่า “ไม่สมควร” มหาวิทยาลัยมหิดลและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลไม่เพียงแต่ควรปลดโลโก้ของไทยเบฟออกจากโปสเตอร์เท่านั้น แต่ควรทบทวนแนวทางการรับบริจาคจากธุรกิจที่มีส่วนในทำลายสุขภาพของประชาชนเช่นบริษัทน้ำเมาด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างต่อนักศึกษาทุกสาขาวิชา ที่ควรเรียนรู้ถึงความเข้มแข็งในการปฏิเสธเงินจากธุรกิจที่มอมเมาและทำลายสุขภาพของประชาชน ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมดาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอาจการไม่เท่าทันเล่ห์กลการโฆษณาแฝงทางธุรกิจ บทเรียนในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านสุขภาพ ยิ่งควรที่จะนำบทเรียนนี้ เข้าหารือเพื่อการมีมติในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในการการสร้างบรรทัดฐานและสร้างสำนึกทางจริยธรรมของทุกสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ต่อเยาวชนไทย ให้ยึดมั่นในพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชชนกที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net