Skip to main content
sharethis

'มูลนิธิผสานวัฒนธรรม' ออกแถลงการณ์กรณีการเสียชีวิตของ 'บุ้ง เนติพร' เรียกร้องขอให้ทุกคนและองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้คืนความเป็นคน คืนมนุษยธรรมให้สังคม และขอให้ช่วยกันกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมที่ได้สูญสลายไปกลับคืนมาสู่คนทุกคน

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์ 'กรณีการเสียชีวิต ของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง' ความว่า เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง ถูกคุมขังไว้ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 ด้วยข้อหาละเมิดอำนาจศาล โดยศาลตัดสินจำคุก 1 เดือนด้วยเหตุทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ และถูกถอนประกันตัวในคดีข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) จากกรณีทำสำรวจความเห็นประชาชนที่บริเวณห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเกี่ยวกับความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ เมื่อถูกคุมขัง บุ้ง-เนติพร ได้อดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567 เพื่อเรียกร้องใน 2 ประเด็น คือ ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ จะต้องไม่มีคนที่เห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก บุ้ง-เนติพรถูกจำคุกเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 110 วัน และเสียชีวิตในวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เห็นว่า การที่ บุ้ง-เนติพร และนักโทษทางความคิดอีกอย่างน้อย 45 คน ถูกจับกุมคุมขังเพราะเหตุที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติวิธีซึ่งความคิด ความเชื่อทางการเมือง แต่พวกเขากลับถูกปราบปรามโดยรัฐและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน

กรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง-เนติพร เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ตอกย้ำความจริงที่ว่า รัฐบาลซึ่งอ้างว่าได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และกลไกของรัฐที่เรียกว่า “กระบวนการยุติธรรม” นั้น ได้ละเลยและปฏิเสธการทำหน้าที่และพันธกรณีของตนในด้านสิทธิมนุษยชน โดยยอมตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองที่แฝงตัวอยู่ในรัฐ (Deep State) หรือ “อิทธิพลแฝงในรัฐ” ดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลนี้ได้ละเลยหรือปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามนโยบายและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนว่าจะผลักดันให้ประเทศนี้ก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2. รัฐบาลได้ละเลยการปฏิบัติ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยละเมิดพันธกรณีที่มีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกโดยสันติ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิบัติสวนทางต่อการแสดงเจตจำนงที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

3. กระบวนการยุติธรรมรวมทั้งระบบตุลาการซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรง กลับตกเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ปราบปราม จับกุมคุมขังประชนที่มีความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างจาก “อิทธิพลแฝงในรัฐ” และแสดงออกซึ่งความคิดความเชื่อดังกล่าวอย่างสันติวิธี

4. สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ในการเข้าถึงความยุติธรรม สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนและได้รับการปฏิบัติอย่างผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยศาลและผู้พิพากษาที่เป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงโดยอิทธิพลใดๆ ทั้งในระบบหรือนอกระบบ โดยเที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง และมีความสามารถ    อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนนั้นได้ถูกละเมิดอย่างเป็นระบบ

5. ที่ผ่านมา บุ้ง-เนติพร องค์กรภาคประชาสังคม ประชาชนและพรรคการเมืองหลายพรรค ได้เรียกร้องให้นิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดและนักโทษทางการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนเช่น ตะวัน (ทานตะวัน ตัวตุลานนท์)  แฟรงค์ (ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร) และบัสบาส (มงคล ถิระโคตร) นักกิจกรรมทางการเมืองที่ยังคงอดอาหารประท้วงในระหว่างต้องขังในขณะนี้ แม้ว่าผู้ต้องขังคดีการเมืองเหล่านี้ไม่ได้มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี ตรงกันข้ามพวกเขาแสดงออกอย่างเอาจริงเอาจังว่าพร้อมต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันความเป็นธรรม แต่เสียงเรียกร้องดังกล่าว ไม่ได้รับฟังโดยรัฐบาลและกระบวนการยุตธรรมแต่อย่างใด

6. การละเลย การปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ในคดีอาญาเป็นสาเหตุที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ที่ทำให้เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมคุมขังในคดี 112 จำเป็นต้องเอาชีวิตของตนเองเข้าเดิมพัน เพื่อเรียกร้องและยืนยันหลักแห่งความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ด้วยการอดอาหารประท้วง จนเกิดเกิดการสูญเสียอย่างน่าเศร้า เช่น กรณีของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเสนอต่อรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ โดยขอให้การเสียชีวิตของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม เป็นกรณีสุดท้าย ขอให้ทุกคนและองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้คืนความเป็นคน คืนมนุษยธรรมให้สังคม และขอให้ช่วยกันกอบกู้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมที่ได้สูญสลายไปกลับคืนมาสู่คนทุกคน

เราขอเรียกร้องให้มีปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และนิรโทษกรรมผู้ต้องหา จำเลย และนักโทษ ผู้เคยต้องโทษ ในคดีการเมือง รวมทั้งคดี 112 โดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข ขอให้รัฐบาลรักษาและปฏิบัติอย่างจริงจัง ตามคำมั่นสัญญาที่จะส่งเสริม ปกป้องสิทธิมนุษยชน สร้างสรรค์ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรม และขอเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทุกระดับเพื่อให้ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีกต่อไป

สุดท้าย โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอส่งดวงวิญญาณของบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม ไปสู่สุคติ และขอส่งกำลังใจให้กับครอบครัว ญาติพี่น้องและมิตรสหายของเธอด้วยเช่นเดียวกัน

พวกเราจะสืบสานเจตนารมณ์ของ บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม จนบรรลุผลสำเร็จให้จงได้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net