เราจะฝันใฝ่อะไรกันดีในปี 2555

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การต่อสู้เรียกร้องที่สร้างแรงบันดาลใจที่สุดของปี 2554 ได้ชูความสำคัญของปัญหาประชาธิปไตย ถึงแม้จะเกิดขึ้นจากเงื่อนไขที่แตกต่างกันมาก การเคลื่อนไหวต่างๆ ไล่ตั้งแต่การรุกฮือของอาหรับสปริงถึงการต่อสู้ของสหภาพในวิสคอนซิน การประท้วงของนักศึกษาในชิลีไปจนถึงสหรัฐและยุโรป การจลาจลในอังกฤษไปจนถึงการยึดครองของ indignados ในสเปน (ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจของสเปน ชื่อเต็ม Los Indignados มีความหมาย “The Outraged” ในภาษาอังกฤษ: ผู้แปล) การยึดจตุรัส Syntagma ในกรีซและออคคิวพายวอลล์สตรีทจนกระทั่งรูปแบบท้องถิ่นอีกนับไม่ถ้วนของการปฏิเสธทั่วทุกโลกได้มีลักษณะร่วมประการแรกคือ ข้อเรียกร้องในเชิงปฏิเสธ นั่นคือ รับไม่ได้กับโครงสร้างของเสรีนิยมใหม่อีกต่อไป! การตะโกนโห่ร้องที่พ้องกันนี้ไม่เพียงเป็นการประท้วงในเชิงเศรษฐกิจ แต่เป็นเชิงการเมืองไปในตัวด้วย เพื่อต่อต้านคำกล่าวอ้างจอมปลอมของการเมืองระบบตัวแทน ทั้งมูบารักและเบน อาลี หรือนายธนาคารวอลล์สตรีท สื่อชนชั้นสูงและแม้แต่ประธานาธิบดี ผู้ว่าการรัฐฯ สมาชิกรัฐสภาหรือข้าราชการที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเอง ต่างไม่มีใครเลยทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้พวกเรา แน่นอน แรงขับเคลื่อนมหาศาลของการปฏิเสธมีความสำคัญมาก แต่เราควรจะระมัดระวังไม่ให้หลงทางไปท่ามกลางเสียงอีกทึกของการชุมนุมและความขัดแย้งที่ศูนย์กลาง ซึ่งดำเนินไปไกลเกินกว่าการประท้วงและต่อต้าน การเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังร่วมแบ่งปันความปรารถนาสำหรับประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ ที่ในบางกรณีแสดงออกในรูปของเสียงที่ไม่หนักแน่นและไม่แน่ใจนักแต่ในหลายกรณีมั่นคงและทรงพลัง พัฒนาการของความปรารถนานี้คือส่วนหนึ่งของสายใยที่พวกเราร้อนรนอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามรอยในปี 2555 ต้นตออันหนึ่งของความเป็นปรปักษ์ ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้แม้กระทั่งขบวนการที่เพิ่งได้ล้มผู้นำเผด็จการไปแล้วจะต้องเผชิญก็คือ ความบกพร่องของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เกี่ยวกับระบบแรงงาน ทรัพย์สินและการเป็นตัวแทน (representation) ในรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ประการแรกสุด การขายแรงงานแลกค่าจ้าง คือกุญแจของการเข้าถึงรายได้และสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง มันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำหน้าที่อย่างกระท่อนกระแท่นมายาวนานสำหรับผู้ที่อยู่ภายนอกตลาดแรงงานปกติ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนว่างงาน แรงงานหญิงที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผู้อพยพและอื่นๆ แต่วันนี้ รูปแบบของแรงงานทั้งหมดยิ่งปรากฏความเปราะบางและขาดความมั่นคงมากขึ้นอีก แน่นอน แรงงานยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งของความมั่งคั่งในสังคมทุนนิยม แต่มันกลับถูกวางอยู่ภายนอกความสัมพันธ์กับทุนมากยิ่งขึ้นและบ่อยครั้ง อยู่ภายนอกความสัมพันธ์กับค่าจ้างที่มีเสถียรภาพ (stable) ดังนั้น รัฐธรรมนูญทางสังคมของเรายังคงต้องการให้แรงงานรับจ้างได้รับสิทธิและการเข้าถึงอย่างเต็มที่ภายในสังคมซึ่งแรงงานประเภทนี้นับวันจะยิ่งน้อยลงไปทุกที ทรัพย์สินเอกชนคือเสาหลักที่สองของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมวันนี้ไม่เพียงแต่ทัดทานกฏเกณฑ์ของระบบธรรมรัฐแบบเสรีนิยมใหม่ (neoliberal governance) ทั้งในระดับชาติและระดับโลก แต่ยังรวมถึงกฎเกณฑ์ของทรัพย์สินโดยทั่วไปอีกด้วย ทรัพย์สินไม่เพียงธำรงรักษาลำดับชั้นและการแบ่งแยกทางสังคม แต่ก็กำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทรงพลังที่สุดบางอย่าง (บ่อยครั้งเป็นความสัมพันธ์ที่กลับหัวกลับหาง) ที่พวกเราต่างมีซึ่งกันและกันและมีร่วมกันในสังคม แต่การผลิตเชิงเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันนั้นก็ได้ปรากฏลักษณะร่วมที่เด่นชัดซึ่งท้าทายและไปไกลกว่าขอบเขตของระบบทรัพย์สินนั้น ความสามารถของทุนในการสร้างกำไรจึงลดลงเนื่องจากมันกำลังสูญเสียสมรรถภาพเชิงประกอบการและพลังที่จะจัดระบบระเบียบและความร่วมมือทางสังคมลง แต่ทุนก็กลับสะสมความมั่งคั่งได้เพิ่มมากขึ้นผ่านรูปแบบของค่าเช่าเป็นหลัก ซึ่งบ่อยครั้งถูกจัดตั้งผ่านเครื่องมือทางการเงินที่สามารถฉกฉวยมูลค่าที่ถูกผลิตในเชิงสังคมและ (มูลค่านั้น) มักไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของตัวทุนเอง อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ขณะของการสะสมทุนเอกชนได้ก่อให้เกิดการลดทอนอำนาจและผลิตภาพของสังคม ทรัพย์สินเอกชนจึงไม่เพียงมีลักษณะเป็นกาฝากมากขึ้นแต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการผลิตเชิงสังคมและสวัสดิการสังคมอีกด้วย สุดท้าย เสาหลักที่สามของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นนั้น ได้กลายเป็นเป้าของความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น อยู่ที่ระบบตัวแทนและคำกล่าวอ้างกำมะลอว่าด้วยการสร้างธรรมรัฐประชาธิปไตย (democratic governance) การทำลายบทบาทของอำนาจในทางการเมืองของบรรดาตัวแทนมืออาชีพคือหนึ่งในไม่กี่สโลแกนที่ตกทอดมาจากจารีตแบบสังคมนิยมที่เราเต็มใจที่จะตอกย้ำภายใต้เงื่อนไขร่วมสมัยของเรา นักการเมืองมืออาชีพ ร่วมกับผู้นำองค์กรธุรกิจและผู้ครอบครองสื่อนั้นควบคุมบริหารระบบตัวแทนประเภทที่อ่อนแอที่สุด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่านักการเมืองฉ้อโกง (ถึงแม้ในหลายกรณีจะเป็นเรื่องจริง) แต่กลับอยู่ที่โครงสร้างตามรัฐธรรมนูญได้แบ่งแยกกลไกของการตัดสินใจทางการเมืองออกจากอำนาจและความปรารถนาของมวลมหาชน (multitude) กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยไม่ว่าแบบใดก็ตามในสังคมเราจำเป็นต้องพุ่งเป้าไปที่ปัญหาการขาดตัวแทนและความเสแสร้งของการเป็นตัวแทนที่ตั้งอยู่ตรงใจกลางของรัฐธรรมนูญดังกล่าว การตระหนักถึงตรรกะและความจำเป็นของการปฏิวัติต่อเสาหลักทั้งสามและอื่นๆ ที่เหลือซึ่งทำให้การต่อสู้เรียกร้องจำนวนมากในปัจจุบันโลดแล่นอยู่นั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงก้าวแรกอย่างแท้จริง คือจุดตั้งต้นของการเดินทาง ความเร่าร้อนของความคับข้องต่อสิ่งที่ไม่เป็นธรรมและการปะทุขึ้นพร้อมกันของการปฏิวัติจะต้องได้รับการจัดตั้งเพื่อให้ดำรงอยู่ข้ามเวลาและเพื่อนำไปสู่รูปแบบใหม่ของชีวิต หรือการก่อตัวของสังคมทางเลือก ความลับของก้าวต่อไปนี่แหละ ที่หายากพอกับที่มันมีค่ามหาศาล ในปริมณฑลเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องค้นหานวัตกรรมสังคมเพื่อให้สามารถผลิตร่วมกันอย่างเสรีและแจกจ่ายความมั่งคั่งที่ปันกันนี้อย่างเท่าเทียม คำถามก็คือ พลังในการผลิตและความปรารถนาของพวกเราจะถูกนำเข้าไปและต่อเติมในระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของทรัพย์สินเอกชนได้อย่างไร? สวัสดิการและทรัพยากรพื้นฐานทางสังคมจะถูกจัดหาให้กับทุกคนในโครงสร้างสังคมที่ไม่ได้ถูกกำกับและครอบงำโดยสถาบันของรัฐได้อย่างไร ? เราต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการผลิตและแลกเปลี่ยน รวมทั้งโครงสร้างของสวัสดิการสังคมที่ประกอบขึ้นจากสังคมและเหมาะสมกับสังคม ความท้าทายของปริมณฑลทางการเมืองก็แหลมคมพอกัน เหตุการณ์ต่างๆ และการปฏิวัติที่สร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมาได้ทำให้ความคิดและปฏิบัติการทางประชาธิปไตยมีลักษณะถอนรากโดยการเข้ายึดครองและจัดการกับพื้นที่ อย่างเช่น จตุรัสสาธารณะ ด้วยโครงสร้างหรือสมัชชาที่เปิด ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและธำรงรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยใหม่นี้เอาไว้ได้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แท้จริงแล้ว การจัดองค์กรภายในของขบวนการเองก็ตกอยู่ภายใต้กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย (democratization) อย่างต่อเนื่องด้วย เมื่อมีความพยายามที่จะสร้างโครงสร้างแบบเครือข่ายที่มีส่วนร่วมแบบแนวระนาบ การปฏิวัติต่อต้านระบบการเมืองที่ครอบงำ นักการเมืองมืออาชีพและโครงสร้างที่ไม่ชอบธรรมของระบบตัวแทนนั้นจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อรื้อฟื้นระบบตัวแทนแบบที่ชอบธรรมที่เราคิดได้ แต่มีเป้าหมายที่การทดลองรูปแบบใหม่ของการแสดงออกในเชิงประชาธิปไตย นั่นคือ democracia real ya (หรือ Real Democracy Now ในภาษาอังกฤษ เป็นการจัดตั้งในระดับรากหญ้าในสเปน ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2554 และพัฒนาไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน: ผู้แปล) คำถามก็คือ เราจะแปรเปลี่ยนความคับข้องใจและการต่อต้านให้กลายเป็นกระบวนการตรวจสอบจากเจ้าของอำนาจที่คงทนได้อย่างไร ? การทดลองประชาธิปไตยจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจจากเจ้าของ ที่ไม่เพียงทำให้จตุรัสสาธารณะหรือละแวกบ้านกลายเป็นประชาธิปไตยแต่ถึงกับประดิษฐ์สังคมทางเลือกที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงได้อย่างไร ? เพื่อเผชิญกับประเด็นเหล่านี้ พร้อมกับประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย เราได้เสนอก้าวแรกที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่มีหลักประกัน (guaranteed income) สิทธิในการเข้าถึงความเป็นพลเมืองโลก (the right to global citizenship) และกระบวนการแบบประชาธิปไตยของการยึดคืนให้เป็นสมบัติร่วมของสังคม (reappropriation of the common) แต่เราก็ไม่ได้ตกอยู่ใต้ภาพหลอนว่าเรามีคำตอบทั้งหมดแล้ว แต่เรากลับอุ่นใจต่างหากจากข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ใช่แค่พวกเราที่กำลังถามคำถามเหล่านี้ ที่จริงแล้ว เรามั่นใจว่ากลุ่มคนที่ไม่พึงพอใจกับชีวิตที่ถูกเสนอให้โดยสังคมเสรีนิยมใหม่ร่วมสมัยนั้น ทั้งที่คับข้องจากความอยุติธรรม รู้สึกต่อต้านอำนาจของการสั่งการและการขูดรีด และที่กำลังโหยหารูปแบบประชาธิปไตยทางเลือกของชีวิตที่อยู่บนฐานของการแบ่งปันความมั่งคั่งร่วมกันนั้น ด้วยการตั้งคำถามเหล่านี้และเดินตามความปรารถนาของตน พวกเขาจะสรรสร้างคำตอบใหม่ที่เรายังคงไม่สามารถแม้กระทั่งจะจินตนาการไปถึง ทั้งหมดคือความใฝ่ฝันที่ดีที่สุดบางประการสำหรับปี 2555 -------------------- *Michael Hardt และ Antonio Negri ผู้เขียน Empire และ Multitude เขียนบทความนี้ใน Adbusters นิตยสารแนวปฏิเสธระบบทุนและต่อต้านบริโภคนิยมที่ใช้รูปแบบของการป่วนทางวัฒนธรรม (culture-jamming) ซึ่งเน้นการเปิดโปงอุดมการณ์เบื้องหลังการโฆษณาชวนเชื่อขององค์กรธุรกิจ นิตยสารนี้มีส่วนสำคัญในการจุดประกายการชุมนุมเพื่อยึดสวนซุกคอตติในนิวยอร์ค ต้นกำเนิดของขบวนการออคคิวพายวอลล์สตรีท ที่มา : Michael Hardt & Antonio Negri. What to expect in 2012. Adbusters #99. 8/12/54 http://www.adbusters.org/magazine/99/under-no-illusions.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท