Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2554 ณ สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ‘Five years after the military coup: Thailand political development since Thaksin’s Downfall’ (5 ปีหลังการรัฐประหาร: การพัฒนาทางการเมืองไทยตั้งแต่การล่มสลายของทักษิณ) โดยมีนักวิชาการด้านไทยศึกษาร่วมอภิปรายหลายท่าน เช่น ธงชัย วินิจจะกูล เดวิด เสตร็กฟัสส์ แอนดรูว์ วอล์กเกอร์ เป็นต้น 0 0 0 ‘Two elephants in the room’ ธงชัยอภิปรายถึงสำนวน ‘Elephants in the room’ ซึ่งหมายถึงสิ่งหรือปัญหาใหญ่ที่อยู่ต่อหน้าต่อตา หากแต่ไม่มีใครกล้าที่จะพูดถึง ซึ่งในที่นี้ เขากล่าวถึงช้างสองตัว โดยช้างตัวแรก เป็น ‘ช้างเผือก’ และช้างตัวที่สองคือ ‘ช้างบ้าน’ และในการที่จะออกจากวิกฤติการณ์การเมืองไทย ช้างสองตัวนี้ จำเป็นจะต้องได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนอยู่จริง และนำมาอภิปรายร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การประนีประนอมระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งในสังคมไทย สำหรับช้างตัวแรก ธงชัยกล่าวถึง ‘Royal Democracy’ ซึ่งหมายถึงสิ่งซึ่งเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ หรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันมีความขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งความขัดแย้งระหว่างอาณัติจากประชาชน และอิทธิพลของราชวงศ์ (Royal dominant) นี้ สามารถดำเนินไปได้ถึงจุดหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดแล้ว สองอย่างนี้จะถึงจุดที่ขัดแย้งกันและดำเนินต่อไปไม่ได้อีก ซึ่งธงชัยมองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งดังกล่าว เปรียบได้เหมือนกันหลุมดำที่ดูดสรรพสิ่งทุกอย่างหายไปในหลุมดำนั้น และถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยและเหตุผลหลายอย่างที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และมีส่วนในวิกฤติการณ์การเมืองในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงมากนัก คือประเด็นที่ว่า สถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องในการเมือง ซึ่งเขามองว่า เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีส่วนในวิกฤติการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น ธงชัยยังกล่าวว่า นอกจากเราจะเรียกสภาวะดังกล่าวว่าเป็น ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ แล้ว เรายังสามารถเรียกสถานการณ์ดังกล่าวได้ว่า ‘สภาวะการปฏิเสธความจริง’ และสภาวะดังกล่าวนี้เองที่ทำให้วิกฤติทางการเมืองของประเทศไทยย่ำแย่ยิ่งขึ้น การศึกษาทางวิชาการในประเด็นดังกล่าวพบว่า สถาบันกษัตริย์ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนมากขึ้นในรอบ 35 ปี อาจกล่าวได้ว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ.2475 สถาบันกษัตริย์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเมืองไทยตลอดมาไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ค่อยมีคนหยิบยกมาพูดถึงมากนัก ธงชัยกล่าวว่า ในการพูดถึงการเมืองไทย หากไม่พูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราก็ไม่สามารถทำความเข้าใจอย่างแท้จริงได้ และเมื่อพูดถึง ‘สถาบันกษัตริย์’ เขามิได้หมายถึง ‘กษัตริย์’ อย่างเดียว หากแต่หมายถึง ‘เครือข่ายสถาบันกษัตริย์’ (Network Monarchy) ดังที่ดันแคน แม็กคาร์โก นักวิชาการด้านการเมืองไทยได้กล่าวไว้ ซึ่งเครือข่ายดังกล่าว ยังรวมไปถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นเชื้อราชวงศ์ แต่อยู่ในเครือข่ายสถาบันฯ ดังกล่าวด้วย เช่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น ปัจจัยสี่ประการกับความสำเร็จของการครองราชย์ ธงชัยยังอภิปรายต่อไปถึงองค์ประกอบสี่ประการที่ทำให้การครองราชย์ของในหลวงรัชกาลปัจจุบันประสบความสำเร็จ อย่างแรก คือ ความคิดเรื่อง ‘ธรรมราชา’ ที่สามารถอธิบายถึงความชอบธรรมและอำนาจในทางศีลธรรมของผู้ปกครอง โดยผูกอยู่กับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และฮินดู ความคิดดังกล่าวตรงข้ามกับลักษณะอำนาจที่มีความเป็นสมัยใหม่ทางฆราวาสเป็นอย่างมาก ธงชัยยกตัวอย่างสำนวนภาษาอังกฤษที่กล่าวว่า ‘Power corrupts, absolute power corrupts absolutely’ (อำนาจทำให้เสียคน และอำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้เสียคนยิ่งกว่า) มาเปรียบเทียบ โดยชี้ให้เห็นว่า ในคอนเซปท์ของพราหมณ์-พุทธ การมีอำนาจเด็ดขาด หมายถึงการมีคุณธรรมสูงสุด มากกว่าหมายถึงการทำให้เสียคน และคอนเซปต์เรื่องธรรมราชานี้ก็ถูกนำมาใช้กับสถาบันฯ ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา องค์ประกอบที่สอง คือ ความเป็นสาธารณะของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในความรับรู้ของสาธารณชนเป็นส่วนใหญ่ ธงชัยชี้ว่า หากมีคนเรียกอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นนักประชานิยมแล้ว คงยังมีนักประชานิยมที่มานานก่อนหน้านั้นแล้ว และมีฐานเสียงระดับประเทศ ซึ่งผู้นั้นก็คือสถาบันกษัตริย์ สิ่งที่สาม คือสิ่งที่เรียกว่า ‘Royal Capital’ หรือทุนสถาบันฯ มีการกล่าวกันว่า ทุนของสถาบันฯ เป็นทุนเก่า ส่วนทุนของทักษิณเป็นทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ หากแต่ธงชัยมองว่า ที่จริงแล้ว ทั้งสองต่างเป็นทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไม่ต่างกัน อย่างสุดท้าย ธงชัยกล่าวถึงความเป็นการเมืองของการ ‘อยู่เหนือ’ การเมือง โดยเมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 และให้จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แท้จริงแล้วคณะราษฎรตั้งใจจะให้สถาบันฯ ออกไปจากการเมืองอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ได้ตีความคำดังกล่าวใหม่ และใช้คำว่า ‘เหนือการเมือง’ ที่หมายถึง ‘ความเหนือกว่า’ ‘สะอาดกว่า’ และมีศีลธรรมสูงกว่าการเมืองแบบธรรมดาแทน ธงชัยได้ทิ้งคำถามและข้อสังเกตไว้ด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา อาจเรียกได้ว่าเป็นภาวะ ‘Hyper-Royalism’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นปฏิกิริยาต่อ ‘ความถึงราก’ (radicalism) และความกลัวคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา ช้างตัวที่สอง – ฝ่ายวิจารณ์สถาบัน ในส่วนนี้ ธงชัยอธิบายถึงปรากฎการณ์ ‘ตาสว่าง’ ในหมู่คนเสื้อแดง ซึ่งเป็นการวิพากษ์อันมีที่มาจากความผิดหวังในสถาบันกษัตริย์ และถึงแม้ว่าเสื้อแดงบางส่วนจะไม่ยอมรับว่ามีส่วนนี้อยู่จริง แต่ธงชัยชี้ว่า เราจำเป็นต้องรับถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มที่วิพากษ์สถาบันฯ ในฐานะช้างตัวที่สองที่อยู่ในห้อง ทั้งนี้ เขาได้ชี้ถึงลักษณะสามประการที่แตกต่างไปจากอดีต อย่างแรก คือ จะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายที่วิพากษ์และต่อต้านสถาบันได้ขยายออกไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ในอดีตกลุ่มนี้จะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้น และการกำเนิดขึ้นมาของส่วนนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นมาอย่างปุบปับและมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ โดยเฉพาะ หากแต่ธงชัยเสนอว่า ภาวะ ‘ตาสว่าง’ หรือความผิดหวังในสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปฎิกริยาต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘Hyper-royalist’ กล่าวคือ ตัวสถาบันกษัตริย์เอง ไม่มีใครอื่น ที่เป็นผู้ที่เพาะความรู้สึกต่อต้านสถาบันฯ นี้ขึ้นมา ธงชัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่า วิธีที่สถาบันฯ เลือกที่จะใช้ในการรับมือฝ่ายที่ต่อต้าน จะมีส่วนกำหนดทิศทางของฝ่ายดังกล่าว ถ้าหากว่าสถาบันฯ ยังคงใช้วิธีที่รุนแรงจัดการ เช่น การจับเข้าคุก ก็จะยิ่งผลักให้ฝ่ายที่ต่อต้านไปไกลมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การล่าแม่มด เช่น การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลเสียต่อสถาบันฯ มากกว่าเดิม การก้าวพ้นออกจากวิกฤติ ธงชัยชี้ว่า ช้างสองตัวนี้ อาจดำรงอยู่โดยไม่ถูกพูดถึงได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม วิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เป็นปัจจัยที่ทำให้ช้างสองตัวนี้ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเขาเสนอว่า ในการออกจากวิกฤติดังกล่าว จำเป็นต้องทำให้การสืบรัชทายาทเป็นเรื่องที่ไม่มีนัยยะสำคัญทางการเมือง และทำให้สถาบันกษัตริย์ออกไปจากการเมืองอย่างแท้จริง และจุดเริ่มต้นในการก้าวออกจากวิกฤตนี้ ก็คือการยอมรับถึงความจริงเกี่ยวกับช้างสองตัวที่กล่าวมาในข้างต้น แทนที่จะจมอยู่ในภาวะการปฏิเสธความจริงและการหลอกตัวเองเช่นนี้เรื่อยไป หมายเหตุ บทความที่นำเสนอในงานสัมมนาวิชาการดังกล่าว จะถูกรวมเล่มและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Institute of Southeast Asian Studies ประเทศสิงคโปร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net