Skip to main content
sharethis

(27 ก.ย.54) ในเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อมวลชนในการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอื้อ จิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ นำเสนอข้อสังเกตจากผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ ในประเด็น “การทำงานของฟรีทีวีในการเลือกตั้งทั่วไป 3 กรกฎาคม 2554” ซึ่งศึกษาการเสนอข่าวและเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งของฟรีทีวี 6 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส ในช่วงวันที่มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค.54 ได้แก่ วันจับสลากหมายเลขพรรคการเมือง (19 พ.ค.54) วันรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง (5 มิ.ย.54) วันดีเบตประชันวิสัยทัศน์นักการเมือง วันปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ และวันเตรียมตัวก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า (23 มิ.ย.54) วันก่อนวันเลือกตั้ง (2 ก.ค.54) และวันเลือกตั้ง (3 ก.ค.54)

จาก การศึกษาพบว่า เน้นการนำเสนอในมิติของ "นักการเมือง" ประชาชนมีบทบาทถึงแค่ตอนลงคะแนนเสียง หลังจากนั้นมีแต่เรื่องของนักการเมือง ทั้งนี้มีบางช่องแบ่งพื้นที่เพื่อรายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การตัดสิน ใจของประชาชน แต่ก็นำเสนอในสัดส่วนที่น้อยกว่า

ฟรี ทีวีในภาพรวมมีความสมดุลในการรายงานข่าวพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลาง แต่ไม่ค่อยสมดุลต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก นอกจากนี้ ยังเน้นการรายงานข่าวของนักการเมืองในระดับแนวหน้า เช่น หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค และนักการเมืองที่สร้างสีสัน สำหรับประเด็นความเป็นกลาง ทุกสถานีมีการสอดแทรกความคิดเห็น การชี้นำในการรายงานข่าว แต่เมื่อมีกรณีที่เกิดการพาดพิง ก็จะให้พื้นที่แก่ผู้ถูกพาดพิงในการแก้ต่าง

ฟรีทีวีทุกช่องให้ ความสำคัญกับการเฝ้าระวังการเลือกตั้ง โดยการรายงานข่าวความผิดปกติที่พบ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร้องเรียนปัญหาและความไม่สะดวก รวมถึงการให้ความรู้เรื่องกฎระเบียบในการเลือกตั้ง แต่ขาดการตรวจสอบการดำเนินการของ กกต. โดยเฉพาะประเด็นระเบียบในการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้มีผู้ต้องการใช้สิทธิจำนวนมากต้องเสียโอกาสในการลงคะแนนเลือก ตั้งล่วงหน้า

เอื้อ จิต กล่าวต่อว่า จากการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะฟรีทีวี ในการทำข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งในปี 2549, 2550 และปี 2554 อาจสรุปได้ว่า ในการรายงานสถานการณ์และเหตุการณ์การเลือกตั้งฟรีทีวีมีกรอบยึดติด 7 กรอบลักษณะคือ 1.รายงานเพียงปรากฏการณ์ย่อย 2.ลดปมขัดแย้งเหลือเพียงเรื่องส่วนตัว/คู่ขัดแย้ง 3.นำเสนออย่างเสมือนละคร เน้นเร้าอารมณ์ สนุกสนาน 4.เลียนแบบ/คัดลอก/เหมือน-คิดว่าตนเองพิเศษ 5.ขาดการเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือที่มีก็เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะเทียม 6.ไม่ยึดมาตรฐาน-จรรยาบรรณวิชาชีพ 7.เลือกข้าง แบ่งฝ่าย ฝักใฝ่กลุ่มการเมือง (อ่านสรุปผลการศึกษาที่
http://www.mediamonitor.in.th/main/news/2011-07-05-06-20-17/263-2011-09-22-05-22-04.html

ทั้ง นี้ เอื้อจิต กล่าวว่า คณะกรรมการผู้ทำวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ในอนาคต โทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิลท้องถิ่นอาจเข้ามามีบทบาทต่อการเลือกตั้งมากขึ้น เพราะรายงานใกล้ชิดแหล่งข่าว ขณะที่สื่อฟรีทีวี มีข้อจำกัด ด้วยเหตุผลเชิงพาณิชย์

ด้าน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงระเบียบวิธีวิจัยของมีเดียมอนิเตอร์ว่า เหตุใดช่วงเวลาที่ศึกษา จึงเลือกเฉพาะวันปราศรัยของ ปชป.เท่านั้น ขณะที่วันปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็เป็นปรากฏการณ์ใหญ่เช่นกัน เท่ากับมีเดียมอนิเตอร์ไม่ได้ให้พื้นที่กับพรรคอื่นหรือไม่ นอกจากนี้ การเลือกศึกษาช่วงวันที่มีการจัดดีเบตวิสัยทัศน์ มีเดียมอนิเตอร์กลับไม่ได้ตั้งคำถามว่าการดีเบตถูกต้องตามกระบวนการหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าไม่ใช่การดีเบต แต่ก็ไม่มีสื่อฉบับไหนตั้งคำถาม

ด้าน เนื้อหาที่มีการวิจารณ์ว่าสื่อเสนอแต่ส่วนย่อย เน้นอารมณ์และมีอคตินั้น สิริพรรณเสนอว่า สื่อควรทำข่าวเชิงลึกมากขึ้น ต้องมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น ไม่ใช่เล่นตามกระแส โดยการเลือกตั้งที่ผ่านมา สิริพรรณมองว่าสื่อไม่ตั้งคำถามกับการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กกต. ก่อนการเลือกตั้งหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลก ไม่ตั้งคำถามกับการห้ามหาเสียงในคืนก่อนวันเลือกตั้งทั้งทางสื่อและอิน เทอร์เน็ต ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ไว้ใจประชาชนในสังคมไทย และไม่ได้ตั้งคำถามกับการที่มีบัตรเสียจำนวนมาก ซึ่งจากงานวิจัยของตนเองพบว่า เกิดจากการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง และไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับประชาชน มีประชาชนจำนวนมากไปถึงหน่วยเลือกตั้งแล้วถูกปฏิเสธ เพราะเคยลงเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน แต่รายชื่อยังอยู่

ใน รายงานของมีเดียมอนิเตอร์พูดถึงเรื่องความเป็นกลางบ่อยครั้ง โดยหยิบเอาความเป็นกลางมาผนวกกับการจัดสรรเวลาให้พรรคการเมืองว่าต้องจัดให้ เท่าๆ กัน ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องยาก เพราะที่สุดแล้ว พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องกุมพื้นที่ข่าว เพราะสมาชิกเยอะ นโยบายเยอะ ขณะที่พรรคเล็กอาจไม่มีนโยบายเลย ดังนั้นการประเมินการจัดสรรเวลาจึงทำได้ยาก น่าจะประเมินเรื่องการนำเสนอที่ไม่บิดเบือนมากกว่า

นอกจากนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์วิจารณ์ว่า สื่อควรยอมรับว่าตัวเองเป็น copy cat ไม่ทำให้ตัวเองโดดเด่นในการนำเสนอข่าว ปัญหาของสื่อไทยไม่ใช่เรื่องของความลำเอียง แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพและความสามารถในการทำข่าว เพื่อเสนอประเด็นแหลมคมที่เป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้ ซึ่งไม่ได้โทษที่ตัวนักข่าว แต่โทษคนคุมสื่อ ซึ่งคือนายทุน การกลัวโดนถอนโฆษณา หรือหากอีกพรรคการเมืองขึ้นมาจะมีปัญหากับรัฐบาล ทำให้สื่อควบคุมและเซ็นเซอร์ตัวเอง

นอกจากนี้ สิริพรรณระบุว่า ไม่ห่วงช่อง 3, 5, 7, 9 ซึ่งเป็นสื่อการค้า แต่ที่ห่วงมากที่สุดคือ ไทยพีบีเอส เพราะไม่ได้ถูกจำกัดโดยทุน มีเวลานำเสนอข่าวมากกว่า และได้งบ 2,000 ล้านบาทต่อปีจากภาษีของประชาชน แต่ไม่เคยเสนอข่าวที่ต่างจากช่องอื่นเลย พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมต้องเสียเงินเพื่อเสนอข่าวเหมือนกัน

อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ กล่าวเสริมว่า สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ดังนั้น สื่อต้องมีเป้าหมายว่าจะนำเสนอแต่ละเรื่องเพื่ออะไร ทั้งนี้ เธอระบุด้วยว่า การที่สื่อทำให้นักการเมืองเป็นตัวตลกในบางครั้งนั้นไม่เป็นไร แต่ก็อยากให้สื่อ dehumanize คนในสังคมบางคนที่ถูกทำให้แตะต้องไม่ได้บ้าง

สิริ พรรณเสนอให้มีการจัดอบรมทักษะนักข่าวด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพการทำงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรณีที่อ้างว่าคุณภาพข่าวถูกกำหนดด้วยเวลานั้น เมื่อดูทีวีจะพบการเสนอข่าวซ้ำกันในหลายช่วงเวลา ซึ่งแสดงถึงความไม่ลงทุนกับการทำข่าว ซึ่งปัญหาคงไม่ใช่ที่ตัวนักข่าว แต่เป็นทั้งทุน และอำนาจรัฐ

สิริพรรณ ทิ้งท้ายว่า เข้าใจถึงข้อจำกัดของสื่อ แต่การทำสื่อก็เหมือนประชาธิปไตย ที่เราอาจจะไปไม่ถึงเลยก็ได้ แต่เราจะไม่ไปทางนั้นไม่ได้

มา ร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย มองว่า สื่อไทยอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภายนอก ได้แก่ การครอบงำสื่อโดยภาคเอกชน การข่มขู่ แรงกดดันด้านกฎหมาย เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การครอบงำทางการเมือง หน่วยงานรัฐและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัญหาภายใน เกิดจากการขาดคุณภาพและศักยภาพของสื่อเอง ทั้งนี้ แนะนำว่า บทบาทของสื่อในช่วงวิกฤต ควรแสดงภาพรวม ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และการเมือง กำหนดรูปแบบการอภิปราย และสร้างพลเมืองที่สามารถตัดสินใจรอบคอบ

พิจิต รา ศุภสวัสดิ์กุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงสื่อท้องถิ่นว่า ต่อไปจะมีบทบาทมากขึ้น โดยในวันประกาศผลการเลือกตั้ง พบว่าโทรทัศน์เคเบิลได้เรตติ้งสูงกว่าฟรีทีวี และจากการสำรวจของนีลเซน พบว่ารายการข่าวท้องถิ่นได้รับความสนใจอันดับสองรองจากข่าวบันเทิง อย่างไรก็ตาม ยังตั้งคำถามว่า สื่อท้องถิ่นจะเสริมสร้างประชาธิปไตยหรือโฆษณาชวนเชื่อให้กลุ่มก้อนทางการ เมือง เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ประชาชนในระยะยาว

อาจารย์ คณะนิเทศศาสตร์เสนอด้วยว่า ในอนาคต ควรมีการตรวจสอบความเป็นเจ้าของสื่อว่าสื่อที่ให้ข้อมูลกับประชาชนในช่วง เลือกตั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคการเมืองมากแค่ไหน เนื่องจากมองว่าภาคการเมืองย่อมเข้ามาใช้สื่อเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ทั้งนี้ นอกจากการเรียกร้องให้ผู้รับสื่อเท่าทันสื่อแล้ว สื่อเองต้องรู้เท่าทันเกมทางการเมือง อ่านวาระทางการเมืองให้ออกด้วย

นพ.นิ รันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อยังขาดบทบาทในการวิเคราะห์เจาะลึก เสนอข่าวไปตามกระแสและอารมณ์ของสังคม ทั้งยังเซ็นเซอร์ตัวเอง บางครั้งสื่อไม่กล้าเสนอข่าวเรื่องสถาบันฯ หรือระบบตุลาการ ทั้งที่ทุกสถาบันขณะนี้ถูกดึงเข้ามา ถ้าสื่อไม่ทำให้ทะลุทุกมิติความขัดแย้ง ถามว่าคนไทยที่บริโภคสื่อจะตัดสินได้อย่างไร

เขา เสนอว่า สื่อต้องมองให้เห็นว่าตัวเองไม่ใช่คนขายข่าว แต่จะเป็นผู้ที่นำไปสู่เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการมีส่วนร่วมใน ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่สังคมไทยขาดมาตลอด พร้อมชี้ว่า ขณะนี้ มีการร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในการสื่อสารมาที่ กสม. เพียง 2 เรื่อง คือ กรณีที่ชาวต่างชาติและนักวิชาการไทยบางส่วนร้องเรียนเรื่องการปิดเว็บไซต์ จำนวนมาก และกรณีพนักงานการบินไทยร้องเรียนการถูกปิดเว็บไซต์สื่อสารของกลุ่ม ขณะที่ก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากถูกละเมิด แต่ไม่มาร้องเรียน

พลภฤต เรืองจรัส กรรมการสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  กล่าวว่า แม้ว่า เขาจะเชื่อในความบริสุทธิ์ใจของเพื่อนสื่อ แต่ต้องยอมรับว่าสื่อไม่มีอิสระ แม้กระทั่งไทยพีบีเอส ที่ถูกสร้างให้อิสระและปลอดการเมือง แต่ยังมีข้อกังขา เช่น กรณีที่รายการตอบโจทย์ ไปสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งผู้ที่สัมภาษณ์ไปด้วยเงินของไทยพีบีเอสและผู้บริหารก็รับรู้ แต่ออกอากาศได้สองตอน ผู้สัมภาษณ์ (ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา) กลับถูกบีบให้ออก เช่นนี้แล้ว พลภฤต ตั้งคำถามว่า ขณะที่สังคมไทยคาดหวังกับสื่อเยอะ แต่ถามว่าเมื่อสื่อเป็นอย่างที่ต้องการแล้ว ใครจะออกมาปกป้องสื่อ

พล ภฤต กล่าวว่า การเสนอข่าวแนวดรามานั้นตั้งอยู่บนความสนใจของสังคม แม้ว่าสื่ออยากจะเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนทันทีก็ทำได้ยาก เพราะมีเรื่องการตลาดกับสื่อเยอะ โดยวันนี้นักการเมืองเข้าใจสื่อ-อ่านสื่อออกมากขึ้น ทั้งยังมีคนทำสื่อที่ไปเป็นนักการเมือง ทำให้เข้าใจสื่ออย่างลึกซึ้งด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องสายสัมพันธ์กับแหล่งข่าวที่บางครั้งฝังลึก จนลืมบทบาทตัวเองด้วย

วิชิต เอื้ออารีวรกุล อุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ในอนาคตสื่อหลักแบบฟรีทีวีจะลดความสำคัญลง เพราะเคเบิลท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคต เคเบิลทีวีแต่ละจังหวัดจะมีสถานีข่าวของตัวเองด้วย

ทั้ง นี้ เขาเสนอว่า ในช่วงเลือกตั้ง ขณะที่ฟรีทีวีสัมภาษณ์คนระดับหัวหน้าพรรคการเมือง โทรทัศน์ดาวเทียมสัมภาษณ์กรรมการพรรค เคเบิลท้องถิ่นจะสัมภาษณ์ ส.ส.ในอำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นรายละเอียดนโยบาย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส.ส.กลับไม่กล้ามาออกรายการ เพราะกลัวผิดกฎหมายเลือกตั้ง สะท้อนว่ากฎหมายบ้านเราไม่เชื่อใจประชาชน และนักการเมือง ทั้งยังตัดโอกาสการใช้สื่อท้องถิ่นด้วย

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  ตั้งคำถามว่า สังคมคาดหวังกับสื่อมาก แต่ให้อะไรกับสื่อบ้าง และดูแลสื่อเพียงใด พร้อมระบุว่า ภายใต้เวลาออกอากาศที่จำกัด อาจทำให้สื่อทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ การต้องทำงานแข่งกับเวลาอยู่ตลอดทำให้คนทำสื่อไม่มีเวลาให้ตัวเองในการเรียน รู้

นอกจากนี้ สุวรรณายังได้เรียกร้องให้สังคมเห็นใจสื่อที่ต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดันด้วย โดยเล่าว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มนิติราษฎร์จัดแถลงข่าวที่ห้อง LT1 มธ. แม้ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ถามคำถาม แต่ตนเองก็ไม่กล้าถาม เพราะเหมือนถูกข่มขู่ด้วยสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ เมื่อนักข่าวรุ่นน้องที่ส่งไปทำข่าวจะเดินออกมาส่งข่าว ก็ยังถูกผู้ฟังเสวนาข่มขู่ด้วยคำพูดว่า ทนฟังความจริงไม่ได้หรือ ยังไม่รู้ตอนจบเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net