Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ ที่ประชุมเสนอภาคประชาชนร่วมแก้ปัญหาทุกประเด็น ระบุ ไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องมีงบประมาณให้ทำงานได้จริง เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 54 ที่ผ่านมาที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานีจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ ที่ประชุมเสนอภาคประชาชนร่วมแก้ปัญหาทุกประเด็น ระบุ ไม่ใช่แค่พูด แต่ต้องมีงบประมาณให้ทำงานได้จริง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมมากกว่าหนึ่งร้อยราย ทั้งภาครัฐ วิชาการ และภาคประชาชนในจังหวัด โดยร่วมกันหารือเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ วันที่ ๑๙-๒๑ ธันวาคมนี้ ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ภายใต้ประเด็นหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ” เวทีรับฟังแบ่งเป็น ๕ ห้องย่อย โดยมีหน่วยงานในระดับจังหวัดที่ดูแลประเด็นนั้นๆ เป็นผู้ดำเนินการประชุม ได้แก่ ๑.การจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย (สุขใจ... ไม่คิดสั้น) โดย โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ และศูนย์สุขภาพจิตที่๗ ๒.ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี ๓.การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมาย ทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม โดย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ๔.การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ๕.การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคีทุกภาคส่วน โดย เครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. ท้องถิ่น) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด นางสาวจงกลนี ศิริรัตน์ ผู้จัดการมูลนิธิประชาสังคม ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เวทีนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดอย่างแท้จริง เห็นได้จากผู้รับผิดชอบห้องย่อยทุกห้อง ล้วนเป็นตัวจริงที่ทำงานในประเด็นนั้นๆ “นอกจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจะมานำคุยเองแล้ว เขายังเป็นผู้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในประเด็นนั้นมาเข้าร่วมเวทีด้วย ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกตื่นตัว เพราะคนทำงานฝ่ายต่างๆ มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย ตามประสบการณ์การทำงานของแต่ละฝ่าย” “สิ่งที่เห็นชัดเจนในเวทีนี้คือ ทุกฝ่ายอยากช่วยกันแก้ปัญหาต่างๆ ของจังหวัดอุบลจริงๆ แต่ละห้องแลกเปลี่ยนความเห็นกันเต็มที่ และหลายห้องก็คุยกันดุเดือด โดยเฉพาะประเด็นการจัดการภัยพิบัติและการจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็ก เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนเผชิญอยู่ สุดท้ายก็เห็นร่วมกันว่า จากเดิมที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดการปัญหาต่างๆ เป็นหลัก ต่อไปนี้ เครือข่ายภาคประชาชนต้องเข้ามาร่วมจัดการปัญหามากขึ้น นอกจากนี้ ข้อเสนอที่ทำได้ในระดับจังหวัด เช่น การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหาโฆษณายาและอาหาร และการรณรงค์สร้างสุขในจังหวัดอุบล ก็มีผู้รับไปเคลื่อนงานต่อทันที โดยไม่ต้องรอมติจากที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวรายงานถึงข้อเสนอที่สำคัญจากเวทีว่า เรื่องการจัดการปัญหาการฆ่าตัวตาย มีการเสนอให้ผู้ป่วยทางจิต กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป มีสิทธิได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงบริการทางสุขภาพจิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เนื่องจากผู้ฆ่าตัวตายกลุ่มใหญ่คือผู้ป่วยทางจิต ผู้มีปัญหาซึมเศร้า และผู้ใช้สารเสพติดและสุรา นอกจากนี้ ควรป้องกันปัญหาโดยเน้นการพัฒนาระบบการช่วยเหลือเชิงรุก การเพิ่มภูมิคุ้มกันทางจิต และฝึกทักษะให้คนทั่วไปมองเห็นคุณค่าในตนเอง ประเด็นการจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ แม้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์จะสามารถผลิตชุดทดสอบสาร โพลาร์ ซึ่งเป็นสารพิษในน้ำมันทอดซ้ำออกมาแล้ว แต่ยังหาซื้อได้ยาก และใช้ทดสอบยาก ที่ประชุมจึงเสนอให้มีการผลิตชุดทดสอบที่ใช้ง่ายเหมือนชุดทดสอบหาการตั้งครรภ์ โดยขอให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตและกระจายชุดทดสอบในวงกว้าง เพื่อให้หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก และสามารถนำไปทดสอบน้ำมันทอดซ้ำได้เองในครัวเรือน ว่าน้ำมันที่ใช้อยู่เสื่อมสภาพหรือยัง ประเด็นปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณยาที่ผิดกฎหมาย เสนอให้เกิดกลไกให้ความรู้และสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคประชาชน เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหานี้อย่างจริงจัง รวมทั้งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับสื่อมวลชนที่สร้างปัญหาดังกล่าว ส่วนการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง จากเดิมที่กรมป้องกันและบรรเทาสารณภัยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการภัยพิบัติ ที่ประชุมเสนอให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อจัดการภัยพิบัติโดยตรง และมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมแจ้งเตือนภัย เช่น เครือข่ายวิทยุเครื่องแดงของภาคประชาชน รวมทั้งมีงบประมาณสนับสนุนให้ภาคประชาชนทำงานได้คล่องตัวและเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การดำเนินการในลักษณะอาสาสมัครอย่างที่เป็นอยู่ ประเด็นสุดท้าย การจัดการลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วม เสนอให้เครือข่ายผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบาย พร้อมทั้งร่วมรับผิดชอบถึงผลจากการตัดสินใจนั้นๆ นอกจากนี้ มีการเสนอให้เครือข่ายผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมจัดการลุ่มน้ำขนาดใหญ่ด้วย เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งเล็กและใหญ่เชื่อมโยงและทับซ้อนกันอยู่ และต้องมีการจัดสรรงบประมาณและเครื่องจักรกลเพื่อให้การทำงานในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโครงสร้างการดำเนินงานจากล่างขึ้นบน คือจากพื้นที่ไปสู่นโยบายกลาง และใช้ภูมิปัญญาของชุมชนในการจัดการน้ำด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในเวทีเป็นไปอย่างตื่นตัว โดยข้อเสนอส่วนใหญ่เน้นที่การสร้างกลไก เพื่อให้ภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เกิดความเข้มแข็ง และสามารถมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ในการแก้ปัญหาระดับพื้นที่อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเสนอให้จัดสรรงบประมาณ และกระจายอำนาจให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ให้ข้อมูลกับประชาชนเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการทำงานขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นด้วย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net