Skip to main content
sharethis

ขอคืนพื้นที่ “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่” เป็นบ้านพัก ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฯ เชียงใหม่ เขต 1 ยังไม่จบ - ล่าสุดอัยการจังหวัดเตรียมเรียกคู่กรณีไกล่เกลี่ย 7 ธ.ค. นี้ ขณะที่เลขาฯ มูลนิธิทำหนังสือชี้แจง-ขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าฯ เชียงใหม่ (2 ธ.ค. 54) ตามที่ประชาไทนำเสนอข่าวเรื่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (สพท.ชม.1) ได้ทำหนังสือขอให้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง คืนพื้นที่ “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” ให้กลับมาเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งของนายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการ สพท.ชม.1 ซึ่งมาดำรงตำแหน่ง ผอ.สพท.ชม.1 แทนนายโกศล ปราคำ ผู้อำนวยการคนเก่าซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการ โดยในหนังสือระบุว่า “เป็นสิทธิในการเข้าพักอาศัยบ้านพักดังกล่าวเป็นสิทธิตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1” (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยก่อนหน้านี้ สพท.ชม.1 ได้อนุญาตให้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ใช้พื้นที่บ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ มุมถนนราชวิถีตัดกับถนนราชภาคินัย ซึ่งไม่ได้มีการใช้งานเป็นเวลานานมาปรับปรุงเป็น “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” ซึ่งมีรูปแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนแห่งใหม่ และสนับสนุนการศึกษานอกระบบที่เกี่ยวกับวิชาท้องถิ่น เช่น เรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเมื่อวันที่ 3 ต.ค. มีการหารือกันระหว่างคณะกรรมการของมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กับนายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการ สพท.ชม.1 แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ หนังสือที่ อส. 0042/(ชม)/14256 เรียน ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) เรื่อง ขอเชิญพบ หนังสือเรื่อง “ขอความเป็นธรรมในการใช้พื้นที่และบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม)” ของมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อัยการฯ เชียงใหม่ทำหนังสือเรียกคู่พิพาทไกล่เกลี่ย 7 ธ.ค. ล่าสุดเมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา นางกนกพร สั้นศรี อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติราชการแทนอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำหนังสือลงเลขที่ อส. 0042 (ชม)/14256 เรียน ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) “เรื่อง ขอเชิญพบ” เนื้อหาระบุว่า “ตามหนังสือที่อ้างถึง มูลนิธิฯ แจ้งเหตุขัดข้องไม่สามารถไปพบพนักงานอัยการเพื่อไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท กรณีพิพาทระหว่างนายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่กับมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) เกี่ยวกับบ้านพักซึ่งปลูกอยู่บนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ ชม 6 ถนนราชวิถี ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และขอให้เลื่อนการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทเป็นวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้แจ้งความประสงค์ดังกล่าวให้นายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ ผู้ร้อง ทราบแล้ว ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า ไม่ขัดข้องที่จะนัดไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทในวันเวลาดังกล่าว แต่ขอให้ดำเนินการ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อาคารสำนักงานอัยการภาค 5 โดยขอให้เชิญนายโกศล ปราคำ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ และธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ไปพบเพื่อให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับบ้านพิพาทด้วย สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ จึงขอเชิญท่านและผู้เกี่ยวข้องไปพบนางกนกพร สั้นศรี อัยการจังหวัดฯ ณ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ อาคารสำนักงานอัยการภาค 5 ในวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เวลา 9.00 น. พร้อมนำเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าวไปด้วย หากขัดข้องประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบล่วงหน้า” สถาบันพัฒนาเมืองทำหนังสือชี้แจง-ขอความเป็นธรรมผู้ว่าฯ ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นางดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง เลขานุการ มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ได้ทำหนังสือถึง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่อง “ขอความเป็นธรรมในการใช้พื้นที่และบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม)” ตอนหนึ่งชี้แจงว่า อาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม) ซึ่งเป็นอาคารไม้อายุ 80 ปี หลังดังกล่าว “ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการอยู่อาศัย และมีสภาพรกรุงรังไม่น่าดู โดยเฉพาะหลังจากที่มีการแบ่งหน่วยงานใหม่และตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ถูกยุบไป เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่บริเวณบ้านพักศึกษาธิการ (เดิม) เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนแห่งใหม่ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 ซึ่งมี นายโกศล ปราคำ เป็นผู้อำนวยการในขณะนั้น ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง อนุญาตให้มูลนิธิฯ ใช้พื้นที่และอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม) เพื่อพัฒนาเป็น “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” มีระยะเวลาการใช้พื้นที่ 10 ปีขึ้นไปตามโครงการที่เสนอขอและแนบท้ายบันทึกข้อตกลง” ต่อกรณีที่ สพท.ชม.1 จะขอคืนพื้นที่นั้น ในหนังสือยังระบุว่า “มูลนิธิฯ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการขอใช้พื้นที่ในกรณีนี้ จึงขอคัดค้านความพยายามที่จะเอาพื้นที่บ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (หลังเดิม) ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ฯ อันเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของประชาสังคมเมืองเชียงใหม่ จึงร้องเรียนมายังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสั่งการให้มีการทบทวนการขอคืนพื้นที่ดังกล่าว” ยก 9 เหตุผลใช้สถานที่เพื่อการเรียนรู้ของสังคม - การขอคืนพื้นที่ไม่เป็นธรรม โดยหนังสือชี้แจงของมูลนิธิให้เหตุผลดังนี้ “หนึ่ง มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ของเยาวชนและบุคคลทั่วไป เพื่อพัฒนาเมือง ชุมชน และสังคมให้เป็นเมืองสีเขียว มีการเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความน่าอยู่ ณ สถานที่นี้ตามที่ได้รับอนุญาต ตลอดระยะเวลาที่มูลนิธิฯ ได้เข้ามาดำเนินการมีสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับอุดมศึกษาของคนไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการ สอง มูลนิธิฯ ได้ใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณในการปรับปรุงอาคารสถานที่จนอยู่ในสภาพที่สวยงามในปัจจุบันเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท เพราะเชื่อมั่นตามบันทึกข้อตกลงว่าสามารถใช้พื้นที่เกิน 10 ปีขึ้นไป สาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เห็นความสำคัญของแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ จึงได้มอบงบประมาณให้สร้างบ้านดินจากวัสดุเหลือใช้ที่เคยถูกเผา กลายเป็นบ้านดินจากขยะหลังเดียวที่มีคนจากทั่วประเทศและต่างประเทศมาศึกษาดูงาน ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองเชียงใหม่ สี่ อาคารไม้ซึ่งเคยเป็นบ้านพักปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารสำหรับการจัดนิทรรศการ และห้องแสดงต่างๆ ตลอดจนห้องและลานกิจกรรมเพื่อการศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ห้องน้ำชั้นบนที่เคยถูกต่อเติมอย่างผิดแบบ และละเมิดคติความเชื่อของชาวล้านนาในเรื่อง “ขึด” ได้ถูกรื้อออกไป ปัจจุบันอาคารไม่เหมาะที่จะพักอาศัยอีกต่อไป ห้า ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ จัดส่งนักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้ ทำกิจกรรม และฝึกงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงเวลาราชการและวันหยุดสุดสัปดาห์ จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและสร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ที่สนับสนุนกิจกรรมการศึกษาแก่ส่วนรวม หก การก่อตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นภาระหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ข้อ๑ (๔)ด้านบริหารทั่วไป (ต) การส่งเสริม สนับสนุน และประสานการจัดการศึกษาของบุคคล ชุมชน องค์กร หน่วยงาน และสถาบันสังคมอื่นที่จัดการศึกษา หากศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ต้องคืนพื้นที่นี้ เท่ากับว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ละเมิดกฎกระทรวงฉบับนี้ เจ็ด บันทึกข้อตกลงมีผลบังคับต่อเนื่องตามกฎหมาย แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน การทวงคืนพื้นที่จึงทำให้มูลนิธิ ฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรม แปด จากการทำแบบสอบถามความเห็นของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบข้าง และประชาชนทั่วไปที่ทราบข่าว ต่างสนับสนุนให้มูลนิธิ ฯ ดำเนินงานเพื่อสังคมต่อไปในสถานที่แห่งนี้ และคัดค้านที่จะให้พื้นที่ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ฯ กลับเป็นบ้านพักอาศัยของคนๆเดียวหรือครอบครัวเดียว เก้า มูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและสิ่งของมาปรับปรุงศูนย์สร้างสรรค์ฯ เนื่องจากแหล่งทุนเห็นว่าสามารถใช้พื้นที่ในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป” “การยุติการใช้พื้นที่และอาคารแห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฯ จะทำให้เมืองเชียงใหม่สูญเสียแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไป การตัดสินใจเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดคำถามมากมายจากประชาชน รวมทั้งนักการทูตหลายประเทศที่เคยมาร่วมกิจกรรมกับเรา อันจะทำให้ชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ และประเทศไทยพลอยมัวหมองไปด้วย” หนังสือของมูลนิธิระบุ โดยท้ายหนังสือทางมูลนิธิได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้แก่ “สืบหาข้อเท็จจริง และประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกเอกสารที่มีความชัดเจนเพื่อยุติการทวงคืนพื้นที่อนุญาตให้มูลนิธิฯ ได้ใช้พื้นที่และอาคารแห่งนี้เพื่อดำเนินการเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ตามบันทึกข้อตกลง มิใช่เพื่อประโยชน์แก่คนใดคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์แก่สังคมเมืองเชียงใหม่ และสังคมไทยโดยรวม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net