Skip to main content
sharethis

วันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (IDAHOBIT) ปีนี้ใช้คำขวัญว่า "ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง" แต่สภาพการณ์ของหลายประเทศในโลกยังคงมีการพยายามออกกฎหมายกีดกัน เลือกปฏิบัติ และใช้โวหารรังแก LGBTQ+ โดยเฉพาะต่อคนข้ามเพศ

วันที่ 17 พ.ค. ของทุกปีถือเป็นวันสากลเพื่อยุติการเกลียดกลัว คนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (IDAHOBIT) ซึ่งธีมในปี 2567 นี้คือ "ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: ความเท่าเทียม, เสรีภาพ และความยุติธรรมสำหรับทุกคน" ในขณะที่โลกของเรายังคงอยู่ท่ามกลางกระแสการใช้โวหารวาทกรรมเกลียดกลัวคนข้ามเพศ

วัน IDAHOBIT นี้มีรากฐานย้อนไปถึงเหตุการณ์เมื่อ 34 ปีที่แล้ว คือเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2533 องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเลิกการจัดประเภทให้การรักเพศเดียวกันเป็นโรคจิต ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในปี 2547 ก็ถึงเริ่มมีการจัดให้วันดังกล่าวนี้เป็นวัน IDAHOBIT เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องของการละเมิดสิทธิ LGBTQ+ และการส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศทั่วโลก

ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ แต่จากข้อมูลของ สมาคมอิลก้า (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association - ILGA) ก็ชี้ให้เห็นว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงเผชิญกับปัญหาในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาเอง

ความก้าวหน้าสำหรับบางคน แต่คนอื่นๆ ยังเผชิญกับความถดถอย

ในตอนนี้ มีประเทศสมาชิกสหประชาชาติ 62 ประเทศที่ยังคงทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะโดยการระบุในข้อกฎหมายหรือการปราบปรามในเชิงปฏิบัติ มีประเทศสมาชิกยูเอ็นอย่างน้อย 59 ประเทศที่ยังคงปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศสภาพและเพศวิถี และเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเร่งออกกฎหมายหรือเร่งนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้มาอภิปราย

ในขณะเดียวกันก็มีประเทศสมาชิกยูเอ็น 59 ประเทศ ที่มีกฎหมายคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเพราะความเกลียดชังที่ตั้งอยู่บนฐานของเพศวิถี แต่มีอยู่เพียง 38 ประเทศเท่านั้นที่มีการคุ้มครองบุคคลจากอาชญากรรมเพราะความเกลียดชังที่ตั้งอยู่บนฐานของเพศสภาพ มีอยู่ 9 ประเทศที่คุ้มครองในเรื่องเกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศ และมีอยู่ 5 ประเทศ คุ้มครองเรื่องเพศสรีระ

มีรัฐสมาชิกยูเอ็นอยู่ 16 แห่งที่ทำการแบนสิ่งที่เรียกว่าการบำบัดแก้เพศวิถีในระดับประเทศ ในขณะที่มีรัฐสมาชิกอยู่ 9 แห่งที่เสนอการห้ามในระดับประเทศไม่ให้มีการแทรกแซงเยาวชนอินเตอร์เซ็กส์ (เพศสรีระกำกวม) อย่างไม่จำเป็น

ประเทศสมาชิกยูเอ็นมีอยู่เพียง 17 ประเทศเท่านั้นที่มีการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายในระดับประเทศโดยอยู่บนฐานของการตัดสินใจด้วยตนเอง และมีอยู่ 35 ประเทศที่มีกฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียม

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ในอังกฤษก็ยังคงย่ำแย่สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการรั้งรอที่จะแบนการบำบัดแก้เพศวิถี รัฐบาลอังกฤษยังได้ออกคู่มือแนวทางปฏิบัติต่อคนข้ามเพศในโรงเรียนในแบบที่จะเป็นการบังคับให้คนข้ามเพศ, นอนไบนารี และผู้แสดงออกทางเพศนอกขนบ ต้องเปิดตัวต่อผู้ปกครองตัวเอง นอกจากนี้ หน่วยงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (NHS) ยังได้ประกาศว่าผู้หญิงข้ามเพศจะถูกแบนจากวอร์ดคนไข้หญิง ทำให้สหราชอาณาจักรอยู่ในอันดับที่ 16 ของการจัดอันดับประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ มากที่สุดในยุโรป

คนเราเกิดมาเสรี และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

ท่ามกลางความก้าวหน้าและความล้าหลัง ธีมของ IDAHOBIT ปี 2567 นี้เรียกร้องให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และเพื่อให้ทุกคนผนึกกำลังกันสร้างโลกที่มีความยุติธรรมทางสังคม ที่ๆ จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยที่ ความเสมอภาค, เสรีภาพ และความยุติธรรม รวมกันเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ทุกๆ คน จะถูกให้คุณค่า, ได้รับการเคารพ และได้รับการยอมรับ

"มนุษย์ทุกคนเกิดมามีเสรีและมีศักดิ์ศรีกับสิทธิเท่าเทียมกัน" กลายเป็นประโยคที่สะท้อนถึงการทำตามสัญญาให้อย่างครบถ้วนสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศวิถี, เพศสภาพ, การแสดงออกทางเพศ และเพศสรีระ

การพูดถึงปัญหาการกีดกันเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ เหล่านี้ร่วมกัน IDAHOBIT มีเป้าหมายที่จะสร้างความเข้าใจ, ความเห็นอกเห็นใจ และการยอมรับประชาชนชาว LGBTQ+ ทั่วโลก

สื่อ Pink News ได้นำเสนอวิธีการที่เป็นประโยชน์ในการแสดงการสนับสนุนชาว LGBTQ+ ไม่ว่าจะในวัน IDAHOBIT หรือตลอดปี

เรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศด้วยตนเอง

การถามเพื่อนหรือคนในครอบครัวคุณที่เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณก็ควรจะเรียนรู้ด้วยตัวคุณเองด้วย ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาที่ชาว LGBTQ+ ต้องเผชิญ เช่น การอ่านหนังสือ, การรับชมสารคดี และการฟังเรื่องราวประสบการณ์บุคคลเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ

สร้างความตระหนักรู้

ใช้พื้นที่ๆ คุณมีไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย พื้นที่ในชุมชนของคุณ หรือที่ทำงานของคุณ ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ IDAHOBIT และ ความสำคัญของสิทธิ LGBTQ+ แชร์บทความที่มีสาระ หรือแชร์อินโฟกราฟิก หรือ เรื่องเล่าประสบการณ์บุคคลเพื่อทำให้เกิดการพูดคุยและส่งเสริมให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน

ส่งเสริมสิทธิ LGBTQ+

คอยให้การสนับสนุนองค์กรและโครงการริเริ่มที่ส่งเสริมสิทธิและความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ซึ่งอาจจะรวมถึงการลงชื่อเรียกร้อง, การเข้าร่วมการเดินขบวน หรือ การติดต่อกับผู้กำหนดนโยบายเพื่อผลักดันให้มีนโยบายและการออกกฎหมายที่คำนึงถึงอย่างครอบคลุม การบริจาคเงินก็ช่วยได้อย่างแน่นอน ดังนั้นแล้วควรพิจารณาที่จะบริจาคเงินรายปีให้กับองค์กรการกุศลที่ส่งผลดีต่อชุมชนความหลากหลายทางเพศด้วย

ท้าทายการกีดกันเลือกปฏิบัติ

คุณควรจะพูดออกปากต่อต้านความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน, คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ เมื่อใดก็ตามที่คุณพบเจอมัน ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับภาษาในเชิงเหยียดความหลากหลายทางเพศ หรือการยืนหยัดต่อต้านการกระทำในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติ การกระทำของคุณจะช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการสร้างสังคมที่มีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมมากขึ้นได้

เป็นพันธมิตรสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แสดงการสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ด้วยการเป็นพันธมิตรที่กระตือรือร้น รับฟังเสียงของชาว LGBTQ+ ช่วยขยายเสียงให้เรื่องราวของพวกเขา และยืนหยัดเคียงข้างพวกเขาในการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมและการยอมรับ

สร้างพื้นที่ปลอดภัยและเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ปลอดภัย

สร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ชาว LGBTQ+ รู้สึกปลอดภัย, ได้รับความเคารพ และรู้สึกได้รับการนับรวมเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงานของคุณ, ในโรงเรียน หรือในแวดวงทางสังคมของคุณ คุณควรจะพยายามอยู่เสมอในการสร้างพื้นที่ๆ ปราศจากการกีดกันเลือกปฏิบัติและการตัดสิน

ฝึกฝนให้มีความเห็นอกเห็นใจ

ปฏิบัติต่อบุคคลหลากหลายทางเพศด้วยความเห็นอกเห็นใจ และความเคารพในศักดิศรีความเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับที่คุณปฏิบัติกับคนอื่นๆ คุณควรให้การยอมรับและเฉลิมฉลองความหลากหลายภายในชุมชน LGBTQ+ และโอบรับลักษณะเฉพาะตัวของปัจเจกบุคคลทุกคน


เรียบเรียงจาก
IDAHOBIT 2024: Why standing up to anti-LGBTQ+ hate is more vital than ever, Pink News, 17-05-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net